เมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียว น่าน 59 สินค้าคุณภาพ ยกระดับเกษตรกรให้มั่นคง

เมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียว น่าน 59 สินค้าคุณภาพ ยกระดับเกษตรกรให้มั่นคง

“ทรงต้นเตี้ย อายุเบา ไวต่อช่วงแสง ต้านทานโรคไหม้แบบกว้างและโรคขอบใบแห้ง”

คือจุดเด่นของเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวน่าน 59 ที่มูลนิธิฮักเมืองน่าน ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์ คัดเลือก และทดสอบศักยภาพในการให้ผลผลิตในแปลงวิจัยของหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยืนข้าว จนกระทั่งจดลิขสิทธิ์ขึ้นทะเบียนพันธุ์ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2556 พร้อม ๆ กับมีการตั้งกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายขึ้นเป็นวิสาหกิจชุมชนเกษตรฮักน่าน เพื่อจัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวน่าน 59 โดยมีการการันตีราคารับซื้อข้าวให้กับเกษตรกรที่ทำสัญญาร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรฮักน่านให้มีรายได้มากขึ้น

คนึงจิต บัดแก้ว หัวหน้าฝ่ายควบคุมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวพันธุ์น่าน 59 ของวิสาหกิจชุมชนเกษตรฮักน่าน บอกว่า ในแต่ละปีการรับซื้อจะรับซื้อตามราคาที่พาณิชย์ประกาศและจะมีการตรวจแปลงเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวน่าน 59 หากของเกษตรกรผ่านการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์การตรวจแปลงจะได้เงินเพิ่มกิโลกรัมละ 3 บาท และหลังจากนั้นทางวิสาหกิจชุมชนเกษตรฮักน่านจะทำการสุ่มส่งเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวน่าน 59 ไปยังศูนย์วิจัยข้าวแพร่ ตำบลแม่คำมี อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ เข้าห้องแลปเพื่อตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ หากเมล็ดพันธุ์ผ่านการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ เกษตรกรจะได้เงินเพิ่มนอกเหนือจากราคาตามที่พาณิชย์กำหนดและการตรวจแปลงเพิ่มอีกกิโลกรัมละ 3 บาท

หลังตรวจสอบมาตรฐานเมล็ดพันธุ์เรียบร้อยแล้ว กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรน่านนำข้าวบรรจุกระสอบน้ำหนัก 25 กิโลกรัม เพื่อเตรียมจำหน่าย ราคาจัดจำหน่ายอยู่ที่ 750 บาท ต่อ 1 กระสอบ การจัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวน่าน 59 มีช่องทางการตลาดที่ชัดเจนนอกเหนือจากช่องทางออนไลน์ผ่านเพจวิสาหกิจชุมชนเกษตรฮักน่าน ยังมีตัวแทนจำหน่ายจังหวัดเชียงราย, จังหวัดลำปาง, จังหวัดอุตรดิตถ์, จังหวัดเพชรบูรณ์, จังหวัดหนองคาย, จังหวัดเลย และยังมีบริการเก็บเงินปลายทางให้แก่ลูกค้าที่ต้องการสั่งซื้อ

คนึงจิต บัดแก้ว บอกเพิ่มเติมว่า ช่วงนี้หลายพื้นที่เริ่มดำนาเพาะปลูกข้าว มีเกษตรกรมาติดต่อซื้อเมล็ดพันธุ์เยอะมาก ซึ่งยังคงค้างอยู่ในโกดังอีกประมาณสองพันกว่ากระสอบ ตอนนี้ก็เริ่มทยอยขายตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน และจะขายจนชาวนาเลิกปลูกข้าวเดือนสิงหาคมของการปักดำนา

หากเดือนสิงหาคมแล้วผลผลิตยังขายไม่ออก เราต้องเอาเมล็ดพันธุ์ทั้งหมดมาแปรรูปเป็นอย่างอื่น เช่น ขายให้โรงสีไปเลยให้เขาเอาไปแปรรูปเป็นข้าวสารหรือเอาไปทำแป้งทำอะไรก็แล้วแต่ เพราะว่าเมล็ดพันธุ์ของเราไม่คลุกสารเคมีพวกสารต่าง ๆ สารกันรา เพื่อเอาไปแปรรูปได้

ตอนนี้ที่เราคิดกันในแนวของวิสาหกิจที่คิด 1.วิสาหกิจจะแปรรูปเองเป็นข้าวสารและจะจำหน่ายทั่วไปแต่เราอาจจะมาทำในเรื่องของ package แบรนด์ที่เป็นวิสาหกิจ โฆษณายังไงก็ได้ให้เป็นข้าวสารที่มีจุดเด่นกว่าข้าวทั่วไป 2. ถ้าคิดว่าไม่มีคนจัดการเราจะขายให้โรงสีไปเลย ในราคาที่อาจจะขาดทุน เราซื้อมาอาจจะในราคา 12 บาท หรือ 18 บาท ถ้าเราจ่าย 3 บาทให้เกษตรกรอีกก็จะเป็นราคาที่ 18 บาท แต่ถ้าโรงสีซื้อเรา 8 บาท หรือ 9 บาทเราก็ต้องขายถ้าเราขายให้โรงสีเราก็ไม่ต้องมาจัดการอะไรก็วางไว้สองอย่าง

“หากเก็บเมล็ดพันธุ์ข้ามปี ถ้าเก็บในอุณหภูมิปกติความงอกมันลดลง 50% แต่ถ้าอยากเก็บให้มีความงอก 80% ต้องเก็บในห้องเย็น ซึ่งพวกนี้จะกระทบค่าใช้จ่าย เราไม่มีความสามารถในการเก็บห้องเย็นหรอก ก็จะใช้วิธีการแปรรูปเป็นข้าวสารหรือขายให้โรงสีไปเลย” 

ตอนนี้วิสาหกิจฯ คุยกันคือจะขายให้ได้นานที่สุดไปก่อน แต่ความจริงแล้วเมล็ดพันธุ์เราสามารถเก็บได้ถึงเดือนธันวาคม และเราอาจจะเก็บเผื่อในเรื่องของภัยทำธรรมชาติ บางปี 56 57 58 ที่น้ำท่วมแล้วขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ เราจะเก็บไว้ก่อนเผื่อรองรับปัญหาพวกนี้ หรือจากผลผลิตที่เยอะไป ทำให้ปี 2564 วิสาหกิจชุมชนฯ จะลดพื้นที่การผลิตจากเดิม 238 ไร่ เหลือแค่ 120 ไร่ ฉะนั้นเกษตรในเครือข่ายที่เหลือพื้นที่อีกประมาณ 118 ไร่ เราให้ปลูกข้าวเจ้ามะลิ 105 แทน โดยเราก็ได้รับสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวจากนาแปลงใหญ่ รับเมล็ดพันธุ์จากศูนย์วิจัยข้าวแพร่ แล้ววิสาหกิจจะทำหน้าที่รับซื้อ และเอาไปจำหน่ายให้กับโรงสีข้าวพระราชทาน เพื่อหาทางออกให้กับเกษตรกรในเครือข่ายที่เราลดพื้นที่เขา  

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ