คบเด็กสร้างย่าน หนุ่มสาวสกล – ยะลา สานเสวนาแบ่งปันเรื่องราวพัฒนาเมือง

คบเด็กสร้างย่าน หนุ่มสาวสกล – ยะลา สานเสวนาแบ่งปันเรื่องราวพัฒนาเมือง

“พอไปเรียนอยู่ต่างจังหวัดการจะกลับมาที่นี่มันจึงค่อนข้างยากแล้วแต่ปิดเปิดเทอม พอถึงช่วงทำธีสิสก็เลยคิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะอยู่บ้านนาน ๆ”

รุ้ง รุ้งรวี เอียบสกุล ผู้กำกับหนังสั้น On my way home

“ผ้ามันอยู่กับเรามอยู่กับเราตลอด เพียงแต่เราไม่ได้สนใจมากกว่า พอได้ศึกษาเรื่องผ้าในภาคใต้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เราต้องทำอะไรกับผ้าที่อยู่ตรงนี้ อะไรที่มี”

ดุล ดุลฟิรตรี เจ๊ะมะ ผู้ฟื้นฟูผ้าเปอลางี

“จุดหนึ่งเราจะรู้สึกว่าการกลับมาอยู่ที่บ้าน มันเหมือนเป็นพื้นที่ปลอกภัยของเรา เราอยากกลับมา หลังจากใช้ชีวิตตรากตรำมาช่วงหนึ่งแล้ว กลับมาทำร้านคาเฟ่เล็ก ๆ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว พออยู่ตัวก็คิดว่าจะทำอะไรต่อเพื่อเมืองของเราบ้างก็ ทำเรื่องวิสาหกิจเพื่อสังคม ก็ทำ yala icon เพราะไม่อยากเห็นชาวบ้านขายของจากความสงสาร เราไม่รู้ว่าบ้านเมืองและความสงบจะจบตรงไหน แต่ปากท้องต้องไปต่อก็เริ่มเอาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ creative economy เข้ามา เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนา”

บอลลี่ เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์ CEO SoulSouthStudio

“ในตอนแรกผมไม่ได้อยากกลับบ้านเลย ผมโตที่สกลนครก็จริงแต่ในช่วงวัยรุ่นจนถึงมหาวิทยาลัยเราใช้เวลาอยู่ที่กรุงเทพฯ ทั้งหมดเลย กลับบ้านเพราะพ่อแม่อยากให้เราที่เป็นลูกชายคนโตกลับมาช่วยดูแลกิจการที่บ้าน ตอนที่กลับมาที่บ้านแรก ๆ ก็พบว่าบ้านยังเรายังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง บ้านก็ยังไม่มีอะไรที่ตอบสนองแพสชัน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยทำอยู่ที่กรุงเทพ”

เสือ ธรรมวิทย์ ลิ้มเลิศเจริญวนิช สมาชิก YEC สกลนคร และสกลจังซั่น

“ผมไม่ได้อยากจากบ้าน ก็ใช้ชีวิตที่สกลนครมาตลอด แต่พอเรียนจบก็ถูกคำถามจากคนรอบข้าง เรียนจบแล้วทำไมไม่หางานทำ เราก็ไม่มีคำตอบให้เขาว่าจะอยู่บ้านทำงานอะไร จะหาเลี้ยงชีพด้วยอะไร ทั้ง ๆ ที่บ้านผมทำผ้าย้อมคราม”

ยิปซี ยิปซี จันทร์เพ็งเพ็ญ สมาชิกกลุ่มสกลเฮ็ด

คำแนะนำตัวสั้น ๆ ของเยาวชนคนหนุ่มสาว ผู้มีส่วนขับเคลื่อนเมือง/พัฒนาย่านจากจังหวัดสกลนครและยะลา ก่อนจะเริ่มเรื่องราวของการกลับมาบ้าน/อยู่บ้าน และกระบวนการเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน ผ่านกิจกรรมและพื้นที่ของเมือง

จากสกลนครถึงยะลา แลกเปลี่ยนประสบการณ์คนรุ่นใหม่

ธรรมวิทย์ ลิ้มเลิศเจริญวนิช สมาชิก YEC สกลนคร และสกลจังซั่น เล่าว่า พอเห็นที่บ้านไม่มีอะไรก็เลยอยากให้บ้านเรามีอาร์ตแกเลอรีดีดี มีอาร์ตเฟสติวัล แต่กว่าจะถึงจุดนั้นก็ค้นหาตัวเองหลายปี รวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ ได้เจอพี่ยิปซีที่กลับบ้านมาเหมือนกัน ส่วนที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้องจริง ๆ คือ YEC ดูเรื่องเศรษฐกิจในเมืองเป็นหลัก แต่พอรวมกลุ่มเพื่อจะจัดงาน

“พอเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในเมืองสกลนคร ทุกอย่างที่กำลังจะฟื้นขึ้นมากับกลับไปซบเซาเป็น 1-2 ปี จากนั้นก็มีกลุ่มของพี่ยิบซีที่ลุกขึ้นมาปลุกเมืองทำ สกลเฮ็ด ก็เป็นงานแรกที่คนสกลจัดงานคราฟต์ด้วยตัวเอง และได้เสียงตอบรับแบบดีมาก”

ยิปซี จันทร์เพ็งเพ็ญ สมาชิกกลุ่มสกลเฮ็ด เล่าว่า “ผมไม่ได้อยากจากบ้าน ก็ใช้ชีวิตที่สกลนครมาตลอด แต่พอเรียนจบก็ถูกคำถามจากคนรอบข้าง เรียนจบแล้วทำไมไม่หางานทำ เราก็ไม่มีคำตอบให้เขาว่าจะอยู่บ้านทำงานอะไร จะหาเลี้ยงชีพด้วยอะไร ทั้ง ๆ ที่บ้านผมทำผ้าย้อมครามแบรนด์แม่ฑีตา คุณย่าของผม ทุกเช้าตื่นขึ้นมาก็จะช่วยคุณย่าย้อมผ้า ทำอยู่อย่างนั้นจนรู้สึกเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา จากที่เหมือนโดนบังคับไม่ได้ชอบผ้า ก็กระโดดตัวเองไปทำงานที่กรุงเทพ แต่ก็คิดตลอดว่าต้องกลับบ้านมาตลอดจนน้ำท่วมกรุงเทพ เราก็คิดว่าถึงเวลาต้องกลับ มันถึงเวลาที่ต้องไปพิสูจน์ตัวเอง

“ผมไม่ว่ากรุงเทพไม่ดี แต่เราไม่ถนัดที่จะอยู่กรุงเทพฯ เพราะเราไม่ได้อยู่และเติบโตที่นั่น ก็ตัดสินใจลาออกจากงานและกลับมาช่วยคุณย่าย้อมผ้า ขายผ้า จนวันหนึ่งก็บอกที่บ้าน ไม่อยากแบกผ้าไปขายที่กรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่อีกแล้ว ก็เลยเปิดร้านกาแฟเล็ก ทำแท่นดริปเล็ก ๆ แล้วก็ใส่ท้ายจักรยานปั่นไปขายข้างถนน นั่นคือแรงผลักแรงหนึ่งที่คนบอกว่าไปเรียนมาแต่สุดท้ายก็มาขายของข้างถนน” 

เรามองว่าเราเท่ห์ แต่คนก็มองเรื่องเงิน ทำอยู่ 1 ปี แต่ระหว่างนั้นเราได้เจอผู้คน เจอเพื่อนที่กลับบ้านเหมือนกัน ได้หาพื้นที่สำหรับตัวเอง และมันทำให้เกิดแรงบันดาลใจ และพบว่าทุกคนที่เป็นคนสกลไปเติบโตและดังอยู่ที่อื่น และมีความคิดร่วมกันว่าเราต้องมีพื้นที่ของเราในการปล่อยของ เล่าเรื่อง อย่างน้อยคนรุ่นเรายังมีแรงทำ แล้วก็เริ่มทำแบบเด็ก ๆ ที่ไม่ได้ประสากับหน่วยงานก็ทำจากตัวเอง และเป็นที่มาของสกลเฮ็ด 

สกลเฮ็ด สกลทำสร้างพื้นที่แบ่งปันเรื่องราว

ยิปซี ขยายความว่า ร้านกาแฟทำให้เจอจอมยุทธที่กลับบ้านหรือบางคนอยู่บ้าน แวะเวียนมาเล่าเรื่องราวต่าง ๆ หรือผลิตภัณฑ์ของเขาที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่น เลยคิดว่ามันจำเป็นต้องมีพื้นที่ในการเล่าเรื่องของเราให้พ่อแม่ หรือคนสกลนครได้ฟัง แต่พอไม่มีพื้นที่สาธารณะแบบนั้น เลยต้องมีเทศกาลที่คนจะมาเล่าเรื่องความภูมิใจในการกลับบ้าน ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง หรืองานที่เขาทำอยู่บ้าง

พอเอาเรื่องนี้ไปคุยกับผู้ใหญ่ เขาก็ไม่เข้าใจ เลยกลับมาคุยกันในทีมว่าจะถ้าไม่มีเงินยังจะทำอยู่ไหม ทุกคนบอกว่าทำ มันไม่มีอะไรจะเสีย เพราะเราก็อยู่บ้านอยู่แล้ว

จากนั้นก็รวบรวมจอมยุทธต่าง ๆ รวบรวมของที่หาได้กับเอง ตัดไม้ไผ่จากสวนของเพื่อนมาทำบูธ ต่าย อภิรมย์มาเชื่อมเหล็กประกอบโครงสร้าง จนถึงการดูแลศิลปินท้องถิ่นที่จะมาเล่นในงานแบบฟรี เพราะเราไม่มีเงินจ้าง ไฟปิงปองก็ยืมจากศาลเจ้ามาประดับตกแต่ง เป็นต้น

“สิ่งที่อยากนำเสนอคือการดึงคนจากข้างนอกมาดูงาน ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ชวนเชฟส์ เทเบิล (Chef’s table) มาเล่าเรื่องวัตถุดิบท้องถิ่น แม่ฑีตาก็จะมีแฟนคลับ คือคนข้างนอกมาให้กำลังใจ คนข้างในก็จะตื่นตัว และมีการบอกต่อ คนในจังหวัดก็เริ่มภูมิใจเพราะมีคนข้างนอกมาชื่นชม หน้าที่ของพวกเราคืออยากสร้างแรงบันดาลใจ คุณไม่ได้ผิดนะที่อยู่บ้าน หรือกลับมาบ้าน” 

ในงานก็มีพื้นที่ศิลปินตัวเล็ก ๆ ที่มีผลงาน 5 ชิ้น 10 ชิ้น เราก็ให้เขามาวางฟรี มีคนมาเย็บเครื่องหนังเล็ก คนที่ไม่เคยออกจากบ้านก็ตื่นเต้น ผู้เฒ่าคนแก่ออกไปดูลูกหลานของตัวเอง และก็มีเพื่อนจากต่างถิ่นที่เรียกว่า เสี่ยว มาเยี่ยมบ้านเพื่อน สื่อก็มากันเองมาเยี่ยมเพื่อน สกลเฮ็ดก็เลยกระจายออกไป แต่สิ่งที่เป็นแรงผลักก่อนจัดงานคือน้ำท่วมสกลนครครั้งใหญ่

คิดว่าการสร้างกำลังใจให้การอยู่บ้านจากปัญหาน้ำท่วมทั้งเมือง ร้านค้าเสียหาย ทุกคนก็โศกเศร้า ไม่รู้จะทำอะไร ก็ใช้งานเป็นการสร้างกำลังใจให้กันและกัน เฉพาะร้านลูกชิ้นปิ้งที่มาขอขายได้วันละ 2 หมื่น

ยิปซี มองว่า การฟื้นความรู้ของชุมชน ทำให้เห็นคุณค่าและเมืองมีมูลค่าด้วย เราคิดอยู่เสมอว่าสีสันของเมืองคือผู้คน การมีพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจจะได้จอมยุทธเพิ่ม มันคือการสร้างเพื่อน สร้างการเชื่อมโยง จึงคิดถึงเรื่องสกลจังซั่น และผู้ใหญ่ที่มีนโยบายมีเงิน อยากให้เหมือนกับญี่ปุ่น จนมีเสือเข้ามาและทำให้เกิดสกลจังซั่น ที่ทำให้เกิดพื้นที่เล่าเรื่องขยับเข้าไปในตัวเมืองสกลนคร

“คิดอยู่เสมอว่าสีสันของเมืองคือผู้คน ถ้าเรามีผู้คน เราก็จะขยับเมืองไปได้ แต่เมื่อกำลังคนยังน้อยอยู่ หากมีพื้นที่อย่างสกลเฮ็ด เราจะได้ผู้คน ได้จอมยุทธเพิ่มเข้ามา เราคิดแค่นั้นไม่ได้คิดเรื่องเงินเลย พอแบบนั้นมันก็เลยเหมือนงานวัด ใครมีอะไรก็หยิบยืมมา คนมักจะถามว่าทำไมอ่อนประชาสัมพันธ์ ก็เพราะเราไม่มีเงิน ในปีแรกเรามีโปสเตอร์แผ่นเดียวอยู่ที่หน้างาน แต่คนก็เอาไปแชร์กันต่อเองในเฟซบุ๊ก แต่คนมากันเยอะมาก จนที่จอดรถ 3 สนามฟุตบอลไม่พอ

เราก็ทำหน้าที่ของเราคือเล่าเรื่อง มันเป็นความภูมิใจของคนกลับบ้าน เล่าเรื่องสิ่งที่ตัวเองทำ ต่าย อภิรมย์ ศิลปินคนสกลแต่งเพลงกลับบ้าน ใช้ชื่อ 213 หรือถนนที่กลับสกลนคร เอามาเล่นครั้งที่แรกที่ในงานนี้ พอทำครั้งที่สองก็เริ่มเห็นความเชื่อมโยง โชคดีที่เรามีเพื่อน คิดเหมือนกันและมาเชื่อมโยงกัน จนมาถึงสกลจังซั่นที่คิดการใหญ่ ขยับไปหาผู้ใหญ่ที่เขามีเรื่องนโยบาย ทุน กำลังคนในหน่วยงานมาช่วยเรา

พลังของเพื่อนหลากหลาย เครือข่าย

บอล เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์ CEO SoulSouthStudio เล่าถึง ยะลาสตอรี่ ลักษณะพื้นฐานก็อาจจะใกล้เคียงกับของสกลเฮ็ด คือใช้เครือข่าย เพื่อน ๆ ของเรา ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน อากงเจ้าของบ้าน ซึ่งจะเห็นการเกื้อกูลของคน 2 เจนเนอร์เรชัน มาใช้พื้นที่ เมืองเก่า ย่านเดิม อาคารสถานที่ผู้คน และใส่เรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นเครือข่ายในการเล่าเรื่องเมืองของเรา เหมือนกับทางสกล ใช้เครือข่ายของตัวเรา เอาเรื่องราวของเพื่อน ๆ มาเล่าเรื่องของเมือง

ถ้าถามว่าทำไมต้องเป็นถนนสายกลาง เป็นโรงแรมเมโทร ขอบอกว่าใช้ความรู้สึกล้วน ๆ เหมือนเราสปาร์กจอยและเดินเข้าไปคุยกับคนในพื้นที่บอกเจตนาว่าเราต้องการเห็นอะไรในเมืองนี้ ในพื้นที่นี้ บอกให้คนในชุมชุนเข้าใจว่าเราต้องการสร้างการรับรู้เรื่องเมืองอย่างไร และทุกคนก็มาช่วยกันผ่านพลังของเครือข่าย และใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่เพื่อให้คนในเมืองได้เล่าเรื่องเมืองต่อไป

เราเป็นคนยะลา และเห็นทุกอย่างที่เป็นทุนของเมือง สมัยเด็ก ๆ เราก็วิ่งเล่นอยู่ในพื้นที่แถวนี้ ทุก ๆ คนเครือข่าย ร้านค้าต่าง ๆ ทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรมต่าง ๆ มันเกิดจากย่านนี้ เวลาพูดถึงเมืองยะลามันมาจากสถานีรถไฟ ความเจริญต่าง ๆ มันมาในย่านนี้ เราก็เลยอยากเล่าเรื่องทุนของเมือง และใช้เครือข่ายของคนในพื้นที่ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนพลังบางอย่างซึ่งงานวันนี้เป็นครั้งแรก ที่พอเราจัดแล้วมันเกิดแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นกับผู้คน การเกื้อกูลกันของธุรกิจดั้งเดิม การเชื่อมโยงกันของคนรุ่นใหม่

ยะลา โอกาสเมืองแห่งการเรียนรู้

เสือ ธรรมวิทย์ ลิ้มเลิศเจริญวนิช แชร์ความรู้สึกว่าตั้งแต่ที่เข้ามาในเมืองยะลาก็พบว่าเมืองมันมีความน่าสนใจ มีความโรแมนติกอะไรบางอย่าง ผมมาเที่ยวทางนี้ค่อนข้างบ่อยแต่จะเป็นเบตง ไม่ค่อยได้เข้ามาในเมืองยะลา เวลามาใต้ทีไรจะมีคำเตือนให้ระวัง เราก็ตั้งใจมาดูเมือง ยะลาอย่ากลัวที่จะมา กลัวที่จะไม่ได้มามากกว่า 

ผมเห็นย่านเศรษฐกิจที่ดี ผมเจอรถติด เจอคนเดินตลาดจับจ่าย มีร้านค้าที่เปิดอยู่ค่อนข้างแน่น เมืองที่นี่เมืองยังมีชีวิตบวกกับสภาพกับผังเมืองที่การเดินมันสะดวก 

“ได้ยินคำว่ายะลา เมืองแห่งการเรียนรู้บ่อยมาก แต่มันก็จริงที่ทุกพื้นที่สามารถเรียนรู้ได้ การจัดงานก็เป็นการเปิดพื้นที่ เปิดมุมมองให้คนไม่ว่าจะรุ่นเก่า รุ่นใหม่มาดู มาเสพ มาแสดงความคิดเห็นกัน ต้นทุนอาจจะมีจำกัดแต่ยังสร้างสรรค์ผลงานระดับนี้ได้ ความเป็นเมืองยะลา ความเป็นท้องถิ่น มันมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจมาก ๆ”

ยะลากับความฝันข้างหน้า ที่เห็นเป็นอย่างไร?

รุ้ง รุ้งรวี เล่าความฝันของตัวเองว่า อยากเห็นยะลามีอาร์ตแกลเลอรี และงานนี้ก็เป็นครึ่งทางของการไปสู่จุดนั้นแล้ว ศิลปะมันต้องควบคู่ไปกับการมีชีวิตอยู่ ตราบที่มันจะเกิดความรุนแรง เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ และไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดตรงไหน แต่สิ่งหนึ่งที่ช่วยเยียวยาคนในพื้นที่ได้ก็คือศิลปะแขนงต่าง ๆ 

“ยะลามันต้องทำได้ แม้จะติดอะไรบางอย่างอยู่ แต่ยะลาต้องมีอาร์ตแกเลอรีของตัวเองได้แล้ว เด็กรุ่นใหม่และ หน่วยงานเริ่มจะหยิบงานในพื้นถิ่นมาทำวิจัย มาศึกษามาขึ้น เราในฐานะคนที่ทำมาก่อน รู้สึกว่ามันเสียดาย ที่จะให้มันเป็นเพียงแค่โปรเจ็คที่จบไปแล้วก็ถูกเก็บเอาไว้ เราเลยต้องออกจากคอมฟอร์ตโซนนั้นเอางานเชิงโปรเจ็คมาทำให้เกิดผลเป็นชิ้นเป็นอัน” ดุล ดุลฟิรตรี เล่าเสริม

บอล เอกรัตน์ ทิ้งท้ายด้วยการขอบคุณผู้เกี่ยวข้อง วันนี้เป็นความตั้งใจที่อยากให้เกิดขึ้นที่ยะลา ส่วนตัวเคยไปทำให้ที่อื่นมาตั้งหลายครั้งแล้ว แต่ทำไมถึงทำให้ที่บ้านเราไม่ได้ ครั้งนี้จึงเป็นการตอบความฝันว่าเมืองมันควรจะเคลื่อนต่อจากเส้นอะไรบางอย่างที่ก้าวข้ามไปไม่ได้ วันนี้ขอบคุณเพื่อน ชาวบ้าน น้อง ๆ อาสา เราคิดว่าทุกอย่างมันจะเคลื่อนจากนี้ต่อไป

เนื้อหาจาก เวทีแลกเปลี่ยนบทบาทคนรุ่นใหม่กับการพัฒนาเมือง เนื่องในงาน Yala Stories ระหว่างวันที่ 27 – 29 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมเมโทร ถนนรัฐกิจ ย่านสายกลาง ยะลา

Yala Stories เป็นส่วนหนึ่งของชุดโครงการวิจัยยะลาเมืองแห่งการเรียนรู้: กระบวนการสร้างสรรค์เมืองแบบมีส่วนร่วมบนความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ได้รับสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยมุ้งขับเคลื่อนเมืองยะลาไปสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ที่ขับเคลื่อนเมืองด้วยข้อมูล (Data) และความรู้ (Knowledge) มีเป้าหมาย “พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนยะลา” ภายใต้แนวคิด “อิ่มสมอง อิ่มท้อง อิ่มใจ” สร้างและใช้ความรู้ท้องถิ่นเป็นฐานในการพัฒนาเมืองให้เติบโตบนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม มีภาคีหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ เข้ามาร่วมลงทุนเพื่อให้เมืองยะลาเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (A Lifelong Learning Society) เป็นเมืองที่มีกลไกการเติบโตและมีขีดความสามารถใหม่ ๆ บนฐานของสังคมแห่งการเรียนรู้ที่มีความน่าอยู่และกระจายศูนย์กลางความเจริญและเกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ