เมื่อเวลา 4.36 น.เช้ามืดวันที่ 20 ต.ค.2565 แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ปลุกประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง สะดุ้งตื่น หลายคนหวาดผวา เพราะแรงสั่นสะเทือนค่อนข้างแรง ขนาด 4.1
กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวระบุว่า ศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด 4.1 อยู่ที่ตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ลึกลงไป 2 กิโลเมตร ถือเป็นแผ่นดินไหวขนาดกลาง นักวิชาการศูนย์วิจัยด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ ม.เชียงใหม่คาดการณ์เกิดจากรอยกลุ่มเลื่อนแม่ทา
โดยกลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่าน อ.แม่ทา จ.ลำพูน และ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ในแนวโค้งไปทางทิศตะวันออก ความยาวประมาณ 61 กิโลเมตร รอยเลื่อนนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดปานกลางถึงมาก เมื่อปี 2549 จุดศูนย์กลางอยู่ที่ อ.แม่ริม มีขนาด 5.1 และมีแผ่นดินไหวตามมา (Aftershock) อีก 55 ครั้ง ซึ่งขณะนั้นประชาชนรู้สึกได้ ถึงแรงสั่นสะเทือนเป็นบริเวณกว้าง
สำหรับเหตุแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ 2 ทุ่ม ของคืนวันที่ 19 ต.ค.65 ได้มีเหตุแผ่นดินไหวเป็นระยะในจังหวัดแพร่ และเชียงใหม่
โดย เมื่อเวลา 20.20 น. วันที่ 19 ต.ค. แผ่นดินไหวขนาด 2.3 ที่ ต.แม่ปาน อ.ลอง จ.เเพร่
เวลา 22.10 น. วันที่ 19 ต.ค. 65 ขนาด 2.0 ที่ ต.ห้วยอ้อ อ.ลอง จ.แพร่
เวลา 01.39 น.วันที่ 20 ต.ค.65 ขนาด 3.7 ใน ที่ ต.แม่ปาน อ.ลอง จ.เเพร่
เวลา02.41 น.วันที่ 20 ต.ค.65 ขนาด 1.8 ที่ ต.แม่ปาน อ.ลอง จ.เเพร่
เวลา03.26 น.วันที่ 20 ต.ค.65 ขนาด 1.5 ที่ ต.ห้วยอ้อ อ.ลอง จ.แพร่
เวลา04.09 น.วันที่ 20 ต.ค.65 ขนาด 2.5 ที่ ต.แม่ปาน อ.ลอง จ.เเพร่
เวลา 04.36 น.วันที่ 20 ต.ค.65 ขนาด 4.1 ต.แม่คือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
เวลา 05.16 น. วันที่ 20 ต.ค.65 ขนาด 2.9 ต.บ้านปิน อ.ลอง จ.แพร่
เวลา 05.32 น.วันที่ 20 ต.ค.65 ขนาด 2.0 ต.ห้วยอ้อ อ.ลอง จ.แพร่
สำหรับกรณีเเผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่จังหวัดเเพร่หลายครั้ง คาดการณ์ว่าจะมาจากกลุ่มรอยเลื่อนอีกกลุ่ม คือ กลุ่มรอยเลื่อนเถิน
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย อาจารย์สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว พูดคุยกับทีม Citizen+ ว่าเเผ่นดินไหวถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งที่เชียงใหม่ และแพร่ เป็นแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรงปานกลาง โดยพื้นที่ภาคเหนือมีแนวโน้ม ที่จะเกิดแผ่นดินไหวความรุนแรงได้ถึงระดับ 6
ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 6.3 แมกนิจูด บริเวณพื้นที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2555 โดยเป็นการปลดปล่อยพลังงานของรอยเลื่อนพะเยา
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี ได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลด้านการสำรวจรอยเลื่อนมีพลัง พบว่า ประเทศไทยมีแนวรอยเลื่อนใหญ่ๆ อยู่หลายแนวด้วยกัน สามารถจัดกลุ่มรอยเลื่อนที่สำคัญได้ 3 แนว ตามทิศทางการวางตัวและการเคลื่อนที่ คือ กลุ่มรอยเลื่อนที่วางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ กลุ่มรอยเลื่อนที่วางตัวในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มรอยเลื่อนที่วางตัวอยู่ในทิศเหนือ-ใต้ ที่ครอบคลุม 22 จังหวัดของไทย คือ
รอยเลื่อนที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย
1. รอยเลื่อนแม่จัน พาดผ่านอำเภอฝาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 101 กิโลเมตร
2. รอยเลื่อนแม่อิง พาดผ่านอำเภอเทิง อำเภอขุนตาล และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 57 กิโลเมตร
3. รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน พาดผ่านอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในแนวทิศเหนือ-ใต้ มีความยาวประมาณ 29 กิโลเมตร
4. รอยเลื่อนเมย วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ พาดผ่านตั้งต้นจากลำน้ำเมย ชายแดนพม่า ต่อไปยังห้วยแม่ท้อ ลำน้ำปิง จังหวัดตาก ไปถึงจังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ และสิ้นสุดที่จังหวัดอุทัยธานี ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีความยาวประมาณ 250 กิโลเมตร
5. รอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่านอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน และอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ในแนวโค้งไปทางทิศตะวันออก มีความยาวประมาณ 61 กิโลเมตร
6. รอยเลื่อนเถิน พาดผ่านอำเภอแม่พริก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง และอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ในแนวโค้งในไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีความยาวประมาณ 103 กิโลเมตร
7. รอยเลื่อนพะเยา พาดผ่านอำเภองาว จังหวัดลำปาง และอำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ทางด้านทิศเหนือของรอยเลื่อนท่าสี มีความยาวประมาณ 23 กิโลเมตร
8. รอยเลื่อนปัว พาดผ่านพื้นที่อำเภอสันติสุข อำเภอท่าวังผา อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง และอำเภอทุ่งช้าง ของจังหวัดน่านในแนวเหนือ-ใต้ ด้วยความยาวประมาณ 130 กิโลเมตร
9. รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ พาดผ่านอำเภอเมือง อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอนาหมื่น อำเภอนาน้อย อำเภอเวียงสา และอำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 150 กิโลเมตร
10. รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ พาดผ่านอำเภอหนองไผ่ อำเภอเมือง อำเภอหล่มสัก และอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบด้วยรอยเลื่อนบริวารในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ กับแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้สลับกัน มีความยาวประมาณ 110 กิโลเมตร
รอยเลื่อนที่พบอยู่ทางภาคกลางของประเทศไทย
1. รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ พาดผ่านอำเภอทองผาภูมิ และอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 60 กิโลเมตร
2. รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ พาดผ่านอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี อำเภอศรีสวัสดิ์ และอำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ในแนวโค้งเล็กน้อยไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 62 กิโลเมตร
รอยเลื่อนที่พบอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย 1. รอยเลื่อนระนอง พาดผ่านพื้นที่ตั้งแต่ จังหวัดระนอง ชุมพร ประจวบ คีรีขันธ์ และพังงา มีความยาวประมาณ 270 กิโลเมตร 2. รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย พาดผ่านอำเภอบ้านตาขุน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอทับปุด อำเภอเมือง จังหวัดพังงา พาดผ่านไปตามทะเลอันดามัน ระหว่างอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต กับอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 148 กิโลเมตร
นอกจากนี้ยังพบ รอยเลื่อนที่ไม่มีพลังงานแล้ว หรือ ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง คือ กลุ่มรอยเลื่อนแกลง ทอดตัวผ่านอำเภอพนัสนิคม, อำเภอบ้านบึง, อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี อำเภอวังจันทร์, อำเภอแกลง จังหวัดระยอง มีความยาวโดยประมาณ 98 กิโลเมตร และ กลุ่มรอยเลื่อนปัตตานี เป็นรอยเลื่อนที่ต่อมาจากมาเลเซีย เข้ามาในไทยที่บริเวณแม่น้ำสายบุรี จ.ปัตตานี แล้วเลยขึ้นไปทางเหนือของ จ.ปัตตานี
รอยเลื่อนที่พบอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย 1
1. รอยเลื่อนระนอง พาดผ่านพื้นที่ตั้งแต่ จังหวัดระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และพังงา มีความยาวประมาณ 270 กิโลเมตร
2. รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย พาดผ่านอำเภอบ้านตาขุน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอทับปุด อำเภอเมือง จังหวัดพังงา พาดผ่านไปตามทะเลอันดามัน ระหว่างอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต กับอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 148 กิโลเมตร
นอกจากนี้ ยังพบรอยเลื่อนที่ไม่มีพลังงานแล้ว หรือไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง คือ กลุ่มรอยเลื่อนแกลง ทอดตัวผ่านอำเภอพนัสนิคม, อำเภอบ้านบึง, อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี อำเภอวังจันทร์, อำเภอแกลง จังหวัดระยอง มีความยาวโดยประมาณ 98 กิโลเมตร และ กลุ่มรอยเลื่อนปัตตานี เป็นรอยเลื่อนที่ต่อมาจากมาเลเซีย เข้ามาในไทยที่บริเวณแม่น้ำสายบุรี จ.ปัตตานี แล้วเลยขึ้นไปทางเหนือของ จ.ปัตตานี
ที่มา: กรมทรัพยากรธรณี
สำหรับบริเวณเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของประเทศไทยนั้น ในปี พ.ศ. 2548 กรมทรัพยากรธรณี ได้จัดทำแผนที่บริเวณความเสี่ยงแผ่นดินไหว โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากรอยเลื่อนมีพลัง ลักษณะธรณีวิทยา ความถี่ และขนาดแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้วิศวกรใช้ในการออกแบบก่อสร้างอาคารที่ต้องคำนึงถึงค่าความปลอดภัยตาม กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนักความต้าน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550 ที่ออกตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ของกรมโยธาธิการและผังเมืองที่บังคับให้วิศวกรต้องออกแบบอาคารที่สามารถรับแรงแผ่นดินไหวได้ ในพื้นที่ที่กำหนด
แผนที่บริเวณเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของประเทศไทย พ.ศ. 2548 ได้มีการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยออกเป็น 5 ระดับ พบว่าพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการเกิดแผ่นดินไหวสูงที่สุดของประเทศไทย คือ พื้นที่บริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ตามแนวรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนเมย และรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ส่วนพื้นที่ที่มีความรุนแรงรองลงมาในระดับความเสี่ยงน้อยถึงปานกลาง คือ บริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันตก และภาคใต้ ตามแนวรอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนพะเยา รอยเลื่อนเถิน รอยเลื่อนระนอง และรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ส่วนบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น จัดอยู่ในพื้นที่มีความเสี่ยงน้อย และไม่มีความเสี่ยงที่ต้องออกแบบอาคารรับแรงแผ่นดินไหว
รอยเลื่อนกว่า 10 รอยเลื่อน ที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้เสมอ การซ้อมแผนเผชิญเหตุ และ การเสริมความแข็งแรงโครงสร้างอาคาร บ้านเรือน จึงยังเป็นสิ่งสำคัญ
ประชาชนทั่วไปสามารถ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน EarthquakeTMD ซึ่งพัฒนาโดยกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวและประกาศเตือนภัยสึนามิ