ผู้ได้รับผลกระทบเหมืองทองเมืองเลยลงมติให้นำ 6 ข้อเรียกร้องของชาวบ้านไปใช้แก้ไขปัญหา

ผู้ได้รับผลกระทบเหมืองทองเมืองเลยลงมติให้นำ 6 ข้อเรียกร้องของชาวบ้านไปใช้แก้ไขปัญหา

ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหมืองทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย ทำประชามติคัดค้านข้อเสนอของทหารและการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ดำเนินการโดยทหารและจังหวัดเลย และมีมติให้เร่งนำข้อเสนอของชาวบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 เวลา 10.00 น. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหมืองทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้จัดให้มีการประชาคมเพื่อลงมติที่วัดศรีสะอาด หมู่ที่ 1 บ้านห้วยผุก ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย โดยมีการลงมติ 2 ประเด็นด้วยกันคือ ประเด็นแรกการไม่เห็นด้วยและคัดค้านคณะกรรมการ 4 ชุดที่ทหารและข้าราชการจังหวัดเลยที่ได้แต่งตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากเหมืองทองคำ และประเด็นที่สอง มติเกี่ยวกับการยืนยัน ข้อเสนอ 6 ข้อ ของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดทั้ง 6 หมู่บ้าน

การประชาคมเพื่อลงมติครั้งนี้ได้มีชาวบ้านจาก 6 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำเหมืองของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด 491 คน มาลงทะเบียนซึ่งจัดบริเวณศาลาวัดศรีสะอาด ขณะที่ทางฝ่ายราชาการมีนายทหารเข้าสังเกตการณ์ และทางผู้ว่าราชาการจังหวัดเลยได้ส่งนายณรงค์ศักดิ์ พลศักดิ์ ปลัดจังหวัด เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

นายสมัย ภักมี ในฐานะประธานในการประชุม ได้กล่าวว่า “การจัดประชาคมหมู่บ้านในครั้งนี้ดำเนินการโดยเจ้าของปัญหาผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ คือ ชาวบ้าน และผู้นำชุมชนทั้ง 6 หมู่บ้าน มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการประชาคมที่มาจากชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน โดยไม่มีการแทรกแซงจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง หรือบุคคลจากภายนอก แต่ทางกลุ่มฯ ก็ได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการถึงทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อกรณีความขัดแย้งในประเด็นนี้ เพื่อให้เข้าร่วมสังเกตการณ์และขจัดข้อกังขาต่อการทำประชาคม”

ต่อมาในเวลา 11.00 น. ชาวบ้านทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำเหมืองทองคำทั้ง 6 หมู่บ้าน ที่มาเข้าร่วมการประชาคมได้ยกมือยืนยันความต้องการซึ่งเป็นจุดยืนของชาวบ้าน โดยไม่ยอมรับข้อเสนอของทางทหาร 3 ข้อ ได้แก่ การปิดเหมือง  การขนแร่  และการฟื้นฟู เนื่องจากไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริง แต่ให้นำข้อเสนอ 6 ข้อ ของชาวบ้านที่เคยเสนอกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและทหารมาแล้วหลายครั้ง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ คสช. นำไปปฏิบัติอย่างเร่งด่วนตาม

สำหรับข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและผลกระทบจากการทำทั้ง 6 ข้อของกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ได้แก่

  1. ให้เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ ทั้ง ๖ แปลง บนภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน
  2. ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประกอบโลหะกรรมทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการแต่งแร่ แยกแร่ ลอยแร่ ถลุงแร่ ฯลฯ จนการผลิตในขั้นตอนสุดท้าย
  3. ให้เคลื่อนย้ายเครื่องจักร อุปกรณ์ สำนักงาน และอื่นๆ ทั้งหมด ออกไปจากเขตเหมืองแร่หรือเขตประทานบัตร
  4. ให้ขนสินแร่ทั้งที่ยังไม่ได้แต่ง และแต่งแล้วออกจากเขตเหมืองแร่หรือเขตประทานบัตรทั้งหมด
  5. ให้ทำการปิดเหมืองเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ สุขภาวะ อนามัยและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
  6. ให้เยียวยาประชาชน 6 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทุกด้าน

สำหรับประเด็นที่สอง กรณีที่ทหารและจังหวัดเลยได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 4 ชุด ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมรมติที่ประชุมไม่ยอมรับคณะกรรมการทั้ง 4 ชุด

นางสุ่ม ศรีทอง หนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงกล่าวว่า “ผลของประชามติของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ทั้งสองประเด็น ทุกฝ่ายควรที่จะให้ความเคารพและยอมรับ และหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องมีหน้าที่นำไปปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหา เพราะเป็นประชามติที่เกิดขึ้นจากความต้องการและความเห็นของประชาชน 6 หมู่บ้านอย่างแท้จริง ไม่ใช่ประชามติที่เกิดจากขั้นตอนและการกระบวนการไม่ชอบธรรมซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา”

หลังจากที่ประชุมมีมติดังกล่าว นายณรงค์ศักดิ์ พลศักดิ์ ปลัดจังหวัดเลย ได้กล่าวว่าจะรับข้อเสนอของชาวบ้านเพื่อนำไปดำเนินงานตามขั้นตอนต่อไป

ภาพและข่าวจาก กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด

20141807142951.jpg20141807143009.jpg20141807142930.jpg

จดหมายที่ชาวบ้านส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กอ.รมน.เลย ผู้บัญชาการจังหวัดทหารบกเลย นอกจากนั้น จดหมายที่มีเนื้อหาเดียวกันยังได้ส่งไปยังแม่ทัพภาคที่สอง และประธาน คสช. และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ) ด้วย

 

20141807172053.jpg20141807172111.jpg20141807172119.jpg20141807172125.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ