ชีวิตนอกกรุง : สำรวจรถไฟลาว-จีน ผ่านเส้นทางการค้า เวียงจันทน์-บ่อเต็น

ชีวิตนอกกรุง : สำรวจรถไฟลาว-จีน ผ่านเส้นทางการค้า เวียงจันทน์-บ่อเต็น

สถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์

ຍິນດີຕ້ອນຮັບທ່ານຜູ້ໂດຍສານ ເຂົ້າສູ່​ສະຖານີລົດໄຟນະ​ຄອນ​ຫຼວງ​ວຽງ​ຈັນ​

เสียงประกาศจากลำโพงดังทั่วบริเวณสถานีรถไฟที่เพิ่งเปิดบริการมาเพียง 5 เดือน ในเขตนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เร่งผมให้ก้าวเท้าเร็วขึ้น เพื่อให้ทันกับขบวนรถไฟที่ใกล้จะออกเดินทางจากนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อมุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทาง สถานีรถไฟนาเตย

การเดินทางเพื่อโดยสารรถไฟลาว-จีน ครั้งแรกของทีมผู้ผลิตรายการชีวิตนอกกรุง

การเดินทางออกนอกเมืองไทยของทีมงานชีวิตนอกกรุงครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีกว่า ที่เราเจอกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้หลายประเทศประกาศปิดพรมแดนห้ามการเข้า-ออก หลังจากทราบข่าวว่า สปป.ลาวประกาศเปิดประเทศ เราจึงเตรียมการและวางแผนมาเปิดประสบการณ์การนั่งรถไฟลาว-จีนเป็นครั้งแรก การมาครั้งนี้เราได้วางแผนและประสานงานกับ ศูนย์ china intelligence center วิทยาลัยสื่อ ศิลปะและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำทีมโดย อาจารย์ ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ หรือ อาจารย์อิง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและติดตามเรื่องราวหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับจีนมาอย่างยาวนาน

ความคึกคักบริเวณหน้าด่านพรมแดนจังหวัดหนองคาย

เราออกเดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่มุ่งหน้าสู่จังหวัดหนองคาย จุดเริ่มต้นของการเดินทางเข้าสู่ สปป.ลาว ผ่านเส้นทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 บรรยากาศบริเวณหน้าด่านพรมแดนสากลจังหวัดหนองคาย คึกคักไปด้วยรถบรรทุกสินค้าที่วิ่งเข้า-ออกอย่างไม่ขาดสาย ภายหลังจากการเปิดพรมแดนของ สปป.ลาว ได้เพียง 1 เดือน

Vientiane Logistics Park ศูนย์กลางเครือข่ายการขนส่งทางบกผ่านระบบรางแห่งแรกของ สปป.ลาว

พิกัดของ Vientiane Logistic Park

หมุดหมายแรกของการเดินทางเข้าสู่นครหลวงเวียงจันทน์ อาจารย์อิงพาพวกเราไปเยี่ยมชม Vientiane Logistics Park ซึ่งเป็นศูนย์กลางเครือข่ายการขนส่งทางบกผ่านระบบรางแห่งแรกของ สปป.ลาว ซึ่งจากภาพที่ผมเห็น บรรยากาศที่นี่ดูคึกคักและเต็มไปด้วยขบวนรถบรรทุกสินค้าวิ่งเข้าออกพื้นที่อย่างไม่ขาดสาย อาจารย์อิงได้ให้ข้อมูลกับผมว่า

ทางเวียงจันทน์ Logistics Park มีแนวทางที่จะนำเอาหน่วยงานที่เป็นลักษณะของเดินพิธีการของฝั่งจีน เข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้ด้วย ก็จะทำให้ในอนาคต สินค้าที่เราจะส่งไปยังประเทศจีนเนี่ยนะครับ แทนที่จะตรวจที่ลาว แล้วต้องไปตรวจที่จีน นะครับ ก็อาจจะมาตรวจเฉพาะในพื้นที่ของ เวียงจันทน์ Logistics Park นะครับ พอไปถึงชายแดนจีนนะครับ ก็มีพิธีการที่สั้นลง ซึ่งถ้าทำได้ก็แปลว่า สินค้าจากไทยไปจีนก็จะใช้ระยะเวลาที่สั้นลง ต้นทุนที่ถูกลง โดยมี vientiane logistics park เป็นผู้ดำเนินการได้

จุดขนถ่ายสินค้าจากตู้คอนเทนเนอร์เพื่อนำเข้าสู่การขนส่งระบบราง

อาจารย์อิงได้สอบถามและพูดคุยกับคณะผู้บริหาร และได้สรุปแนวทางของพื้นที่นี้ไว้อย่างน่าสนใจครับว่า ลาวได้แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่าจะทำตัวเป็น Connectivity ให้กับสินค้าไทยรวมไปถึงอาเซียน เพื่อจะเชื่อมโยงกับจีนผ่านระบบรางเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอาจารย์อิงก็ได้แสดงทรรศนะเสริมอีกว่า ประเทศไทยเองก็จำเป็นที่จะต้องแสวงหาแนวทางที่จะเชื่อมต่อกับความเป็น  Connectivity ของๆลาวตรงนี้ในลักษณะความร่วมมือ ไม่ใช่แข่งขัน

คงต้องยอมรับความจริงว่า การได้รถไฟลาว-จีนมาเนี่ย ทำให้ลาวก้าวกระโดดไปอีกขั้นนึงอย่างรวดเร็ว นี่คือเวลาแค่ 4-5 เดือนหลังจากเขาเปิดรถไฟ เราได้เห็นสภาพความคึกคักที่เปรียบเทียบไม่ได้เลยกับด่านบางด่านที่เราพยายามไปสร้างอยู่ที่ชายแดน ยกตัวอย่างเช่น ภาคเหนือของเราเนี่ย เราก็เคยไปด่านเชียงของกันนะครับ 10 กว่าปีที่ด่านเชียงของเชื่อมโยงกับจีน เราก็ไม่เคยเห็นสภาพความคึกคักที่เทียบได้กับ 5 เดือนของรถไฟลาว-จีนได้เลย

ความคึกคักของรถบรรทุกที่วิ่งเข้าสู่พื้นที่ Vientiane Logistic Park อย่างไม่ขาดสาย

หลังจากสำรวจสถานที่ อาจารย์อิงพาพวกเราไปรับประทานอาหารจีนย่านไชน่าทาวน์ของ สปป.ลาว ซึ่งคนที่นี่เรียกว่า ตลาดซังเจียง หรือ Xang Jieng Chinese Market ซึ่งเป็นย่านการค้าที่คนจีนนิยมมาตั้งถิ่นฐานและประกอบธุรกิจการค้าที่นี่

ย่านธุรกิจการค้าของชุมชนชาวจีนในเขตนครหลวงเวียงจันทน์

พื้นที่ตรงนี้เนี่ยก็เป็นชุมชนคนจีน ที่มาอยู่ที่นครหลวงเวียงจันทน์นะครับ ซึ่งเราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าคนจีนจำนวนมาก ได้เข้ามาประกอบธุรกิจ ตั้งแต่ในช่วงที่ลาวเป็นเจ้าภาพในการจัดแข่งกีฬาซีเกมส์เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้วนะครับ แล้วก็จีนเนี่ยก็ได้เข้ามาลงทุนนเรื่องของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการก่อสร้าง มีการนำเอาคนจีนเข้ามาเพื่อเป็นในส่วนของวิศวกรและ Supervisorหรือว่าแรงงงานนะครับ แล้วก็มาตั้งรกรากอยู่ที่นี่เลย

สถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์ จุดเริ่มต้นเส้นทางระบบรางจากลาวสู่จีน

แนวเส้นทางรถไฟลาว-จีน

เส้นทางรถไฟลาว-จีน เป็นเส้นทางรถไฟสายแรกของลาว ถ้าไม่นับสถานีรถไฟท่านาแล้งที่ประเทศไทยเคยลงทุนเพื่อเชื่อมต่อกับสถานีหนองคายเมื่อ 13 ปีก่อน มีระยะทางรวม 1,035 กม. ในจำนวนนี้เป็นระยะทางในลาวถึง 414 กิโลเมตร มี 11 สถานี ใช้งบประมาณก่อสร้างกว่าสองแสนล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 6 ปี และจุดแรกที่เราเดินทางมาถึงคือ สถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์

ภาพด้านหน้าของสถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์

เช้าวันรุ่งขึ้นเรานัดหมายเพื่อเตรียมเดินทางนั่งรถไฟจากสถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์เพื่อมุ่งหน้าสู่ปลายทางสถานีนาเตย อาจารย์อิงบอกว่าสัมผัสแรกของการเดินทางเข้าสู่สถานีรถไฟที่นี่มีรูปแบบการจัดการเหมือนที่จีนมาก ทั้งการจำหน่ายตั๋ว การตรวจสัมภาระผ่านเครื่องตรวจเอ๊กซ์เรย์ และรูปแบบภายในสถานี เรียกได้ว่าเหมือนยกมาจากจีนเลยทีเดียว ตั๋วรถไฟหรือที่นี่เรียกกันว่าปี้รถไฟ มี 3 แบบ คือ ชั้น 1 ชั้น 2 และ รถธรรมดา ซึ่งวันนี้ คณะของเราเลือกโดยสารชั้น 2 ราคาตั๋วจากนครหลวงเวียงจันทน์ถึงนาเตยคนละ 394,000 กีบ คิดเป็นเงินไทยในช่วงเวลานั้น ประมาณ 788 บาท

ตัวอย่างตั๋วหรือปี้รถไฟลาว-จีน

รถไฟที่เราโดยสาร เริ่มออกเดินทางเวลา 7.50 น. ซึ่งถือว่าตรงเวลามากเลยทีเดียว ระหว่างเดินทาง บรรยากาศนอกหน้าต่าง เต็มไปด้วยภูเขาสูงชัน สลับอุโมงค์ทางลอดของรถไฟที่ตัดผ่านภูเขาตลอดเส้นทาง

บรรยากาศระหว่างเดินทางโดยสารรถไฟลาว-จีน

บรรยากาศภายในตู้โดยสารรถไฟถือว่าสะอาดตา และมีระบบระเบียบใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าในเมืองหลวงของเราอย่างกรุงเทพมหานคร ต่างกันตรงที่นั่งจะเป็นแถวหันหน้าเข้ากึ่งกลางขบวนรถ โดยตรงกลางขบวนรถจะมีโต๊ะกลางสำหรับผู้ที่จองตั๋วมาเป็นหมู่คณะแบบเรา โดยชั้น 1 และ ชั้น 2 ก็มีความต่างกันเล็กน้อยตรงความกว้างของแถวและที่นั่ง ทุกที่นั่งจะมีปลั๊กและช่องเสียบสาย USB สำหรับชาร์จไฟให้ด้วย

หลวงพระบาง เมืองมรดกโลก กับความพยายามฟื้นการท่องเที่ยว

แนวเส้นทางรถไฟจากเวียงจันทน์ถึงหลวงพระบาง

1 ชั่วโมง 40 นาที ผ่านไปอย่างรวดเร็ว รถไฟได้พาเรามาถึงยัง “หลวงพระบาง” เมืองมรดกโลก ผมค่อนข้างทึ่งกับเวลาการเดินทางที่สั้นลงเป็นอย่างมาก เมื่อ 4 ปีก่อน ผมเคยเดินทางด้วยรถโดยสารระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์ถึงเมืองหลวงพระบางใช้เวลาค่อนข้างยาวนานราว 6-8 ชั่วโมง ซึ่งแน่นอนยังไม่รวมกับเวลาที่นานกว่าปกติหากรถโดยสารเสียระหว่างทาง

ภาพด้านหน้าสถานีรถไฟหลวงพระบาง

ภาพแรกหลังจากก้าวออกจากสถานีรถไฟหลวงพระบาง ก็พบกับอาคารผู้โดยสารขนาดใหญ่โตอลังการ สถานีนี้ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองหลวงพระบางประมาณ 20 กิโลเมตร นั่นทำให้ผมต้องมองหารถโดยสารเข้าตัวเมือง ซึ่งด้านหน้าสถานีมีรถตู้โดยสารของทางการรถไฟลาว-จีน จอดรองรับผู้โดยสารอยู่แล้ว สังเกตจากการใช้สีสันของตัวรถโดยสารเหมือนกับรถไฟทุกประการ ตั๋วโดยสารเข้าตัวเมืองหลวงพระบาง เฉลี่ยคนละ 35,000 กีบ หรือ ประมาณ 70 บาท ใช้เวลาไม่นานนัก เราก็เข้าสู่เขตตัวเมืองหลวงพระบาง

รถตู้โดยสารบริการจากสถานีรถไฟหลวงพระบางเข้าสู่ตัวเมือง

เมืองหลวงพระบาง หลังจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ยังคงมีกลิ่นอายความสวยงามเช่นเดิม หากแต่ธุรกิจ ร้านค้าหลายแห่งยังคงปิดตัว เพื่อรอสภาพเศรษฐกิจที่กำลังค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับเมืองเที่ยวเที่ยวของไทยเรา เช่น เชียงใหม่หรือภูเก็ต นั่นทำให้เมืองเหล่านี้ยังคงต้องรอคอยการกลับมาของนักท่องเที่ยวในการมาเยือน เพื่อแต่งเติมสีสันเมืองน่ารักแห่งนี้ให้มีชีวิตชีวากลับคืนมา

บรรยากาศความเงียบเหงาของตัวเมืองหลวงพระบางที่รอคอยการฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19

นาเตย จุดขนถ่ายสินค้าเกษตรทางรางสู่รถบรรทุก

แนวเส้นทางรถไฟจากหลวงพระบางถึงนาเตย

จากหลวงพระบาง เราเดินทางต่อมายังสถานีรถไฟนาเตย ตามหมุดหมายที่อาจารย์อิงตั้งใจ ซึ่งอาจารย์กล่าวว่า พื้นที่นาเตยคือจุดขนถ่ายสินค้าเกษตรจากระบบรางเปลี่ยนถ่ายสู่รถบรรทุกหัวลาก เพื่อนำไปยังจุดตรวจสินค้าเกษตรที่ด่านรถยนต์ของบ่อเต็น เพราะจุดตรวจสินค้าทางรางยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้ระบบการขนส่งสินค้าเกษตรโดยเฉพาะสินค้าจากไทยยังติดปัญหาคอขวดของการขนส่งที่จุดนี้

จุดขนถ่ายสินค้าจากรางสู่รถบรรทุกหัวลาก

สินค้าของไทยที่เป็นพวกของสดเนี่ย ทางจีนยังไม่เปิดให้เข้าไป เนื่องจากว่าด่านตรวจโรคพืช ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของสดนี่จะต้องมีการตรวจยังไม่แล้วเสร็จในส่วนของด่านรถไฟโม่ฮานนะครับ เราได้ข่าวมาว่า น่าจะเป็นเดือน 8 นะครับ แต่พอวันที่เรามาอัดเทปตรงนี้ ก็ได้ข่าวอีกทีว่าน่าจะเป็นเดือน 12 ของปีนี้เลย ด่านตรงนี้ถึงเปิด เพราะฉะนั้นสินค้าที่เป็นพวกของสดเช่น ผลไม้สดเนี่ย จะต้องไปลงที่นาเตยนะครับ ซึ่งอยู่ห่างจากด่านบ่อเต็นที่จะเข้าโม่ฮานเนี่ย ประมาณ 20 กิโลเมตร แล้วถ่ายลงรถบรรทุกหัวลากที่ต้องมาผ่านที่ด่านบ่อเต็น ตรงที่เราอยู่ตรงนี้ก็จะเป็นพื้นที่ของลานเปลี่ยนถ่ายบ่อเต็นนะครับ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวเราจะเห็นภาพครบเลยครับว่า พอผลไม้ไปลงที่สถานีนาเตย เปลี่ยนเป็นรถบรรทุกหัวลาก แล้วก็จะขับมาตามเส้นทาง R3A อีกประมาณ 20 กิโลเมตรนะครับ แล้วก็จะขับตรงไปทางนั้นเพื่อจะไปเข้าประเทศจีน ที่ด่านบ่อเต็นนะฮะ เพื่อทะลุเข้าที่โม่ฮาน สภาพของถนนจะเป็นอย่างไร แต่ทั้งหมดที่เล่าให้ฟังเนี่ย ก็แปลว่า ถ้าด่านตรวจรถพืชรถไฟแล้วเสร็จนะครับ ผลไม้สดของเราก็ไม่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนมาใช้รถบรรทุกหัวลากเข้าไปละ แต่สามารถใช้รถไฟทะลุด่านรถไฟบ่อเต็นเข้าสู่ด่านรถไฟโม่ฮานของจีนได้โดยตรงเลย

บ่อเต็น เขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่างประเทศ พื้นที่อนาคตที่น่าจับตา

แนวเส้นทางรถไฟจากนาเตยถึงบ่อเต็น

จากนาเตย อาจารย์ชวนเดินทางต่อไปยัง เขตพัฒนาเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนของ สปป.ลาวที่ติดกับประเทศจีน รัฐบาลลาวได้ให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชนจากจีนเข้ามาบริหารงาน ​​แบ่งพื้นที่การลงทุนออกเป็นพื้นที่การค้า โลจิสติกส์ การศึกษา การบริการทางการแพทย์ การท่องเที่ยว การเงินและการธนาคาร ภายใต้มูลค่าการลงทุนถึง 5 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว

เขตเศรษฐกิจบ่อเต็นเนี่ยเป็นส่วนของภาพใหญ่ที่เราเรียกว่าเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษม่อฮานบ่อเต็น เป็นเขตเศรษฐกิจข้ามพรมแดนระหว่างจีนกับลาวนะครับ โดยที่วัตถุประสงค์ก็จะตอบโจทย์ของจีนประมาณ 3 เรื่องใหญ่ ๆ นะครับ เรื่องที่ 1 เลยเนี่ย ก็คือในเรื่องของการเป็นประตูในเรื่องของโลจิสติกส์สำหรับขนส่งสินค้าจากต้นทางในอาเซียน ทั้งลาวทั้งไทยหรืออะไรต่างเนี่ย เข้าไปสู่ประเทศจีน

ประตูในการขนส่งสินค้าจากอาเซียนสู่จีน

สองก็คือเป็นพาร์ทของเมือง เป็นเรสซิเด้นท์ เป็นเมืองพักผ่อน เมืองท่องเที่ยว ก็จะเห็นพาร์ทในเรื่องของโรงแรมขนาดใหญ่ และก็จะมีบ้านพักอาศัย มีอาคารพาณิชย์บ มีDuty Free ในอนาคตก็จะมีโรงเรียนนานาชาติหรือว่าแหล่งรักษาพยาบาลที่เป็นมาตรฐานระดับโลกที่เขาบอกไว้ เพราะฉะนั้นมันก็คือการท่องเที่ยงเชิงพักผ่อนที่จะมาอยู่ในพื้นที่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นนะครับ

การจัดสรรพื้นที่สำหรับเป็นเมืองท่องเที่ยวและพักผ่อนในอนาคต

ส่วนที่ 3 นะครับก็คือส่วนของโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งส่วนนี้ก็จะเป็นส่วนที่นักลงทุนจีนหรือว่านักลงทุนจากต่างชาติที่ต้องการมาใช้สิทธิประโยชน์ที่ลาวได้รับจากประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา, ยุโรป, ออสเตรเลีย มาตั้งโรงงานการผลิตอยู่ตรงนี้ ซึ่งก็จะได้ทั้งสิทธิประโยชน์แล้วก็ต้นทุนค่าแรงที่ลดลง จะมีทางด่วนด้วย ถนนด้วย จากบ่อเต็นไปยังเวียงจันทน์ ซึ่งบางพาร์ทก็สำเร็จลุล่วงไปแล้ว กำลังสร้างให้ครบเป็นทางด่วนมาตรฐาน แล้วยังจะทางด่วนจากบ่อเต็นไปยังเชียงของด้วยนะครับ

โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปในเขตพัฒนาเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม

เพราะฉะนั้นเนี่ยจะเห็นได้ว่าโครงข่ายฮาร์ดแวร์นะครับสมบูรณ์มาก รวมไปกับนโยบายภาครัฐของจีน ที่จับมือกับลาวทำเรื่องนี้ขึ้นมา ผมคิดว่าพื้นที่บ่อเต็นเป็นพื้นที่ที่มีอนาคตมาก ในการดูงานครั้งนี้ก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับภาพอนาคตที่จะเห็นที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ตรงนั้น

ภาพรวมการก่อสร้างสถานที่และอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม

อาจารย์ยังได้สรุปทิ้งท้ายการเดินทางสำรวจเส้นทางการค้าครั้งนี้ให้ฟังไว้อย่างน่าสนใจมากครับว่า เขตพัฒนาเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม มีการปรับปรุงพัฒนาเพื่อให้รับความพร้อมที่จะเป็น Gateway เชื่อมระหว่างจีนกับอาเซียนของลาวได้อย่างมีแบบแผน และมีทิศทางที่น่าสนใจ อีกประการหนึ่งก็คือ กฎระเบียบที่เอื้อให้ทางจีนและลาว สามารถทำงานหรือว่ามีการเพิ่มมูลค่าการขนส่งสินค้าต่าง ๆ ได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งภาพที่เราเดินทางมาเห็นในครั้งนี้สามารถช่วยในเชิงของงานการศึกษาของอาจารย์อิงให้มั่นใจมากขึ้น โดยอาจารย์เน้นย้ำว่าแนวทางการตั้งโจทย์เพื่อการศึกษาที่อาจารย์กำลังดำเนินการอยู่ ถือว่าได้เดินมาในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว

ภาพที่ชัดเลยครับก็คือว่าตอนนี้สปอตไลท์มาอยู่ที่ลาวเรียบร้อยแล้วนะครับ ลาวกำลังจะพัฒนาตัวเองกลายเป็น Gateway ของอาเซียน ความคิดที่เราบอกว่าเราน่าจะเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค อาจจะต้องกลับมาทบทวนละ ว่าเราควรจะ Positioning ตัวเองเป็นลักษณะนั้นหรือไม่ ผมคิดว่าก็ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลมากมาย จนกระทั่งว่าต้องตกใจ ตอนนี้เราคงต้องถอยมาดูว่า เมื่อมันมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในลาว เราจะเข้าไปร่วมมือกับเขาได้อย่างไร อย่างไรเสียประเทศไทยก็ยังเป็น Gateway ที่สำคัญในการที่จะไปประเทศอื่น ๆ อยู่ดีนะครับ ถ้ามองอย่างนี้เราไม่มีความเสียหายอะไรเกิดขึ้นกับมีรถไฟ กลับมีผลประโยชน์ ผลประโยชน์หลัก ผลประโยชน์ร่วมกับลาว อันนี้คือสิ่งที่เราต้องไปทำงานเพิ่ม เพื่อทำให้พื้นที่ของเรา มีความมั่งคั่งด้วยกัน

การเดินทางกับ อ.อิงในครั้งนี้ ทำให้มองเห็นนะครับว่าเราคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับตัว เข้าถึง และเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถวางแผนได้อย่างเท่าทัน และได้รับประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ