ฟังเสียงประเทศไทย : อนาคตท่องเที่ยวชุมชนเผ่าพื้นเมือง แม่ฮ่องสอน

ฟังเสียงประเทศไทย : อนาคตท่องเที่ยวชุมชนเผ่าพื้นเมือง แม่ฮ่องสอน

อัมกอเปอะ ที่โมซัมเบียง = สบายดีนะ ที่ละอูบ

เมนูต้อนรับที่แสนเรียบง่าย ความประทับใจหนึ่งที่ได้จากการต้อนรับในแบบนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวในชุมชน เมนูจากเก็บจากห้องครัวธรรมชาติ กลายร่างเป็นอาหารพื้นบ้านที่ปรุงด้วยพืชผักพื้นถิ่น ปลอดสารพิษ อย่าง ยำผักกูด น้ำพริกถั่วเน่า+ผักลวก เสริฟพร้อมข้าวกล้องดอย สิ่งนี่น่าจะเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงอัตลักษณ์เฉพาะ ความหลากหลายที่อยู่ในบ้านของเรา อาหารพื้นถิ่นแบบนี้จะหากินได้จากที่ไหนหากไม่ใช่การเข้าไปสัมผัสกับการท่องเที่ยวโดยชุมชน  

การท่องเที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์ เซลฟี่กับวิวที่งดงาม กินอาหารพื้นถิ่น นอนพักโฮมสเตย์ ทำกิจกรรมจากวิถีชาวบ้านในชุมชน กำลังได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน นอกจากจะมีความคูล เท่ ใกล้ชิดธรรมชาติแล้ว การท่องเที่ยวแบบนี้ยังช่วยให้ชุมชนพัฒนาทางด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ 

ทีมงานฟังเสียงประเทศไทยเทปนี้ อยากชวนไปสัมผัส “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” ที่ชุมชนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีบทบาทในการจัดการท่องเที่ยว และให้บริการโดยชุมชนเอง ซึ่งต่างจากการท่องเที่ยวกระแสหลักที่ผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมนี้เป็นธุรกิจหลากประเภท เช่น บริษัทนำเที่ยว โรงแรม หรือร้านอาหารขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้เม็ดเงินที่เกิดจากการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวไม่ตกถึงชุมชนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวชุมชนนั้นจะพาเราให้ได้เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนที่เรียบง่าย มีเอกลักษณ์เฉพาะชุมชนนั้น สัมผัสรอยยิ้มและการต้อนรับที่แสนอบอุ่น เช่นครั้งนี้รายการฟังเสียงประเทศไทย เดินทางมาที่ แม่ฮ่องสอน เมืองสามหมอก ดินแดนในหุบเขา ที่มีความหลากหลายทั้งวิถีวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ  หมุดหมายคืออำเภอ แม่ลาน้อยอำเภอเล็ก ๆ ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นธรรมชาติที่สวยงามที่เขียวขจี ท้องถิ่นยังคงใช้ชีวิตกันอย่างเรียบเงียบสงบมีวัฒนธรรมที่สวยงาม

เริ่มล้อหมุนออกเดินทาง 6 โมงตรง จากเชียงใหม่ขับรถถนนเส้นทางสาย 108 เชียงใหม่-ฮอด-แม่ฮ่องสอน ไปยังอำเภอแม่ลาน้อย ระยะทาง 224กิโลเมตร เส้นทางลัดเลาะคตโค้งผ่านขุนเขา ชมทิวทัศน์ธรรมชาติต้นฝน

จนถึงเมืองในขุนเขา อำเภอแม่ลาน้อย เมื่อขับรถผ่านตัวอำเภอแม่ลาน้อย เราจะเห็นพื้นที่ศูนย์กลางอำเภอเล็ก ๆ บริเวณใกล้ลำน้ำและเนินขึ้นไปสู่โรงพยาบาล และร้านค้าด้านข้างและด้านหน้า ดูเหมือนไม่มีความน่าสนใจ แต่ยังไม่ถึงปลายทางที่แท้จริงของเรา ไปต่อนั่งรถจากตัวอำเภอแม่ลาน้อย เข้าไปอีกประมาณ 1 ชั่วโมง ไปยังชุมชนชาวลเวือะ บ้านละอูบ ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทางเข้าระหว่างทางแทบจะเรียกได้ว่า วิวสวยตั้งแต่ปากทางเข้า ไปจนถึงสุดทางของหมู่บ้านเลยทีเดียว

สวัสดี…โมซัมเบียง ! นี่คือชื่อเก่าหมู่บ้านนะ โมซัมเบียง เป็นชื่อ ภูเขา ซึ่งในอดีตใช้ชื่อหมู่บ้านว่าโม

พักชมสิ่งที่น่าสนใจ จอดรถที่แรกเพื่อรอเครือข่ายที่เรานัดกันไว้ โฮ้โหวิวหลักล้านนนนนนนนน จุดชมวิวนี้เองก็มีอีกหนึ่งไฮไลท์ประจำหมู่บ้านนั่นก็คือองค์พระใหญ่ ที่ประดิษฐานอยู่ด้านบนจุดชมวิว วิวมองเห็นหย่อมบ้านห้วยห้อม อีกหนึ่งหมู่บ้านท่องเที่ยวชุมชนขึ้นชื่อของที่นี่

ที่นี่คือบ้านละว้าโมซัมเบรียง หัวใจแห่งละเวือะ วิถีลัวะ ณ บ้านละอูบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่อยู่โอบกอดท่ามกลางขุนเขาและสายหมอก มีความน่าสนใจทั้งผู้คน วัฒนธรรม ที่พัก และที่สำคัญนั่นก็คือ วิวสวย(มากกกก) คนที่นี่ส่วนใหญ่เป็นคนชาติพันธุ์ ที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ซึ่งรากเหง้าวิถีชีวิต ด้วยต้นทุนทางธรรมชาติที่มีทั้งความอุดมสมบูรณ์ และวิถีชีวิตที่หลากหลายของชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง ทำให้ชาวบ้านที่ตำบลห้วยห้อม  ชุมชนที่โอบล้อมด้วยหุบเขา เลือกใช้ต้นทุนของของพื้นที่จัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน หนึ่งในรูแบบการท่องเที่ยว ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ตอนนี้ซึ่งพวกเขา ถือโอกาสการมาเยือนของผู้คน นำเสนอเรื่องราววิถีชีวิต ของการอยู่ร่วมกันกับพื้นที่ป่าตามฉบับวิถีของชนเผ่าพื้นเมืองสร้างความเข้าใจลดมายาคติ ให้เห็นว่าคนกับป่าอยู่ร่วมกันได้

ความน่ารักของที่นี่ทุกคนเป็นกันเองมาก รวมถึงน้อง ๆ เด็ก เยาวชนในชุมชน โบกมือทักทายสวัสดีตลอดสองข้างทางที่เราเจอ

ชาวลัวะบ้านละอูบมีวัฒนธรรม การสร้างที่อยู่อาศัย การแต่งกายที่แตกต่างจากชาวไทยภูเขาเผ่าอื่น ๆ แต่เดิมนั้นชาวลัวะจะนับถือผี เชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ แต่ปัจจุบันเมื่อความเจริญเข้ามาแทนที่ ความเชื่อต่าง ๆ เหล่านั้นก็ลดน้อยถอยลงไปตามกาลเวลาและการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังคงวิถีชีวิตอันเรียบง่ายที่ใครก็ตามได้สัมผัสแล้วจะต้องรู้สึกประทับใจ หมู่บ้านละว้า (ลัวะ) บ้านแม่ละอูบ ตำบลห้วยห้อม อยู่ห่างจากอำเภอแม่ลาน้อย 32 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านเขตติดต่อระหว่างอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่ลาน้อย และอำเภอแม่สะเรียง

ไม่รอช้า เริ่มต้นจุดแรกของการท่องเที่ยวบ้านละอูบ กลุ่มอาชีพตีเครื่องเงินบ้านละอูบ ผลิตเครื่องเงิน ภูมิปัญญาแต่ดั้งเดิมของชาวละอูบ ที่ยังใช้กำลังคนในการผลิตด้วยมือ เป็นศิลปะชั้นสูงที่ถูกถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น เราได้เห็นและเรียนรู้วิธีการทำเครื่องเงินของชาวละอูบ และวิธีการขายในรูปแบบใหม่ ๆ ของชุมชน  

ทีมงานโดนตกไปหลายคนเลยค่ะ รวมตัวเองด้วย

เดินมาแถวใจกลางหมู่บ้านใกล้ ๆ กับเสาอิทลขิล ของชุมชน มีป้ายบอกถึงปฎิทินวิถีของชาวลเวือะ

หมุด https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000025037

หลังจากที่ทีมงานเราสำรวจจุดต่าง ๆ ของชุมชนละอูบ และได้สถานที่ในการถ่ายทำเรียบร้อยแล้ว ถึงเวลาไปที่พัก ขับถัดออกมาจากบ้านละอูบมาประมาณ 5 กิโลเมตร คือ หมู่บ้านห้วยห้อม หมู่บ้านในอ้อมกอดของหุบเขา วิวทิวทัศน์สวยไม่แพ้กัน วิวส่วนใหญ่เป็นนาขั้นบันได ไร่หมุนเวียน หลัก ๆ คนที่นี่เขาปลูกข้าว เสาวรส แมคคาดรเมีย อโวกาโด และกาแฟอันธุ์อาราบิการที่รสชาติเข้มข้นที่ปลูกโดยคนในชุมชนด้วยนะ

จุดเด่นของดีของที่นี่อีกสิ่งหนึ่งคือ ผ้าทอดีไซน์หลากหลาย คนที่นี่เอาขนแกะมาทอเป็นผ้าทอขนเเกะ เป็นอาชีพเสริมของกลุ่มผู้หญิงที่นี่ ไม่รีรอเราอาจไม่พบคำตอบหากไม่ได้พูดคุยกับคนในพื้นที่ นั้งคุยกับคนรุ่นใหม่บ้านห้วยห้อม นอกจากจะขึ้นชื่อเรื่องการแฟ โฮมสเตย์แล้ว ยังมีผ้าทอขนแกะ สินค้าการันตีด้วย GI (Geographical Indication) ของขึ้นชื่อ บ้านห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นผ้าทอที่มีความงดงาม จากการผสมผสานระหว่างขนแกะและเส้นฝ้ายที่ผ่านการย้อมสีธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน เหมาะสำหรับใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มในฤดูหนาว และ ผ้าทอขนแกะถือเป็นผ้าทอที่มีการประยุกต์จากภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวปกากะญอ น้อง หมีน้อย ลูกสาวประธานกลุ่มทอผ้าขนแกะ กล่าวว่า การทอผ้าขนแกะ ที่บ้านห้วยห้อม เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2500 โดยกลุ่มมิชชันนารีที่มาเผยแผ่ศาสนาคริตส์ได้นำความรู้เกี่ยวกับการใช้ขนแกะมาทำเป็นเส้นด้ายสำหรับทอผ้า สอนให้กับชาวบ้าน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ มาที่บ้านห้วยห้อม และได้พระราชทานแกะพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ให้กับชาวบ้านได้เลี้ยง เพื่อนำขนแกะมาเป็นผ้าทอ

หมุด  https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000025041

ภายหลังจากนั้นชาวบ้านจึงขยายพันธุ์แกะเพื่อเลี้ยงในชุมชน พร้อมทั้งจัดตั้งกลุ่มทอผ้าขนแกะขึ้น ปัจจุบัน มีสมาชิกจำนวน 60 คน และมีแกะที่เลี้ยงเพื่อตัดขนอยู่จำนวน 22 ตัว ซึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปีจะมีการตัดขนแกะ โดยแกะ 1 ตัว ตัดขนได้ประมาณ 2-3 กิโลกรัม ส่วนขนแกะอีกส่วนหนึ่งจะซื้อจากที่โครงการหลวง ในราคากิโลกรัมละ 100 บาท หลังจากที่ได้ขนแกะมาแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การนำขนแกะไปแช่กับผงซักฟอกสักครู่แล้วล้างออกทำ แล้วนำไปต้มกับน้ำเดือดเพื่อให้ไขมันที่ติดขนแกะออก จากนั้นนำไปผึ่งแดดให้แห้ง แล้วนำขนแกะที่แห้งมาสางยีด้วยหวีที่นำเข้ามาจากนิวซีแลนด์ ให้เป็นขนปุยนุ่มเหมือนสำลี ต่อจากนั้นนำไปทำเป็นเส้นด้ายขนแกะ พร้อมที่จะเอาเส้นด้ายไปทอ ซึ่งคุณสมบัติของขนแกะที่ได้มีคุณภาพดี 100% นอกจากการทอด้ายขนแกะแล้ว ยังมีการนำด้ายขนแกะมาทอผสมผสานกับฝ้ายท้องถิ่นที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติ โดยผ่านกระบวนการทอแบบโบราณ ด้วยการใช้ด้ายผูกกับไม้และผูกกับเอว หรือที่เรียกว่า กี่เอว จึงทำให้ผ้าทอที่ได้มีความนุ่ม มีลวดลายสวยงาม ส่วนผ้าทอที่ได้มีผ้าทอจากขนแกะล้วน และผ้าทอขนแกะผสมผ้าฝ้าย สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผ้าทอ เช่น ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าคลุมโต๊ะ ผ้าคลุมเตียง พรม เสื้อ และถุงย่าม  ช่วงฤดูนี้เป็นฤดูหยอดข้าวของชาวบ้านปกาเกอะญอ และจะปล่อยแกะขึ้นไปเลี้ยงตรงไร่ข้าวอีกด้วย

หมุด : https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000025064

“ชนเผ่าลเวือะมีสุภาษิต กล่าวว่า ข้าวหนึ่งต้น เลี้ยงคนได้หนึ่งคน ข้าวหนึ่งต้น เลี้ยงคนได้ทั้งครอบครั้ว แบะข้าวหนึ่งต้น ก็สามารุเลี้ยงคนได้ทั้งโลก”

ที่มา หนังสือ สตรี-ชนเผ่าพื้นเมือง

นี่คือวิถีชีวิตส่วนหนึ่งที่ทีมงานได้สัมผัสผ่านการทดลองกึ่งนักท่องเที่ยว ที่ บ้านละอูบ ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นภาพแทนความหลากหลายของกลุ่มคน โดยเฉพาะชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ที่อยู่ร่วมกัน  แต่การอยู่กับวิถี กำลังจะมีความเปลี่ยนแปลงที่อาจส่งผล หรือไม่ส่งผลกับคนที่นี่ นั่นคือ พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ซึ่งจะส่งผลทั้งโอกาสการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และการประกอบอาชีพ

ก่อนลงพื้นที่ทีมงานฟังเสียงประเทศไทยจึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลที่ใช้ประกอบ การมองถึงภาพฝันอนาคตของ ท่องเที่ยวชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นภาพแทนความหลากหลายของกลุ่มคน โดยเฉพาะชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ที่อยู่ร่วมกัน เพื่อทำความเข้าใจการปรับตัวในชุมชนที่นั้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น  ที่อาจจะมีผลต่อการรักษาไว้ซึ่ง อัตลักษณ์เฉพาะ และวิถีพื้นถิ่น เช่นกันกับอีกหลายๆ พื้นที่ในประเทศไทย ภายใต้เงื่อนไขความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น พวกเขาจะเลือกจัดการกับชุมชนอย่างไรชวนฟังเสียงและร่วมออกแบบอนาคตของชุมชนที่นั้นพร้อมกัน

  • แม่ฮ่องสอน จังหวัดชายแดนของภาคเหนือ ที่มีความโดดเด่นหลายลักษณะ โดยเฉพาะสภาพภูมิประเทศที่มีทิวเขาสลับซับซ้อน  มีความหลากหลายวิถีวัฒนธรรมจากกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมือง   และเป็นจังหวัดที่สถิติน่าสนใจหลายอย่าง

  • แม่ฮ่องสอนมีขนาดของพื้นที่ ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของประเทศ แต่มีประชากรเบาบางเป็นอันดับ 5 และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนเผ่าพื้นเมือง ทั้งไทใหญ่ ปกาเกอะญอ ม้ง ลีซู ลาหู่
    • พื้นที่ทั้งจังหวัด รวมกว่า 8 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมเพียงร้อยละ 3.9 ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตป่า ร้อยละ  85
    • ประกอบด้วยพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า วนอุทยาน
    • เคยมีการวิจัยพบว่า  แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่ประชาชนอยู่แล้วมีความสุขที่สุด  แต่ในปี 2561 สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็พบว่าแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดของประเทศไทย
    • เคยมีการวิจัยพบว่า  แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่ประชาชนอยู่แล้วมีความสุขที่สุด แต่ในปี 2561 สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็พบว่าแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดของประเทศไทย

    วิเคราะห์ความยากจนของแม่ฮ่องสอน 

    •  ปี 2562 มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด ประมาณ 15,000 ล้านบาทซึ่งมีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 1 ของประเทศ  นับเป็นมูลค่าที่น้อยที่สุดใน 77 จังหวัด
    • และหากแบ่งสัดส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด พบว่ามาจากภาคบริการร้อยละ 68  ภาคเกษตรกรรมร้อยละ 26 และภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 6
    •  ประชากรส่วนใหญ่ของแม่ฮ่องสอนร้อยละ 81 เป็นเกษตรกร ผลผลิตส่วนใหญ่ คือ ข้าว กระเทียม ข้าวโพด กะหล่ำปลี และถั่วเหลือง  ซึ่งประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรผันผวน
    • และแม้จะเป็นจังหวัดติดชายแดน แต่แม่ฮ่องสอนไม่มีด่านการค้าถาวร มีเพียงจุดผ่อนปรนทางการค้า 5 แห่ง   มูลค่าการค้าอยู่ที่หลัก 1,000 ล้านบาท
    • ว่าด้วยรายได้จากภาคบริการที่มากที่สุดของแม่ฮ่องสอน ยึดโยงกับการท่องเที่ยว  ด้วยจุดเด่นด้านภูมิประเทศและวิถีวัฒนธรรม แม่ฮ่องสอนจึงติด 1 ใน 10 จังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวไทย  ซึ่งเป็นจุดแข็งที่เป็นที่สนใจและต่อยอดได้
    • ก่อนโควิด เฉพาะเดือนกุมภาพันธ์   2562 เพียงเดือนเดียว มีนักท่องเที่ยวมาเยือนแม่ฮ่องสอน  121,412 คน สูงเป็นอันดับ  3 ของภาคเหนือ รองจาก เชียงใหม่ และเชียงราย   ส่งผลให้เกิดรายได้เฉพาะช่วงฤดูท่องเที่ยว 4 เดือนสูง รวมกว่า 3,982.0 ล้านบาท  แต่ส่วนใหญ่ไปกระจุกตัวอยู่ที่อำเภอปาย เพราะเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวมาแม่ฮ่องสอนคิดเป็นร้อยละ  61 แต่นักท่องเที่ยวเริ่มมีความสนใจเข้ามาเยือนแหล่งท่องเที่ยวอื่นบ้าง เช่น อ.ขุนยวม  อ.แม่สะเรียง  และ อ.แม่ลาน้อย
    • แต่อุปสรรคในการพัฒนาและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของแม่ฮ่องสอนคือ 
      • สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและพื้นที่สูง เป็นอุปสรรคในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะ เส้นทางคมนาคมและสาธารณูปโภค
      • พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตป่าอนุรักษ์ และป่าสงวน แห่งชาติ พื้นที่ในการทำเกษตรมีน้อยทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างจำกัด  จึงยังคงมีความเสี่ยงในการบุกรุกป่าเพื่อขยายพื้นที่เกษตร
      • ระเบียบกฎหมายไม่เอื้อต่อการพัฒนา โดยเฉพาะ กฎหมายเกี่ยวกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนแห่งชาติ
      • การท่องเที่ยวเป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญของจังหวัด แต่นักท่องเที่ยวนิยมมาเฉพาะในฤดูหนาว ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์เท่านั้น

      แม่ลาน้อย – ดาวรุ่งท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอน

    • เป็นอำเภอที่เริ่มโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวของแม่ฮ่องสอน  ทั้งสภาพทิวเขา แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติเช่นถ้ำแก้วโกมล และวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมืองที่หลากหลาย
    • ปี 2562  แม่ลาน้อยมีนักท่องเที่ยวร้อยละ 2 ของจังหวัด รายได้อยู่ที่ 106 ล้านบาท
    • ชนเผ่าที่นี่ยังคงวิถีการทำไร่หมุนเวียน หรือการเพาะปลูกพืชหลายชนิดรวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว
    • มีการเชื่อมวิถีวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมืองกับการท่องเที่ยว พื้นที่ปลูกกาแฟคุณภาพดี ชมนาขั้นบันได เลี้ยงแกะ และเริ่มเป็นที่สนใจของคนภายนอก ทั้งบ้านห้วยห้อม บ้านดง และบ้านละอูบ
    • วิถีชีวิตของชาวละเวื้อะ ที่บ้านละอูบ  ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบเที่ยวชุมชนยลวิถี ปี 2565 และเป็นยังเป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินคุณภาพดี
    • บ้านละอูบ มีการสร้างทีมมัคเทศก์น้อย เพื่อให้เยาวชนสืบทอด และสื่อสารเรื่องวัฒนธรรมของเผ่าตนเอง
    • จังหวัดแม่ฮ่องสองกำลังเชื่อมเส้นทางท่องเที่ยว อำเภอเมือง แม่ลาน้อย แม่สะเรียง

    แม่ลาน้อย และเงื่อนไขการพัฒนาระดับพื้นที่

    • แต่ยังมีข้อกฎหมายไม่เอื้อต่อการพัฒนาชุมชน เช่น พรบ.ป่าไม้  ที่ดินส่วนใหญ่ที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ อุปสรรคในการที่จะสามารถพัฒนาได้อย่างถูกต้องเต็มรูปแบบ  ไม่มีสินค้าหรือสัญลักษณ์ที่โดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยว
    • แม้มีหน่วยงานรัฐผลักดันให้มีการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ประชาชนรวมทั้งการออกเอกสารสิทธิ์และยกเลิกพื้นที่ป่าสงวน รวมถึงภาคยังรัฐสนับสนุนให้พื้นที่สามารถถือครองที่ดินทำกินแบบถูกต้องผ่าน (คทช/สปก.)
    • ขณะนี้มีการผลักดัน ร่างกฎหมาย ที่เรียกว่า  พ.ร.บ.ชาติพันธุ์หรือชนเผ่าพื้นเมือง ถึง 6 ฉบับ หวังให้เป็นก้าวสำคัญของสังคมไทย สู่เป้าหมายให้ความคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 70 บัญญัติไว้ว่า…

    “รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มีสิทธิดํารงชีวิต ในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตราย ต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย”

    • แม้ (ร่าง) กฎหมายจะมีหลายฉบับ แต่มีหลักการและเจตนารมณ์ทีสอดคล้องกันคือ คุ้มครองไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาตพันธุ์หรือชนเผ่าพื้นเมือง   ให้มีหลักการสำคัญคือ
    • 1.หลักการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมดั้งเดิมตามสมัครใจในฐานะพลเมืองไทย
    • 2. หลักการส่งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มมีศักยภาพให้สามารถใช้ทุนวัฒนธรรมให้อยู่รอด
    • 3. และหลักการสร้างความเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม

    เนื้อหาที่สำคัญของ พ.ร.บ.

    • กำหนดเรื่องสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิใช้ อนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญา ภาษา ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนมีหลักสูตรการศึกษาที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม
    • สิทธิจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน ตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตน 
    • กำหนดเรื่องการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง  (1) การส่งเสริมและคุ้มครองในการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน สิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน

    หลังจากเราอ่านข้อมูลนี้แล้ว เชื่อว่าหลายคนคงได้ข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้น เติมข้อมูล พร้อมทั้งประสบการณ์การท่องเที่ยวชุมชนของแต่ละคน แต่โจทย์เรื่องคนอยู่กับป่าของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง ยังมีเงื่อนไขและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่การทำความเข้าใจของผู้คนเท่านั้นเพราะพื้นที่ที่พวกเขาอยู่ เต็มไปด้วยทั้งข้อจำกัดและโอกาสของชีวิตเพราะมีกฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรหลายฉบับ และตอนนี้กำลัง มี กฏหมายอีกฉบับคือ พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการของรัฐสภา ที่อนาคตจะช่วยส่งเสริมและคุมครองวิถีของชนเผ่าพื้นเมือง

    มาถึงจุดนี้ คุณผู้อ่านคิดอย่างไร กับข้อท้าทายใหม่ ท่องเที่ยวชุมชน ชนเผ่าพื้นเมือง จ.แม่ฮ่องสอน ทีมงานมีการสังเคราะห์ ภาพความน่าจะเป็นหรือฉากทัศน์ เพื่อจำลองว่าแบบไหนที่ชาวบ้าน อยากจะเห็น หรืออยากจะให้เป็น ซึ่งคุณผู้ชมสามารถร่วมเเสดงความคิดเห็น ด้วยการเลือก จากภาพตั้งต้น 3 ภาพด้านล่างได้เลย

    ถ้าเป็นคุณจะเลือกแบบไหนที่ตอบโจทย์พื้นที่และชุมชนมากที่สุด ?

    A รักษาวิถีที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ ~รัฐรับรองสิทธิชุมชนของชนเผ่าพื้นเมือง ให้มีการดำเนินการให้มั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ตลอดจนเข้าถึงบริการต่างๆของรัฐ มีการส่งเสริมและรื้อฟื้นวัฒนธรรมและการจัดการทรัพยากรตามวิถีของชนเผ่าพื้นเมืองที่เน้นภูมิปัญญาและการพึ่งพาตนเอง มีความพยายามใช้ระบบไร่หมุนเวียนร่วมกับข้อตกลงชุมชนในการจัดการทรัพยากร ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบวิถีวัฒนธรรมชนเผ่าซึ่งสามารถดำเนินการได้เองในระดับหนึ่งตามแต่ความเข้มแข็งของแต่ละชุมชน ~แต่เพื่อให้มีทรัพยากรเพียงพอต่อการดำเนินกิจกรรมต่างๆ บางชุมชนต้องขยายพื้นที่ อาจทำให้มีปัญหากระทบกระทั่งกับรัฐ ประกอบกับหน่วยงานรัฐในพื้นที่ต้องใช้เวลาปรับตัว ทำความเข้าใจกับแนวทางสิทธิชนเผ่าฯ ส่งผลกระทบกับชุมชนฯ ให้ยังเข้าไม่ถึงสิทธิและการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ตลอดจนการดูแลทรัพยากรและแหล่งท่องเที่ยวได้ในทันที หากจะดำเนินอะไรก็ต้องขออนุญาตจากรัฐก่อน

    B ยกระดับสู่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ผลจากรัฐประกาศใช้กฎหมายรับรองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ ผนวกกับความพยายามที่รัฐจะฟื้นกระแสให้ประเทศกลับมาติดตลาดเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก มีการสนับสนุนผู้ประกอบการระดับพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอัตลักษณ์และจุดขายที่สอดคล้องกับกระแสการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(ด้านสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม) ตลอดจนการเป็นแหล่งพำนักของกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว(Long Stay) มีการยกระดับระบบสาธารณูปโภคภายในพื้นที่ เพื่อรองรับการหลั่งไหลของนักท่องเที่ยว ขณะที่การท่องเที่ยวขยายตัวและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนเป็นจำนวนมาก แต่รายได้อาจกระจุกตัวอยู่กับผู้ประกอบการเป็นหลัก ขณะที่ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในภาคการท่องเที่ยวจะถูกแย่งใช้ทรัพยากร หรือกลายเป็นแรงงานในธุรกิจการท่องเที่ยว วิถีการทำเกษตรลดความสำคัญลงโดยอาจจะอยู่ในกรอบที่รัฐออกแบบว่า ไม่กระทบระบบนิเวศ ไร่หมุนเวียนลดลงหรือหายไป ทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นของหน้าหมู่อาจเปลี่ยนมือจากชุมชนไปอยู่ในมือของนักลงทุน นักธุรกิจ  

    C การจัดการท่องเที่ยวชุมชนทางเลือกใหม่แบบเท่าทัน กฎหมายฉบับใหม่รับรองสิทธิชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง ให้สามารถกำหนดอนาคตตัวเองได้บนที่ดินบรรพบุรุษ คนในชุมชนและคนรุ่นใหม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง โดยมีการสร้างกลไกในการออกแบบแผนชุมชนร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อจัดการทรัพยากรด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยวและการใช้ทรัพยากรโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่ไม่กระทบกับระบบนิเวศ ชุมชนโดยความร่วมมือของหลายภาคส่วน สนับสนุน ผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวชุมชนรุ่นใหม่ ที่มีทักษะสมัยใหม่แต่มีเจตจำนงที่จะรักษาวิถีอัตลักษณ์ของชนเผ่าควบคู่ไปกับให้เกิดการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนและสามารถต่อรองกับรัฐและภาคธุรกิจได้ ภายใต้การจัดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ทุกคนได้ผลประโยชน์และจัดการร่วม การขยายตัวของการท่องเที่ยวถูกจำกัดภายใต้กติกาที่ตกลงร่วมกัน ทั้งการออกแบบที่พัก ขยายที่พัก น้ำใช้ เส้นทางท่องเที่ยว หรือขยายสาธารณูปโภคต่างๆ ต้องอาศัยมติของชุมชนเป็นหลัก

    คุณผู้อ่านสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นและเลือกภาพอนาคตนี้ได้ ร่วมกับคนแม่ฮ่องสอน ที่ลิงก์ด้านล่างหรือสแกน ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2565

    ข้อมูลทั้งหมดนี้ ยังไม่ใช่ข้อมูลและคำตอบสุดท้ายในการออกแบบชุมชนของคนที่นี้ เพราะยังรอความชัดเจนจากหน่วยที่เกี่ยวข้องอยู่ ชวนฟังเสียงคนในพื้นที่ผ่านรายการฟังเสียงประเทศไทย วันเสาร์ที่ 25  มิ.ย. 2565 เวลา 17.30 – 18.00 น. ทางไทยพีบีเอส หรือรับชมทีวีออนไลน์ทาง www.thaipbs.or.th/live

    author

    ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

    เข้าสู่ระบบ