ข่าวการชุมนุมของชาวนาในหลายจังหวัดเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ นับว่าเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ ปัญหาราคาข้าวตกต่ำเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบ ปัญหาน้ำท่วมที่ตามมาทำให้ข้าวมีความชื้นสูง รวมถึงปัญหาการส่งออกต่างก็ได้รับผลกระทบ ราคาข้าวเปลือกอยู่ที่กิโลกรัมละ 5-8 บาท ถือเป็นข่าวร้ายและฝันร้ายให้กับคนที่ประกอบอาชีพชาวนาเป็นอย่างมาก เนื่องจากการประกอบอาชีพทำนาถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ เป็นอาชีพที่ทำงานหนักและลำบาก แต่ผลตอบรับกลับไม่คุ้มค่า แบกรับต้นทุนการผลิตสูงลิ่ว ทั้งค่าหว่าน ค่าไถ ค่ารถเกี่ยวข้าว แต่พอนำข้าวไปขายกลับมามือเปล่า ตกอยู่ในอาการน้ำตาตกในเพราะขายข้าวขาดทุน จากการมองเห็นปัญหาซ้ำซ้อนแทบจะทุกปี ทำให้ชาวนาบางคนเริ่มที่จะปรับเปลี่ยนวิถี เริ่มมองหาพืชเศรฐกิจตัวใหม่เข้ามาทดแทนการปลูกข้าว เพราะถ้าไม่ปรับตัวฝืนทำต่อไปเรื่อย ๆ ก็ต้องพบเจอกับคำว่าขาดทุนทุกปี
ผู้เขียนในนาม “อยู่ดีมีแฮงออนไลน์”จะนำพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับอาชีพใหม่ เมื่อการทำนาอาจไม่ใช่คำตอบของชาวนาอีกต่อไป การมองหาพืชชนิดใหม่เข้ามาทำแทนการทำนาจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น เราจึงเดินทางมาที่ บ้านยางเครือ ต.บึงแก อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร เพื่อมาพบกับ “วรวุฒิ โพธิ์ศรีทอง” อดีตหัวหน้าช่างไฟฟ้า จากโรงงานผลิตลวดเชื่อมในจังหวัดสมุทปราการ แต่เพราะสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ช่วงนั้นรุนแรงจึงต้องทำให้กลับมาอยู่บ้าน ที่บ้านยางเครือ ต.บึงแก อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร เมื่อออกจากงานกลับมาอยู่บ้านก็ต้องหนีไม่พ้นการทำนาเพราะเป็นอาชีพที่สืบทอดกันมาช้านาน
วรวุฒิ โพธิ์ศรีทอง เล่าให้กับทีมงานอยู่ดีมีแฮงฟังต่ออีกว่า “การทำนาได้ผลผลิตดี เพราะพื้นที่ทำนาดินมีความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่าเป็นนาตีนบ้าน นาอู่ข้าวอู่น้ำ เพราะเวลาฝนตกน้ำจะไหลมารวมกันที่นี่ ทำให้บริเวณที่ทำนามีความชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา ถึงจะได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ แต่เมื่อนำไปขายกลับได้ขายในราคาถูก ทำนา 2 ไร่ ได้ข้าวไร่ละ 1 ตัน ทำนา 2 ไร่ก็ได้ 2 ตัน ราคารับซื้อข้าวอยู่ที่กิโลกลัมละ 8 บาท มีรายได้จากการขายข้าว 2 ตันประมาณ 16,000 บาท แต่เมื่อนำเงินที่ขายข้าวมาลบต้นทุนการผลิตออก เช่นค่าจ้างรถเกี่ยวข้าวไร่ละ 700 บาท ค่าปุ๋ย ค่ายไถ ค่าหว่าน ค่าจ้างคนงาน รวมค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้วแทบจะไม่เหลืออะไร”
เมื่อการทำนามาถึงทางตัน
หลังจากเริ่มมองเห็นแล้วว่าการทำนาอาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป จึงมองหาพืชชนิดใหม่เข้ามาทดแทนการทำนา “เมื่อช่วงประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว ช่วงที่ยังทำงานอยู่ที่โรงงานได้นำไผ่ตงหวาน มาทดลองปลูก 2 ต้น เพื่อที่จะเอาไว้กินในครัวเรือน ที่เหลือก็แบ่งขาย หลังจากปลูกเสร็จไผตรงหวานให้ผลผลิตได้ดี มีหน่อเยอะ ออกหน่อทั้งปี มีรสชาติหวานอร่อยเป็นที่ต้องการของเพื่อนบ้าน และร้านอาหารในหมู่บ้าน เลยมองว่าปลูกไผ่ 1 กอขายได้เงิน 1,000-2,000 บาท ถ้ามีไผ่เยอะกว่านี่ 100-200 กอก็คงขายได้มากกว่านี้”
จึงได้นำความคิดเหล่านี้ไปเล่าให้กับคนในครอบครัวฟัง และแน่นอนไม่มีใครเห็นด้วยที่จะยอมเสียที่นามาทำสวนไผ่ แต่นั่นก็เป็นเพียงก้าวแรกของการเริ่มต้น สิ่งที่ยากที่สุดไม่ใช่การทำสวนไผ่ แต่คือการเปลี่ยนความคิด เพราะที่นาก็คือที่ทำนา จะทำอย่างอื่นไม่ได้นอกจากการทำนา เป็นความคิดฝังลึกลงไปข้างในยากที่จะเปลี่ยน และไม่เพียงคนในครอบครัวที่ไม่เห็นด้วยเพื่อนบ้านรอบข้างก็ต่างวิภาควิจารย์ถึงความเป็นไปไม่ได้ ซ้ำยังถูงมองเป็นผีบ้า จะเอาพื้นที่นามาทำสวนไผ่ แต่ด้วยความมุ่งมั่นและต้องการพิสูจน์ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ ว่าการปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนการทำนาก็สามารถมีรายได้มาจุนเจือครอบครัวได้ เลยตัดสินใจที่จะซื้อดินมาถมที่ เพื่อที่จะปลูกไผ่
ถมที่นา 2 ไร่ มาทำสวนไผ่ตงหวาน แทนการทำนาข้าว
เมื่อไม่อาจเปลี่ยนความคิดให้ทุกคนมาเห็นด้วยได้ การลงมือทำจึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุด วรวุฒิ โพธิ์ศรีทอง จึงเริ่มจากซื้อดินมาปรับที่นา แต่ด้วยพื้นที่ที่ปลูกจำนวน 2 ไร่ ทำให้ดินที่นำมาปรับพื้นที่ไม่เพียงพอจึงต้องแก้ปัญหาโดยการยกคันดินให้สูง เพื่อเวลาฝนตกน้ำจะได้ไม่ท่วมขังมากเกินไป โดยจะปลูกไผ่ในระยะห่างประมาณ 4×4 เมตร ไผ่เป็นพืชที่ปลูกง่ายโตเร็ว ไม่มีศัตรูพืช แต่ถ้ารู้เทคนิคการปลูกจะทำให้ได้ผลผลิตทั้งปี
วรวุฒิ โพธิ์ศรีทอง เล่าเทคนิคการปลูกไผ่ให้ทีมงานอยู่ดีมีแฮงฟังต่อว่า “ที่นี่จะปลูกทั้งแบบตรงและแบบเอียง ปลูกแบบเอียง 45 องศา ให้ตาไผ่ที่อยู่ในดินชี้ขึ้นฟ้า เป็นสูตรปลูกไผ่ที่ง่ายที่สุดและโตเร็วที่สุด เพราะถ้าปลูกแบบตรงหน่อไผ่จะแทงออกด้านข้างลำต้น และกว่าจะทำโค้งขึ้นมาได้จะใช้เวลานาน แต่ถ้าปลูกแบบเอียง 45 องศา หน่อไผ่ก็จะแทงขึ้นตรงได้เลยทำให้ไผ่โตเร็วและได้ผลผลิตเร็ว”
“นอกจากเทคนิคการปลูกแล้วการให้น้ำก็สำคัญ ถ้าเป็นช่วงหน้าแล้งจะให้น้ำทุกวัน เพราะให้น้ำเยอะหน่อไม้ก็จะออกเยอะ แต่ถ้าเป็นช่วงทั่วไปที่ไม่ได้เร่งน้ำเร่งปุ๋ย 2-3 วันให้น้ำ 1 ครั้งก็ได้ ช่วงเดือนธันวาคม ไปถึงเดือนมกราคม เดือนกุมภาพันธ์ เดือนมีนาคมและเมษายน ช่วงนี้หน่อไม้จะได้ราคาสูงเพราะตามธรรมชาติจะหากินยาก จึงได้ราคาดี กิโลกรัมละ 50 บาท”
มีรายได้จากการขายหน่อไม้ และกิ่งตอนไผ่รวมถึงหน่อไม้ดอง
หลังจากปลูกเสร็จดูแลให้น้ำประมาณ 8-9 เดือนไผ่จะเริ่มออกหน่อและตัดขายได้ ราคากิ่งตอนเริ่มต้นที่ 50 บาท หน่อไม้สดราคาจะแล้วแต่ฤดูกาลบางช่วงจะขาย 4 กิโลกรัม 100 บาท หรือ 3 กิโลกรัม 100 บาท แต่ถ้าช่วงเดือนธันวาคม หน่อไม้ตามธรรมชาติเริ่มน้อยลง ทำให้หน่อไม้ปลูกมีราคาสูงขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 50 บาท
“หน่อไม้สดจะขายเฉพาะที่หน้าสวนเท่านั้น จะมีชาวบ้านในพื้นที่มาซื้อไปกิน รวมถึงร้านอาหารในหมู่บ้านมารับซื้อถึงหน้าสวน ทำให้ไม่มีหน่อไม้ไปวางขายในตลาด มีรายได้จากการขายหน่อไม้ประมาณเดือนละ 7,000-8,000 บาทต่อเดือน”
ชักชวนเพื่อนบ้านให้มาปลูกไผ่ตามหัวไร่ปลายนา
ทุกวันนี้มีชาวบ้านทั้งใกล้และไกลที่สนใจเข้ามาเรียนรู้การปลูกไผ่ แวะเวียนเข้ามาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้อยู่ไม่ขาดสาย สำหรับพื้นที่ตรงไหนที่ทำนาข้าวไม่ได้ วรวุฒิ โพธิ์ศรีทอง ก็จะแนะนำให้ทดลองเอาไผ่ไปปลูก เพราะชาวบ้านบางคนมีที่นาเป็นนาดอน คือพื้นที่นาอยู่สูง ทำนายากไม่มีน้ำเพียงพอในการทำนา ก็จะแนะนำให้ชาวบ้านลองเอาไผ่ไปปลูกถ้าไม่ทำสวนใหญ่ก็เริ่มต้นจากการปลูกไว้ตามหัวไร่ปลายนา หรือปลูกไว้ตามหลังบ้าน ปลูกไว้กินในครัวเรือน ปัจจุบันมีคนในหมู่บ้านที่สนใจในเรื่องการทำเกษตรผสมผสานเพิ่มมากขึ้น และเข้ามาเรียนรู้การปลูกไผ่ ซึ่งเมื่อก่อนคิดว่าคงได้ผลผลิตไม่ค่อยดี แต่เมื่อมีผลผลิตออกมาก็ได้ผลผลิตดีเกินคาดจึงนำมาปลูกไว้ในพื้นที่ของตนเอง ทั้งแบบกินในครัวเรือน 4-5 กอ ไปจนถึงทำเป็นสวนใหญ่ 3-6 ไร่
“ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น เมื่อก่อนไม่มีใครสนใจ แถมยังถูกมองว่าเป็นผีบ้า ถมที่นาปลูกไผ่แต่ทุกวันนี้ได้รับการยอมรับมาขึ้น อีกทั้งการทำสวนไผ่ก็ไม่ได้มีขั้นตอนยุ่งยากเหมือนการทำนา และเมื่อเทียบรายได้จากที่เคยทำนาแล้วมาทำสวนไผ่ก็พบว่าการทำสวนไผ่มีรายได้มากกว่าการทำนาขายข้าว”
สิ่งสำคัญของการของการลดพื้นที่ทำนามาทำสวนไผ่ คือการเปิดใจ ปรับเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อมองหาโอกาศจากพืชชนิดใหม่เข้ามาทดแทนการทำนาข้าว เพราะถ้าหากไม่ปรับเปลี่ยนยังคงยึดวิถีการทำนาขายข้าวแบบเดิม ๆ ก็ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องของการลงทุน และรอเสี่ยงโชคเอากับตอนขายที่ราคาที่ไม่แน่นอน ซึ่งก็ต้องวนเวียนอยู่อย่างนี้ แต่ถ้าหากยอมเจ็บแต่จบ มองหาโอกาศเพิ่มความหลากหลายในพื้นที่อาจจะเจอคำตอบที่กำลังตามหา การทำสวนไผ่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สร้างรายได้ไม่แพ้การทำนาขายข้าว การสร้างความหลากหลายในพื้นที่จะช่วยพยุงให้เราอยู่ได้ แม้ในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้ก็จะทำให้เราผ่านพ้นไปได้