มอง “กระท่อม” ให้ไกลกว่าพืชขายใบสด

มอง “กระท่อม” ให้ไกลกว่าพืชขายใบสด

ถ้าเรามองตลาดพืชกระท่อม เราไม่ควรมองแค่การปลูก เก็บใบ ขายใบสด หรือปลูก เก็บใบ ป้อนโรงงาน ถ้ามองแค่นี้ถึงตอนนี้จะถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่แล้ว แต่มันยังเป็นตลาดที่แคบมาก ผมมองว่าธุรกิจกระท่อมมีหลากหลายมาก ใคร ๆ ก็สามารถเข้ามาสู่ธุรกิจพืชกระท่อมได้ เช่นภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม ร้านอาหาร สุขภาพ และการรักษาโรค หรือการท่องเที่ยว และอาจจะเป็นธุกิจด้านการศึกษาได้ด้วย

ว่าที่ร้อยตรีกำพล จิตตะนัง นักวิชาการอิสระที่ศึกษาพืชกระท่อม

“เกษตรกรเราถูกสอนมาว่า เมื่อเราปลูกอะไรก็ตาม ปลายทางมันคือโรงงาน เราปลูกยางพารา ปลายทางคือโรงงานแปรรูปยางพารา เราปลูกปาล์มเราก็ต้องส่งขายโรงงานปาล์ม เราปลูกข้าวเราป้อนโรงสี แต่พืชกระท่อมควรจะเป็นพืชที่เข้ามาเปลี่ยนวิธีคิดของเกษตรกร เพราะกระท่อมต่างจากพืชเศรษฐกิจอย่างยางพารา และปาล์มน้ำมัน”

ว่าที่ร้อยตรีกำพล จิตตะนัง นักวิชาการอิสระที่กำลังศึกษาเรื่องพืชกระท่อมอย่างจริงจังเริ่มเล่าให้ฟังถึงความแตกต่างระหว่างพืชกระท่อมกับพืชเศรษฐกิจยอดนิยมของภาคใต้อย่างยางพารา เพราะจากการเก็บข้อมูล รวมถึงทำการทดลองปลูกแปรรูปและทำการตลาด ทำให้เขามองเห็นอนาคตของพืชกระท่อม ที่จะสามารถเข้าเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ของคนใต้

โรงเรือนพืชกระท่อม

“ยางพารา ถ้าเรากรีดแล้วเก็บน้ำยางพาราไว้ หรือเก็บแผ่นยางพาราไว้ เราก็เอาไปทำอะไรไม่ได้ เราเอาไปขายในตลาดไม่ได้เพราะคนทั่วไปไม่มีใครใช้ของพวกนี้ แต่คนทั่วไปใช้ยางล้อรถ ใช้ถุงยางอนามัย ใช้ถุงมือยาง ซึ่งต้องผ่านกระบวนการแปรรูปที่ซับซ้อน และใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในระดับโรงงานถึงจะกลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าขายให้คนทั่วไปได้ เกษตรกรจึงต้องยอมขายน้ำยางพาราแม้ในราคากิโลกรัมละ 20 – 30 บาทก็ตาม ซึ่งยางพาราเราแปรรูปไม่ได้ ปาล์มน้ำมันก็เช่นกัน เราไม่สามารถแปรรูปเป็นน้ำมันพืชเองได้ เรายอมรับเรื่องเหล่านี้ แต่พืชกระท่อมเราไม่ควรจะยอมรับ(เรื่องการแปรรูป) เพราะพืชกระท่อมมันแตกต่างจากพืชอื่น”

พืชกระท่อมเด็ดใบจากต้นขายคนข้างบ้านได้เลย

“เอาใบกระท่อมไปขายปากซอยได้ เอาไปขายในตลาดได้ ขายได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องแปรรูป แต่ถ้าอยากแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ก็สามารถทำได้ การแปรรูปบางอย่างง่ายมาก ไม่ซับซ้อน เช่น ตาก หรืออบแห้งแล้วบดให้เป็นผงก็ขายได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีโรงงาน ซึ่งปกติร้านยาสมุนไพรทุกพื้นที่ ทุกอำเภอสามารถบดผงได้ ใส่ซอง บรรจุขวด หรือใส่กล่องขาย ซึ่งเกษตรกรสามารถทำเองได้เลย ดังนั้นการแปรรูปได้เองควรเป็นเป้าหมายหลักของชุมชน มากกว่าการวางเป้าหมายในการปลูกเพื่อป้อนให้กับโรงงาน แบบนั้นผลประโยชน์จะตกอยู่กับเจ้าของธุรกิจไม่กี่ครอบครัว ที่มีต้นทุนมากพอที่สร้างโรงงานแปรรูปได้ และกฏหมาย หรือ อย. ควรจะต้องอำนวยความสะดวกให้พืชกระท่อมสามารถแปรรูป และขายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพืชกระท่อมได้เองตั้งแต่ระดับชุมชน เปิดโอกาสให้พืชกระท่อมกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่พลิกชีวิตเกษตรกร ให้เกษตรกรเอง ให้ชุมชนเองได้เป็นเจ้าของธุรกิจเองได้”

ใบกระท่อม

ตั้งแต่พืชกระท่อมปลดล็อก

“เราเห็นความพยายามของชุมชนที่รวมตัวกันเพื่อจะเข้ามาสู่ธุรกิจพืชกระท่อม ตั้งแต่ขยายพันธุ์ขายต้นพันธุ์ เก็บเมล็ดพันธุ์มาตากแห้งขายได้เลย หรือจะขายต้นพันธุ์ ขายกิ่งตอน หรือต้นเสียบยอด รวมไปถึงรวบรวมใบกระท่อมเพื่อส่งขาย ช่วยกันหาตลาด ช่วยกันประสานลูกค้า ตั้งราคาเองสร้างอำนาจในการต่อรองราคา หรือแม้กระทั่งปรึกษาช่วยกันดูแลเพื่อผลิตพืชกระท่อมให้มีคุณภาพมากขึ้น”

“ซึ่งทั้งหมดนี้หากทำคนเดียวก็คงไม่สามารถทำได้ เมื่อรวมตัวกันเกิดเป็นความเข้มแข็งของชุมชน ก็ไปปรึกษากับมหาวิทยาลัยเรื่องโรคพืชได้ หรือไปปรึกษากับกลุ่มธุรกิจเรื่องการทำตลาดได้ หรือปรึกษาเรื่องอื่น ๆ เช่น การควบคุมคุณภาพ หรือการรับรองคุณภาพ การรวมกลุ่มของเกษตรกรทำให้เราเห็นได้ว่าพืชกระท่อมเป็นช่องทางธุรกิจหลากหลายรูปแบบของชุมชนที่สามารถสร้างกำไรหมุนเวียนในภาคใต้จำนวนมหาศาล”

ต้นกล้ากระท่อม

ใคร ๆ ก็สามารถเข้ามาสู่ธุรกิจพืชกระท่อมได้

“ใครละจะเป็นคนสร้างบุคลากรที่จะป้อนสู่อุตสาหรกรรมพืชกระท่อมในแต่ละด้าน โรงเรียน วิทยาลัยเกษตร หรือมหาวิทยาลัย  ภาคการศึกษาควรจะมาทำหลักสูตร ตั้งแต่เรื่องการเพาะปลูก เพื่อป้อนอุตสาหกรรม การขายต้นพันธุ์ หลักสูตรคหกรรมอาหารปลอดภัย เพื่อป้อนอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอาชีวต้องคิดหลักสูตร พืชกระท่อมนำไปเป็นอาหารคาวหวานอะไรได้บ้าง ผลิตเป็นเครื่องดื่มอะไรได้บ้าง หรือขายสูตรอาหารจากพืชกระท่อมเป็นธุรกิจได้ แพทย์แผนไทย หรือแพทย์แผนปัจจุบันที่จะต้องเข้ามาสู่สายงานด้านสุขภาพ และการรักษาโรค หรือในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่นอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ หรืออุตสาหกรรมเกี่ยวกับความสวยความงาม อีกอย่างคือธุรกิจด้านการให้คำปรึกษา เพราะปัจจุบันความรู้เรื่องพืชกระท่อมสำหรับบางคนยังมีน้อย”

“การพูดถึงแต่ในแง่ดีของพืชกระท่อมมีอยู่มากพอสมควร ไม่พูดให้หมดทุกแง่มุม ไม่ให้ข้อมูลตรงไปตรงมา สร้างความเสียหายได้เหมือนกัน สร้างความเสียหายให้ตั้งแต่ตัวเกษตรกรจนไปถึงภาคอุตสาหกรรม หมายถึงการวางแผนของกลุ่มเกษตรกรอาจจะไม่ตรงตามความคาดหวัง และธุรกิจอาจจะพังได้ ดังนั้นยังมีอีกหลายช่องทางที่เป็นโอกาสให้เกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรในภาคใต้ ได้มีช่องทางทำมาหากินที่สร้างรายได้มหาศาล”

บทความที่เกี่ยวข้อง

เปิดประตู 10 ช่องในธุรกิจพืชกระท่อม

สกต.ชุมพรดัน “กระท่อมก้านแดง” สร้างความมั่นคงให้เกษตรกร

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ