อยู่ดีมีแฮง : เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านกับการแบ่งปัน

อยู่ดีมีแฮง : เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านกับการแบ่งปัน

วันที่ 6 -7 มิถุนายน 2565  ในงานมหกรรมแลกเปลี่ยนพันธุกรรมพื้นบ้าน  “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการจัดการเมล็ดพันธุ์โดยเกษตรกร” ที่บ้านสวนซุมแซง ต.ท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานร่วมกับ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคเหนือ , เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ , เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคตะวันออก , สมาคมเกษตรกรรมทางเลือกฉะเชิงเทรา , เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดสุรินทร์ , เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดยโสธร , กลุ่มข้าวหอมดอกฮัง จ.สกลนคร , สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา , กลุ่มเกษตรฮักน้ำจาง จ.ลำปาง เครือข่ายนักวิชาการ และสถาบันการศึกษาเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมความรู้ในการผลิต เก็บรักษา และขยายพันธุกรรมพื้นบ้าน

แชร์ แลกเปลี่ยน กระจายเมล็ดพันธุ์

“พวกเรามองว่าการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ เกษตรกรทั่วไปสามารถทำได้ และทำได้ดีด้วย เพราะทุกวันนี้เกษตรกรหลายคนต้องไปรับเมล็ดพันธุ์จากรัฐและเอกชนเพื่อนำมาปลูกขาย แต่ถ้ารัฐส่งเสริมองค์ความรู้การจัดเก็บเมล็ดพันธุ์เท่าที่ควร เกษตรกรก็สามารถมีเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ได้ โดยไม่ต้องไปหาซื้อจากข้างนอก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของเกษตรกรลงไปได้ อีกอย่างการที่เรามาแลกเปลี่ยนข้อมูลวันนี้ทั้งของเกษตรกรด้วยกันเอง และ จากนักวิชาการต่าง ๆ มันจะช่วยให้เกษตรกรมีเทคนิคการจัดการความบริสุทธิ์ทางสายพันธุ์ของตนเองได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ องค์ความรู้เหล่านี้ จะต้องไปอยู่กับชาวบ้านให้ชาวบ้านได้จัดการกันเอง นี่คือสิ่งที่พวกเราจัดงานวันนี้ขึ้นมา

สุเมธ ปานจำลอง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน พูดถึงที่มาที่ไปของการจัดงานมหกรรมครั้งนี้ รวมไปถึงยังกล่าวเสริมอีกว่าการที่รวมเครือข่ายจากทั่วประเทศเข้ามาร่วมงานในครั้งนี้ ก็เพื่อให้ทุกคนนำเมล็ดพันธุ์จากบ้านของตนเองมาแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายอื่น ๆ เพื่อกระจายเมล็ดพันธุ์อย่างทั่วถึง

“อีกหนึ่งอย่างที่เราจัดงานครั้งนี้ขึ้นมา ก็เพื่อกระจายเมล็ดพันธุ์ที่เรามีไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ด้วยครับ เพราะอย่างเรามีข้าวก็เอามาแลก จากของเหนือเขาก็มีเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดก็เอามาแลก จากใต้มีเมล็ดผักก็เอามาแลกกัน เพื่อให้ทุกคนนำกลับไปปลูกในพื้นที่ของตนเอง และที่สำคัญก็คือเอาองค์ความรู้สองสามวันนี้ที่เราแลกเปลี่ยนกันไปปรับใช้ด้วย”

นอกจากนี้เรื่องของสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยในงานครั้งนี้ด้วย โดยมีวงเสวนาที่พูดคุยจากวิกฤติโลกร้อน ภาวะเศรษฐกิจ : ผลกระทบและนโยบายของประเทศไทย , การปรับตัวของเกษตรกร เพื่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทิศทางการพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชผัก โดยมีทั้งนักวิชาการและเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรมาแลกเปลี่ยนในแต่ละห้อง ให้คนที่สนใจเข้าไปรับฟังตามอัธยาศัย 

“เกษตรกรรมเองก็มีบทบาทที่ซับซ้อนต่อการเกิดภาวะโลกร้อน กิจกรรมทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การปล่อยก๊าซมีเทนและไนตรัสออกจากนาข้าวและพื้นที่ปศุสัตว์ ส่วนการเป็นแหล่งสะสมคาร์บอนในพื้นที่เกษตรหมายถึงการเก็บสะสมคาร์บอนในพืชและในดินผ่านกิจกรรมการเกษตรต่างๆ เช่น การปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ การปรับปรุงดินโดยใช้วัสดุอินทรีย์หรือวัสดุที่มีคาร์บอนสูง และการส่งเสริมระบบวนเกษตร รวมไปถึงการลดกิจกรรมที่เร่งการทำลายคาร์บอนในดิน โดยเฉพาะการเผาเศษซากพืชในพื้นที่เพาะปลูก…..”

ธีรพงษ์ เหล่าพงศ์พิชญ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานนโยบายและยุทธศาสตร์ (กปอ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เล่าถึงแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติของประเทศไทย รวมถึงการปรับตัวของเกษตรกรที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

“นอกจากนี้แนวทางการปรับตัวสำหรับเกษตรกรที่สำคัญเลยเราต้องปรับปฏิทินการเพาะปลูก การทำเกษตรให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น คือ การใช้ข้อมูลสภาพอากาศ ประกอบแผนการปลูก รวมไปถึงการติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติในพื้นที่รอบข้างและสถานการณ์โลก เพื่อให้ทันต่อการจัดการในอนาคต”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ