ภาคีเซฟบางกลอย จัดกิจกรรมชูป้าย และอ่านแถลงการณ์ เพื่อเรียกร้องทวงคืนผืนป่าให้กับพี่น้องชาติพันธุ์ ชวนคนเมืองทำโพล “คนอยู่กับป่าได้หรือไม่” ประกาศเรียกร้อง 4 ข้อ เตรียมเสนอสภาเปิดซักฟอก ทส.
เรื่อง : ศิริลักษณ์ แสวงผล
ภาพ : จามร ศรเพชรนรินทร์
14 มิ.ย. 2565 ภาคีเซฟบางกลอยจัดกิจกรรม “8 ปีทวงคืนผืนป่า คนเมืองได้ป่าจริงหรือ ?” ที่สกายวอล์ค สี่แยกปทุมวัน ในโอกาสครบรอบ 8 ปี การออกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ หรือนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยทางกลุ่มชี้ว่าคำสั่งดังกล่าวส่งผลให้เกิดการฟ้องคดี มากกว่า 46,000 คดี ประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์ต้องสูญเสียที่ดินทำกิน
การทำกิจกรรมครั้งนี้ ทางภาคีฯ นำป้ายผ้าเขียนข้อความ เช่น “ทวงคืนผืนป่า คนเมืองได้ป่าจริงหรือ” และ “ปลดแอกมรดกสงครามเย็นเหนือผืนป่า” ไปแขวนบนสกายวอล์ค และทำโพลสำรวจความเห็นประชาชนกับคำถามที่ว่า “คุณคิดว่าคนอยู่กับป่าได้หรือไม่ โดยเดินจากสกายวอล์คไปยังสยามสแควร์และ BTS สยาม
สำรวจความเห็นคนเมือง 100% หนุนคนกับป่าอยู่ร่วมกันได้
พชร คำชำนาญ ตัวแทนภาคีเซฟบางกลอย อธิบายว่า การออกมาเคลื่อนไหวถือเป็นเสียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนไปถึงผู้มีอำนาจในประเทศ ว่าจริง ๆ แล้ว นโยบายหรือกฎหมายของพวกเขากำลังถูกตั้งคำถาม เช่นเรื่องนโยบายทวงคืนผืนป่า ตราบใดที่ภาครัฐยังคงใช้แนวทางอำนาจนิยม และไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และทำกิจกรรมชวนคนเมืองตั้งคำถามด้วยว่า ประชาชนได้อะไรจากนโยบายไล่คนออกจากป่า
“กิจกรรมนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อตั้งคำถามกับคนในเมืองว่า คุณกำลังตกเป็นเหยื่อของรัฐ กำลังใช้ความชอบธรรมในการจัดการคนที่ไม่มีทางสู้หรือเปล่า หรือคุณได้ป่าเพิ่มจริง ๆ หรือเปล่า หรือแค่เป็นนักอนุรักษ์ที่เป็นไปตามกรอบของรัฐอยากให้เป็น พวกเรามาเพื่อรวมตัวกันต่อสู้เพื่อตัวเอง เพื่อพี่น้องชาวบ้าน และตั้งคำถามกับคนในเมืองด้วย” พชรกล่าว
ตัวแทนภาคีเซฟบางกลอย กล่าวด้วยว่า ผลของการทำกิจกรรมวันนี้ถือว่าเกินคาด เพราะว่าเรื่องคนกับป่า เป็นเรื่องที่มีข้อถกเถียงกันมายาวนาน ระหว่างแนวคิดคนอยู่กับป่าไม่ได้ ต้องไล่ออก และคนที่คิดว่าป่ากับคนเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาตั้งแต่คนถือกำเนิด และจากการจัดกิจกรรมในพื้นที่ใจกลางเมือง มีการเดินและถามคำถามว่า คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ไหม มติออกมา 100% ที่คิดว่าคนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องเกินความคาดหมาย
บุชญาธนุส ศรทัตต์ สมาชิกภาคีเซฟบางกลอย กล่าวเสริมว่า การตัดสินใจทำกิจกรรมวันนี้เพราะต้องการแสดงออกเรื่องนี้ เนื่องจากยังเป็นเรื่องที่เงียบมาก เงียบทั้งในแง่ที่คนไม่รู้จัก และพื้นที่เกิดเหตุการณ์ก็อยู่ห่างไกล จึงพยายามที่จะสร้างความตระหนักรู้ และดึงดูดความสนใจ เริ่มจากจุดที่อยู่กลางเมือง ส่วนการทาหน้าขาวนั้นเป็นการสื่อถึงละครใบ้ที่ชาวบ้านไม่สามารถพูดออกมาได้ แต่ความจริงแล้ว อยากให้คนหยุดมองว่าคนกลุ่มนี้ทำอะไรกันอยู่
“กิจกรรมนี้เป็นการต่อยอดให้เห็นต่ออีกหลาย ๆ ปัญหา เพราะการจัดการผืนป่ามันไม่ใช่แค่ well being ของชาวบางกลอยส่วนเดียว แต่มันเป็นเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น การใช้กฎหมาย” ชญาธนุส กล่าว
ผลักชุมชนออกจากป่า เพื่อตอบโจทย์เพิ่มผืนป่า 40%
แม้ว่านโยบายทวงคืนผืนป่า จากการออกคำสั่งคสช.ฉบับที่ 64/2557 ถูกยกเลิกแล้วในปี 2562 แล้ว แต่แนวทางลักษณะนี้ยังดำเนินต่อไปตามแผนแม่บทป่าไม้ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ทส. และ กอ.รมน. กล่าวคือ นโยบายลักษณะนี้ยังแฝงอยู่ในกฎหมายและนโยบายอื่น ๆ เช่น พ.ร.บ. อุทยานฯ แผนแม่บทป่าไม้ ที่กำหนดว่าพื้นที่ป่าของประเทศต้องมี 40% ซึ่งเป็นแผนแม่บทที่ไม่ต่างจากแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่หน่วยงานก็มีอำนาจปฏิบัติงานในพื้นที่ป่าชุมชนได้ ทั้งยังเป็นข้อกังขาว่า รัฐจะจัดสรรประโยชน์อย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง
พชร กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์การทวงคืนที่ดินไม่ได้เบาลง แต่แค่วิธีการที่รัฐจัดการบริหาร ไม่ใช่วิธีการที่ป่ารุนแรงแบบตอนแรกที่เข้าไปตัดฟันพืชผลอาหาร เอากำลังทหารเข้าไป หากว่าเข้าไปจัดการผ่านนโยบาย และกฎหมาย ซึ่งนี่คือการการแย่งยึดที่ดินทำกินของชาวบ้านเพียงเพื่อตอบโจทย์ตัวเลขให้มีป่า 40% ที่รัฐตั้งเป้าไว้
ชญาธนุส อธิบายว่า ทรัพยากรในประเทศมักถูกจัดสรรโดยกลุ่มคนเล็ก ๆ กลุ่มเดียวเท่านั้น ถ้ารัฐตั้งเป้าว่าอยากได้ผืนป่า 40 % ก็ควรมีผลสำรวจว่า ผืนป่าที่เสียไปต่อ 1 ปี มาจากฝีมือคนในชุมชนเป็นส่วนใหญ่หรือไม่ อีกด้านคือพื้นที่ที่รัฐใช้นโยบายทวงคืนกลับมาไม่ใช่ป่าบริสุทธิ์เสียทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่ยังมีสถานะเป็นป่าชุมชน ดังนั้น การหาทางออกจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือหรือการมีส่วนร่วมในการออกนโยบาย
“ถ้ามองจากภาพดาวเทียมบางจุดที่ทวงคืนมา มันไม่ได้ดูเป็นป่าเลยด้วยซ้ำ อันนี้ทำให้สถิติเหลื่อมล้ำกัน เราต้องเลือกก่อนว่าคุณจะเอาป่าตามกฎหมาย หรือจะเอาป่าที่มันเป็นป่าจริง ๆ แต่สิ่งสำคัญคือ เอมคิดว่าเราควรจะพูดคุยกับคนในพื้นที่ ให้เขามีโอกาสได้รักษาผืนดินของตัวเอง เพราะว่ามันคงไม่มีใครอยากเผาบ้านของตนเองอยู่แล้ว” ชญาธนุส กล่าว
ความเคลื่อนไหวต่อไป เสนอเรื่องเข้าสู่กลไกรัฐสภา
พชร กล่าวว่า สถานการณ์ทวงคืนที่ดินทำกินในภาคเหนือตอนนี้ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่บางกลอยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ผลพวงจากการใช้นโยบายทวงคืนผืนป่า ยังเกิดในพื้นที่ อ.อมก๋อย ที่มีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ ตอนนี้ประชาชนได้รับผลกระทบ ประมาณ 63 ครัวเรือน มีเด็กที่ต้องหลุดจากระบบการศึกษา ประมาณ 16 คน เพราะว่าพ่อแม่ไม่มีที่ดินทำกิน ไม่สามารถมีรายได้ บางคนสูญเสียทั้งที่ดินทำกิน สูญเสียทั้งที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่จากเดิมที่เป็นเกษตรกร สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ แต่ต้องไปรับจ้างในเมือง หรือบางคนเกิดภาวะเครียดจนเส้นเลือดในสมองแตก ทำให้เสียชีวิต ซึ่งเงินขนาดไหนมันไม่มีทางที่จะเยียวยาได้ทั้งด้านสังคม และจิตใจ
“หนทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ คือ คืนความเป็นธรรมให้พวกเขา นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวกับทวงคืนผืนป่าทั้งหมด เพราะเป็นก้าวแรกในการคืนสิทธิในที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยของพวกเขาได้ เนื่องจากตอนนี้คดียังค้างคาอยู่ ทำให้พวกเขาไปทำกินในพื้นที่ไม่ได้ จากนั้นจึงค่อยมาคุยว่าภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะแก้นโยบายให้รองรับสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน ต่อไปอย่างไรได้ในอนาคต” พชร กล่าว
นอกจากนี้ กลุ่มภาคีเซฟบางกลอย ยังระบุถึงทิศทางการเคลื่อนไหวต่อไปว่า จะเคลื่อนไหวผ่านกลไกสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงกรรมาธิการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กมธ.ที่ดินฯ กมธ.กฎหมาย กมธ.แต่ตอนนี้เบื้องต้นยังต้องทำข้อมูลเพื่อดูว่าจะยื่นเข้า กมธ.ไหนได้บ้าง
พชร กล่าวว่า มีความตั้งใจยื่นเรื่องนี้เข้าสู่กลไกรัฐสภา แต่ต้องวางแผนและพูดคุยกับทางสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง เพราะภาคีเซฟบางกลอยอยากให้มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย เนื่องจากเป็นกระทรวงที่ยังไม่เคยเห็นถูกซักฟอกมาก่อน โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับนโยบายใหญ่ ๆ เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า หรือว่ากฎหมาย เช่น พ.ร.บ.อุทยานฯ, พ.ร.บ.ป่าชุมชนฯ, พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ผ่านออกมาแล้วล้วนกระทบกับผู้คนจำนวนหนึ่ง
“ผมมองว่ามันต้องมีการซักฟอก และประเมินเรื่องนี้สักที ว่าเงินภาษีของสังคมที่นำไปทุ่มกับนโยบายแบบนี้มันเป็นการนำเอาเงินภาษีของประชาชนไปทำร้ายประชาชนกันเองหรือไม่ ซึ่งปัจุบันมันไม่ได้สอดคล้องแล้ว พื้นที่ป่าไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่มีผู้คนได้รับความเดือดร้อยเพิ่มขึ้นต่างหาก” พชร กล่าว
12 ภาพเล่าเรื่อง : 8 ปี ทวงคืนผืนป่า คนเมืองได้ป่าจริงหรือ ?