คมสันติ์ จันทร์อ่อน
เครือข่ายสลัม 4 ภาค
จากข้อมูลชุมชนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนและการเคหะแห่งชาติร่วมกันสำรวจ ทั่วประเทศมีชุมชนแออัดจำนวน 6,334 ชุมชน 1,630,447 ครัวเรือน มีผู้เดือดร้อนในที่อยู่อาศัยอยู่ 728,639 ครัวเรือน (ข้อมูลปี พ.ศ. 2550)
ขณะนี้เครือข่ายสลัม 4 ภาค กำลังอยู่ระหว่างการลงพื้นที่พูดคุยกับชุมชนที่อยู่ในสถานการณ์ไล่รื้อเร่งด่วน ซึ่งมีชุมชนที่เข้าข่ายอยู่ราว 60 ชุมชน (สำรวจถึง ณ วันที่ 20 ส.ค. 58) ส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในที่ดินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ ที่ราชพัสดุ ที่ดินสาธารณะริมคูคลอง ที่ดินของวัด ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยตามสองข้างทางรถไฟ และที่ดินของบริษัทเอกชนต่างๆ
สภาพชุมชนวัดใต้ ที่รอการเจรจาเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัยใหม่ให้ดีขึ้น
หากดูสถานการณ์การพัฒนาของรัฐที่จะส่งผลกระทบกับชุมชนและจะเป็นคู่พิพาทกันในอนาคต ตามนโยบายการพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างเพื่อการพัฒนาระบบรางทั้งระบบ หรือแม้แต่โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการเหล่านี้นอกจากจะสร้างผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนแออัดแล้ว ยังสร้างผลกระทบทางอ้อมที่จะทำให้ชุมชนแออัดถูกไล่รื้อตามไปอีกด้วย เพราะบริเวณการก่อสร้างโครงการดังกล่าวจะก่อเกิดมูลค่าราคาที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ทำให้ความต้องการใช้ที่ดินเพื่อลงทุนของภาคเอกชนมีมากขึ้น และจากรูปการดังกล่าวทำให้ชุมชนแออัดมีโอกาสจะต้องถูกไล่รื้อมีมากขึ้นตามไปด้วย
ที่ผ่านมาในอดีตจนถึงปัจจุบันรูปแบบการไล่รื้อชุมชนแออัดมีหลากหลายวิธี หากจะพบพอจะแยกออกมาคร่าวๆ ได้ดังนี้
รูปแบบแรก บอกกล่าวแจ้งให้ย้าย เจ้าของที่ดินในเบื้องต้นจะมีวิธีการแจ้งบอกกล่าวให้ย้ายออกจากวิธีในหลายแบบ เช่น การส่งจดหมายถึงเจ้าของบ้านแต่ละหลัง หรือส่งถึงประธานชุมชน หรือการปักป้ายแจ้งไว้ในที่ๆ ชุมชนสามารถมองเห็นได้ทั่วถึง หรือไม่ก็ส่งกลุ่มที่มีบุคลิกน่าเกรงขามมาแจ้งบอกกล่าวให้รีบย้ายโดยเร็ว ถือเป็นรูปแบบที่ใช้กันทั่วไปในทุกแห่ง เพราะสามารถสร้างจิตวิทยาให้กับชาวบ้านเกิดความเกรงกลัวที่จะถูกดำเนินคดี อาจจะมีชาวบ้านบางส่วนรีบรื้อบ้านย้ายออกไปในทันทีตั้งแต่ทราบข่าว
ภาพป้ายการแจ้งให้ย้าย พร้อมข่มขู่ไม่รับผิดชอบ หากทรัพย์สินเสียหาย ของชุมชนเสรีไท 57
รูปแบบที่สอง จ่ายค่าชดเชยแล้วให้ย้ายออกไป เป็นวิธีที่เจ้าของที่ดินไม่ว่ารัฐ หรือเอกชน นำมาใช้กันแทบจะทุกชุมชน (แต่ไม่ใช่ทั้งหมด) หากชุมชนใดไม่มีการจัดตั้งที่ดีก็มักจะจบลงด้วยความรวดเร็ว แต่หากชุมชนใดมีการจัดตั้งชุมชนที่ดี การเจรจาต่อรองเรื่องนี้ถือเป็นประเด็นเล็กไปเลย อีกทั้งสร้างเงื่อนไขการต่อรองเจรจาไปในทิศทางที่ชุมชนต้องการได้
รูปแบบที่สาม เข้าโครงการช่วยเหลือจากรัฐ เช่น โครงการบ้านยั่งยืน (เอื้ออาทรเดิม), โครงการบ้านมั่นคง ส่วนใหญ่มักจะพบเห็นจากกลุ่มที่โดนไล่รื้อจากโครงการของรัฐ เพราะสามารถเชื่อมประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ง่ายและสะดวก แต่ทั้ง 2 โครงการก็มีความต่างในความต้องการของชุมชนเอง หากชุมชนที่อยู่กันแบบปัจเจกไม่เป็นกลุ่มก้อนมักจะเลือกโครงการบ้านยั่งยืน เพราะสะดวกในการจัดการ หากชุมชนไหนที่มีการจัดตั้งรวมกลุ่มกันก็มักจะเลือกโครงการบ้านมั่นคง ที่สามารถแก้ปัญหาร่วมกันทั้งชุมชนในทิศทางเดียวกัน
รูปแบบที่สี่ แจ้งความ ฟ้องศาลขับไล่ เป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากที่นำเสนอทางเลือกต่างๆ แล้วยังไม่มีข้อยุติเป็นที่น่าพอใจทั้งสองฝ่าย ซึ่งโดยทั่วไปชุมชนจะจบลงด้วยการแพ้คดี
รูปแบบที่ห้า เข้ารื้อทำลายทันที วิธีการนี้ไม่ค่อยเห็นมานานมากในอดีตจะใช้รูปแบบนี้บ่อยที่จะใช้กำลังกลุ่มคนเข้ารื้อทำลายโดยทันทีไม่มีการแจ้งให้รู้ล่วงหน้านานนัก และจะไม่ใช้ระบบกระบวนการตามกฎหมาย เจ้าของที่ดินจะใช้เครื่องจักร กำลังคนทำลายบ้านเรือนทรัพย์สินให้เสียหายทั้งหมด หรือวางเพลิง เผาชุมชน ให้หมดสิ้นไป ในปัจจุบันยังคงมีการใช้วิธีการนี้อยู่ เช่น ชุมชนหลังปั้มเอสโซ่ ย่านพระราม 3 ถูกเผาไล่ที่เมื่อต้นปี 2552 กรณีชุมชนล่าสุดเมื่อปลายปี 2557 ชุมชนเสรีไท 57 เพิ่งถูกดำเนินการไล่รื้ออย่างป่าเถื่อนแบบนี้
สภาพบ้านของชุมชนเสรีไท 57 ที่ถูกรื้อทิ้ง โดยที่ชาวชุมชนไม่ทันตั้งตัว
รูปแบบสุดท้าย หาที่ดินใหม่แลก วิธีนี้เป็นวิธีที่จบลงด้วยดีทั้งสองฝ่าย ชุมชนและเจ้าของที่ดินเจรจากันจนได้ข้อยุติ เจ้าของที่ดินจะจัดหาที่ดินแปลงใหม่มาเพื่อรองรับชาวชุมชนทั้งหมดในทำเลใหม่ให้ รูปแบบนี้เห็นได้จากกรณีของชุมชนริมทางรถไฟโค้งอโศก และชุมชนบางนา ที่อยู่ในที่ดินของเอกชน และกรณีชุมชนที่อยู่ในที่ดินการรถไฟฯ ย่านบางกอกน้อย ที่การรถไฟฯ หาที่ดินแห่งใหม่ให้กับชาวชุมชนย้ายไปไม่เกิน 5 กิโลเมตร จากที่เดิม
รูปแบบต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความประสงค์ของเจ้าของที่ดินว่าต้องการขับไล่ชาวชุมชนมากน้อยเพียงใด บ้างมีการเจรจากันก่อนดำเนินการ บ้างดำเนินการเลยโดยไม่มีการพูดคุย บ้างมีหน่วยงานรัฐเป็นกลไกกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนแล้วขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนเองว่ามีการเตรียมความพร้อมรับมือกับเรื่องนี้เช่นไร
ส่วนการรื้อย้ายสลัมจะจบลงด้วยวิธีใดก็ตามสิ่งที่จะกระทบตามมาของกลุ่มคนเหล่านั้นคือวิถีชีวิตดั้งเดิมของเขา ชุมชนที่ถูกไล่รื้อส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีอายุชุมชนไม่ต่ำกว่า 20 ปีทั้งนั้น บางชุมชนอยู่มากัน 2 – 3 ชั่วอายุคน ทำให้การปักหลักวางฐานของครอบครัว ชุมชน มีความเกี่ยวพันกับสงคมรอบข้างชุมชนเป็นอย่างมาก สิ่งที่ชาวชุมชนจะต้องประสบพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นี้แน่ๆ คือ
1.รูปแบบการพักอาศัยที่ต้องเปลี่ยนไป ชุมชนไหนที่มีความเข้มแข็งก็มักจะสามารถออกแบบที่อยู่อาศัยใหม่ได้ให้เหมาะสมกับสมาชิกชุมชนตนเอง หากไม่มีความพร้อมของชุมชนถ้าเป็นในอดีตก็จะมีการไปหาที่ว่างแปลงใหม่ในการอยู่อาศัย แต่เนื่องในปัจจุบันที่ว่างในเมืองหลวงแทบจะไม่มีเหลือหากชาวชุมชนจะไปหาที่ดินว่างเปล่าก็คงต้องขยับไปนอกเมืองมากๆ หรืออาจจะต้องเป็นปริมณฑล หากจะหาที่อยู่อาศัยอื่นก็จะเป็นห้องเช่าราคาถูกอยู่กันแบบแออัด หรือถ้าเป็นที่รัฐจัดให้ก็จะเป็นลักษณะที่อยู่อาศัยทรงสูง บางคนไม่สามารถประกอบอาชีพเดิมได้ เช่น กลุ่มคนเก็บของเก่าขาย, กลุ่มขายอาหาร, กลุ่มอาชีพที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการประกอบอาชีพ
2.อาชีพและการเดินทางที่จะต้องเปลี่ยนไป เมื่อที่พักอาศัยต้องห่างจาก ทำเล หรือที่ตั้งการประกอบอาชีพเปลี่ยนไปส่งผลให้การลงทุนจะต้องเพิ่มขึ้น เพราะส่วนใหญ่หากชุมชนจะต้องย้ายออกจากชุมชนเดิมมักจะมีที่ตั้งชุมชนใหม่ในพื้นที่ที่ห่างจากที่ตั้งออกไปจากเดิม มากบ้าง น้อยบ้าง ตามแต่ที่จะเจรจาต่อรอง หรือการเสาะแสวงหาของชาวชุมชนเอง
3.การศึกษาของบุตรหลาน พอย้ายที่อยู่อาศัยใหม่ บุตรหลานจำเป็นต้องย้ายสถานศึกษาใหม่ตามไปด้วย หากต้องย้ายช่วงระหว่างเรียนจำเป็นต้องเดินทางระยะทางไกลไปก่อนจนกว่าจะปิดเทอม
บทส่งท้ายนี้ สังคมเมืองควรจะมีคำตอบให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ว่าที่ผ่านมาแรงงานหลักในการสร้างเมืองนั้นเป็นกลุ่มคนใด ดังเคยมีคำกล่าวไว้ว่า สลัมนั้นเปรียบดัง “โกดังแรงงาน” หากต้องการแรงงานราคาถูกก็มาหาได้ที่นี่ เหมือนกับคำที่อดีตผู้นำชุมชน คุณทวีศักดิ์ แสงอาทิตย์ ได้กล่าวไว้ว่า “เมืองจะเจริญไม่ได้ ถ้าปราศจากคนจน”
หลังจากเป็นส่วนในการสร้างเมือง แล้วจะทำการเบียดขับกลุ่มคนเหล่านี้ออกไปเยี่ยงไร เพราะเขาคือฟันเฟืองหนึ่งที่ร่วมกันพัฒนาเมือง