เมื่อสายน้ำแห่งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนริมโขงกำลังจะหายไป

เมื่อสายน้ำแห่งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนริมโขงกำลังจะหายไป

ภาพน้าสุดตาขณะดึงอวนปลา

เมื่อเกิดปรากฏการณ์การละลายของหิมะบริเวณทิศเหนือของเทือกเขาหิมาลัย บนที่ราบสูงทิเบต จากหิมะก็เปลี่ยนสถานะเป็นสายน้ำไหลรวมกลายเป็นธารน้ำ ผ่านมณฑลชิงไห่ ประเทศจีน ถือเป็นต้นกำเนิดของ แม่น้ำโขง สายน้ำที่หลอมรวมวิถีชีวิตของผู้คนกว่า 6 ประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม นอกจากแม่น้ำโขงแล้วยังเป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำสายสำคัญอีก 2 สาย ได้แก่ แม่น้ำแยงซีเกียง และแม่น้ำสาละวิน

แม่น้ำโขงไหลลงจากประเทศจีนทางทิศใต้ มีแม่น้ำแยงซีเกียงขนาบข้างอยู่ทางทิศตะวันออกส่วนด้านตะวันตกถูกขนาบข้างด้วยแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำโขงไหลผ่านแก่งหินและซอกเขาตลอดสาย เมื่อน้ำโขงไหลผ่านมณฑลยูนนานจึงเกิดเป็นพรมแดนที่มีแม่น้ำโขงกั้นระหว่างประเทศลาวและประเทศพม่า ต่อมาแม่น้ำโขงจึงไหลลงสู่สามเหลี่ยมทองคำ รอยต่อแห่ง 3 อาระธรรมเพื่อนบ้าน ระหว่างประเทศไทย(พื้นที่จังหวัดเชียงราย) ประเทศลาว(พื้นที่แขวงบ่อแก้ว)  และประเทศพม่า(พื้นที่ท่าขี้เหล็ก, รัฐฉาน) สามเหลี่ยมทองคำเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะสามเหลี่ยมบรรจบกัน โดยมีแม่น้ำโขงตัดผ่านชายแดนไทยและลาว

แม่น้ำโขงที่ไหลผ่านบริเวณประเทศไทยเป็นลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งไหลผ่านที่อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ และอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย มีระยะทาง 84 กิโลเมตร ต่อมาไหลเข้าสู่ประเทศลาวที่เมืองหลวงพระบางและไหลผ่านเป็นพรมแดนไทย- ลาว อีกครั้งหนึ่งที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ผ่านนครเวียงจันทร์และจังหวัดหนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี จากนั้นไหลเข้าประเทศลาวอีกจนถึงเมืองปากเซ หลังจากแม่น้ำโขงไหลผ่านเมืองปากเซแล้ว จึงไหลผ่าน  กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ บริเวณประเทศเวียดนามเป็นที่สุดท้าย

ชื่อของแม่น้ำโขงถูกเรียกขานต่างกันในแต่ละพื้นที่ ประเทศต้นกำเนิดอย่างประเทศจีน เรียกแม่น้ำสายนี้ว่า หลานชางเจียง เมื่อไหลเข้าสู่เส้นพรหมแดนไทย – ลาว ชาวบ้านเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า แม่น้ำโขง ต่อมาเมื่อไหลผ่านประเทศกัมพูชา คนในพื้นที่เรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ตนเลของ และเมื่อไหลเข้าสู่ทะเลจีนใต้ น้ำจากแม่น้ำโขงได้แตกแขนงกลายเป็นสายน้ำเล็ก ๆ กว่า 9 สาย คนเวียดนามจึงเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า เกาลอง ซึ่งแปลว่าเก้ามังกร เปรียบเสมือนแม่น้ำ 9 สาย ที่แตกแขนงออกมาจากแม่น้ำโขง

จากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ แม่น้ำโขงมีความยาวทั้งสิ้น 4,909 กิโลเมตร ดินในแม่น้ำโขงมีลักษณะเป็นดินทราย บริเวณแม่น้ำโขงมีตลิ่งสูงชัน ไหลเลี้ยวเลาะไปตามไหล่เขา โดยมีสาเหตุจากแนวเขาที่พาดตั้งแต่ฝั่งของประเทศไทยถึงประเทศลาว ซึ่งจะพาดผ่านแม่น้ำโขง และเมื่อสายน้ำพัดผ่านภูเขา จึงทำให้เกิดเกาะแก่งสูง มีเกาะแก่งกว่าหนึ่งร้อยแห่งเรียงรายตลอดแม่น้ำ ทำให้ปลาน้อยใหญ่ต่างแหวกว่ายตามกระแสน้ำ เพื่อมาวางไข่บริเวณเกาะแก่งในแม่น้ำโขงเป็นจำนวนมาก

เมื่อมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์อันกว้างใหญ่ ไหลไปไกลสุดลูกหูลูกตา รายล้อมด้วยพืชพันธุ์นานา และเหล่าปลานับพัน จึงไม่น่าแปลกใจที่มนุษย์จะเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ ดังนั้น ชุมชนริมโขงจึงได้ถือกำเนิดขึ้น

มีคน ย่อมมีชุมชน เมื่อมีชุมชน วิถีชีวิตและวัฒนธรรมจึงเกิดขึ้น ผู้คนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ มีชีวิตที่ผูกพันกับน้ำ เช่นนี้เอง “เรือ” จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งวิถีชีวิตของคนริมโขง เพราะเรือเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนริมโขงในหลากหลายด้าน โดยแม่น้ำโขงเป็นพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ปลากว่า 1,245 ชนิด แถมด้วยกุ้ง หอย กบ และสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยอื่น ๆ  อีกทั้งแม่น้ำและพื้นดินยังมีแร่ธาตุและสารอาหารมากมาย ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช  ชาวบ้านริมโขงจึงนิยมประกอบอาชีพทำการประมงและการเกษตรริมโขง และสมัยก่อนนอกจากชาวบ้านจะนิยมใช้เรือทำการประมงแล้ว ยังใช้เรือเพื่อการสัญจรทางน้ำและการคมนาคมค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับเพื่อนบ้านทางฝั่งลาวอีกด้วย

“…เมื่อก่อนถึงจะแล้งจะแห้งยังไง คนริมโขงไม่เคยจะอดตายนะ…

พ่อสมจิตร หรือ นาย สมจิตร พิมโพพัน รองประธานสภาองค์กรบริหารส่วนตำบลบ้านน้ำไพร อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย เล่าถึงชีวิตริมน้ำโขงสมัยก่อน

“ริมแม่น้ำโขงนี่เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์มาก่อน เมื่อก่อนนี่ถึงจะแล้งจะแห้งยังไง คนริมโขงไม่เคยจะอดตายนะ ปีไหนมันแห้งแล้งมาก มันก็จะร้อนมาก ถ้าปีไหนร้อนมาก ๆ ลงมาแช่น้ำโขง แค่ 30 นาที นี่จะหนาวสั่นกลับไปละ น้ำมันเย็น น้ำสะอาด เมื่อก่อนนะน้ำโขงก็เป็นอย่างต้นไม้นี่แหละ เราไปฟันเอายางมา สักพักยางมันก็ไหลมารักษาแผลของมันได้เอง ก็เหมือนน้ำโขงนี่แหละ มันถูกกัดเซาะ พอปีหน้าน้ำไหลมา ดินมันก็ทับถมเหมือนเดิม อาจจะมีดีบ้างแย่บ้าง มันก็คลุกคลีอยู่อย่างนี้ แต่เราก็อยู่ได้ เมื่อก่อนนี่ผักไม่ต้องปลูกก็ได้นะ เพราะมันจะเกิดของมันเองตามธรรมชาติ แม้แต่ผักกาด ปีนี้เราปลูกปีเดียว ปีหน้าเราก็ไม่ต้องปลูกปล่อยมันขึ้นเอง เพราะมันก็มีเมล็ดที่หล่นอยู่แถวนั้น พอน้ำมันไหลเข้ามา มันก็ทับถมอยู่ตรงนั้นแหละ พอระดับน้ำลด ผักก็จะโต มันก็มีผักหลาย ๆ ชนิดอยู่”

“ริมโขงนี่เป็นดินแดนที่น่าอัศจรรย์นะ แต่ทุกวันนี้ไม่น่าอัศจรรย์เหมือนเมื่อก่อนแล้ว” พ่อสมจิตรพูดพลางทอดสายตามองไปยังแม่น้ำโขง

ภาพพ่อสมจิตรขณะอยู่ริมแม่น้ำโขง

น้าสุดตา หรือ นาย สุดตา อินสำราญ ชาวบ้านจาก ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย พรานปลาที่ยังคงออกเรือแต่เช้าตรู่ในทุกวัน เล่าถึงความสัมพันธ์ของคน น้ำ และเรือในสมัยก่อน

“มันก็ผูกพันกันมานานแล้วเนอะ ชีวิตริมแม่น้ำโขงเนี่ย คนริมโขงทุกบ้านใช้เรือกันหมด แต่ก่อนนี่เป็นเรือไม้ อย่างตำบลบ้านม่วงมีอยู่ 200 กว่าคัน แต่ก่อนเราก็ต่อกันเอง ไม้มันเยอะ ไปเลื่อยมา ช่วยกัน แบ่งกัน ไม้ต้นหนึ่ง ได้เรืออยู่ 2 ลำ ใช้ไม้อยู่ 6 แผ่น  ก็มาแบ่งกันทำ ไม่ได้ต้องไปหาซื้อ”

น้าสุดตาเล่าว่า ความเชื่อสมัยก่อนเวลาจะออกเรือไปหาปลา ถ้าลงตาข่ายลงมองครั้งแรก (ลงมองคือการเอาตาข่ายมอง ลงไปกางในน้ำเพื่อรอให้ปลามาติดกับดักมองตาข่ายที่เราทำไว้) พอใส่เสร็จก็ต้องบนว่า “ปู่เอ้ย มาใส่ดางใส่อวนเรานะ” ถ้าหาปลาได้ก็แก้บนด้วยไก่ เหล้า ดอกไม้ต่าง ๆ

มีตำนานของผู้เฒ่าผู้แก่ว่า เวลาไปหาปลา เราจะปิ้งปลาไปไม่ได้ จะปลาแห้ง ปลาร้า หรือปลาอะไรก็ไม่ได้ ให้ไปหาเอาข้างหน้าเลย จะเอาไปได้ก็มีแค่พวกน้ำพริก ป่นแจ่ว มะขามหวาน เกลือ สิ่งพวกนี้เอาไปได้ แต่ให้ไปหาปลาเอาข้างหน้า เพราะว่าสมัยก่อนปลาในแม่น้ำโขงนั้นมีเยอะ ออกเรือไปอย่างไรก็ต้องได้ปลากลับมาอยู่แล้ว เอาแต่กับข้าวไปเท่านั้น ส่วนผัก ก็ไม่ต้องเก็บผักไป ไปหาเอาข้างหน้าได้ ถ้าเดินเลาะริมน้ำไปก็ได้ผักติดไม้ติดมือกลับมาแล้ว จะผักชีช้าง ผักไหม ยอดไคล้ ใบไคล้อ่อน ๆ ก็สามารถเอามากินได้

ภาพน้าสุดตาขณะขับเรือออกหาปลา

“แต่ก่อนนะ ช่วงที่เราหาปลาน่ะ ได้อาทิตย์ละหมื่นนะ เชื่อไหม อาทิตย์ละหมื่นนะ หาเดี๋ยวเดียว บางทีแสนสองแสนก็หาได้นะ 60-70 ตัว นี่ก็ได้แล้ว กิโลกรัมละ 250 บาทนะ พวกปลาเอิน ปลากะโห้ ถ้าเป็นปลาหนัง (ประเภทของปลาที่ไม่มีเกล็ด) พวกปลาปากแดง แบบนี้ก็ได้กิโลกรัมละ 300 บาท ปลาคังก็กิโลกรัมละ 300 ที่เขาว่าว่าอยากกินปลาสะงั่ว (ปลาหนังชนิดหนึ่ง) นี่ล่ะ ตัวนี้แพง 400 บาท กิโลกรัมนึงน่ะ” น้าสุดตาเล่าด้วยรอยยิ้มที่แสดงถึงความภาคภูมิใจ

นอกจากเพื่อทำการประมงแล้ว “เรือ” ยังเข้ามาเกี่ยวข้องประเพณีสำคัญในช่วงออกพรรษาของชาวริมโขง อย่างประเพณีไหลเรือไฟ ซึ่งชาวริมโขงเรียกประเพณีนี้ว่า เฮือไฟ ซึ่งจัดขึ้นในวันออกพรรษา ตรงกับ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี การไหลเรือไฟถือเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า ในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาจากเทวโลก หลังจากที่พระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปจําพรรษาที่ดาวดึงส์ การไหลเรือไฟ เปรียบเสมือนการสักการะบูชาอย่างหนี่งในวันนั้นและได้ทําเป็นประเพณีสืบทอดกันมาจน ถึงทุกวันนี้ประเพณีที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การแข่งเรือ ซึ่งชาวบ้านริมแม่น้ำโขงเรียกกันว่า ส่วงเฮือ การแข่งเรือเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน โดยจัดขึ้นระหว่างงานบุญออกพรรษา

ภาพน้าโอ่งขณะเล่าเรื่องประเพณีแข่งเรือยา

เทศกาลแข่งเรือยาวและไหลเรือไฟ เปรียบเสมือนงานบุญครั้งยิ่งใหญ่ของชาวบ้านริมแม่น้ำโขง เมื่อมีการจัดงานเทศกาลขึ้นลูกหลานที่อยู่ต่างที่ต่างถิ่นก็กลับมาพบปะกันอีกครั้ง เทศกาลนี้จึงเปรียบเสมือนเทศกาลแห่งความสุข ของชาวบ้านริมแม่น้ำโขง

คนริมโขงกับการแข่งเรือยาวนั้น ถือได้ว่าเป็นการผูกพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานในด้านของการสร้างความสามัคคีกันภายในชุมชน เพราะ การแข่งเรือ จำเป็นจะต้องมีการวางแผนและมีการฝึกซ้อม เนื่องจากการพายเรือยาวให้พร้อมเพรียงกันได้นั้นจำเป็นจะต้องมีการฝึกซ้อมให้ฝีพายสามารถพายได้พร้อมเพรียงกัน ทั้งหน้าและหลัง โดยการฝึกซ้อมพายเรือนั้นจะกินเวลาประมาณ 3 เดือน นับจากช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ไปจนถึง เทศกาลออกพรรษา ช่วงเวลาเหล่านี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านได้มาฝึกซ้อมพายเรือ สานสัมพันธ์ เพิ่มความสามัคคีให้ชุมชน และ ยังทำให้ชาวบ้านได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์กันในช่วงเทศกาล

จากคำบอกเล่าของ พ่อสมจิตร หรือ นาย สมจิตร พิมโพพัน รองประธานสภาองค์กรบริหารส่วนตำบลสังคม ได้เล่าถึงบรรยากาศประเพณีการแข่งเรือสมัยก่อนว่า  “เราก็ทำเพื่อความสนุก บันเทิง พบปะสังสรรค์ เป็นประเพณีของเรา ถือโอกาสร่วมกลุ่มเพื่อพบปะสังสรรค์ตามฤดูกาลของเรา ถ้าการแข่งเรือของเราก็ต้องเป็นช่วงออกพรรษา ไหลเรือไฟ แข่งเรือ มันคู่กัน หลังจากนั้น 1 เดือน ก็เป็นลอยกระทง มันเป็นประเพณีของชาวลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อเป็นการบูชาคารวะแด่เจ้าแม่คงคา อันเป็นที่เคารพนับถือของชุมชน แต่ปู่ย่าตายาย”

นอกจากการพบปะสังสรรค์ของชาวบ้านแล้ว ประเพณีการแข่งเรือยาวนั้นยังพ่วงมาด้วยเรื่องของความเชื่อ ตั้งแต่การตั้งชื่อให้เรือประจำหมู่บ้าน จากคำบอกเล่าของน้าโอ่งหรือนายสมยง บาบุญ อดีตนายท้ายเรือประจำหมู่บ้าน ได้เล่าถึง ขั้นตอนในการตั้งชื่อให้แก่เรือประจำหมู่บ้าน “ชาวบ้านจะให้พระไปส่อง ให้นางไม้ดูว่าชอบชื่อไหน อยากได้ชื่ออะไร ในวันแรกนาขวัญ ก็เป็นความเชื่อของชุมชน แล้วก็ของผู้หลักผู้ใหญ่ จับได้ชื่อไหนก็เอาชื่อนั้น”  น้าโอ่งเล่าไปพลางชี้ให้ดูถ้วยรางวัลต่าง ๆ ที่ชุมชนบ้านน้ำไพรได้มาจากการแข่งเรือ

ภาพถ้วยรางวัลจากการแข่งเรือของชุมชนบ้านน้ำไพร

หลังจากสร้างเขื่อนทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

แม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์และกว้างใหญ่ ที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตคนสองริมฝั่ง อาจจะกลายเป็นเพียงความทรงจำในอดีต เพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำในแม่น้ำโขงผันผวนขึ้นลงอย่างผิดปกติ จำนวนปลาในน้ำที่เคยว่ายน้ำไปวางไข่ในแอ่งน้ำสาขาของแม่น้ำโขงก็หายไป การทำเกษตรริมโขงก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากหากขาดแร่ธาตุอาหาร วันไหนที่กระแสน้ำสูงขึ้น แค่เพียงคืนเดียวกระแสน้ำก็พัดพาพืชผักปลิวริมแม่น้ำโขงหายไปกับสายน้ำ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผลกระทบเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในประเทศจีน หลังจากมีการสร้างเขื่อนบริเวณแม่น้ำโขงตอนบนในประเทศจีนชาวบ้านริมน้ำโขงต้องเผชิญกับปัญหาระดับน้ำในแม่น้ำโขงผันผวนไม่เป็นไปตามฤดูกาล ซึ่งมีสาเหตุมาจากการสร้างเขื่อนกั้นน้ำบริเวณประเทศจีน ข้อมูลในเดือนมิถุนายน 2563 ระบุว่าบริเวณแม่น้ำโขงตอนบนในประเทศจีน มีเขื่อนที่สร้างแล้ว 11 เขื่อน อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 เขื่อน  บริเวณแม่น้ำโขงตอนล่าง มีเขื่อนสร้างเสร็จแล้ว 2 เขื่อน และยังมีเขื่อนที่ถูกเสนอในการก่อสร้างอีก 9 โครงการ

ปัจจุบันแม่น้ำโขงกว่าครึ่งที่ไหลอยู่ในประเทศจีน มีแผนสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้ากว่า 28 โครงการ เขื่อนแห่งแรกที่ถูกสร้างบนพื้นที่แม่น้ำโขง คือ เขื่อนมานวาน Manwan dam สร้างเสร็จในปี 2539 เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในเวลานี้คือ เขื่อนเสี่ยวหวาน Xiaowan dam ซึ่งมีความสูงถึง 292 เมตร ลองเปรียนเทียบความสูงจะเท่ากับตึกสูงเกือบ 100 ชั้น มีปริมาณความจุอ่างเก็บน้ำมหาศาลถึง 15 ลูกบาศก์กิโลเมตร เขื่อนต่อมาคือ เขื่อนเขื่อนนั่วจาตู้ Nuazhadu dam มีความสูงถึง 291 เมตร มีปริมาณความจุอ่างเก็บน้ำมหาศาลถึง 11.3 ลูกบาศก์กิโลเมตร

นับตั้งแต่มีโครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา สิ่งที่ตามมาคือระบบนิเวศที่ผันผวน สัตว์น้ำที่มีจำนวนลดลงอย่างมาก ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ที่เคยมีมันไปหาย สวนทางกับกับเม็ดเงินที่หลั่งไหล แต่ไม่เคยตกถึงชาวบ้าน

ความจริงที่น่ากังวล คือ แม่น้ำโขงตอนบนในจีน ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนของเปลือกโขง และที่ผ่านมาก็เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในมณฑลยูนนานหลายครั้ง ปริมาณน้ำมหาศาลที่กักเก็บไว้ในเขื่อนอาจนำสู่หายนะได้หากเกิดแผ่นดินไหวใกล้ที่ตั้งของเขื่อน

ในสองทศวรรษที่ผ่านมามีประชาชนอย่างน้อย 100,000 คน ต้องอพยพโยกย้ายเนื่องจากการสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขง ผู้ถูกอพยพส่วนใหญ่เป็นชนเผ่า-ชาติพันธุ์ ประชาชนส่วนใหญ่ต้องเผชิญความยากลำบากในการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมและวิถีชีวิต รวมถึงการชดชดเชยเยียวยาที่ไม่ดีพอ มีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถดำรงชีวิตในแปลงอพยพที่ทั้งแออัดและไร้ที่ทำมาหากินที่เพียงพอ

เกิดอยู่ริมโขง เติบโตอยู่ที่ริมโขง แต่ผู้คนเหล่านี้กลับถูกผลักให้ต้องใช้ชีวิตออกห่างจากสายน้ำขึ้นเรื่อย ๆ

ปัจจุบัน จากปัญหาความผันผวนของระบบนิเวศทางน้ำ ทำให้การแข่งเรือต้องถูกหยุดชะงักมากว่า 6 ปี ตามคำบอกเล่าของน้าโอ่ง “ไม่ได้แข่งเรือมา 6 ปีแล้ว คิดถึงบรรยากาศครับ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มันการแข่งเรืออีกครับ ย้อนหลังอีก มันสำคัญกับลูกหลานข้างหน้า เขาจะไม่ได้ไปยุ่งกับยาเสพติด เพราะ ตอนนี้ยาเสพติดมันเยอะ”

“เกียร์ 3 เกียร์ 4 ไล่อัดตามให้ทันแล้วจ้า! เอาแล้วครับพี่น้องครับ เที่ยวนี้ใครจะอยู่ใครจะไป ตอนนี้ยังเสมอกันอยู่ดูไม่ออกเลยครับ! รุ่งสุริยายังนำอยู่ สิงห์ปทุมเริ่มไล่เบียดไล่บี้ขึ้นแล้วครับ! ตีแรง แซงตี! ตีแรง แซงตี! ตีแรง แซงตี! สิงห์ปทุมตี! สิงห์ปทุมตี! สิงห์ปทุมตี! ทั้งสองลำ! รวด! เข้า เส้น ชัย!”

เสียงพากย์เรือยาวอันเป็นเอกลักษณ์ เสียงเชียร์ของผู้คนที่ดังกระหึ่ม น้ำเสียงที่หึกเหิมของเหล่าฝีพายนับร้อยชีวิต ไม้พายที่กระทบผิวน้ำจนสาดกระเซ็น ช่างเป็นบรรยากาศที่น่าสนุก แต่คงได้แค่คิดถึง เพราะไม่รู้ว่าความสุขเหล่านี้จะหวนคืนสู่ชาวบ้านเมื่อไหร่

ภาพเรือคีรีวงกต เรือแข่งประจำชุมชนบ้านน้ำไพรที่จอดที่ทิ้งไว้เป็นเวลานาน

นอกจากจะไม่สามารถแข่งเรือได้เพราะ ปัญหาทางธรรมชาติแล้ว คนริมโขงยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ยิ่งทำให้โอกาสที่ชาวบ้านจะสามารถกลับมาร่วมกลุ่มเพื่อฝึกซ้อมและสังสรรค์กัน นั้นยิ่งเป็นไปไม่ได้เข้าไปใหญ่ และ กลายเป็นความมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันของชาวบ้านภายในชุมชนก็เริ่มถดถอยและหายไปด้วยเช่นกัน ซึ่งพิสูจน์ได้จากคำบอกเล่าของพ่อสมจิตรที่ได้พูดถึงปฏิสัมพันธ์ของชาวบ้านที่เริ่มขาดหายไปเพราะไม่ได้มีการจัดแข่งเรือ

“มันไม่ได้แข่งเรือมันก็ขาดปฏิสัมพันธ์ ขาดสัมมนาร่วมกัน หายไป ก็เหมือนว่าเราไม่ได้อนุรักษ์ มันก็จะหายไป เหมือนพวกปลาอะไรนี่แหละ ถ้าเราไม่อนุรักษ์มันไว้ มันก็จะค่อย ๆ หายไป ในชุมชนไปด้วย ก็เหมือนความสามัคคี ถ้าเราไม่พบปะสังสรรค์ เยี่ยมยามถามข่าวกัน มันก็จะหายไปเหมือนเดินชนกันก็ไม่รู้จักกัน ถ้าเรามีงาน นาน ๆ ทีก็ยังได้มาเจอกันบ้าง ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ เป็นยังไง ทำอะไรอยู่ เนี่ย มันก็ได้มีการพูดกันคุยกัน ตามประสาคนชุมชน”

น้าโอ่งได้พูดถึงกลุ่มนายทุนที่เข้ามาสร้างเขื่อนเป็นจำนวนมาก จนทำให้เกิดปัญหาระบบนิเวศทางน้ำจนคนริมโขงไม่สามารถจัดประเพณีได้ แต่ถึงกระนั้นกลุ่มผู้มีอำนาจหรือกลุ่มนายทุนที่เข้ามาสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายแก่คนเมือง ให้เมืองใหญ่ของตนได้พัฒนา ส่วนตัวเองก็โกยเงินโกยกำไรเข้ากระเป๋าตัวเองไปเสวยสุข อยู่บนความทุกข์ของคนริมโขง โดยไร้การเข้ามาช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด และเพราะเม็ดเงินก้อนโตเหล่านั้น จึงทำให้คนริมโขงจำต้องยอมใช้ชีวิตลำบาก จากเดิมที่เคยได้ปรับตัวกันไปตามธรรมชาติสร้างสรรค์ ปัจจุบันกลับต้องมาปรับตัวตามความต้องการของนายทุนกันไปเสีย

จากปัญหาการเข้ามาสร้างเขื่อนของกลุ่มนายทุน ที่นอกจากจะส่งผลกระทบที่ทำให้จัดประเพณีไม่ได้แล้ว ยังส่งผลกระทบไปถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนริมโขง อย่างการหาปลาเพื่อขายและนำมาใช้บริโภคเพื่อยังชีพ ก็ไม่สามารถทำได้เหมือนอย่างเคย เพราะ กระแสน้ำที่เปลี่ยนไปทำให้ฤดูน้ำไม่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลเหมือนอย่างเคย จึงทำให้พันธุ์ปลาหลาย ๆ ชนิดค่อย ๆ สูญหายไปจากแม่น้ำโขง ต้นไคร้ที่เคยเป็นที่อนุบาลปลาของเหล่าสัตว์น้ำ เป็นที่พักหลบแดดของคนริมโขงยามออกหาปลา ตอนนี้กลับเหลือเพียงแค่เศษซากแห้งกรังอยู่บนน้ำ ปลาตัวเล็กตัวน้อยที่ต้องอาศัยต้นไคร้เหล่านั้น ก็เหลือเพียงแต่ซากศพ หรือไม่ ก็ต้องติดอยู่ในหล่มโคลนที่กระแสน้ำไหลเข้ามาไม่พอที่จะทำให้ปลาตัวน้อยเหล่านั้นแหวกว่ายออกไป

จากที่เคยหาปลา หาสัตว์น้ำได้ทุกวัน แต่ปัจจุบันการจะได้ปลามาสักตัวกลับเป็นเรื่องของโชคชะตา

ภาพปลาที่ขาดน้ำตาย

ด้านน้าโอ่ง ก็ได้เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงจากปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นกัน ว่าการใช้ชีวิตในปัจจุบันค่อนข้างเปลี่ยนไปมาก จากแต่ก่อนที่ ลงเรือมาแปปเดียวก็สามารถจับปลาได้เยอะ พอมีกิน ทั้งยังพอเหลือขาย แต่ปัจจุบันนี้แค่จะหาปลาให้ได้สักตัวยังเป็นเรื่องยาก 

“ปลามันตัวเล็กลง หาลำบาก หาได้น้อย ไม่เหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนหาได้เยอะ อย่างลงเรือมาแค่แปปเดียวก็ได้เยอะแล้ว พอมาทุกวันนี้มันก็กลายเป็นตำนานไปแล้ว ทุกวันนี้แค่มาหว่านแล้วไม่ได้เขาก็หนีแล้ว มันเปลี่ยนไปเยอะมากครับ แต่ก็ตามยุคสมัยอ่ะเนอะ สมัยก่อนประชากรมันไม่เยอะขนาดนี้ เดี๋ยวคนเขาก็เอาลูกเอาหลานมาเกิด มาอยู่มากขึ้น ปลามันก็โตไม่ทันคน”

ภาพปลาที่ชาวบ้านจับได้

เมื่อมองไปตามลำน้ำโขง น้าสุดตาเล่าว่าสมัยนี้คนใช้เรือน้อยลงมาก เมื่อก่อนแทบทุกบ้านต้องออกเรือมาหาปลา แต่เนื่องด้วยทุกวันนี้หาปลาก็ไม่ได้ อะไรก็แพงไปเสียหมด เรือก็แพง ยิ่งเรือเหล็กยิ่งแพง ระดับน้ำก็ขึ้นลงผิดปกติ ชาวบ้านบางคนก็ขึ้นฝั่งไปกรีดยาง บางคนก็ร่อนทอง เพราะว่ามันก็เป็นหนทางยังชีพที่ยังพอสามารถทำได้

“ทุกวันนี้เหมือนชีวิตคนริมโขงมันห่างจากเรือขึ้นเรื่อย ๆ บางคนขายเรือทิ้งก็มี อุปกรณ์ก็ไม่มี  ก็ขายเรือไป เพราะว่าหาไปมันก็ไม่ได้อะไร มันได้บ้างไม่ได้บ้าง ไม่เหมือนแต่ก่อนที่ปลาเยอะ เดี๋ยวนี้ได้มาก็ได้แค่กินน่ะ แต่ความหวังของเราที่ว่าเราลงทุนเรือมาน่ะ คันละหมื่นกว่าบาท แต่หาปลาใหญ่ไม่ได้ ได้แต่ตัวเล็ก ๆ นี่ก็มีคนเขาบอกให้ไปเอาเรืออยู่นะ 8,000 โอ้ย จะเอามาทำไม มันคุ้มไหม หาปลาก็ไม่ได้ น้ำมันก็แพง”

พอได้กิน แต่ไม่พอได้ขาย แล้วเราจะทำไปทำไม สามสี่ปีมานี้ มันหาคืนก็ไม่ได้ มันไม่มีอะไรให้”

คำถามที่ว่า “จะเอาเรือมาทำไม” จากปากของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ริมแม่น้ำโขง ทำให้ภาพของลำน้ำโขงที่เต็มไปด้วยวิถีชีวิต เหล่าเรือไม้ เรือเหล็กที่เรียงราย ภาพผู้คนที่ต้องเอาเรือออกมาสัมผัสผิวน้ำในทุกวัน ราวกับจะกลายเป็นเพียงภาพในความทรงจำที่ค่อย ๆ เลือนลางจนจางหายไปในวันหนึ่ง

ภาพชาวบ้านริมโขงที่ออกมาหาปลา

“อย่างน้าสุดตาเองก็ออกมาทุกวัน จริง ๆ ไม่ได้ออกมาเกือบปีแล้วเพราะปลามันก็หาไม่ค่อยได้ แต่นี่มาช่วยลุงที่เขาติดโควิด กักตัวอยู่ แล้วลุงเขาออกมาไม่ได้  ก็เลยมาแทนลุง อย่างถ้าได้ปลามาขายซักพันนึงเนี่ย ลุงเขาก็ให้มา 500 แบ่งครึ่งกัน แต่อย่างเราได้เงินมา 500 ใช่ไหม เงิน 500 นี่ไปไหนหมด ค่าน้ำมันหมด มันไม่ได้ มันไม่คุ้ม แต่ก็ยังต้องออกเพราะว่าเราทำมันไว้แล้ว ดีกว่าให้คนอื่นมาทำ”

“วันไหนโชคดีหน่อยมันก็ได้มา ตัวนึง 2ตัว เราก็ภูมิใจของเรา เพราะว่าเราได้ลงมือทำแล้ว”

จากความเชื่อที่ว่าถ้าจะออกไปหาปลาไม่ให้เอาปลาไปด้วย เพราะยังไงก็ได้ปลากลับมา ในทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่าการจะได้ปลามาสักตัวต้องอาศัยความ “โชคดี”

ภาพน้าสุดตาขณะดึงปลาออกจากอวน

“แต่ก่อนถ้าปล่อยตามธรรมชาติของมัน เราก็ปลูกผักริมตลิ่งได้ ปลูกมะเดือย ปลูกถั่ว มัน ข้าวโพด อะไรแบบนี้เลาะริมตลิ่งไปก็ปลูกได้หมด แต่ก่อนนะ ช่วงร้อนก็จะปลูกข้าวโพดปลูกมันแกวได้ เดี๋ยวนี้มันปลูกไม่ได้ ผลผลิตของเรา พอปลูกขึ้นมา กำลังจะได้เก็บเกี่ยว น้ำก็ขึ้นมา แค่คืนเดียวสองคืนน้ำก็ท่วมหมด อยากขอร้องว่า ให้พวกนายทุนใหญ่ ๆ นะ เยียวยาลุ่มน้ำโขงบ้าง พวกเกษตรริมโขงน่ะ ต้องเยียวยา ดูแลเราบ้าง ไม่ใช่ว่าจะหาผลประโยชน์อย่างเดียว ทุกวันนี้มันเกิดการลักเล็กขโมยน้อย เพราะว่ามันหากินไม่ได้น่ะ ยิ่งถ้าวันไหนน้ำทะลักเข้ามาท่วม ก็กระทบชาวบ้าน”

น้าสุดตาบอกว่าการเป็นคนริมโขง ชีวิตมันติดแม่น้ำโขง ทำให้รักแม่น้ำโขง อยู่กันมาผูกพันมาตั้งแต่เด็กๆ ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาของน้าสุดตา เมื่อนึกภาพสมัยก่อนกับตอนนี้ มันช่างต่างกันอย่างมาก

“เคยมีหน่วยงานรัฐ มาดูแต่สุดท้ายก็ไม่ทำอะไร มีช่วงหนึ่งที่มาช่วยปล่อยมา ก็มาปล่อยหน้าเขื่อน แต่น้ำโขงก็ไม่ได้ปล่อย ปล่อยทดแทนน่ะ ไปปล่อยหน้าเขื่อนทำไม มันก็อยู่หน้าเขื่อนน่ะ ปลามันลงมาไม่ได้ จะทำบันไดปลา จะทำลิฟต์ปลา มันเป็นไปไม่ได้”

“บางคนบอกอยู่ใกล้น้ำโขงนี่ไม่อดปลากินนะ เอ้อ อยู่ใกล้น้ำโขงเอาปลามากินด้วยเด้อ ตากปลาแห้งมากินด้วย โอ้ย อยู่ที่น้ำโขงแท้ ๆ อยากกินก็ไม่ได้กิน อดเหมือนกัน มันไม่มีทุกวันนี้ มันหมดไปเลย”

“แต่ยังไงมันก็เป็นวิถีชีวิตของเรา มันเป็นความผูกพัน กับการลงดางลงมองของเรา เราจะปล่อยทิ้งไว้ก็ไม่ได้ เราเคยทำไว้ มันเป็นจิตใจของเราน่ะ เป็นสายสะดือของเราเลยแหละน้ำโขง จะหนีก็ไม่ได้ จะให้ไปทำงานกรุงเทพก็ไม่ได้ มันก็คิดถึงแต่การหาปลา เราก็หามาแต่เล็ก ๆ มันก็ผูกพัน เวลาน้ำขึ้นตรงไหน จะมีโขดหินตรงไหนเราก็รู้ น้ำขึ้นเราจะขับเรือไปตรงไหน เราก็รู้หมด มันจำได้หมดนะ ต่อให้ดินจะมาทับถม เราก็ยังจำได้ ว่าหินก้อนนี้มันอยู่ตรงนี้ พูดไปมันก็เศร้าอ่ะ อยากร้องไห้ แต่ก็ร้องไม่ออก ระบบนิเวศของเราที่เราเคยดูแล เคยเจอมา มันหายไปหมดโดยไม่มีอะไรมาทดแทน”

ภาพดินทรายแห้งแล้งกลางแม่น้ำโขง

คำบอกเล่าของพ่อสมจิตร ได้ตอกย้ำถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อน ทำให้คนริมโขงต้องพบเจอกับความทุกข์ความทรมาณกันมาอย่างยาวนาน จนไม่มีทีท่าว่าปัญหาเหล่านี้จะหมดไปได้เลย

“ถ้ามันยังเป็นอย่างนี้ต่อไป รูปแบบชีวิตของคนก็จะเปลี่ยนไป ปรับตัวเองของมัน แม้แต่การทำมาหากิน หาปลาหาอะไร เมื่อเราจะได้แค่จะกินนี่ ไม่ต้องเตรียมหม้อไว้เลย ทุกวันนี้แค่จะหากินมื้อเดียวก็ไม่เหลือเก็บแล้ว เหมือนคนมาหาปลาที่เราเห็นนี่แหละ เป็น 10-20 ลำ คนโชคดีก็มี คนโชคไม่ดีก็มี นี่แหละตามสภาพที่เราเห็น สภาพแวดล้อมต่าง ๆ มันก็ไม่เอื้ออำนวยต่าง ๆ รวมไปถึง พวกนายทุนที่ทำธุรกิจไฟฟ้า นี่แหละมันก็เป็นปัญหา ผู้ที่ธุรกิจมันก็ได้ประโยชน์ ชุมชนคนตาดำ ชาวไร่ ชาวฝั่ง คนทำการเกษตร นี่ก็ลำบากขึ้น ลงทุนมากขึ้น ชุมชนมันก็เหมือนสังคมนี่แหละ สังคมมันจะแย่ลง เคยอุดมสมบูรณ์ ริมฝั่งแม่น้ำโขง เคยอุดมสมบูรณ์พืชพรรณ ปลาหลาย ๆ ชนิด ก็ขาดหายไป เพราะ ฤดูน้ำมา มันก็ไม่มา มันควรจะแห้งมันก็ไม่แห้ง มันแปรสภาพเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ปรับตัวยาก ทั้งคนทั้งสัตว์ สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มันก็หดหายลง” เสียงที่สั่นเครือ และแววตาที่เศร้าหมองของพ่อสมจิตร ได้สะท้อนถึงความทุกข์ที่ชาวบ้านต้องอดทนมาตลอดหลายปี

ความสุข ความอุดมสมบูรณ์ ที่คนริมโขงเคยได้รักษาและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน จนตอนนี้ทุกสิ่งทุกอย่างของคนริมโขง ได้ค่อย ๆ เลือนหายไปจากพวกเขา ไม่ใช่เพราะการเวลาที่ทำให้มันหายไป แต่เป็นฝีมือมนุษย์ต่างหากที่ทำให้หายไป

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี วลัยลักษณ์ ทรงศิริ มองว่าความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงมีผลกระทบกับความสัมพันธ์ของชาวบ้านริมแม่น้ำโขง ทั้งด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ เมื่อมองผิวเผินปัญหานี้อาจส่งผลเพียงแต่ในท้องถิ่น แต่หากแม่น้ำโขงยังผันผวนอยู่เช่นนี้ ปัญหานี้อาจจะส่งผลกระทบใรระดับประเทศได้เลย เพราะปลาในแม่น้ำโขงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากปลาในแม่น้ำโขง มีราคาสูง เช่นเดียวกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีมาก แต่เมื่อระดับน้ำมีการเปลี่ยนแปลงปลาในแม่น้ำโขงก็ลดลง ชาวบ้านต่างก็ได้รับผลกระทบในการหาปลาไม่ได้ ชาวบ้านก็ไม่มีรายได้ ผู้บริโภคก็ต้องซื้อในราคาที่สูงขึ้น

ปัญหาต่อมา คือ เรื่องของการปรับตัวของชาวบ้าน เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงผันผวน ชาวบ้านริมแม่น้ำโขงก็ต้องปรับตัวอย่างฉับพลัน จากที่เคยหาปลา ปลูกผักตามแนวริมแม่น้ำก็ต้องปรับตัวไปทำการเกษตรรูปแบบอื่น สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการปรับตัวครั้งนี้คือ วิถีชีวิตในการใช้เรือถูกกลืนหายไปด้วย ชาวบ้านริมน้ำโขงก็จะไม่ใช้เรือในการสัญจร คนก็จะไม่ลงไปทำประมงทอดแหหาปลาเหมือนเช่นในอดีต เมื่อเรือถูกลดความสำคัญลง ประเพณีที่คนสองริมฝั่งโขงเคยทำกันในช่วงออกพรรษา อย่างการประเพณีไหลเรือไฟและแข่งเรือ ก็จะค่อย ๆ เลือนหายไปด้วยเช่นกัน

หากพูดถึงเรื่องการปรับตัวของคนริมโขง พี่ปุ๋ย วลัยลักษณ์ อธิบายให้เห็นภาพว่า การปรับตัวของคนริมน้ำโขงสร้างผลกระทบให้กับแม่น้ำโขงน้อยมาก ต่อให้ชาวบ้านจะหาไปในแม่น้ำโขงทั้งวันทั้งคืนก็ไม่สามารถที่จะจับปลาได้ครั้งละเยอะ ๆ เนื่องจากในปัจจุบันแม่น้ำโขงไม่มีปลาเพียงพอต่อความต้องการของชาวบ้านหรือต่อให้คนในชุมชนถ่ายเทของเสียลงแม่น้ำก็ไม่สามารถสร้างผลเสียได้มากเท่ากับการปล่อยน้ำในคืนเดียวของเขื่อนขนาดใหญ่

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ายังไม่มีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน พี่ปุ๋ยแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำโขงที่ผันผวนว่า ต้องคุยกันใน 2 ระดับ คือระดับนานาชาติและระกับท้องถิ่น เนื่องจากแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ เราต้องพูดคุยกันในเรื่องของการกำหนดปล่อยน้ำ การถ่ายเทของน้ำ การให้พันธุ์ปลา ซึ่งในปัจจุบันคนปลายน้ำก็ยังพยายามเรียกร้องตรงนี้อยู่ โดยเฉพาะเขมร เวียดนาม ส่วนในระดับท้องถิ่น แต่ละรัฐต้องจับมือกับคนในท้องถิ่นร่วมมือกันแก้ไขปัญหา เปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นเข้ามาเสนอไอเดียในการแก้ไขปัญหา ให้นักวิชาการเข้ามาร่วมแก้ไขด้วย และต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพราะผลกระทบเริ่มมีมากขึ้นแล้ว

ภาพอาทิตย์อัสดง ณ ลุ่มแม่น้ำโขง

สุดท้ายแล้วการสร้างแหล่งพลังงานเพื่อผลิตไฟฟ้าขาย กลับทำลายวิถีชีวิตของคนริมโขง เสียงของชาวบ้านที่ส่งออกไปกลับไม่ได้รับความสนใจจากผู้มีอำนาจ แต่พวกเขาก็ยังคงดิ้นรนทุกวิถีทาง โดยยังคงหวังว่าวันหนึ่ง แสงจะส่องมาที่พวกเขา ทำให้โลกใบนี้ได้มองเห็นถึงความทุกข์ที่พวกเขาต้องเจอ และรอคอยวันที่ชุมชนคนริมน้ำโขงจะได้ชีวิตกลับคืนมา

เรื่องและภาพโดย ชุติมา อร่ามเรือง, กีรติกา อติบูรณกุล, ศุภธัช ธาตุรัก

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ