วิเคราะห์ความเสี่ยงแผ่นดินไหว บริเวณภาคเหนือตอนล่าง

วิเคราะห์ความเสี่ยงแผ่นดินไหว บริเวณภาคเหนือตอนล่าง

นักข่าวพลเมือง คุณปริญญา แทนวงษ์ ปักหมุดรายงานผ่าน App C-Site จากพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกวานนี้ (29 มิ.ย.2566) กล่าวว่า เสียงโทรศัพท์​แจ้งเตือนกลางดึกของวันที่ 29 มิถุนายน 2566 เวลา 00.17 น. google ระบุแผ่นดินไหวใกล้ฉัน มีขนาด 4.5 แมกนิจูด มีศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ประชาชน​สามารถ​รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน​ได้เป็นบริเวณ​กว้าง รวมถึงจังหวัด​ข้างเคียง​เช่นจังหวัด​พิจิตร และกำแพงเพชร ทางผู้ใช้โซเชียล​มีเดีย​ในจังหวัดพิษณุโลก​ อย่างเฟสบุ๊ค​ต่างโพสถึงการรับรู้​ถึงแรงสั่นสะเทือน

เหตุแผ่นดินไหวนี้สาเหตุเกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน (Hidden Fault) ซึ่งรอยเลื่อนนี้อยู่นอกเหนือจาก 16 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง ที่ไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวมาก่อนในรอบ 100 ปี เป็นแผ่นดินไหวระดับตื้นมาก

วิเคราะห์ความเสี่ยงแผ่นดินไหวในบริเวณภาคเหนือตอนล่างและการเตรียมโครงสร้างเพื่อรับมือ

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ในฐานะนักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวภายใต้การสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรร

กล่าวว่า แผ่นดินไหวดังกล่าวมีขนาดปานกลาง แต่เนื่องจากอยู่ระดับตื้นจึงทำให้ประชาชนรับรู้ถึงการสั่นสะเทือนได้
สำหรับในบริเวณดังกล่าวมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้แต่ไม่บ่อยนัก โดยในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาตรวจพบแผ่นดินไหวขนาด 4-5 เพียง 2 ครั้ง (รวมครั้งนี้ด้วย) สาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหวมักจะเกิดขึ้นจากรอยเลื่อนที่มีพลัง ซึ่งในบริเวณดังกล่าวแม้จะมีกลุ่มรอยเลื่อนอุตรดิตถ์และกลุ่มรอยเรื่อนเพชรบูรณ์ แต่จากข้อมูลในเบื้องต้นพบว่าจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวยังอยู่ห่างจากแนวของกลุ่มรอยเลื่อนทั้งสอง ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าอาจมีสาเหตุจากรอยเลื่อนอื่นที่ยังไม่ตรวจพบ หรือที่เรียกว่ารอยเลื่อนที่มองไม่เห็น (Blind Fault) ที่เป็นสาเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้ ทั้งนี้ต้องรอข้อมูลตรวจสอบทางธรณีวิทยาโดยละเอียดก่อน

อย่างไรก็ตาม แผ่นดินไหวครั้งนี้สามารถทำให้โครงสร้างอาคารในบริเวณดังกล่าวรับรู้แรงสั่นสะเทือน และอาจทำให้โครงสร้างอาคารที่ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานเกิดการแตกร้าวได้ รวมทั้งอาคารที่มีความเสี่ยง ได้แก่ โบราณสถาน วัด ที่ก่อสร้างจากอิฐก่อ มีโอกาสแตกร้าวได้ง่าย ขณะที่บ้านเรือนประชาชนที่ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน เช่น อาคารที่มีขนาดเสาที่เล็ก ก็อาจแตกร้าวเสียหายได้เช่นกัน ส่วนอาคารที่ก่อสร้างตามหลักวิศวกรรม มีการเสริมเหล็กด้านในและมีขนาดเสาคานที่วิศวกรคำนวณมาแล้ว คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง แต่เพื่อความไม่ประมาทเจ้าของอาคารก็ควรสำรวจตรวจสอบอาคารของตนด้วย

ในแง่ของกฎหมายก่อนปี พ.ศ. 2564 พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างไม่ได้จัดว่าเป็นบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว เนื่องจากสถิติที่ผ่านมาตรวจพบแผ่นดินไหวน้อย อย่างไรก็ตามจากข้อมูลผลการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ในปี พ.ศ.2564 กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ออกกฎกระทรวงฯ กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว โดยกำหนดให้จังหวัดพิจิตรอยู่ในบริเวณที่หนึ่ง และจังหวัดกำแพงเพชรอยู่ในบริเวณที่สองของกฎกระทรวงฯ ซึ่งถือว่าเป็นบริเวณที่ความเสี่ยงแผ่นดินไหวในระดับต่ำถึงปานกลาง และต้องออกแบบอาคารให้รองรับแผ่นดินไหว เช่น อาคารที่สูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป และอาคารอื่นตามที่กฎหมายกำหนด มีข้อสังเกตว่าจังหวัดพิจิตรยังไม่ได้อยู่ในบังคับของกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ กฎกระทรวงปี 2564 เพิ่งบังคับใช้เมื่อสองปีที่ผ่านมานี้เอง ทำให้อาคารจำนวนมากที่ก่อสร้างก่อนปี 2564 ไม่ได้ถูกออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหว ดังนั้นอาคารเก่าเหล่านี้ รวมถึงอาคารที่มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว เช่น โบราณสถาน วัด จึงควรได้รับการประเมินและตรวจสอบว่าสามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ในระดับใด และต้องเสริมความแข็งแรงเพื่อรองรับแผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

อ้างอิงข้อมูลจาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=670677888434906&set=a.308485297987502

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ