“แรงงานนอกระบบ” ข้อท้าทายในฉากจบมนุษย์เงินเดือนของคนคืนถิ่น

“แรงงานนอกระบบ” ข้อท้าทายในฉากจบมนุษย์เงินเดือนของคนคืนถิ่น

ภาพ : พลวัฒน์ ดวงเข็ม

“มันมีหลายรสชาติ ทั้งสุข ทั้งทุกข์ ปน ๆ กันไป เราตัดสินใจเลือกแล้วว่าจะกลับมาอยู่บ้าน เราก็เลยหอบหนี้กลับมาก้อนหนึ่ง”

เยาวลักษณ์ บุญตา หรือ แฮ็ก อีกคนรุ่นใหม่ที่เดินทางกลับบ้านเกิดใน จ.บุรีรัมย์ เริ่มต้นบทสนทนาในวงคุยออนไลน์ “สถานะ คนรุ่นใหม่กลับบ้าน” ที่บ้านสวนซุมแซง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม  ร่วมกับทีมวิจัยคนรุ่นใหม่กลับบ้าน (อาสาคืนถิ่น) ทีมนักวิชาการ คณะทำงาน รวมถึงตัวแทนกลุ่มคนรุ่นใหม่กลับบ้าน 7 ชุมชนภาคอีสาน มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และสถาบันการจัดการความรู้การเกษตร เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา 

ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติโควิดหลายระลอกที่เกิดขึ้น อีกทั้งแรงผลักจากผลกระทบทางเศรษฐกิจก็เป็นอีกปัจจัยที่พาแรงงานรุ่นใหม่หลายคนย้ายถิ่นกลับบ้านเกิดมาสร้างฝันในภาคการเกษตร ซึ่งหลายคนเริ่มต้นด้วยการเป็น “แรงงานนอกระบบ”

เยาวลักษณ์ บุญตา คนรุ่นใหม่กลับบ้าน จ.บุรีรัมย์

เยาวลักษณ์ บุญตา คนรุ่นใหม่กลับบ้าน จ.บุรีรัมย์ อดีตสาวโรงงาน เป็นอีกคนที่กลับบ้านมาพร้อมหนี้สิน แต่เพื่อพิสูจน์ตัวเองเพราะความตั้งใจจะปักหลักที่บ้านเป็นฐานที่มั่นเพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว  “ตอนที่ตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านด้วยหนี้สิน อย่างหนึ่งคือเราอยากพิสูจน์ตัวเองเหมือนกันว่า คนที่ยังไม่กลับมาอยู่บ้าน คิดว่าส่วนหนึ่งมีหนี้เลยไม่กลับบ้าน แต่เรามีหนี้เราก็ยังอยากกลับ แฮ็กคิดว่ามีหลายคนที่อยากกลับมาอยู่บ้าน ตอนนี้ที่พยายามทำอยู่ อาจจะไม่ได้หวังพึ่งภาครัฐก็พยายามสู้ด้วยตัวเอง อย่างน้อยในเพื่อนเครือข่าย กิจกรรมโครงการต่าง ๆ ที่พี่เขาเปิดโอกาสให้มาเข้าร่วม เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้ทำสิ่งเล็ก ๆ ที่อยากทำ…”

ข้อท้าทายของกลับบ้านพร้อมหนี้สินที่ต้องแบกรับควบคู่กับหน้าที่ที่ต้องดูแลครอบครัวคืออีกโจทย์ในวันกลับบ้านของเธอ

“การที่คนมีหนี้กลับมาอยู่บ้านจะเริ่มต้นอะไรสักอย่างหนึ่งต้องใช้เงินทุน การที่เราเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน แหล่งความรู้ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรในชุมชนที่เขาสนับสนุน หรือข้อมูลข่าวสารของโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ  เวลาเขามีกิจกรรมต่าง ๆ บางครั้งแรงงานพื้น ๆ แบบเรา บางครั้งไม่ได้มีพลังอะไรเยอะในชุมชน ไม่ได้มีบทบาทอะไรเยอะ บางครั้งเขาอาจจะไม่ได้คิดถึง เราถ้าการสื่อสารมาถึงเราก็น่าจะดี เรื่องของการสื่อสารที่ทำให้เราเข้าถึงได้ เรื่องของเงินทุน ความรู้ ให้คนที่มีหนี้ บางครั้งส่วนมากถ้าพูดถึงเงินทุน ส่วนนมากต้องมีหลักค้ำประกัน หลักทรัพย์ต่าง ๆ แต่คนมีหนี้ความน่าเชื่อถือมันก็ไม่มีแล้ว เป็นข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่ง”

การเข้าสู่เมืองใหญ่ในวันที่จบการศึกษาของวัยแรงงานดูเหมือนจะกลายเป็นสูตรสำเร็จที่พาเอาสรรพกำลังของครอบครัวและชุมชนจากคนนอกกรุง ไปเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความศิวิไลซ์แก่เมืองจนงดงาม คับคั่ง และแออัดในบางแง่มุม แต่ในวันที่คืนกลับอ้อมกอดชุมชน

“แรงานนอกระบบ” กลับกลายเป็นโจทย์ท้าทายในการเริ่มต้นใหม่

“ข้อมูลที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่งก็คือว่าคนที่เป็นแรงงานนอกระบบที่กลับบ้าน ในกลุ่มเป้าหมายของเรามีระดับการศึกษาในระดับปริญญาตรี เป็นส่วนใหญ่ ระดับ ม.ปลาย ก็เยอะจริง ๆ ไม่ได้ทิ้งห่างกัน เท่าไหร่นัก ที่สำคัญคนกลุ่มนี้เขาเป็นกำลังหลักที่หาเลี้ยงในครอบครัวด้วย” จิตราภรณ์ สมยยานนทนากุล อาจารย์คณะวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม เล่าถึงข้อมูลผลการสำรวจแรงงานนอกระบบใน 6 จังหวัด ภาคอีสาน

จิตราภรณ์ สมยยานนทนากุล อาจารย์คณะวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม

“ข้อมูลพื้นฐานที่เราได้จากการเก็บข้อมูล อันที่หนึ่งคือคนที่เป็นแรงงานโดยอายุเฉลี่ยของกลุ่มเป้าหมายเราอยู่ที่ 38 ปี อายุต่ำสุด 23 สูงสุดอยู่ที่ 65 ปี แสดงว่าคนส่วนใหญ่แล้วเขาเป็นคนในระดับกลางคน ซึ่งมันจะแตกต่างจากภาพอดีตที่คนที่กลับบ้านส่วนใหญ่ มักจะเป็นคนที่เกษียณแล้วกลับบ้าน แล้วพบว่าคนที่อยู่บ้านส่วนใหญ่แล้ว จะอยู่ท่ามกลางญาติพี่น้องจำนวนครึ่งร้อยประมาณ 50 คน มีความเข้มข้นสูงมาก ข้อมูลที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่งก็คือว่าคนที่เป็นแรงงานนอกระบบที่กลับบ้าน ในกลุ่มเป้าหมายของเรามีระดับการศึกษาในระดับปริญญาตรี เป็นส่วนใหญ่ ระดับ ม.ปลาย ก็เยอะจริง ๆ ไม่ได้ทิ้งห่างกัน เท่าไหร่นัก ที่สำคัญคนกลุ่มนี้เขาเป็นกำลังหลักที่หาเลี้ยงในครอบครัวด้วย แม้ว่าจะเป็นนแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ที่บอกว่าเขาเป็นหลักแต่ถ้าเราไปดูอีก 49 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ จริง ๆ แล้วเราจะพบว่าพวกเขามีส่วนสำคัญมาก ในเศรษฐกิจของครอบครัว”

จิตราภรณ์ สมยยานนทนากุล ยังเล่าถึง ระบบที่ควรรองรับแรงงานนอกรระบบ “แล้วแรงงานนอกระบบเหล่านี้ กลุ่มเป้าหมายของเราส่วนใหญ่คือคนที่ออกจากโรงงาน 80 เปอร์เซ็นต์ เขาบอกกับเราว่าาเขาไม่ได้ต้องการจะกลับมาเข้าสู่ระบบโรงงาน เขาอยากจะอยู่บ้าน ความต้องการที่เขาต้องการ Upskill เป็นเรื่องของการเกษตร ซึ่งไม่ใช่การเกษตรแบบเดิมนะคะเป็นการเกษตรสมัยใหม่ แล้วก็รวมไปถึงพวกเกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตต่าง ๆ ด้วย เรื่องการออกแบบดีไซน์ เรื่องการผลิตสื่อโฆษณา แล้วก็ที่สำคัญเขาคิดเรื่องของการตลาดด้วย ซึ่งมันจะแตกต่างจากชนบทแบบเดิม

 ในส่วนของ Reskill แตกต่างจาก Upskill คือเขาต้องการ เรื่องทักษะการบริหารจัดการองค์กร  ทักษะการจัดการบัญชี ส่วนหนุนเสริมคคือเรื่องของเงินทุน แต่ไม่ใช่เงินสงเคราะห์นะคะ แต่เป็นเงินต่อยอดอาชีพที่เขากำลังสร้างอยู่ แหล่งเงินทุนก็จะมีข้อจำกัดมากมาย เขาก็อยากให้ทางนโยบายสามารถที่จะทะลุตรงนี้ไปด้วยนะคะ

เราต้องมีการเปลี่ยนวิธีคิดทางนโยบาย ของประเทศ ต้องมองว่าคนที่กลับมาบ้านเขาไม่ใช่คนที่แพ้จากที่ไหนมาแต่เขาคือคนที่กำลังจะสร้างอะไรบางอย่าง กลับมาทำให้ตัวเอง มีประโยชน์และมีคุณค่าในพื้นที่ เพราะฉะนั้นการออกแบบนโยบายมันควรที่จะครอบคลุมคนพวกนี้ ถ้านโยบายมันเปลี่ยน หน่วยงานต่าง ๆ ก็ควรที่จะทำตามนโยบาย เช่น แหล่งที่ให้ทุน หรือแม้กระทั่งตัวธนาคารต่าง  ๆ ก็จะสอดคล้องกับ วิธีการของเขา จริง ๆ ของที่ดีมีสุด คือ คนในชุมชนในเรื่องกองทุนหมู่บ้านที่จะสามารถเอื้อเกื้อกูลคนเหล่านี้สามารถที่จะมีทุน และทำ Prototype ในพื้นที่ตัวเองได้”

การเคลื่อนย้ายแรงงานคนรุ่นใหม่คืนถิ่น นับเป็นส่วนสำคัญในการสร้างการพัฒนา สร้างงาน สร้างอาชีพ ให้ชุมชน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยทักษะความรอบรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะ เพื่อรองรับอาชีพให้กลุ่มแรงงานกลับบ้านอย่างมีระบบและทั่วถึงเพื่อร่วมสร้างคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งการรองรับเชิงโครงสร้างและระบบของท้องถิ่นคือโจทย์ระดับย่อยที่จะสามารถเติมพลังใจและไฟฝันในวันที่พวกเขาอยู่ในฉากจบมนุษย์เงินเดือน แต่กำลังเริ่มต้นใหม่ในบ้านเกิด ในชุมชนของทุกคน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ