อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และแรงงานนอกระบบ กับโจทย์รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า

อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และแรงงานนอกระบบ กับโจทย์รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า

อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ นับว่าเป็นอุตสาหกรรมอีกหนึ่งประเภทที่สาร้างมูลทางเศรษฐกิจ และการจ้างงานให้ประเทศไทยอย่างมหาศาล ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า งานสร้างสรรค์ของคนไทยมีฝีมือที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก เพราะหลายครั้งที่ผลงานฝีมือคนไทยเผยแพร่สู่สายตามนานาชาติจนเป็นที่ประจักษ์  มีศิลปิน และแรงงานสร้างสรรค์ชาวไทยมากมาย ที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก และแม้บางคนจะเลือกมีความสุขกับเส้นทางของตนเอง แต่ก็สร้างผลงานมากฝีมือให้เราได้ชม ได้สัมผัส

แต่แรงงานสร้างสรรค์ในประเทศไทยไม่เคยถูกมองเห็นจากภาครัฐ พวกเขามีความมั่นคงในชีวิตต่ำ ไม่เคยมีวันหยุดพัก ไม่มีแม้แต่สวัสดิการรองรับ หากวันใดหยุดงานก็เสี่ยงต่อการไม่มีเงินเพียงพอในการใช้ชีวิต ซ้ำยังต้องยอมจำนนต่อการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมในบางครั้ง ซึ่งการยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้องกับค่าครองชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ คือส่วนหนึ่งที่จะยกรับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม

คุณเล่าเราขยาย โดย วิภาพร วัฒนวิทย์ จึงชวนสนทนากับ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี จากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงสถานการณ์ของแรงงานสร้างสรรค์ในไทย และข้อเสนอสำหรับแรงงานสร้างสรรค์ต่อรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะมารับหน้าที่ โดยยกตัวอย่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในกลุ่มธุรกิจบันเทิงและวัฒนธรรมอย่าง หมอลำ ในพื้นที่ภาคอีสาน ที่กำลังเกิบโตอย่างมาก และเป็นภาพชัดอีกหนึ่งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในปัจจุบัน

หมอลำ กับ แรงงานสร้างสรรค์นอกระบบ

“หมอลำ” ซึ่งเป็นหนึ่งใน Soft power ซึ่งเป็นธุรกิจบันเทิงที่สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชาวอีสาน และมีแรงงานจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ โดยข้อมูลจากงานวิจัยหมอลํากับเศรษฐกิจและสังคมของคนอีสาน โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  ระบุว่า ก่อนโควิดระบาด หมอลำ สร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจของภาคอีสานรวมทั้งสิ้น 6,615 ล้านบาท มีการจ้างงานทั้งในและนอกระบบรวมทั้งสิ้น 38,835 คน นอกจากนี้ยังมีรายงานการจัดเก็บดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยด้านแรงงาน ระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนแรงงานสร้างสรรค์กว่า 931,000 คน

แรงงานสร้างสรรค์ ขับเคลื่อนสังคม แต่ไร้หลักประกัน

จากข้อมูลข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทำให้มีกลุ่มแรงงานสร้างสรรค์จำนวนมาก และคนกลุ่มนี้ คือส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคม แต่ยังขาดการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม และคาดความมั่นคงในอาชีพ ซึ่ง รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี จากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า

“ผมเคยถามคำถามกับเด็กมัธยมและเด็กมหาวิทยาลัยว่า ถ้าไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินอะไรคืออาชีพที่พวกเขาอยากทำ คำตอบคือ นักร้อง นักแต่งเพลง นักแสดง และหลาย ๆ อย่าง นี่คือสิ่งที่พวกเขาอยากทำ แต่อาจจะทำไม่ได้ เพราะว่าในความเป็นจริงเมื่อไปวัดเรื่องรายได้มันอาจจะไม่มากพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ แต่ก็มีหลายคนที่เข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งเรื่องน่าเศร้าที่เห็นจากงานวิจัยที่ผมทำก็คือว่า แรงงานสร้างสรรค์ อาชีพเหล่านี้ ไม่ได้รับคุณค่าและเป็นอาชีพที่ถูกจัดอยู่ในอันดับ 3 อันดับ 4 ของรายได้ในประเทศนี้ ทั้ง ๆ ที่มันขับเคลื่อนสุนทรีย์ของสังคมนี้ ขับเคลื่อนความเป็นมนุษย์ ขับเคลื่อนการพัฒนาการทางสังคมของเรา แต่ว่าคนที่ทำอาชีพนี้กลับไม่มีหลักประกันอะไรเลย”

soft power ไทย และต้นทุนแรงงานสร้างสรรค์ที่ยังไม่ถูกมองเห็น

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีการรวบรวมและให้ความหมาย Soft Power ไว้ว่า คือ ‘กระบวนการ’ หรือ ‘กลไก’ สร้างอำนาจต่อรองในระดับนานาชาติที่ประเทศนั้นต้องการให้ทั่วโลกจดจำ ซึ่งต้องผ่านการวางยุทธศาสตร์ และกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในระยะยาว โดยการจัดอันดับ Global Soft Power Index 2022 ระบุว่า Soft Power ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 35 จาก 120 ประเทศทั่วโลก ส่วนในเอเชีย ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 6 รองจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และอินเดีย

soft power คำใหญ่คำโต ที่ไทยติดอันดับ 30 กว่าของโลกนี้ สิ่งหนึ่งที่ผมอยากบอก มันมาจากคนที่อยู่ตามไร่นาแล้วไปอยู่ต่างประเทศทั้งนั้นเป็นคนธรรมดาทั้งนั้นที่ดิ้นรนตามชีวิตพื้นฐานของเขา ซึ่งไม่ได้รับการส่งเสริมอะไรจากรัฐเลย ซึ่งเป็นคนที่หอบผ้าหอบผ่อนทิ้งชีวิตที่ยากจนจากประเทศไทยแล้วก็ไปอยู่ต่างประเทศ คนที่ทำให้ผัดไทยเป็นที่รู้จัก คนที่ทำให้รำไทยต่าง ๆ เป็นที่รู้จัก ไม่ได้เกิดจากการส่งเสริมของรัฐ แต่เกิดจากการที่พวกเขาดิ้นรนเอาชีวิตไปอยู่ข้างนอกและทำให้นานาชาติ นานาประเทศรู้จัก

อย่างศิลปินในสายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักร้อง ลิเก หมอลำ แดนซ์เซอร์ ที่เราบอกว่าวันหนึ่งเค้าเล่นเพียงคืนละชั่วโมง แล้วคนทำงานออฟฟิศก็อาจจะบอกว่าง่ายจะตายทำงานแค่วันละชั่วโมงก้ได้เงิน แต่ว่ากว่าที่พวกเขาจะสามารถร้องลิเก ร้องหมอลำแบบนี้ได้ กว่าที่พวกเขาจะแกะคอร์ด แกะเนื้อได้ มันมีเส้นทางในชีวิตของพวกเขาที่สั่งสมประสบการณ์มา ซึ่งบางคนอาจจะทำงานฟรี 2-3 ปี บางคนได้เพียงแค่ข้าวและที่พัก กว่าที่จะออกมาเป็นโชว์ในคืนเดียวได้ มันมีต้นทุนมหาศาล มันมีมูลค่าที่โอบอุ่นชุมชนและครอบครัวของศิลปินคนหนึ่งไว้

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กว่าเสริม

ระบบสวัสดิการถ้วนหน้า คือความต้องการพื้นฐานทุกอาชีพ ?

เราทุกคนล้วนเป็นแรงงาน แต่มีลักษณะรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไป แม้การจัดตั้งรัฐบาลในปี 2566 นีั้จะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ปากท้องของแรงงานทุกคนคือสิ่งที่รัฐต้องแรงแก้ไข แต่ระหว่างรอรัฐบาลชุดใหม่ เราสามารถขับเคลื่อนยกระดับสิทธิต่าง ๆ ได้อย่างไร โดย รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ บอกว่า

แต่ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องใหญ่เวลาที่เราพูดถึงเฉพาะอาชีพใดอาชีพหนึ่ง  ซึ่งผมคิดว่าทุกอาชีพมันมีความต้องการพื้นฐานที่เหมือนกันคือเรื่องสวัสดิการพื้นฐาน ซึ่งจากที่ผมไปสัมภาษณ์กลุ่มแรงงานศิลปินสร้างสรรค์มา พวกเขาต้องการอะไรที่ง่ายมาก เขาต้องการแค่ระบบบำนาญที่สามารถดูแลพวกเขายามแก่เฒ่าได้ เขาต้องการระบบประกันสังคมถ้วนหน้า ที่จะเป็นหลักประกันของคนที่ไม่มีนายจ้างได้ ระหว่างคอยรัฐบาลเราต้องมองให้ออกว่า เราต้องการระบบสวัสดิการถ้วนหน้าที่จะตอบโจทย์คนทำงานทุกอาชีพ คนที่มีความเจ็บปวดที่ต้องการเหมือนกัน ระบบสวัสดิการถ้วนหน้านี่คือสิ่งพื้นฐานที่เราผลักดันได้ และมันมีการผลักดันมาก่อนหน้านี้ซึ่งเราก็ต่อยอดได้

อะไรคือสิ่งที่รัฐต้องทำ เพื่อสนับสนุนแรงงานสร้างสรรค์

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ได้พูดถึงสภาพชีวิตของแรงงานศิลปินในสังคมไทย ซึ่งเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพ รายได้ สวัสดิการ หนี้สิน และได้อธิบายข้อเสนอการปรับปรุงเชิงนโยบายสำหรับแรงงานสร้างสรรค์ 4 ข้อ ได้แก่

  1. การรับรองรายได้ศิลปิน ผ่านกองทุนประกันรายได้ศิลปิน 
  2. ส่งเสริมการรวมตัวและการสร้างเครือข่าย
  3. ระบบบำนาญถ้วนหน้า
  4. การยกเว้นหรือลดหย่อนหนี้สินสำหรับแรงงานศิลปิน

โดย รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ได้กล่าวเสริมว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์นอกจากจะสร้างมูลค่าในตัวมันเองแล้วมันยังเสริมธุรกิจอื่น ๆ อีกมากมาย อาจจะพูดได้ ว่าแรงงานสร้างสรรค์ พวกเขาสร้างสรรค์โลกใบนี้ขึ้นมา ทำให้โลกใบนี้น่าอยู่มากขึ้น แต่ว่ากลับเป็นกลุ่มแรงงานที่มีความเปราะบางด้านสวัสดิการและสุขภาพ ณ ปัจจุบันนี้เท่าที่ผมวิจัยมาผมคิดว่าน่าจะเป็นกลุ่มที่เปราะบางสูงสุด ถ้าไม่มีงานก้ไม่สามารถมีรายได้เลี้ยงชีวิต อย่างคนว่างงานที่รัฐจ่ายให้สามเดือนแรก ก็คือคนที่เป็นแรงานในระบบ อยู่ในประกันสังคม แต่แรงงานนอกระบบกลุ่มนี้ก็ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขประกันสังคมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงทำให้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่แทบจะไม่ได้อะไรจากรัฐเลย และข้อเสนอทั้งหมดข้างต้นมันเกี่ยวเนื่องกับคุณภาพชีวิตของของแรงงานแล้วก็ความมั่นคงในชีวิตของประชาชนคนไทย ซึ่งวันนี้จำนวนมากเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่มีสวัสดิการทางสังคมใด ๆ

เรื่องแรงงานและสวัสดิการนั้น ทุกพรรคการเมืองพูด ทุกพรรคการเมืองหาเสียงเรื่องนี้ ซึ่งผมเคยพูดก่อนเลือกตั้งแล้วว่า พอหลังเลือกตั้งนโยบายที่พวกเขาหาเสียง พวกเขาจะไม่ทำ พวกเขาจะไปทำนโยบายที่เขาไม่ได้หาเสียง เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่เราต้องทำคือกดดัน ให้พวกเขาละอายและอย่าให้เขาเห็นประชาชนเป็นของตายของใคร สวัสดิการแรงงานคือชีวิตของคนหลายล้านคนในประเทศนี้ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราต้องพักดันให้มันเกิดขึ้น รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ย้ำก่อนส่งท้ายกับคุณเล่าเราขยาย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ