เมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน “มูนมัง” ลูกหลานชาวนา

เมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน “มูนมัง” ลูกหลานชาวนา

ในอดีตเกษตรกรส่วนใหญ่มีการเก็บ คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง และมีการเก็บเมล็ดพันธุ์บางส่วนไว้ปลูกในฤดูถัดไปเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้ด้วยวิถีการคัดเลือก และเก็บรักษาพันธุ์ข้าวที่ดีเปลี่ยนไป มีเรื่องเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งยังมีการชูพันธุ์ข้าวขึ้นมากล่าวถึงไม่กี่สายพันธุ์ ทำให้มีการแข่งขันทางการตลาดสูง เกษตรกรส่วนใหญ่จึงมีการเร่งผลผลิตเพื่อให้ได้ตามจำนวนความต้องการของผู้บริโภคซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจจะทำให้ความหลากหลายเมล็ดพันธุ์สูญหายไป

“เราในฐานะที่เป็นลูกหลานของชาวนา เราบอกว่าเมล็ดพันธุ์นี้คือหัวใจ คือมรดก อีสานเรียก มูนมัง  ปู่ย่าตายาย เขาสืบทอดให้แก่เรามาหลายพันปี เขาไม่ได้มีการครอบครองว่าเป็นของฉันนะ คือเป็นของมนุษย์ของชาวโลก ชาวโลกไม่ควรอดอาหาร แต่อันแรกควรจะแบ่งปันให้กับคนที่เป็นชาวนาด้วยกัน ให้มีอาหารกินก่อน หรือคนไหนที่ทำกินไม่ได้ก็อาจจะแบ่งปัน หรืออาจจะซื้อขายในราคาที่เป็นธรรม” สุขสรรค์ กันตรี มูลนิธิข้าวขวัญ  เล่าถึงสถานการณ์การจัดการเมล็ดพันธุ์ข้าวกับชาวนาในปัจจุบัน

สุขสรรค์ กันตรี

เราไปทำงานกับชาวบ้าน เราจะพบว่าที่รัฐบาลแก้ไขปัญหาอยู่ไม่ตรงจุดไม่ตรงประเด็น ก็คือขาดการมีส่วนร่วมแม้แต่เรื่องพันธุ์ อย่างผมรับผิดชอบเรื่องข้าว ผมทราบว่าข้าวพันธุ์พื้นบ้านมันมีตั้ง 6,000 สายพันธุ์ ซึ่งมันเคยปลูกอยู่ทั่วประเทศไทย  ปลูกได้ 3 ระดับ คือข้าวที่ปลูกที่สูง คือข้าวไร่ ข้าวนา ข้าวนาสวน ข้าวทนน้ำท่วม ซึ่งข้าวพวกนี้เหลืออยู่น้อยมาก ส่วนใหญ่ก็เหลือตามชายขอบ หมายถึงว่าตามพื้นที่ห่างไกลความเจริญ เราลืมของดีที่เรามีอยู่ส่วนใหญ่ก็จะเน้นเรื่องคุณภาพ สองจะเน้นเรื่องการได้ผลผลิตสูง ปลูกได้ปีละหลายรอบ ซึ่งตรงนี้เป็นข้าวพันธุ์ใหม่ อันนี้เน้นที่ภาคกลาง ข้าวพันธุ์ใหม่ที่เขาปรับมาทางเขตอีสานก็จะเป็น ข้าวตระกูลมะลิ ขาวหอมมะลิ 105 และมาปรับปรุงเป็น กข15 ซึ่งข้าวพวกนี้มันเป็นข้าวที่ถูกคัดมาเพื่อตอบสนองการส่งออก คุณภาพอาจจะไม่เหมือนเดิม ในกลุ่มข้าวหอมดอกมะลิ มันก็มีตั้งหลายสายพันธุ์ ซึ่งเกิดจากการคัดพันธุ์ให้เป็นสายบริสุทธิ์ เพียงบางตัวอย่าง อาจจะได้ผลผลิตสูงตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยใช้ยา แต่เมื่อเอามาปลูกนาน ๆ เข้า สายพันธุ์มันก็จะด้อยลง คือความหอมด้านการหุงต้มก็ยังนุ่ม แต่ว่าไม่ค่อยหอม อีกอย่างพอเราปลูกโดยที่ไม่พัฒนาพันธุ์ ทำให้คุณภาพการหุงต้มมันแย่ลง”

“เราต้องมาช่วยชาวบ้าน เนื่องจากหนึ่งคุณภาพไม่เหมือนเดิม อันที่สองผลผลิตก็ตกต่ำเรื่อย ๆ อันที่สาม คือฤดูกาลมันเปลี่ยน โรคแมลงก็เยอะขึ้น เมื่อเราต้องการพัฒนาให้ได้ผลผลิตสูง ส่วนใหญ่ชาวนาก็จะเติมปัจจัยการผลิต คิดว่าการเพิ่มปุ๋ย เพิ่มยา มันจะเป็นทางออก จริง ๆ มันเป็นการเพิ่มต้นทุน”

สุขสรรค์ กันตรี ย้ำถึงความสำคัญของการนำความรู้ วิชาคัดพันธุ์ข้าวให้เกษตรกรในเครือข่ายได้นำมาปรับใช้ร่วมกับชุดความรู้ดั้งเดิม เพื่อฟื้นฟูให้เกิดระบบการจัดการดูแลที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และได้อาหารที่ปลอดภัย

“ปัญหาที่ชาวนาควบคุมไม่ได้เลย คือ เรื่องราคา คืออาจจะกำหนดราคาต้นทุนการผลิตได้ แต่ว่ากำหนดราคาขายไม่ได้ แล้วที่สำคัญมากกว่านั้นก็คือ ถ้าผลิตผิดวิธี หมายถึงข้าวพันธุ์พื้นเมือง เขาจะไม่ตอบสนองต่อการใช้สารเคมี พอเราไปใช้เกิน หรือใช้ในอัตราที่มันเพิ่มผลผลิตที่สูงขึ้น คุณภาพเรื่องการหุงต้ม ความนุ่มความหอมมันจะลดลง อาจจะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ถ้าใส่เยอะเกินไปอาจจะทำให้เกิดเชื้อโรคได้ด้วย เช่น โรคไหม้คอรวง ซึ่งแต่เดิมเขาปลูกแต่ระบบอินทรีย์ ปัญหาเรื่องพวกนี้ไม่ค่อยจะมี เพราะในระบบธรรมชาติมันจะมีตัวควบคุมโดยธรรมชาติ อย่างโรคแมลงก็จะมีตัวห้ำตัวเบียน มีแมลงคุมแมลง แต่พอเรามาจัดการเป็นแปลงใหญ่ แล้วปลูกข้าวพันธุ์เดียว เมื่อโรคแมลงมันระบาดมา ชาวนาก็กลัวเสียหายก็ไปใช้ปัจจัยการผลิตที่มันทันใจเขา ซึ่งอาจจะเป็นสารเคมี มันก็จะปนเปื้อนในเมล็ดพันธุ์ข้าว ในตรงนี้ก็จะส่งผลต่อผู้บริโภคทางอ้อม รวมถึงเกษตรกรที่เป็นชาวนาเอง กินข้าวที่ปนเปื้อนสารพิษ ผลที่ตามมาก็อาจจะเป็นเบาหวาน ความดัน หนักขึ้นกว่านั้นก็จะเป็นมะเร็ง”

จากชุดความรู้ที่ถูกนำไปถ่ายทอดให้กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 4 ภาค มีกลุ่มเครือข่ายที่สามารถพัฒนาพันธุ์ได้ ยกตัวอย่างเช่น ที่จังหวัดยโสธร กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง ต.กำแมด อ.กุดชุม เกษตรกรสามารถพัฒนาพันธุ์ขึ้นใหม่ โดยเฉพาะข้าวเหนียวแดง ซึ่งเป็นข้าวเหนียวที่เป็นข้าวนาปี มีกลิ่นหอม ทั้งยังมีกลุ่มข้าวหอมดอกฮัง สามารถผลิตข้าวให้มีความนุ่มมันหอมได้ และอีกหนึ่งเครือข่ายที่จังหวัดนครสวรรค์ มีการพัฒนาข้าวเจ้า อย่างข้าว ‘ชำมะนาด’ (หรือชมนาด) ซึ่งมีกลิ่นหอมนวลและนุ่มไม่แพ้กันเลย  ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นข้าวพื้นบ้านที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ ด้วยการปลูกระบบอินทรีย์ แต่หากยังคงมีข้อจำกัดของฤดูกาล ที่สามารถปลูกได้เพียงละ 1 ครั้ง อีกทั้งยังมีความต้องการบริโภคสูง

“การขึ้นทะเบียนเมล็ดพันธุ์ คือเรื่องพวกนี้จริง ๆ ขึ้นก็ได้ แต่มันเป็นเรื่องไกลตัวเกษตรกร”

สุขสรรค์ กันตรี ยังเล่าถึงข้อดีข้อเสียของการขึ้นทะเบียนเมล็ดพันธุ์ “การขึ้นทะเบียนเมล็ดพันธุ์ คือเรื่องพวกนี้จริง ๆ ขึ้นก็ได้ แต่มันเป็นเรื่องไกลตัวเกษตรกร คือนักปรับปรุงเขาอยากให้ขึ้น เพราะว่าแสดงความเป็นเจ้าของเหมือนการจดลิขสิทธิ์เพลง เหมือนทุกอย่างที่เขาแต่งเขาควรจะได้ จริง ๆ ขึ้นก็ได้ แต่ผมไม่แนะนำให้เกษตรกรขึ้น เพราะคุณต้องไปซื้อเขา แล้วเกษตรกรเป็นผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ถ้าต้องไปสิ้นเปลืองเรื่องการซื้อ มันเป็นการเพิ่มต้นทุนไหมครับ ถ้าเรามองเป็นการแลกเปลี่ยนดีไหม แต่ถ้าเราขึ้นมันก็มีข้อดี ก็คือกันไม่ให้คนอื่นเอาไป คนอื่นเอาไปต้องจ่ายให้เรา อันนี้ก็เป็นข้อดี แต่เราแนะนำให้ขึ้นในลักษณะของกลุ่ม หลาย ๆ อย่างหน่วยงานของรัฐของภาคเอกชน กับชาวนาไม่ได้มีการทำงานแบบมีส่วนร่วม คือเหมือนกับแบ่งหน้าที่กัน จริง ๆ เขาควรจะมีส่วนร่วม อะไรที่เกี่ยวกับข้าวก็ควรจะให้ผู้บริโภคมาร่วมชิม มาให้มีบทบาท ในการวางนโยบายหรือตั้งเป้าร่วมกัน เอาหน่วยงานของรัฐมาทำงานร่วมกับเกษตรกร ในหน่วยที่เขามีความพร้อม”

ชาวนากับเรื่องเมล็ดพันธุ์เป็นสูตรเฉพาะ เป็นองค์ความรู้ที่มีอยู่ในตัว

สุขสรรค์ กันตรี ยังเน้นย้ำถึงเกษตรกรคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาพัฒนา ต่อยอดความหลากหลายสายพันธุ์“ข้าวขวัญเราถ้าเป็นคนปรุงก็คงเหมือนเชฟ เรารู้ว่าปรุงอะไรถึงได้อะไร เราก็เลยอยากบอกต่อให้ทุกคนเลยครับ ไม่จำเป็นว่าเป็นเกษตรกร สามารถที่จะปรับปรุงพันธุ์ สร้างข้าวในฝันเป็นของตัวเอง ซึ่งถ้ารอรัฐบาลไม่แน่ใจว่าเมื่อไหร่เขาจะทำให้เรา เราทำเองเลย ข้าวขวัญเราพัฒนาเทคนิคพวกนี้มาเราคิดว่าทุกคนสามารถทำได้ ขอแค่อยากทำ และอยากได้คนรุ่นใหม่ด้วย เพราะคนรุ่นใหม่เขาสร้างสรรค์ ข้าวนี้สามารถออกแบบได้ เราจะกำหนดแบบไหน เราก็สร้างไป แต่สร้างไม่เสร็จวันเดียวนะ ก็เอาตามความพอใจไปทีละขั้น ๆ”

นำภูมิความรู้ภายนอกเชื่อมโยงประสานกันจากเครือข่ายผู้ผลิต ที่พัฒนา คัดพันธุ์ข้าวด้วยตนเอง โดยที่ไม่พึ่งปุ๋ยพึ่งยา

ทองทิพย์ ภูมิวงศ์ นักสะสมพันธุ์พืช บ้านนาทุ่งกุลา จ.ร้อยเอ็ด อีกคนที่สร้างมูลค่าและรายได้จากเมล็ดพันธุ์ “เราคิดว่าถ้าให้เกษตรได้เรียนรู้เรื่องเมล็ดพันธุ์ พืชที่เหมาะสมกับพื้นที่จริง ๆ จะดี คนที่ทำงานในชุมชน คนที่เป็นเกษตรกร ถ้าเขาเห็นความสำคัญ เขาจะปลูกฝัง อย่างเด็กที่อยู่ในเครือขายเกษตรทางเลือก หรือกลุ่มเด็กน้อยทุ่งกุลา เขาจะเห็น อย่างเรื่องการอยู่การกินมันหมุนเวียนอยู่แล้ว ถ้าคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญ เราทำอะไรได้ เราก็ทำไปก่อน อย่างน้อย ๆ เขาก็ได้ซึมซับ”

ทองทิพย์ ภูมิวงศ์

ทองทิพย์ ภูมิวงศ์ ย้ำถึงข้อเสียหากมีการจำกัดพื้นที่ปลูกแค่พื้นที่เดียว เมื่อเวลาผ่านไป สภาพสภาพดิน ฟ้า อากาศ ก็เป็นส่วนที่ทำให้มีการสูญเสียเมล็ดพันธุ์หากไม่มีการปรับปรุง เรียนรู้สายพันธุ์ “คิดว่าถ้าเครือข่ายหรือคนที่เป็นเกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ไม่ถูกวิธี พืชพวกนี้อาจจะไม่อยู่แล้ว เราก็ใช้เวลาและประสบการณ์ ถ้าเราทำไม่ถูกวิธีอาจจะหายไป ความหลากหลายทางพืชถ้าอยู่กับใครคนใดคนหนึ่งอาจจะหายไปไม่ควรจำกัดแค่พื้นที่เดียว”  

หากเมล็ดพันธุ์เปรียบดังหัวใจของเกษตรกร นี่คงเป็นโจทย์ใหญ่ และโจทย์สำคัญของเครือข่ายเกษตรกร ที่ยังคงต้องปรับเปลี่ยน และเรียนรู้ถึงวิธีการเก็บรักษาดูแลเมล็ดพันธุ์ เพื่อความอยู่รอดของความหลากหลายของพันธุ์กรรมไม่ให้สูญหายไป 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ