ถามความจริงหลังแผ่นดินไหวในเนปาล

ถามความจริงหลังแผ่นดินไหวในเนปาล

IMG_62481

เรื่อง: กองบรรณาธิการ   ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง

ตลอดการสนทนา, น้ำเสียงของเขาอาจเจือไปด้วยความหงุดหงิดและฉุนเฉียวบ้างประปราย นั่นคงเป็นเพราะความอึดอัดคับข้องใจอะไรบางอย่าง

ในห้วงเวลาที่ข่าวแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในเนปาลกำลังจะเลยผ่านความทรงจำของคนไทย คาบเกี่ยวด้วยข่าวคนโรฮิงญาลอยลำเรืออยู่กลางทะเล ซึ่งเราจะได้เห็นมาตรฐานมนุษยธรรมอันแตกต่างกันอย่างลิบลับ อัสสชิตะ อวาเล ตอบรับนัดการขอสัมภาษณ์ของกองบรรณาธิการโดยบอกว่า สิ่งที่พวกเราอยากรู้ เขาได้พูดไปแค่พอสังเขปเท่านั้นเองตามสื่ออื่น

ในวันนัด อัสสชิตะมาสายไปกว่าชั่วโมงครึ่ง เนื่องจากช่วงเช้า เขาต้องนำข้าวของต่างๆ สำหรับผู้ประสบภัยพิบัติไปส่งที่สนามบิน เราลืมบอกไปว่า ตอนนี้ร้านอาหารชื่อ หิมาลายา ย่านสุขุมวิทของเขาร่วมกับสมาคมคนเนปาลโพ้นทะเลกำลังจัดการเรื่องพวกนี้อยู่

กลับมาที่น้ำเสียงหงุดหงิดและฉุนเฉียว หากเราอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้แล้วจะทราบได้ไม่ยากว่า น้ำตาและความสูญเสียของคนเนปาลในทัศนะของเขานั้น จะโทษแต่ธรรมชาติเพียงลำพังนั้นหาได้ไม่

เปล่า, มิได้มีเจตนาจะซ้ำเติมชะตากรรมใคร หากสืบย้อนภูมิหลังกลับไปดู เราจะพบว่าอัสสชิตะมีเลือดเนปาลอยู่เข้มข้นแน่ๆ เขาเกิดที่เมืองปาตัน 1 ใน 3 เมืองที่ตั้งอยู่ในหุบเขากาฐมาณฑุ ย้ายมาจำวัดเป็นเณรที่วัดสระเกศ ประเทศไทย ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมอายุราว 13 ปี เนื่องจากกงสุลไทยชวนมาเรียนพุทธศาสนา จบปริญญาโท ศาสนาเปรียบเทียบที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุฯ ก่อนไปเป็นนักข่าวโต๊ะต่างประเทศที่หนังสือพิมพ์มติชนอีก 18 ปี สุดท้ายจึงมาทำธุรกิจส่วนตัว และกลับบ้านเกิดบ้างเป็นครั้งคราว

ถามว่ารักชาติไหม คงไม่ต้องเสียเวลาหาคำตอบ แต่ความรักนั้น ไม่จำเป็นต้องผูกไว้ที่ความหมายใดความหมายหนึ่ง และใจความสำคัญมันอยู่ที่คำถามสุดท้ายที่เราถามเขาว่า 80 ปีข้างหน้า จะวนกลับมาอย่างนี้อีกไหม

ในปี 2477 หรือราว 80 ปีก่อน เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.0 ที่บริเวณพรมแดนรัฐพิหาร ซึ่งถือเป็นครั้งรุนแรงในประวัติศาสตร์เนปาล ครั้งก่อนกับครั้งนี้ มีความแตกต่างกันอย่างไร

ครั้งก่อน ความเสียหายก็ไม่น้อยกว่าครั้งนี้ โบราณสถานที่เสียหายรูปแบบคล้ายกัน หลายๆ จุดที่พังลงมา ไม่สามารถบูรณะใหม่ได้ แต่ใน เดอร์บา สแควร์ (จตุรัส กาฐมาณฑุ เดอร์บา เป็นที่ตั้งของวัดและปราสาทที่เก่าแก่) มีหลายแห่งที่เสียหายมากกว่าครั้งนี้ ผมไม่แน่ใจว่า จะคล้ายกับครั้งก่อนที่ต้องทิ้งไปบางส่วน กับบูรณะขึ้นใหม่บางส่วน หรือจะบูรณะใหม่ทั้งหมด หากว่าไม่สามารถทำได้ นั่นเท่ากับว่าสถานที่สำคัญๆ ต้องหายไป

ความแตกต่างกันคือ สมัยก่อนประชากรมันน้อย ที่โดนหนักสุดคือกาฐมาณฑุ เพราะต่างจังหวัดยังไม่มีคนเท่าไหร่ บ้านเรือนก็แบบเก่าหมด ครั้งนี้มีทั้งบ้านเก่าและบ้านใหม่ซ้อนๆ กันอยู่ บ้านใหม่โดยเฉพาะตึกสูงๆ ได้รับความเสียหายเยอะ  ครั้งก่อนจำนวนคนตายผมไม่แน่ใจ ฟังๆ มาว่าราว 27,000 คน ในขณะที่ประชากรตอนนั้นทั่วกาฐมาณฑุไม่ถึง 2 แสน

ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในเนปาลเกิดจากการสะสมพลังงานของจุดล็อกแผ่นเปลือกโลกที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ ต้องเจอแบบนี้ทุก 75 – 80 ปี จากเหตุการณ์ครั้งก่อน มาถึงครั้งนี้ คิดว่าอะไรเป็นบทเรียนสำคัญที่ชาวโลกควรเรียนรู้ร่วมกัน  

ถูกต้อง เดิมตรงเนปาลเป็นมหาสมุทรที่แยกกันระหว่างอินเดียกับจีน ตรงที่ชนกันกลายเป็นหิมาลัยซึ่งสูงที่สุด โดยประมาณ 100 ปี จะเกิดแผ่นดินไหวอย่างนี้ขึ้นหนึ่งครั้ง แต่เอาเข้าจริง 50 – 60  ปี ก็เกิดขึ้นแล้ว

บทเรียนสำคัญที่หลายๆ คนพูดคือ นักวิทยาศาสตร์ นักภูมิศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญได้เตือนไว้แล้ว เตือนมาก่อนหน้านี้ 5-6 ปี ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวนะ รุนแรงแน่ๆ ไม่สามารถบอกได้ว่าวันไหน อาจวันนี้ พรุ่งนี้ หรือ 10 ปีข้างหน้า แต่ไหวแน่นอน รัฐบาลเองก็รู้ ทุกๆ คนเองก็รู้ แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจ ด้วยภูมิปัจจัยหลายๆ อย่าง ส่งผลให้ไม่สามารถเตรียมความพร้อมได้ รัฐบาลก็ไม่เตรียมพร้อม ประชาชนก็ไม่สนใจ การสร้างบ้านโครงสร้างก็ไม่สามารถรองรับการสั่นสะเทือนแรงๆ ขนาดนี้ได้

ถือเป็นความประมาทโดยรวม เอาจริงๆ แล้ว กาฐมาณฑุนี่ไม่เหมาะจะเป็นเมืองใหญ่ เตือนมาตั้งแต่ 50 – 60  ปีก่อน อย่าให้กาฐมาณฑุขยายตัวมาก เป็นเมืองที่เหมาะสำหรับการเป็นเมืองวัฒนธรรมเล็กๆ ด้วยเหตุผลที่ว่า เกิดแผ่นดินไหวแน่ๆ รวมถึงเป็นพื้นที่ซึ่งเหมาะกับการทำการเกษตร สมัยก่อนรัฐมนตรีคนหนึ่งเคยบอกให้รักษาวัฒนธรรมโบราณไว้ อย่าขยาย เมืองหลวงให้ย้ายไปตอนใต้ซะ ซ้ำยังสามารถรักษาความเป็นเนปาลไว้ได้ด้วย ยิ่งขยาย ก็ยิ่งเสียงต่อความเสียหาย

การเสียหายครั้งนี้ คนจะรู้แล้วว่า สร้างบ้านแบบเดิมๆ ไม่ได้อีก รัฐบาลก็ต้องเข้ามาควบคุม เรื่องพวกนี้พูดยากตรงที่ เวลาเราพูดว่าคนจะตระหนักหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ แต่เอาเข้าจริง เวลาคนสร้างบ้าน วิศวกรบอกต้องใส่เหล็ก 8 เส้น เจ้าของบ้านก็ขอว่า 6 เส้นพอ จะได้ประหยัด รู้ทั้งรู้ว่าผิด มันพังลงมาได้ ไม่ใช่ไม่มีกฎระเบียบ แต่ไม่ทำกันเอง

อย่างตึกหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่พังลงมา ไปสำรวจดู ด้านล่างที่รองรับแทนที่จะเป็นเสาใหญ่ กลับใช้เหล็กเล็กๆ เหมือนใช้ทำเพดาน แล้วข้างบนเป็นตึก คือคิดประหยัดอย่างเดียว ดีที่เป็นวันเสาร์ ไม่อย่างนั้น นักเรียน 400-500 คนจะเป็นอย่างไร พวกโรงแรมที่ปล่อยให้คนเช่าก็สร้างคล้ายๆ กัน คือเน้นประหยัด

 มูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชียบอกว่า ระยะเวลาจากแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงเมื่อ 80 ปีก่อนมาถึงครั้งนี้มันยาวนานเกินไป ทำให้ประชากรรุ่นหลังไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับภัยพิบัติ และขาดการส่งต่อความรู้ ตรงนี้มีความเห็นอย่างไร

ก็น่าจะมีส่วน แต่ 80 ปีก็ใช่ว่านาน ขนาดผมยังมีรูปตอนเกิดแผ่นดินไหวครั้งก่อนอยู่เลย สมัยก่อนวัดวาอารามสวยงาม มันเป็นข้ออ้างมากกว่า รัฐบาลไม่ใส่ใจ ประชาชนก็ไม่สนใจคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญ กาฐมาณฑุสมัยก่อนเป็นเมืองเล็กๆ ในรอบสิบกว่าปี คนต่างจังหวัดเข้ามาเยอะ เข้ามาเช่าห้องตามจุดต่างๆ เกิดความแออัด ห้องว่างนิดเดียวก็มีคนเช่าแล้ว ทำให้เมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว

อีกทั้งปัญหาเรื่องการเมืองจากเหมาอิสต์ คนก็หนีจากต่างจังหวัดเข้ามา ขายที่ดินในต่างจังหวัดเป็นร้อยไร่ เพื่อมาซื้อที่ดินนิดเดียวในเมือง เป็นการขยายตัวที่รวดเร็วเกินไป เมื่ออยู่ในต่างจังหวัดไม่ได้ด้วยเหตุผลทางการเมือง ก็มาอยู่ในเมือง โดยลืมคำเตือนเรื่องแผ่นดินไหว ส่วนคนที่อยู่ในเมืองน่ะรู้ประวัติศาสตร์อยู่แล้ว

“อีกทั้งปัญหาเรื่องการเมืองจากเหมาอิสต์ คนก็หนีจากต่างจังหวัดเข้ามา
ขายที่ดินในต่างจังหวัดเป็นร้อยไร่ เพื่อมาซื้อที่ดินนิดเดียวในเมือง
เป็นการขยายตัวที่รวดเร็วเกินไป”

IMG_62091

การขยายตัวแบบนี้ ดูเป็นสิ่งที่ยากเกินกว่าจะรับมือ     

ถูกต้อง รัฐบาลเองก็ไม่สามารถจะให้บริการที่ทั่วถึงได้ อย่างเช่นเรื่องไฟฟ้า ตั้งแต่ผมเป็นเด็ก เนปาลนี่ไฟฟ้าดับตลอด ถึงทุกวันนี้ก็ยังดับเป็นช่วงๆ 4 – 5 ชั่วโมง บางครั้งดับวันละ 18 ชั่วโมง

เราจะไปโทษคนที่ย้ายเข้ามาก็ไม่ได้?

ต้องมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง มองไกล ตอนนี้เราไม่มีรัฐบาลที่มั่นคงอย่างนั้นเลย ข้าราชการมีแต่คอรัปชั่น การที่คนหนีเข้ามา มันเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง คนเก่งๆ ย้ายไปต่างประเทศหมด แคนาดานี่รับไปทุกปี ไปเป็นหมอ ไปปีสองปีให้สัญชาติแล้ว เพราะทำให้บ้านเมืองเขาพัฒนาได้ คนรุ่นใหม่เก่งๆ นี่ไม่มีใครอยากอยู่บ้านเกิด จริงๆ อยากทำให้บ้านเมืองพัฒนา มีแนวคิด วิศวกรคอมพิวเตอร์นี่เก่งมาก แต่อยู่ไม่ได้

ย้อนกลับไปสักกี่ปี ที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในด้านประวัติศาสตร์การเมือง

ประมาณ 15 – 20 ปี ผมอยู่เมืองไทยมาประมาณ 30 ปีแล้ว ก่อนหน้านั้นเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คนอยู่ดีกินดี พอย้ายมาไทยได้ 7 – 8 ปี ก็เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย ตามความเห็นผมรู้สึกว่าเลวร้ายลงกว่าเดิม การเมืองมีแต่ทะเลาะกัน เข้าใจว่ามันคือพัฒนาการทางการเมือง ถามว่าดีหรือไม่ ดีแน่นอนตรงที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ความอยู่ดีกินดี หรือความปลอดภัยนั่นเป็นอีกเรื่อง มีคอรัปชั่นมากกว่าเดิม สมัยก่อนจะแอบๆ กิน

พอมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเป็นสาธารณรัฐนี่เลวกว่าเดิมอีกในความรู้สึกส่วนตัว ความขัดแย้งมีมากขึ้น ฆ่ากันตายมากขึ้น เหมาอิสต์ขึ้นมานี่ฆ่าคนไปไม่รู้เท่าไหร่ ตอนนี้เรามี ส.ส. 601 คน คนเนปาลจะเปรียบเทียบว่า เมื่อก่อนเรามีกษัตริย์แค่คนเดียว แต่เดียวนี้เรามี 600 กับอีก 1 คน ทั้งรถ ทั้งเงินเดือนเท่าไหร่ แค่เขียนรัฐธรรมนูญ 7 – 8 ปีแล้วยังเขียนไม่ได้  มีแต่ทะเลาะกัน

ถามถึงองค์กรตรวจสอบคอรัปชั่นก็เริ่มดีขึ้นนะ มีพัฒนาการ แต่ก็ยังทำอะไรได้ไม่มาก เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้เห็นได้ชัดว่านักการเมืองไม่กล้าเข้ามาเลย ทำแค่ในสไตล์รัฐบาล คือเอาหน้า อันนี้คือเสียงที่สะท้อนจากประชาชน  ผมไม่รู้ว่าหลังเหตุการณ์ครั้งนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรไหม แต่คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องทำ ไม่อย่างนั้นคนเนปาลจะอยู่กันไม่ได้

เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน

การเมืองแบบเก่าไม่เอาแล้ว แค่รัฐธรรมนูญยังเขียนไม่ได้ มัวแต่ทะเลาะกัน มีเงินเข้ามาก็กินอย่างเดียว ไม่ทำอะไรเลย ไม่พัฒนา หลังจากเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ ไม่ทำเลย เลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว 2 รอบ ยังไม่ทำอะไรเลย ประชาชนทุกคนรังเกียจข้าราชการ นักการเมือง แต่ภาคเอกชนถือว่าทำได้ดีมาก เพราะคนรุ่นใหม่ในเนปาลเก่ง ขออย่างเดียวให้การเมืองมั่นคง ทรัพยากรธรรมชาติก็ดี ยังมีความสวยงามของภูมิประเทศอีก

คนรุ่นใหม่ที่บอกฉลาด พวกเขาสามารถไปลงเล่นการเมืองเพื่อจัดการปัญหาต่างๆ ได้ไหม

ผมว่าเขาคิดนะ คนที่เคยลงไปแล้วก็มี แต่คนเดียวสองคนจะไปทำอะไรได้ ก็ต้องถอย สมาคมของเราเป็นสมาคมคนเนปาลที่อยู่ในต่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นด้วยเหตุผลที่ว่า เราควรทำอะไรสักอย่างให้บ้านเกิด เป็นเรื่องช่วยเหลือด้านการลงทุนเพื่อพัฒนาบ้านเมือง ไม่ใช่แค่ตอนเกิดภัยพิบัติ ถึงเกลียดการเมือง แต่เราก็กลับไปพัฒนาเรื่องเทคโนโลยี หนังสือ หรือคอมพิวเตอร์ ตอนนี้คนเนปาลที่อยู่ในต่างประเทศ เข้าไปลงทุนในเนปาลเยอะมาก

ประธานสมาคมของเราเป็นคนออสเตรเลียเชื้อสายเนปาล ที่ติดอันดับคนรวยในออสเตรเลีย คนพวกนี้แหละอยากไปพัฒนาประเทศ คนเนปาลก็พูดกันว่า คนแบบนี้ต้องกลับมาเป็นผู้นำประเทศ รักบ้านตัวเองด้วย ทรัพย์สินก็มี

ทั้งๆ ที่ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ แต่จากการสำรวจกลับพบว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของคนเนปาลมีรายได้น้อยมาก ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

ก็รัฐบาลไม่ดีไง ไม่เคยจัดสรรทรัพยากรเลย ไม่คิดพัฒนา เชื่อไหม เนปาลนี่ถ้าไม่มีเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ แถลงงบประมาณยังไม่มีเงินจะแถลงเลย ทุกปีก่อนแถลง ต้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ อยู่ในสภาพขนาดนั้น ตามข่าวบอกว่า เงินช่วยเหลือที่เข้ามาจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ 3 เท่าของงบประมาณแล้ว ทำไมคุณไม่ทำ ไม่วางแผน ตอนนี้ยังทะเลาะกันอยู่เลย

เมื่อสักครู่คุณบอกว่า สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คนอยู่ดีกินดี นี่เป็นข้อมูลจริงๆ หรือความรู้สึก

ตำรวจ 2 – 3 คน คุมทั้งอำเภอ อยู่ง่ายกินง่าย ที่ดินเต็มไปหมด สงบมาก แต่พอเปลี่ยนแปลงการปกครองมีแต่แย่งกัน ฆ่ากัน พอมีโครงการใหม่ รัฐบาลเปลี่ยน โครงการก็ยกเลิก เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จะทำอะไรสักอย่าง นายกฯ ถูกบีบให้ออก รื้อใหม่ ซึ่งเราก็โทษแต่รัฐบาลไม่ได้ ต้องโทษจิตสำนึกของคนทั่วไปด้วย

กาฐมาณฑุเป็นพื้นที่ซึ่งไม่เหมาะแก่การไปอยู่อาศัยเยอะๆ เมื่อภูมิศาสตร์มันไม่เอื้ออำนวย คนเราต้องมีการปรับตัว แผ่นดินไหวก็คือการปรับตัวชนิดหนึ่งของโลก คือเราไม่ได้คิดวางแผนอะไรเลย แค่รัฐธรรมนูญ 8 ปีแล้วยังเขียนไม่ได้

เมื่อก่อนคนน้อยรึเปล่า ถึงปกครองแบบนั้นได้

มันก็จริง แต่รัฐบาลก็ต้องพยายามรับมือกับความเปลี่ยนแปลงให้ได้ ตอนนี้ข้าราชการมากขึ้น ส.ส.มากขึ้น คุณก็ต้องทำงานมากขึ้นสิ

คนรุ่นใหม่ในเนปาลเห็นโลกมากขึ้น ก็อยากมีสิทธิ์มีเสียง คงกลับไปปกครองแบบเดิมไม่ได้?

ทุกคนเห็นด้วย แนวทางนี้แหละที่ต้องไป ไม่อย่างนั้นไม่มีการต่อสู้เพื่อเป็นประชาธิปไตยหรอก เพียงแต่ปัญหาอยู่ที่คนทำงาน มันต้องมีการปฏิรูประบบกันใหม่ ปรับในโครงสร้างประชาธิปไตยนี่แหละ ทุกคนต้องการการเลือกตั้ง แค่มันมาถึงจุดที่ประชาชนทนไม่ไหวแล้ว เป็นแบบนี้มานาน

การวางผังเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหนกับความเสียหาย

พูดง่ายๆ คือไม่มีผังเมือง เดิมมีนะ เมื่อสัก 30 ปีก่อนเป็นเมืองที่มีผังดีมาก ถูกพัฒนามาเป็นร้อยๆ ปี น้ำบาดาลที่เคยสร้างมา 700 – 800  ปี น้ำยังไหลอยู่เลยคิดดู เป็นท่อใต้ดิน ซึ่งคนรุ่นใหม่ไม่รู้หรอกว่า น้ำไหลมาจากไหน แต่ละเขตมีแหล่งน้ำโบราณ ศาลาที่พัก พอมีการขยายตัวของเมืองก็ก่อสร้างปิดท่อ น้ำฟรีที่เคยไหลก็รักษาไว้ไม่ได้ สร้างบ้านปิดช่องทางหมด

น้ำประปานี่แทบไม่มี เลวร้ายกว่านั้นคือ ต่อให้น้ำประปาไม่ไหล คุณก็ต้องจ่ายค่าน้ำเท่ากับน้ำไหลทั้งวัน น้ำไม่แรงก็ต้องจ่าย คนเนปาลบางทีก็อดทนมากเกินไป บางทีไหลอาทิตย์ละชั่วโมง มีไว้ทำไมก็ไม่รู้ ไม่จ่ายค่าน้ำก็ผิดกฎหมาย ต้องเจาะบ่อน้ำบาดาลใช้ น้ำดื่มก็ต้องซื้อ บนพื้นฐานของคนที่พอทำได้ แล้วบ้านเก่าที่ตุนน้ำไม่ได้ล่ะ ทำอย่างไร

อย่างการสร้างบ้านเรือนที่รองรับแผ่นดินไหวไม่ได้ เป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจเนปาลไม่เอื้ออำนวย ตรงนี้คุณเห็นอย่างไร 

สภาพเศรษฐกิจไม่ดีจริง แต่ในกาฐมานฑุหลายจุดๆ ที่ดินแพงกว่าในกรุงเทพฯ ลองดูสิว่า คนเอารายได้ที่ไหนมาซื้อที่ รถนำเข้านี่ 250 เปอร์เซ็นต์ ยี่ห้อหรูๆ อย่าง แลนด์โรเวอร์  เบนซ์ ฯลฯ ในต่างจังหวัดที่มันห่างไกลก็จนจริง แต่การเจริญเติบโตในตัวเมือง รายได้ไม่ถึงกับเลวร้าย คนเนปาลมีเงินแต่ไม่ฝากธนาคาร งานก่อสร้างบ้านแพงกว่ากรุงเทพฯ สร้างทีเป็น 10 ชั้น 6 – 7 ชั้นเป็นเรื่องปกติ การกู้เงินนี่เพิ่งมีหลังๆ

การทำบ้านให้รองรับแผ่นดินไหวจริงๆ ผมว่าทำได้ แต่ไม่ทำเอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างที่บอก จากเผด็จการ สู่ยุคกษัตริย์มีอำนาจ และเป็นยุคประชาธิปไตย สิ่งที่รัฐบาลยุคหลังใช้ ทั้งสถานที่ราชการ อะไรต่อมิอะไร ก็เป็นผลผลิตจากยุคเผด็จการตระกูลรานา ไม่ทำอะไรเลย ก่อนหน้านั้นก็แบบโบราณ 700 – 800 ปีหมด

จริงๆ แล้วในเนปาลแผ่นดินไหวบ่อย ปีหนึ่งๆ 3-4 ครั้ง ตอนเด็กๆ ผมก็เจอ แต่เป็นแผ่นดินไหวเล็กๆ สั่นนิดๆ เป็นเรื่องปกติ คนเนปาลคุ้นเคยกับเรื่องนี้ มันเกิดจากการไม่เตรียมพร้อมมากกว่า

ได้ยินมาว่ายังมีปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นตั้งแต่การยื่นขอแบบก่อสร้าง จนถึงขั้นตอนการตรวจรับ และส่งมอบงาน

เรื่องนี้ผมไม่ได้โทษแต่รัฐบาลอย่างเดียว โอเคพวกเขาก็มีส่วน ข้าราชการก็มีส่วน ในกรณีบ้านทั่วไป ก็อย่างที่ผมบอก ตามโครงสร้างของบ้านต้องใส่เหล็ก 8 เส้น คนทำไม่ฟัง ขอ 6 เส้น จะไปโทษรัฐบาลได้ไหม ต้องโทษคนที่รับเหมาก่อสร้าง ถามว่ากฎระเบียบมีไหม มี โครงสร้างต้องเป็นแบบนี้ ซีเมนต์ต้องเป็นแบบนี้ แต่คุณไม่ฟัง

ประเด็นที่ 2 คือ ตอนขออนุญาตสร้างบ้านขอไว้ 5 ชั้น ทิ้งไว้ปีสองปี แล้วก็ไปแอบเติมอีก 2 ชั้น อย่างนี้โทษใครล่ะ ก็ต้องโทษเจ้าของบ้านนั่นแหละ บางทีก็โทษแต่รัฐบาลไม่ได้ สิ่งที่เราควรโทษรัฐบาลคือ หน่วยงานต่างๆ ก็ไม่มีการตรวจสอบพวกที่ไปต่อเติม มันเลวร้ายทุกอย่าง

เกี่ยวกับการศึกษาไหม

นี่เป็นเรื่องของจิตสำนึกมากกว่า การศึกษาในความเห็นผมต้องแยกเป็นเรื่องความรู้ จบสูง ทำงานดี สมัย 15 ปีก่อน ไม่เคยมีคนเนปาลไปทำงานต่างประเทศ มีแต่คนอินเดียมาทำงานที่เนปาล แต่เดี๋ยวนี้มีเป็นล้านๆ อย่างที่บอก คือเหตุผลทางการเมือง เข้ามาอยู่ในเมืองค่าใช้จ่ายก็สูง อยู่ไม่ได้ก็ไปขายแรงงานต่างประเทศ หลายครอบครัวมีที่ดินในต่างจังหวัด ทำไร่ทำนาได้สบาย ไม่ทำ รับแต่เงินที่ลูกๆ หรือพี่น้องส่งมาจากต่างประเทศ พอคนที่ส่งเงินกลับมา ก็พบว่าคนทางบ้านไม่ทำอะไรเลย นี่เป็นเรื่องของจิตสำนึก

“คือถ้าแผ่นดินไหวมันแรงมากๆ ไม่ว่าบ้านเก่าบ้านใหม่มันก็ไปหมด ตึกใหม่ๆ นี่พัง
กาฐมาณฑุไม่เหมาะจะสร้างบ้านเป็นตึกสูงๆ 10 – 20 ชั้น มากสุดก็ 10 ชั้น”

IMG_62731

มีอีกมุมมองว่า ชาวบ้านไม่อยากให้สร้างอาคารใหม่ที่สามารถรองรับความสั่นสะเทือนได้ เพราะต้องการอนุรักษ์ความเก่าไว้เป็นแหล่งท่องเที่ยว จริงเท็จแค่ไหน  

 

การอนุรักษ์โบราณสถานเป็นส่วนหนึ่ง การสร้างบ้านให้รักษาความเก่าไว้ก็เป็นส่วนหนึ่ง บ้านเก่าที่มีอยู่สร้างไว้ตั้งแต่ 100 กว่าปีก่อนก็เป็นส่วนหนึ่ง บ้านเก่าคงไม่มีใครคิดรื้อมาสร้างในรูปแบบใหม่ คนเนปาลที่สร้างบ้านใหม่ ก็ไม่สามารถจะไปสร้างในแบบเก่าได้ พูดง่ายๆ คือถ้าสร้างใหม่ ก็จะให้มีลวดลายต่างๆ แบบบ้านเก่า แต่ให้มีโครงสร้างใหม่ ของเก่า ของเดิม ไม่เคยพังลงมา แล้วทำไมต้องไปสร้างใหม่

บ้านเก่าผมก็มี ก็ไม่คิดจะสร้าง ที่พังลงมาจริงๆ คือเก่ามากๆ ข้อดีของบ้านเก่าคือ เวลาร้อน อากาศจะเย็น เวลาอากาศหนาว ข้างในอุ่น เพดานเป็นไม้ ไม่ใช่ซีเมนต์ ที่จริงบ้านแบบนี้แหละ ป้องกันการเสียชีวิตจากแผ่นดินไหวได้ดี พังลงมาอาจบาดเจ็บ และรอดมาได้ ไอ้ที่เป็นตึกนี่แหละ โครงสร้างแบบบ้านใหม่ ถล่มลงมาตายหมด

ไม่ใช่ว่าเขาต้องการอนุรักษ์จนไม่ยอมทำใหม่ให้แข็งแรง แต่ต้องการอนุรักษ์ที่มีอยู่ รัฐบาลท้องถิ่นก็ออกกฎว่า คุณสร้างบ้านได้แต่ต้องมีหน้าตาแบบเก่า แต่ข้างในไม่เป็นไร มีอยู่ช่วงหนึ่ง ใครก็ตามสร้างบ้านใหม่ ค่าใช้จ่ายสำหรับโครงสร้างภายนอก รัฐบาลเป็นคนออกให้

คือถ้าแผ่นดินไหวมันแรงมากๆ ไม่ว่าบ้านเก่าบ้านใหม่มันก็ไปหมด ตึกใหม่ๆ นี่พัง กาฐมาณฑุไม่เหมาะจะสร้างบ้านเป็นตึกสูงๆ 10-20 ชั้น มากสุดก็ 10 ชั้น มีอยู่โรงแรมหนึ่งชื่อ เอเวอเรสต์ โฮเต็ล สร้างสูงเกินไป คนวิจารณ์กันใหญ่

หมายถึงว่าในกาฐมาณฑุถึงจะสร้างอาคารรองรับแผ่นดินไหวดีแค่ไหน แต่ถ้ามันแรงมากๆ ก็ยังถล่ม อยู่ดี

ใช่ เพราะพื้นดินในเนปาลไม่เหมือนกับในกรุงเทพฯ ลึกลงไป 3-4 เมตรเป็นน้ำ แล้วเวลาสร้างบ้านไม่นิยมเจาะเป็นเสาเข็มลงไป ขุดลงไปนิดนึงก็ตั้งกำแพงขึ้นมา คือถ้ามีการสร้างอาคารที่แข็งแรงรองรับแผ่นดินไหวได้ มันก็จะเสียหายนั่นแหละ แต่จะตายน้อยกว่านี้  ถ้าสร้างบ้านตามกฎระเบียบก็ตายน้อยลง

สรุปคือ ไม่เหมาะเอาคนมาอยู่เยอะๆ ที่ดินทำไร่ทำนาเอาไปสร้างบ้านหมด แล้วไปซื้อข้าวจากอินเดียมากิน เป็นความผิดพลาดทั้งหมด เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ จะทำให้คนเนปาลเป็นหนึ่งเดียวใจเดียวมากขึ้น ต้องเปลี่ยนวิธีคิด เชื่อไหม มีบ้านหลังหนึ่งที่พังลงมา เนื้อที่นิดเดียว สร้าง 10 ชั้น คือมันแคบมากๆ ใครอนุญาตให้สร้าง

สื่อต่างประเทศมองว่า หลังจากนี้เนปาลจะเกิดปัญหาความมั่นคงทางอาหาร คุณมองอย่างไร

แผ่นดินไหวครั้งนี้ คนที่เข้ามาช่วยเหลือมีแต่ทหารกับตำรวจ ส.ส.หายหัวไปไหนหมดไม่รู้ ข้าราชการหายหัวไปไหนหมดไม่รู้ ถึงขนาดประชาชนพูดเลยว่า ประเทศนี้ไม่มีรัฐบาล หากจัดการความช่วยเหลือต่างๆ ที่ได้รับจากต่างประเทศดีๆ ไปได้สวย หลายๆ ประเทศไม่ให้เงินนะ เพราะรู้ว่า 85 เปอร์เซ็นต์จะหาย คือมาให้ความช่วยเหลือเอง ไปทำให้เอง ประชาชนเองก็มีเสียงมาว่า อย่าช่วยผ่านรัฐบาล เพราะมันไม่ถึง หรือเท่าที่เราตามๆ มา จริงไม่จริงไม่รู้ เวลาให้ความช่วยเหลือ มีหนังสือไบเบิ้ลติดมาด้วย เผยแพร่ศาสนาไปด้วย

80 ปีข้างหน้า จะวนกลับมาอย่างนี้อีกไหม

แผ่นดินไหวแน่นอน อาจไม่ถึง 80 ปี เพียงแต่ว่าคุณจะรับมือมันได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าการวางผังเมืองไม่ดี ไม่ทำอะไรเลย อาจตายเยอะกว่านี้ก็เป็นไปได้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ