บันทึกเล่นคำ : ก่อนที่การร่อนทองจะเหลือเพียงแค่เรื่องเล่า

บันทึกเล่นคำ : ก่อนที่การร่อนทองจะเหลือเพียงแค่เรื่องเล่า

คำว่า ‘เล่นคำ’ ฟังดูแล้วต้องนึกถึงการใช้เสียง คำ หรืออักษร ซ้ำกันในคำประพันธ์ เพื่อให้เกิดเสียงไพเราะ มีความหมายลึกซึ้ง หากคนในแถบลุ่มน้ำโขงได้ยินคำนี้ ผู้คนต่างก็ตื่นตัวเตรียมพร้อมที่จะออกจากบ้าน เพราะคำว่า ‘เล่นคำ’ หมายถึง ‘การร่อนทอง’ โดยเป็นคำที่มาจากสำเนียงภาษาถิ่นอีสาน ที่เล่นคำมาจาก ‘ร่อนคำ’ และ คำ ก็คือ ทองคำนั่นเอง

หากแต่ความอยากรู้อยากเห็นว่า ‘ทองคำ’ ที่เขาร่อนกันเป็นอย่างไร เห็นทีต้องไปให้เห็นกับตา

“ใครเพิ่งเคยเห็นแม่น้ำโขงเป็นครั้งแรกบ้าง”

หลังสิ้นเสียงของ ‘น้าบัน’ ชัยวัฒน์ พาระคุณ สมาชิกเครือข่ายแม่น้ำโขง (คศข.) เพื่อน ๆ หลายคนยกมือกันอย่างพร้อมเพรียง มือของเรากระตุกเบา ๆ คล้ายอยากตอบสนองกับคำถามนั้น แม้รู้อยู่แก่ใจว่า เราเองก็เคยเห็นแม่น้ำโขงผ่านตาอยู่หลายครั้ง

ในตอนที่แสงสีส้มจากดวงอาทิตย์ยามบ่ายตกกระทบผิวน้ำจนสะท้อนเป็นประกายระยิบระยับ เราเพิ่งเดินทางมาถึงหมู่บ้าน บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย จากสายตาของผู้มาเยือน ทัศนียภาพของแม่น้ำโขงทอดยาวตามแนวลำน้ำและแนวฝั่ง ช่างสวยงามและเงียบสงบเหลือเกิน

ทิวทัศน์ของแม่น้ำโขง ที่บ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย

ใช่แล้ว มันเงียบจนน่าแปลกใจ

“นี่เหรอคือแม่น้ำโขง” คำพูดของเพื่อนที่ดังอยู่ข้างหู ตรงกับความคิดแรกที่โผล่ขึ้นมาในหัวของเราจนน่าตกใจ ภาพแม่น้ำโขงที่เห็นอยู่ตรงหน้าคือ ไม่มีเรือสักลำแล่นผ่าน มองไปตามแนวฝั่งก็ไร้ร่องรอยของมนุษย์ ต่างจากภาพในหนังสือ และภาพในโลกอินเทอร์เน็ตที่นำเสนอภาพชีวิตของชุมชนริมน้ำที่ไม่ว่าจะมองไปตรงไหนก็จะเห็นว่ามีผู้คนมีชีวิตชีวาอยู่ตรงนั้นเสมอ

เราถามตัวเองในใจว่า นานแค่ไหนแล้วที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับแม่น้ำโขง

คำตอบคือ นานจนไม่คิดเลยว่าแม่น้ำโขงจะเปลี่ยนแปลงไปได้มากขนาดนี้

หากตัดสินด้วยสายตา ที่นี่ยังคงเป็นเหมือนเดิมในความคิดของนักท่องเที่ยว แต่หลังจากได้คลุกคลีกับปัญหาและฟังคนบ้านม่วงเล่าถึงสถานการณ์ที่ชุมชนริมน้ำต้องเผชิญในรอบหลายปีที่ผ่านมา เราก็รู้ได้เลยว่าสำหรับคนในชุมชน แม่น้ำที่เราเห็นไม่ได้เป็นแค่จุดชมวิว หรือเป็นแม่น้ำสายหนึ่งที่ทอดยาวไปไกลสุดสายตา แต่อาจเป็นความหมายของคำว่า “บ้าน” ที่ไม่มีสิ่งใดมาทดแทนได้

ไม่มีคำอธิบายที่กระชับว่า สถานการณ์ของแม่น้ำโขงในตอนนี้คืออะไร แต่หลาย ๆ คนก็เข้าใจได้ว่า มันพรากความสุขไปจากพวกเขา แค่นั้นเอง…

ใครหลายคนน่าจะเคยเห็นปลาสด ๆ ที่ดิ้นอยู่บนเขียงปลาของแม่ค้าในตลาด หรืออาจจะเห็นปลาหลากชนิดที่ว่ายวนอยู่ในตู้กระจกกลางแผนกอาหารสดที่ห้างสรรพสินค้า

ปลาที่เรากินกันอยู่เป็นประจำ บ้างก็มาจากฟาร์ม มาจากตลาดปลา มาจากห้าง หรือแม้แต่ในตู่แช่ที่ส่งตรงมาจากพื้นที่ห่างไกล แต่ครั้งนี้ ปลาสด ๆ จากแม่น้ำโขงถูกนำมาวางตั้งไว้ตรงหน้าของเราแล้ว

แน่นอนว่า ปลาบางตัวมันยังดิ้นอยู่เลย

“ปลาแบบนี้ไม่ได้หากินได้ง่าย ๆ นะ” น้าบันพูดก่อนจะยกปลาเพื่อนำไปเตรียมให้กลายเป็นเมนูอาหารเช้า

ภาพปลาทั้งตัวไม่เล็กไม่ใหญ่ แต่ดูอ้วนท้วมสมบูรณ์ยังคงติดตา

จากคำพูดเมื่อครู่ ถ้าคนต่างถิ่นมาได้ยินคงคิดกันว่า เพราะเราไม่ได้อาศัยอยู่ในละแวกที่ติดริมน้ำ การจับปลามาทำอาหารกินสด ๆ แบบนี้จึงทำได้ยาก แต่พอได้มาอยู่ที่นี่ ได้ร่วมลงเรือหาปลาไปกับชาวบ้าน ก็พบว่าชาวบ้านที่หาปลาจากแม่น้ำโขงเองก็หาปลาได้น้อยมาก บางวันถึงขั้นหาปลาไม่ได้เลยสักตัว

เพราะตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ระบบนิเวศของแม่น้ำโขงเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะกำลังประสบปัญหาน้ำขึ้น น้ำลงไม่ตรงตามฤดูกาล ซึ่งเป็นเหตุมาจากการสร้างเขื่อนเป็นจำนวนมากตลอดสายธารของแม่น้ำโขง ทำให้ความสมดุลทางระบบนิเวศหายไป

ปลาและสัตว์น้ำนานาชนิดไม่สามารถวางไข่ได้ตรงตามฤดูกาล แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำก็ได้รับผลกระทบไปพร้อมกับพืชพรรณและสมุนไพรที่ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาวะที่เรียกกันว่า “ท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน” ชาวบ้านจึงหันพึ่งพาอีกหนึ่งวิถีชีวิตดั้งเดิมซึ่งเป็นจุดหมายของเราในการมาถึงแม่น้ำโขงในครั้งนี้ นั่นคือการร่อนทอง

การร่อนทอง

การร่อนทองจึงกลายเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ทำให้ชาวบ้านสามารถหาเลี้ยงชีพได้ ซึ่งการร่อนทองนี้มีมาตั้งแต่ในอดีต เป็นวิถีชีวิตที่เกี่ยวโยงกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่ว่า หากได้ทำบุญปิดทองฝังลูกนิมิตด้วยทองคำแท้ที่ทุ่มเทหามาได้จากการร่อนทอง จะทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง พบเจอแต่ความสุข และมีอายุยืนยาว

“ฟังก่อน ท่านทั้งหลาย ฟังบรรยายกลุ่มร่อนทอง บ้านม่วงและบ้านหนอง มาร่อนทองตรงโคกอ่าง มาร่อนทองตรงโคกอ่าง”

บทเกริ่นสรภัญญะจากปากของ ‘แม่ตั๊ก’ สุดใจ วิลันดร อายุ 53 ปี เกษตรกรสวนยางชาวบ้านม่วง ผู้อาสาจะพาเราไปรู้จักหนึ่งในวิถีชีวิตคนริมโขง นั่นคือการ “ร่อนทอง” หรือ “เล่นคำ” ได้กล่อมทำนองไพเราะออกมาขณะกำลังประกอบอาหารเช้า

ข้าวเหนียวร้อน ๆ กินกับต้มปลาแม่น้ำโขงใส่ปลาร้า และกุ้งเต้น
เป็นมื้ออาหารนำพาให้เราได้ใกล้ชิดกับแม่น้ำโขงมากขึ้นอีกก้าวหนึ่ง

บทสนทนาที่ดำเนินไประหว่างกินข้าวเป็นการผลัดกันเล่าเรื่องระหว่างน้าบันและแม่ตั๊กว่า คนที่นี่ตื่นกันตั้งแต่เช้าเพื่อไปกรีดยางและทำสวน หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ ผู้ชายจะออกเรือเพื่อไปหว่านแหจับปลาและหาปลาตามตาข่ายจับปลาของตัวเอง

ส่วนผู้หญิงจะกลับบ้านมาทำสวนหรือทำงานอื่น ๆ และสำหรับคนที่เป็นแม่บ้าน ซึ่งมีเวลาว่างเพียงพอก็จะจูงลูกจูงหลานรวมกลุ่มกับคนบ้านใกล้เรือนเคียงออกไปร่อนทองที่ริมโขง

“แล้วช่วงนี้ร่อนทองได้เยอะไหมครับ” หนึ่งในพวกเราถามขึ้นด้วยความสนใจ

“ได้อยู่ แต่บางวันก็หาไม่ได้หรอก น้ำมันขึ้น ไม่รู้เขื่อนเขาจะปล่อยน้ำมาเมื่อไหร่” แม่ตั๊กเล่าให้ฟังต่อว่า เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ช่วงที่น้ำลด ถ้าว่างเมื่อไรผู้คนก็จะจับกลุ่มไปร่อนทองกัน หลังจากกรีดยางหรือทำสวนตอนเช้าเสร็จแล้ว ช่วงเวลาประมาณ 8 – 9 โมง ก็จะเริ่มชวนเพื่อน ๆ แม่บ้าน หรือ ลูก ๆ หลาน ๆ ที่มีอายุประมาณ 10 ปีขึ้นไป ให้ออกไปหาร่อนทองกันจนถึงช่วงบ่าย หรือเย็น

“พวกหนูอยากลองไปร่อนทองไหม” คำถามของน้าบันเเทรกขึ้นระหว่างการสนทนา สร้างความตื่นเต้นให้กับเรา
ที่คอยฟังเรื่องเกี่ยวกับการร่อนทองจนอยากจะลองร่อนทองเต็มแก่แล้ว

คำตอบที่ตอบออกไปคงไม่ต้องให้มากความ ทุกคนตอบกลับไปอย่างพร้อมเพรียงกันว่า “ไปครับ/ค่ะ”

หลังกินข้าวเสร็จ มีรถคันหนึ่งมาจอดเทียบที่ข้างบ้านพร้อมกับเสียงแต๊ก ๆ ๆ ที่ดังอย่างเป็นเอกลักษณ์

นั่นคือรถแทรกเตอร์ หรือรถไถ ที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า ‘รถแต๊กเเต๊ก’ ตามเสียงของเครื่องยนต์ บนรถมี
อุปกรณ์ที่น้าบันเตรียมไว้ให้อยู่แล้ว สิ่งที่เราต้องทำคือสวมหมวก ทาครีมกันแดด หาเสื้อคลุมและเสบียงไปให้
พร้อม

เมื่อทุกคนพร้อมแล้วก็ขึ้นรถเพื่อจับจองที่นั่ง แล้วออกไปร่อนทอง ณ ริมโขง

ยานพาหนะในการเดินทางไปร่อนทองครั้งนี้ เรียกว่า รถแต๊กแต๊ก หรือรถอีแต๊ก ตามแต่จะเรียกขาน

เสียง แก๊ก ๆ แต๊ก ๆ ที่ดังมาตลอดทางเริ่มเบาลง ในระยะสายตามองเห็นแม่น้ำโขงอยู่ข้างล่างนี้เอง

สถานที่ที่มาร่อนทอง คือบริเวณพันโขดแสนไคร้ อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย

ภายในใจคิดว่า “ในที่สุดก็ถึงแล้วสินะ!” รถไถชะลอตัวอยู่ริมถนน เราสะกิดเพื่อนให้เตรียมตัวลงจากรถ

แต่แล้วเสียงของน้าบันที่บอกว่า “จับแน่น ๆ นะ ระวังตก” ก็ดังขึ้นหยุดทุกการกระทำและความคิด ผู้โดยสาร
หน้าใหม่ทั้งสามคนตัวแข็งทื่อ สองมือจับยึดกับตัวรถจนแน่นเมื่อน้าบันพาพวกเราดิ่งลงไปตามไหลทางที่เต็มไป
ด้วยไม้พุ่ม

หลังจากผ่านวินาทีสุดระทึกมาได้อย่างราบรื่น ตัวรถก็หยุดลงที่เถียงนา ทุกคนลงจากรถ หอบหิ้วอุปกรณ์และ
เดินเท้าลงไปตามทางลาดชันเล็ก ๆ ที่เดินได้เพียงทีละ 1 – 2 คน เวลาเดินต้องระมัดระวังไม่ให้สะดุดกับรากไม้
ของพุ่มไม้เลื้อยที่ขึ้นเต็มขนาบข้างไปตลอดเส้นทาง พอบุกป่าฝ่าดงไปได้ไม่นานเราก็มาถึงริมแม่น้ำโขง

ยามบ่ายในช่วงเดือนเมษายน ตามปกติแล้วถือเป็นช่วงหน้าแล้งที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะลดลงไปจนริมหาดมี
พื้นที่กว้างมากกว่าเดิมหลายเท่า เป็นโอกาสให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวสามารถลงมาอาศัยแม่น้ำโขงในการ
เล่นน้ำคลายร้อน ปูเสื่อนั่งคุยกัน ตั้งแผงขายสินค้า จับปู จับปลา ล่องเเก่ง และร่อนทองอย่างที่พวกเรากำลังจะ
เริ่มต้นกัน

ทันทีที่เดินลงมาจนสุดทาง ภาพชายหาดกว้าง ๆ ริมแม่น้ำถูกพับเก็บลงเข้าไปในหัวสมอง น้ำที่นี่ขึ้นสูงจนกลืน
กินหาดทรายไปจนหมดสิ้น ที่นี่เงียบสงบ ไร้ซึ่งผู้คนและสิ่งของ มีแค่เสียงน้ำ เสียงลม เท่านั้นที่บอกว่า พวกเรา
มาถึงจุดร่อนทองกันแล้ว

นับจากจุดที่สิ้นสุดของแนวพุ่มไม้ไปจนถึงริมฝั่งน้ำ มีพื้นที่เพียงแค่ประมาณ 1 – 2 เมตร ที่ถือเป็นระยะชายหาด
เราอึ้งมากที่พื้นที่ที่เต็มไปด้วยซากไม้ พุ่มของต้นไคร้น้ำ และโขดหินเล็ก ๆ สามารถเรียกว่าชายหาดได้

น่าเศร้าที่ชายหาดอันกว้างใหญ่จมหายไปกับสายน้ำที่ขึ้นสูงผิดปกติ ระยะปลอดภัยที่น้ำไม่ลึกให้คนสามารถ
เดินย่ำน้ำร่อนทองได้มีแค่เพียงบริเวณโขดหินขนาดเล็กให้พอนั่งได้ บริเวณนั้นเป็นจุดที่น้ำไหลเอื่อย ๆ พวกเรา
ลงหลักปักฐานเพื่อร่อนทองกันตรงนั้น

“ถ้ำน้ำมันปกติดีเหมือนเมื่อก่อนสัก 3 – 4 ปีพอช่วงแล้ง มันก็แล้งยาว คนเลยร่อนทองได้บางคนที่
ตั้งใจมานะ ก็ร่อนเจอเท่าเม็ดมะเขือพวง แต่ถ้าไปดูที่เขาร่อนตอนนี้ก็ไม่ค่อยมีแล้ว”
แม่ตั๊กเล่า ก่อนจะ
เดินไปที่บริเวณโขดหิน เพื่อสำรวจพื้นที่สำหรับร่อนทอง

พื้นที่ชายหาดแคบ ๆ ถูกจับจองโดยกลุ่มคนร่อนทองหลายชีวิตที่ร่วมทางมากับเรา

ทองคำซึ่งเป็นแร่โลหะหนักจะตกตะกอนตามชั้นดินที่รากของต้นไคร้โอบอุ้มอยู่
นักร่อนทองจะขุดลึกลงไปหลังแนวต้นไคร้ เพราะจะได้ทองที่มากกว่าพื้นที่อื่น ๆ

ต่างคนต่างยกเสียม แบกจอบ ถือตะกร้าใบน้อยมาพร้อมกับ ‘บ้าง’ ที่มีรูปทรงคล้ายเเผ่นจานใบใหญ่ ที่เป็น
อุปกรณ์สำคัญสำหรับการร่อนทอง อีกทั้งยังมีสารปรอทน้ำใส่ขวดเล็ก ๆ เพื่อใช้ในการจับเนื้อทองคำให้เป็นก้อน
ติดกระเป๋ามาอีกด้วย

“สารปรอทที่ใช้จะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายเหรอ” เราตั้งคำถามเมื่อได้ยินชื่อของสารอันตราย

“มันก็ไม่ดีต่อร่างกายเนอะสำหรับปรอทน่ะ แต่ชาวบ้านเขาเคยทำแบบนั้น พ่อแม่เขาทำมาก่อนก็เลยทำ ต่อ ๆ กันมา” แม่ตั๊กหัวเราะ หากเเต่อธิบายต่อว่า เวลาใช้สารปรอทแต่ละคนก็จะมีความระมัดระวังแตกต่างกัน ซึ่งหากเทียบปริมาณที่ร่างกายได้รับแล้วถือว่าเล็กน้อยมากจนแทบจะไม่มีผลอะไร คล้าย ๆ กับคนที่ทำงานในโรงงานที่ใช้สารเคมีนั่นแหละ

‘บ้าง’ เป็นอุปกรณ์หลักสำหรับการร่อนทอง มีหลายชื่อเรียกที่รู้จักกันในนามว่า ‘เลียง’ หรือถาดร่อน มีลักษณะ คล้ายกรวยแต่ไม่ลึกมาก มีขนาดเท่าวงแขนของเราโอบลำต้นไม้ใหญ่ แต่หากจะอธิบายให้เห็นภาพ ก็คงต้อง เรียกว่า ‘กระทะร่อนทอง’ ตามที่คนภาคกลางนิยมเรียกกัน

“ขอให้มื้อนี่โชคดีแหน่เด้อ แม่เอ้ย” ใครบางคนในกลุ่มเริ่มยกมื่อไหว้อธิษฐานกับฟ้าดิน

แม่ตั๊กอธิบายว่า ‘แม่’ ในที่นี้ หมายถึง พระแม่ธรณี ใบบางครั้งชาวบ้านก็จะนำข้าวต้ม ขนมหวาน ดอกไม้ ธูป
เทียนมากราบไหว้อย่างเป็นพิธี หลังจากไหว้เสร็จก็จะนำดิน นำหินจากจุดที่วางเครื่องเซ่นมาลูบกับบ้างแล้ว
นำไปผสมกับดินส่วนที่ขุดขึ้นมาแล้วจึงเริ่มร่อนได้

นี่ถือเป็นพิธีกรรมเล็ก ๆ ตามความเชื่อของคนในพื้นที่ที่เชื่อว่า ทองคำเป็นแร่ที่เกิดจากพื้นดิน ดังนั้นการไหว้พระ
แม่ธรณีก็เปรียบเสมือนจะช่วยให้สามารถร่อนทองเจอได้ตามที่ใจอธิษฐาน ในขณะเดียวกัน บางคนก็มีความ
เชื่อเรื่องพญานาคที่ให้โชคลาภและเงินทอง โดยถือว่าทองคำล่องลอยมากับสายน้ำที่พญานาคเป็นผู้ปกปัก
รักษาอยู่ ด้วยเหตุนี้บางคนจึงทำบายศรีบวงสรวงพญานาคเสริมความเป็นสิริมงคลก่อนร่อนทอง

เรื่องราวของความเชื่อที่น่าสนใจอีกอย่างของคนภาคอีสานของประเทศไทยคือ “ทุกอย่างมีผี” บ้างก็เช่นกัน บาง
คนเชื่อว่า บ้างมีครูเหมือนกับเครื่องดนตรีไทยที่เชื่อกันว่ามีสิ่งศักสิทธิ์หรือสิ่งเหนือธรรมชาติประจำอยู่โดยสิ่งที่ประจำอยู่กับบ้าง มักจะเป็นวิญญาณบรรพบุรุษ หรือรุกขเทวดาที่สิงสถิตอยู่กับต้นไม้ที่นำมาทำบ้างเพราะบ้างมักจะทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ประดู ไม้กระท้อน หรือไม้อื่น ๆ ที่หาได้ตามพื้นที่ไร่นา

การทำบ้างจะใช้เวลาทำประมาณ 1 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้เวลาและความประณีตสูง
โดยทั่วไป บ้างมีราคาประมาณ 2,000 – 4,000 บาท จึงส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

บริเวณที่เรามาร่อนทองตรงนี้มีชื่อเรียกว่า ‘พันโขดแสนไคร้’ หมายถึงบริเวณที่มีโขดหินและต้นไคร้น้ำมากมาย
หากสวนกระแสน้ำถัดขึ้นไปทางทิศเหนือจะพบกับบ้านภูเขาทองที่มีการทำเหมืองทองมาตั้งแต่โบราณ

พันโขดแสนไคร้ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘แกรนด์เเคนยอน’ หนองคาย

ณ จุดนั้นคือ แหล่งสายแร่ทองคำที่เกิดจากลำน้ำสาขาเล็ก ๆ เซาะกร่อนให้เศษทองคำไหลลงมาตามแรงเหวี่ยง
ของน้ำ ซึ่งในช่วงที่น้ำหลาก ทองคำเหล่านั้นก็จะถูกซัดไปจนถึงฝั่งลาว ในฤดูที่น้ำเต็มฝั่งตะกอนของเศษทองคำจะถูกพัดพาให้ไหลมาทางฝั่งไทย และตกตะกอนอยู่ตามต้นไคร้น้ำที่ขึ้นตามที่แห่งนี้

ต้นไครน้ำเป็นแนวหน้าที่คอยยึดเกาะหน้าดิน ฉะนั้นทองคำจะอยู่หลังแนวต้นไคร้ไปตามแนวที่น้ำไหล เวลาขุดดินเพื่อนำมาร่อน จะขุดลึกลงไปหลังแนวต้นไคร้ หรือใต้ต้นไคร้ เพื่อนำเศษทองเล็ก ๆ ที่สะสมอยู่ตามรากของต้นไร้และในชั้นดินมาร่อน

ความจริงแล้วบริเวณริมฝั่งนี้คนไม่นิยมร่อนทองเท่าใดนัก เพราะได้ทองเป็นเศษเล็ก ๆ ในฤดูแล้งที่แม่น้ำโขงยัง
เป็นปกติช่วงเดือน มกราคม – เมษายน ถือเป็นฤดูร่อนทอง ชาวบ้านจะเดินลงไปร่อนทองในบริเวณที่เคยเป็นร่องน้ำลึก แต่แห้งแล้งลงไปเป็นหาดตามการลดลงของระดับน้ำ ที่ตรงนั้นจะเจอทองเม็ดใหญ่ที่มีขนาดเท่า ๆ กับเมล็ดมะละกอ

ที่ริมฝั่ง ทองคำจะอยู่ในแห่ทราย หรือทรายที่อยู่ตามริมแม่น้ำ เราจะขุดเอาดินส่วนนั้นมาร่อน โดยขั้นแรกจะต้องขุดให้ลึกลงไปเท่าที่จะทำได้แล้วเอาดินมาใส่ในตะกร้าใบเล็ก ๆ แล้ววางลงในบ้าง จากนั้นก็เคาะ เขย่า ให้น้ำช่วยละลายดินเหนียวและดินทรายไม่ให้ติดกันเป็นก้อน รวมทั้งเป็นการแยกเอาเศษหินออก เมื่อเสร็จแล้วจะเหลือแค่ดินทรายและหินเล็ก ๆ ที่ไม่หนัก ทำให้สามารถเริ่มต้นร่อนทองได้อย่างสะดวกมากขึ้น

ดินเหนียวและดินทรายที่ถูกร่อนในบ้างทำให้น้ำขุ่นคลั่ก ผู้ร่อนจะต้องร่อนไปเรื่อย ๆ ด้วยความอดทนจนกว่าดินจะลอยไปกับสายน้ำจนหมด น้ำหนักมือที่พอเหมาะพอดีและสม่ำเสมอจะทำให้สามารถเหวี่ยงดินในบ้างออกไปตามน้ำจนเหลือแต่ดินทรายประมาณ 1 กำมือ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วก็จะสามารถมองหาเศษทองคำได้

น้าบันโชว์วิถีร่อนทองด้วยความชำนาญให้พวกเราได้ดูเป็นขวัญตา
“ฟังก่อนท่านทั้งหลาย ฟังบรรยายกลุ่มร่อนทอง
บ้านม่วงและบ้านหนอง มาร่อนทองอยู่โคกอ่าง มาร่อนทองอยู่โคกอ่าง
งานบ่ได้ทำ จึงพากันมาร่อนทอง
เอาหินมานั่งยอง บ้างร่อนทองแกว่งไปมา บ้างร่อนทองแกว่งไปมา
เจ็บขาก็ต้องทน ถึงสิจนก็ต้องเจียม
เอาจอบและเอาเสียมมาขุดดินถิ่นน้ำโขง มาขุดดินถิ่นน้ำโขง
ยามเย็นตะเว็นลง ดีใจล้นได้เห็นทอง
มื้อนี้สมใจปอง ได้เอาทองเมือบ้านเฮา ได้เอาทองเมือบ้านเฮา”

สรภัญญะที่แม่ตั๊กเกริ่นให้ฟังในตอนเช้า ถูกขับกล่อมขึ้นมาอีกครั้งอย่างเต็มท่วงทำนอง เพื่อเป็นบทเพลงสันธนาการให้กิจกรรมร่อนทองไม่เงียบเหงา เเละมีความครื้นเครงมากยิ่งขึ้น

แม้จะสู้เเดดอยู่กลางแจ้ง เเต่การร่อนทองก็ใช่ว่าจะน่าเบื่อ ทั้งได้ออกแรง ได้ลุ้นกันว่าจะเจอทองหรือไม่

“โอ้ หมาน! หมาน! หมาน!”

ผ่านไปไม่กี่สิบนาที เสียงดังเฮลั่นของน้าสุดตา ‘สุดตา อินสำราญ’ พรานปลาวัย 46 ปี ที่ติดสอยห้อยตามพวก
เรามาร่อนทอง ก็ดึงดูดความสนใจของทุกคนในขณะนั้นให้หันไปมองกันเป็นตาเดียว เพราะเมื่อร่อนไปได้สักพัก
เราจะเห็นทรายสีดำที่ติดอยู่ในก้นของบ้าง เศษทองคำที่ปะปนอยู่ในนั้นจะสะท้อนกับแสงอาทิตย์จนเป็นประกาย

สำหรับคนร่อนทองแล้ว แสงประกายนี้เป็นมากกว่าความโชคดี เพราะมันคือผลตอบแทนจากน้ำพักน้ำแรงและความทุ่มเทของคนร่อนทอง

“เจอทองแล้ว นี่ นี่ นี่ เเว็ป ๆ เห็นมั้ย” น้าบันชี้ไปยังเศษทองคำที่ปะปนอยู่ในกองทรายสีดำที่ร่อนออกมา ทุกคน
ต่างมามุงดูด้วยความสนใจ จากนั้นแรงกระตุ้นก็เกิดขึ้นในใจทำให้ทุกคนร่อนทองด้วยความฮึกเหิมที่มีมากกว่าเดิม

ในมุมมองของคนนอกที่ไม่เคยร่อนทองมาก่อน เราคิดว่าการร่อนทองคงเป็นเรื่องง่าย ๆ เพียงแค่ร่อนไปเรื่อย ๆ
จนกว่าจะเจอก็พอแล้ว แต่ในความเป็นจริงนั้น การร่อนทองไม่ใช่แค่ร่อนไปเฉย ๆ ระหว่างร่อนต้องคอยเก็บเศษ
หินทั้งก้อนใหญ่และเล็กออก

อีกทั้งตัวบ้างที่รองรับทั้งก้อนหิน ดิน ทราย และน้ำ ก็ถือว่ามีน้ำหนักไม่เบา ดังนั้นที่เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิ
และลงแรงอยู่พอสมควร เราต้องร่อนจนกว่าจะเห็นทรายสีดำ เพราะเศษทองจะปะปนอยู่ในนั้น แต่ใช่ว่าการร่อนจนเห็นทรายสีดำแล้วจะพบทองเสมอไป บางครั้งก็ไม่เจอทองเลยด้วยซ้ำ

ระหว่างที่ร่อนทองไปเรื่อย ๆ ตะกอนทางความคิดของเราก็เริ่มหลอมรวมกับทองคำ คนร่อนทองไม่ได้ต้องการ
แค่ความโชคดีเพียงแค่ชั่วคราว แต่คนที่มาร่อนต่างก็อยากได้ความมั่นคงทางการเงินที่เพิ่มขึ้นมาอีกลู่ทางหนึ่ง

การร่อนทองไม่ใช่แค่การเสี่ยงโชค แต่สำหรับบางคนแล้วมันคือการดิ้นรน เพื่อให้ชีวิตได้ดำเนินต่อไป

เมื่อรวบรวมเศษทองคำมาจนถึงเวลาบ่ายแล้ว แม่ตั๊กไม่รอช้า รีบใช้สารปรอทเทลงไปในถังเพื่อให้ทองคำ
รวมกันเป็นก้อน หากกลัวว่าทองจะรวมกันได้ไม่หมด ก็สามารถเทใส่บ้างเพื่อร่อนปนกับน้ำ ให้สายน้ำช่วยแยก
ทรายออกจากทอง และให้ทองจับตัวกันเป็นก้อนได้ง่ายขึ้น

ส่วนสารปรอทที่แยกตัวออกมาโดยไม่ได้จับกับทองคำ ก็สามารถเก็บใส่ขวดแล้วนำมาใช้ซ้ำได้ตลอดทั้งปี
โดยสารปรอทที่คนคนหนึ่งใช้สำหรับร่อนทอง จะมีน้ำหนัก 3 – 4 บาท ปัจจุบันราคาบาทละ 200 บาท การที่
สามารถนำปรอทมาใช้ซ้ำ ๆ ได้ถือว่าคุ้มค่ากับราคา หากเทียบกับปริมาณทองที่ร่อนได้ตลอดทั้งปี

ทองที่รวมกันเป็นก้อน จะมีสีเงินเพราะถูกเคลือบด้วยปรอท ก้อนสีเงิน ๆ นี้จึงเรียกว่า ปึก หรือขี้ปึก ซึ่งต้องนำไป
ผ่านกระบวนการเผาให้ได้ทองบริสุทธิ์อีกทีหนึ่ง

ร่อนทองมาครึ่งค่อนวัน ได้เศษทองมาทีละเล็กละน้อย พอใช้สารปรอทให้ทองจับตัวกันเป็นก้อนก็พบว่า ได้เท่า
เมล็ดพริก พวกเราต่างตื่นเต้นที่ได้สัมผัสกับทองก้อนแรกในชีวิต เราดีใจที่พาตัวเองมายืนอยู่ตรงนี้

บ้างที่ทำจากไม้ประดู่จะมีน้ำหนักและความทนทานที่มากกว่าบ้างที่ทำจากไม้ชนิดอื่น ๆ

ถึงตอนแรกจะเล็กน้อยจนแทบมองไม่เห็น แต่ทองก็ยังเป็นทอง

และแล้วภารกิจการร่อนทองก็เสร็จสมบูรณ์ แต่เรื่องราวของการร่อนทองยังไม่สิ้นสุด

แม่ตั๊กพาเรามาที่บ้านพี่ออ บ้านที่ชาวบ้านต่างเล่าลือกันว่า ‘โชคดี’

‘พี่ออ’ หรือ ชัชธิชา ขุนวงษา ตอนนี้อายุ 46 ปี ทำงานเป็นไกด์ชุมชนผู้ดูแลเพจ ‘สบายดีบ้านม่วง’ เป็นชาวบ้านม่วงที่สามารถหาทองได้มากที่สุดในชุมชน เธอเล่าว่าสมัยก่อน หน้าแล้ง ช่วงเดือนมีนาคม ถึงเดือนเมษายน น้ำ
ในเเม่น้ำจะเริ่มแห้ง ทำให้สามารถเห็นหาดบริเวณแม่น้ำโขงโผล่ขึ้นมา

เรื่องเล่าจากปากรุ่นลูก รุ่นหลาน ที่เล่าย้อนวันวานเมื่อได้ออกไปร่อนทองกับพ่อ ๆ เเม่ ๆ

ชาวบ้านสามารถลงไปขุดแร่ ขุดหิน ขุดแห่ หรือที่เขาเรียกกันว่าแห่ทราย แล้วเอามาร่อนได้ เมื่อร่อนจนได้ทองคำก็จะเก็บสะสมไปเรื่อย ๆ จนมากพอตามที่ทางร้านกำหนด จากนั้นจึงนำเอาไปขาย

เมื่อ 2 ปีที่แล้วทองคำประมาณ 1 บาท มีราคาไม่เกิน 23,000 บาท ช่วงเวลานั้นทองคำ 1 กรัม ขายได้ 1,800
บาท ถึง 1,900 บาท แต่ในปีนี้ราคาก็ยังคงผันผวนตามราคาตลาดทองคำ

ปัจจุบันไม่สามารถลงไปร่อนทองได้มากเท่าเมื่อก่อน ยิ่งตั้งแต่สร้างเขื่อนไซยะบุรีเป็นต้นมา ผลกระทบที่มีต่อ
แม่น้ำโขงก็ยิ่งเกิดมากขึ้น มีปลาในแม่น้ำหายไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปลาน้ำลึกและปลาที่มีน้ำหนัก 3
กิโลกรัมขึ้นไป ปลาบางชนิดถึงกับสูญพันธุ์ไปจากแม่น้ำโขงอย่างถาวร

อาชีพพรานปลาเองก็หายไปจนเหลือแต่พรานปลาที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เพราะเมื่อออกไปหาปลาแล้วก็
แทบจะไม่ได้อะไรกลับมา จึงไม่คุ้มค่ากับราคาน้ำมัน และราคาอุปกรณ์จับปลา

แม้แต่กุ้งก็เริ่มหายไปจากแม่น้ำโขง และหอยที่ฝังตัวหากินอยู่ในโคลนเองก็หาแทบไม่ได้แล้วเพราะตะกอนดินที่
มีคุณค่าทางสารอาหารถูกกักไปตามเขื่อนต้นทางที่เก็บน้ำ กลายเป็นว่าไม่มีแร่ธาตุและสารอาหารที่มากพอสำหรับสัตว์น้ำ เมื่อน้ำพัดมาสัตว์น้ำเล็ก ๆ อย่างหอยพวกนี้ก็หายไปด้วย

ส่วนชาวบ้านที่เคยปลูกผักริมโขงก็ไม่สามารถปลูกได้ เพราะน้ำขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้แปลงผักถูกน้ำท่วมขังจนเน่าตาย พอน้ำลดก็กลายเป็นว่าน้ำแห้งจนไม่สามารถปลูกได้ ในช่วงที่น้ำขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่คงที่ หน้าดินก็ถูกน้ำซัดจนพังทลาย นอกจากปลูกอะไรไม่ได้แล้ว การสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพังก็ตามมา เพื่อลดการสูญเสียดินแดน แต่วิถีชีวิตของชาวเกษตรริมน้ำก็หายไป เพราะปลูกพืชแบบขั้นบันไดริมตลิ่งไม่ได้ รวมทั้งพื้นที่ชายหาดสำหรับร่อนทองก็ถูกจำกัดให้แคบลงไปอีก

สาเหตุที่ชาวบ้านหลายคนยังเลี้ยงชีพอยู่ได้เป็นเพราะมีสวนยางและที่นา ถ้าไม่มีคงแย่กว่านี้ การที่ไม่สามารถหาปลาได้เช่นเดิมทำให้รายได้ลดน้อยลง ชาวบ้านอาจต้องลำบากในการหาหนทางอื่นเพื่อเลี้ยงชีพ เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐาน และอาจจะมีปัญหาครอบครัวและปัญหาเรื่องแรงงานพ่วงตามมาด้วย

“มันก็เป็นกิจกรรมที่ชาวบ้านเขามีความสุขทางใจอีกทางหนึ่ง แต่พอฤดูกาลน้ำมันไม่เป็นใจ มันก็เลยทำให้กิจกรรมในทุก ๆ ปี จากเทศกาลร่อนทองของเราหมดไป เราเอาอุปกรณ์ไปหลายอย่าง ก็จะเอาของไว้ที่นั่นก่อนแล้วพรุ่งนี้ค่อยกลับมาทำต่อ แต่พอมาช่วงนี้ระดับน้ำไม่คงที่ น้ำก็พัดของชาวบ้านหายหมด หลุมที่ขุดหาดินหาหินมา ตามแหล่งที่เจอทองคำเยอะ ๆ ก็ถูกน้ำท่วมหมดเลย”

พี่ออได้แต่หวังว่า น้ำจะขึ้นลงตามฤดูกาลเช่นเดิม ชาวบ้านจะได้มีอาชีพและทำมาหากินได้ตามปกติ รวมถึงวิถีชีวิตของพวกเขาจะได้กลับมาเป็นดั่งกาลก่อน การร่อนทองที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานจะได้ไม่เหลือไว้เป็นเพียงเเค่เรื่องเล่า

ชาวบ้านที่นี่มีความหวังกับอนาคตของตัวเองที่เกี่ยวโยงกับแม่น้ำโขง แต่กลับมองไม่เห็นภาพ เพราะลำพังแค่การผลักดันปัญหานี้จากคนในชุมชนสู่สารธารณะชน ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงและแก้ไข้ปัญหาของแม่น้ำโขงที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนได้ นี่คือปัญหาที่รัฐบาลและทุกองค์กรในภาคส่วนระหว่างประเทศต้องร่วมกันแก้ไข

ในวันที่สายน้ำไม่อาจไหลย้อนกลับ คำว่าอนาคตไม่ใช่อีก 10 ปีข้างหน้า แต่คือวันพรุ่งนี้ และทุก ๆ วันต่อจากนี้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ