สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ยกระดับการออมให้กับผู้มีรายได้น้อยและประชาชนผู้ประกอบอาชีพอิสระ ได้เข้าถึงการออมแบบครอบคลุมทุกชุมชน ผ่านหน่วยบริการสมาชิกสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนทั่วทั้งประเทศ เพียงใช้บัตรประจำตัวประชาชนใบเดียวในการสมัครและส่งเงินออมสะสมต่อเนื่อง ตามจำนวนเงินที่ประสงค์ออมตั้งแต่ 50 – 13,200 บาทต่อปี เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
นครสวรรค์/วันนี้ (18 มิถุนายน 2565) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการบำนาญประชาชน โดยเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนบ้านมั่นคง และกองทุนการออมแห่งชาติ และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การ มหาชน) (พอช.) กับ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนบ้านมั่นคง ในการให้บริการเป็นหน่วยรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ พร้อมด้วย นางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่ รองปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมี นายไมตรี อินทุสุต ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และนางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามในบันทึกความร่วมมือ ณ สำนักงานเทศบาลนครนครสวรรค์ ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ในยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบการออมที่เข้มแข็ง โดยเตรียมความพร้อมในทุกมิติ ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะการส่งเสริมการออมและการลงทุนระยะยาวของประชาชน เพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นคงในการดำรงชีวิตยามชราภาพให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะประชากรภาคแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นแรงงานนอกระบบ เพื่อสร้างความมั่นคงในบั้นปลายของชีวิต ตลอดจนการสร้างวินัยในการออมของประชาชนคนไทยในวัยทำงาน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จึงเป็นช่องทางการออมขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้ที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองเพื่อการชราภาพให้ได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบบำนาญ อันเป็นการสร้างความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในการดูแลจากภาครัฐ โดยระบบสวัสดิการบำเหน็จ – บำนาญของรัฐ หรือ นายจ้าง แต่ละอาชีพจะมีรูปแบบแตกต่างกันไป อาทิ ข้าราชการ มีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หน่วยงานเอกชน มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แรงงานในระบบ มีกองทุนประกันสังคม สำหรับแรงงานนอกระบบ รัฐบาลได้จัดตั้งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการวางแผนออมเงินของประชาชนเป็นอย่างมาก สร้างวินัยการออมในทุกช่วงวัย ผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ซึ่งถือเป็นกองทุนการออมภาคประชาชน เป็นกลไกส่งเสริมการออมของแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร ชาวไร่ชาวนา พ่อค้าแม่ค้า ผ่านการสมัครเป็นสมาชิก กอช. จึงได้ร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. และ เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนบ้านมั่นคง ในการขับเคลื่อนส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนเข้าถึงการออมกับ กอช. มีสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่ง พอช. จะเป็นหน่วยรับสมัครสมาชิก กอช. ในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ประสงค์จะสมัครสมาชิก ส่งเงินออมต่อเนื่อง หรือเข้าร่วมกิจกรรมโปรโมชันต่างๆ ที่ส่งเสริมการออมด้วย โดยความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันส่งเสริมให้คนไทยได้รู้จักออมเงินกับ กอช. อีกทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนคนไทยให้ดีขึ้น
นางสาวณหทัย ขันธวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการ กอช. กล่าวว่า กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างหลักประกันที่มั่นคงในวัยเกษียณให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เริ่มต้นตั้งแต่อายุ 15 ปี จนเข้าสู่วัยทำงานถึงอายุ 60 ปี ออมขั้นต่ำเพียง 50 บาทต่อครั้ง สูงสุด 13,200 บาทต่อปี พร้อมรับสิทธิประโยชน์ในการเป็นสมาชิก กอช.สิทธิประโยชน์ที่ 1 รับเงินสมทบจากรัฐ ในแต่ละช่วงอายุของสมาชิก ในเดือนถัดไป ช่วงอายุ 15 – 30 ปี รัฐสมทบให้ 50% ของเงินออมแต่ละครั้ง โดยรวมกันทั้งปีสูงสุด 600 บาท ช่วงอายุ >30 – 50 ปี รัฐสมทบให้ 80% ของเงินออมแต่ละครั้งโดยรวมกันทั้งปีสูงสุด 960 บาท ช่วงอายุ >50 – 60 ปี รัฐสมทบให้ 100% ของเงินออมแต่ละครั้ง โดยรวมกันทั้งปีสูงสุด 1,200 บาท สิทธิประโยชน์ที่ 2 ผลตอบแทนของเงินที่นำไปลงทุน ทั้งในส่วนเงินออมสะสมและเงินสมทบและรัฐบาลค้ำประกันผลตอบแทนการลงทุน สิทธิประโยชน์ที่ 3 ลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวนเงินออมสะสม
นางสาวณหทัย กล่าวต่อไปอีกว่า ในการส่งเงินออมสะสมกับ กอช. เป็นการออมภาคสมัครใจ ไม่จำเป็นต้องออมเท่ากันทุกปีและรับเงินสมทบในเดือนถัดไป สะดวกที่ไหนออมได้ทุกที่ ซึ่งที่ผ่านมา กอช. ได้มีหน่วยรับสมัครและส่งเงินออมสะสมที่ อาทิ ที่ว่าการอำเภอครอบคลุมทุกพื้นที่ สำนักงานคลังจังหวัด สถาบันการเงินชุมชน ตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน ธนาคารของรัฐ อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ทุกสาขา สหกรณ์ชุมชนที่เข้าร่วม และในครั้งนี้ กอช. ได้ยกระดับให้ประชาชนเข้าถึงการออมเพิ่มมากขึ้นในทุกชุมชน จึงได้ร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ในการให้บริการสมาชิก กอช. สะดวก สบายเพิ่มมากขึ้น ทั้งในการบริการตรวจสอบสิทธิ์ สมัครสมาชิกใหม่ ส่งเงินออมสะสมต่อเนื่อง และให้คำปรึกษาในการรับสิทธิประโยชน์ในการเป็นสมาชิก กอช. ด้วย
นายไมตรี อินทุสุต ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวว่า วันนี้ พอช.จับมือกับ กอช. กระทรวงการคลัง เพื่อสร้างความมั่นคงตลอดชีวิตด้วยการออม นอกเหนือจากการสร้างความมั่นคงเรื่องที่อยู่อาศัยที่ พอช.ทำไปแล้ว เช่น ที่จังหวัดนครสวรรค์ดำเนินการไปแล้ว จำนวน 47 โครงการ มีผู้เดือดร้อนประมาณ 6,000 ครอบครัว ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนไปแล้วประมาณ 3,600 ครอบครัว และจะทำต่อไป ด้วยความร่วมมือของกรมธนารักษ์ในการให้ที่ดินทำเรื่องบ้านมั่นคง
“ส่วนโครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศทำไปแล้วประมาณ 140,000 ครอบครัว รวมทั้งยังมีสภาองค์กรชุมชนที่มีสมาชิกเครือข่ายทั่วประเทศประมาณ 1,500,000 คน ซึ่ง พอช.จะเชิญชวนสมาชิกเครือข่ายทั้งหมดนี้เข้ามาเป็นสมาชิกกองทุน กอช.ต่อไป” นายไมตรีกล่าว การสร้างบำนาญประชาชน เป็นสร้างความมั่นคงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้กับสมาชิกสหกรณ์เคหะสถานบ้านมั่นคง และสมาชิกองทุนสวัสดิการชุมชน นำร่องในพื้นที่ 50 แห่ง เพื่อเป็นหน่วยรับสมาชิก กอช. เป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมการสร้างบำนาญให้กับสมาชิกคือ ได้ยกระดับให้ประชาชนเข้าถึงการออมเพิ่มมากขึ้นในทุกชุมชน จึงได้ร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ในการให้บริการสมาชิก กอช. สะดวก สบายเพิ่มมากขึ้น เป็นการสร้างคุณภาพชีวิตสมาชิกด้วยกองทุนออมแห่งชาติ เป็นเครื่องมือการพัฒนาเครือข่ายและความเข้มแข็งของการสร้างกองทุนของภาคประชาชน” ปัจจุบันมีสมาชิกกองทุนฯทั่วประเทศ 2,483,286 คน มูลค่าสินทรัพย์ 10,944.94 ล้านบาท