พัทลุง New Gen กับการยกระดับ “สาคู” ที่มากกว่าแป้งสาคู

พัทลุง New Gen กับการยกระดับ “สาคู” ที่มากกว่าแป้งสาคู

พัทลุง New Gen กับการยกระดับ “สาคู” ที่มากกว่าแป้งสาคู

ทีมงานแลต๊ะแลใต้ชวนฟังเสียงคนพัทลุงรุ่นใหม่ที่เกิด และเติบโตท่ามกลางป่าสาคู เห็นวิถีชีวิตของคนในครอบครัวที่สัมพันธ์กับต้นสาคู จนกลายเป็นความผูกพันระหว่างตัวเองกับต้นสาคู แต่วันนี้พื้นที่ป่าสาคูของจังหวัดพัทลุงลดลงอย่างต่อเนื่อง การรักษาพื้นที่ป่าสาคูไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มมูลค่าให้กับต้นสาคูเป็นอีกโจทย์สำคัญที่ทำให้พวกเขากลายเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดสาคู ที่สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์สาคูได้มากกว่าแป้งสาคู

“ตอนแรกเรียนสาขาวิศวกรรมศาสตร์เพราะรู้สึกว่าชอบ แต่ยังไม่ใช่ รู้สึกว่ายังไม่ตอบโจทย์กับตัวเรา เลยไปเรียนสาขาเศรษฐศาสตร์ เมื่อเรียนจบเศรษฐศาสตร์มาแล้ว เรารู้สึกว่าอยากกลับมาอยู่กับแม่ เพราะตอนที่เรียนเราออกไปอยู่ไกลบ้าน ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยต่างจังหวัด เมื่อชีวิตต้องห่างจากที่บ้านไปนาน ๆ รู้สึกอยากกลับมาอยู่กับครอบครัว อยู่กับชุมชน อยู่กับวิถีชีวิตที่เราโตมา ตอนเป็นเด็กเราเตะบอลกับรุ่นพี่ เพื่อน ๆ รู้สึกผูกพันกับที่นี่”

กนกพล นาคะวิโรจน์ หรือมอส หนึ่งในผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนสำหรับการผลิตไวน์สาคู เล่าถึงที่ช่วงหนึ่งของชีวิตที่ต้องจากบ้านไปเล่าเรียน ก่อนจะตัดสินใจกลับมาทำงานที่บ้านไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาไวน์สาคู

ขึ้นชื่อว่าไวน์ ต้องมาจากองุ่น หรือถ้าเป็นไวน์ผลไม้ ก็ต้องมาจากผลไม้ที่มีรสหวานอมเปรี้ยว หรือเปรี้ยวอมหวานมาทำ ซึ่งแป้งสาคูไม่ใช่คำตอบเลย จะมีกำแพงจากนักดื่มไวน์ที่มองว่านี่เป็นเพียงแป้งหมักไม่ใช่ไวน์ แต่ผมมองว่ามันมีอะไรมากกว่านั้น

กนกพล นาคะวิโรจน์
กนกพล นาคะวิโรจน์ หรือมอส

“ผมโชคดีที่ได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยทักษิณ เพราะที่นี่มีงบประมาณ มีความรู้ ที่คอยสนับสนุนเราได้เยอะ เราลองผิดลองถูกตั้งแต่อุณหภูมิ ความร้อน การควบคุมค่ากรด ด่าง วิธีการบรรจุขวด การคัดเลือกจุกปิดปากขวด การเลือกรูปทรงขวด และการออกแบบฉลากบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ระยะเวลาในการหมัก การถ่ายเทตะกอน การบ่ม เราต้องทดลองเพื่อให้ได้กลิ่นของสาคูออกมามากที่สุด กลิ่นไวน์สาคูจะเป็นกลิ่นแป้ง แต่ก็ไม่ใช่แป้งแบบทั่วไป แต่จะมีความเป็นเอกลักษณ์ของสาคู”

“ต้นสาคู ก่อนที่เราจะเก็บเกี่ยว(นำมาแปรรูปเป็นแป้ง) ต้องเป็นต้นที่มีอายุ 8-10 ปี ต้องมีช่อดอกหรือเขากวาง ตามภาษาพื้นถิ่นออกมาก่อน ถึงจะสามารถนำมาแปรรูปเป็นแป้งสำหรับการนำไปทำขนมหวานที่เรากินกัน ซึ่งเราก็นำแป้งนี่แหละมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการหมักและบ่มไวน์ จนออกมาเป็นไวน์สาคูในปัจจุบัน”

สาคู 1 ต้น ได้แป้งประมาณ 100 กก. ซึ่งก่อนจะได้ไวน์ขวดแรกที่ลงตัว เราใช้ต้นสาคูไป 2 ต้น หรือคิดเป็นแป้งสาคูประมาณ 200 กก. ได้

กนกพล นาคะวิโรจน์

“หากเราแปรรูปต้นสาคูมาเป็นแป้ง เราก็จะขายได้แบบ 1 ต่อ 1 คือแป้ง 1 กก. จะขายได้ประมาณ 150-300 บาท ขึ้นอยู่กับการตลาดของแต่ละคน แต่เมื่อเรานำแป้งในปริมาณที่เท่ากันคือ 1 กก. มาเป็นวัตถุดิบทำไวน์ได้ 1 ถัง ซึ่งจะได้ไวน์สาคูจำนวน 8 ขวด หากขายขวดละ 500 บาท เราก็จได้ 4,000 บาท จากเดิมแป้ง 1 กก. ขายได้ 150 บาท เมื่อนำมาแปรรูปให้มีความหลากหลาย และเกิดเป็นทางเลือกใหม่ ๆ ให้ผู้บริโภคมากขึ้น ให้คนเข้ามารู้จักสาคูมากขึ้น ซึ่งเรามองว่าไวน์สาคู อาจจะเป็นเพียงทางผ่านให้คนมารู้จักผลิตภัณฑ์จากสาคูตัวอื่น ๆ ได้มากขึ้น นี่ถือเป็นโอกาสที่ดีในการเพิ่มมูลค่าให้กับสาคู”

“เราโชคดีที่ตอนกลับมาอยู่บ้าน สามารถทำงานทั้ง 2 อย่างควบคู่กันไปได้ แต่เป็นความท้าทายว่าจะได้ผลอย่างไรกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่”

กนกพล นาคะวิโรจน์
มอส และเพื่อน ๆ ที่ร่วมกันก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน

ด้านษฐากร  ขำนุ้ย หรือโจ อีกคนที่เติบโตมากับป่าสาคู มีชีวิตวัยเด็กที่ผูกพันกับต้นสาคูและวิธีการแปรรูปสาคูที่รับช่วงต่อมาจากคนในครอบครัว ปัจจุบันโจ เป็นผู้จัดการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตแป้งสาคู ที่เขาบอกว่าเป็นวิสาหกิจที่มีศักยภาพในการผลิตแป้งสาคูออกสู่ตลาดได้ในปริมาณมาก ผ่านการใช้เทคโนโลยีในการควบคุมการผลิต

“ทุกส่วนของต้นสาคูสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ทั้งหมด และคนสมัยก่อนเก่งมาก ที่รู้ว่าจะเอาสาคูส่วนไหนมาทำอะไรบ้าง จนเกิดเป็นร่องรอย และวิถีของคนทำสาคูให้คนรุ่นลูกหลานได้จดจำและสืบต่อกันมา”

ษฐากร  ขำนุ้ย

“วิสาหกิจชุมชนของเราผลิตแป้งสาคูเป็นหลัก เราทำงานผลิตที่ซ้ำ ๆ จนวันหนึ่งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย มาเยี่ยมโรงงาน มาดูกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน แล้วได้หยิบผ้าจากในเข่งขึ้นมาหนึ่งผืนมาถ่ายรูป แล้วบอกผมว่าควรจะทำเป็นผ้ามัดย้อม เราก็คิดในใจว่านี่เป็นการบ้านชิ้นใหญ่ และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร”

“แต่ในระหว่างนั้นผมก็ได้เดินทางไปอบรมในพื้นที่ต่าง ๆ จนได้ไปเจอกับกลุ่มที่ทำผ้ามัดย้อมจากคราม ซึ่งทางกลุ่มก็แนะนำให้ทำเลย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของผ้าพิมพ์ลาย เป็นการนำคนที่มีความรู้เรื่องการทำผ้ามัดย้อมมาต่อยอด โดยมีหลักการคือการนำแป้งสาคูที่สกัดออกมาแต่ยังเปียกอยู่ และต้องทำให้แป้งนั้นแห้ง เราจึงเราผ้าไปใส่ไว้ในเข่งเพื่อรองแป้งเหล่านั้นให้สะเด็ดน้ำ ซึ่งขั้นตอนนี้จะทำให้แป้งทำปฏิกิริยายากับอากาศ (ออกซิเดชัน) ทำให้เกิดสีบนผ้า และเป็นผ้าที่คุณสมบัติดีกว่าผ้าย้อมทั่วไปคือซักเท่าไหร่สีก็ไม่ลอก”

ษฐากร  ขำนุ้ย โชว์ลวดลายผ้าพิมพ์ลายจากแป้งสาคู

“ผมไม่ใช่จิตรกรในการเขียนลวดลาย จิตรกรที่แท้จริงคือธรรมชาติที่รังสรรค์ลวดลายขึ้นมา ผ้า 1 ผืนมีเพียงหนึ่งลวดลาย และเป็นลวดลายหนึ่งเดียวในโลก”

ษฐากร  ขำนุ้ย

“ผมไม่เคยคิดว่าจะสามารถเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์สาคู และสามารถสร้างรายได้ แต่เราคิดแค่ว่าซื้อสาคูมา 1 ต้น ราคา 2,000 บาท นอกจากทำแป้งสาคูขายแล้ว ยังขายกากสาคูได้ 300 บาท ผมต้องการหาเงินเพิ่มอีก 500-700 บาท เพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับกลุ่มเราคิดกันแค่นี้ แต่เมื่อเราทำไปเรื่อย ๆ เราพบว่าสาคู 1 ต้น ที่เรานำมาทำเสื้อมัดย้อม สามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่าการนำมาทำแป้งสาคู เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ และเราสามารถต่อยอดมันได้”

“เมื่อก่อนที่เราเริ่มขายแป้งสาคู คนที่ซื้อจะบอกว่ากวนยาก ซื้อไปก็ต้องทิ้ง และด้วยวิธีคิดแบบชาวบ้านเราก็ใส่วิธีการกวน ใส่ช่องทางติดตาม หรือดูคลิปวิดีโอการกวนสามารถในช่องทางต่าง ๆ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ วันนี้เราจึงมีกลยุทธ์ในการขายแบบใหม่โดยการเปิดศูนย์ที่เป็นตัวแทนจำหน่าย เพื่อให้คนที่สนใจเข้ามาชิม เมื่อลูกค้าบอกว่ากวนไม่เป็น เราก็ให้สาธิตวิธีการกวนสาคูให้เขาดู นี่เป็นจุดขายของเรา โดยการทำให้ลูกค้าเห็นวิธีการ ขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อซื้อใจลูกค้า แล้วเขาก็จะซื้อสินค้าของเรากลับบ้านไป นี่ยังเป็นความภาคภูมิใจของเราด้วย”

“เรื่องการต่อยอดผลิตภัณฑ์ เรายังต้องรอองค์ความรู้จากสถาบันการศึกษา ผู้รู้ นักวิจัย นักโภชนาการอาหาร แต่สิ่งที่ผมอยากเห็นมากที่สุดคือเมื่ออยากกินสาคู สามารถเดินเข้าไปในห้าง หรือร้านสะดวกซื้อ สามารถฉีกถุงกินได้เลย”

อีกคนที่ต่อยอดแป้งสาคูมาเป็นลายผ้ามัดย้อม และลวดลายเสื้อผ้า หรือของใช้ต่าง ๆ คือ ปพิชญา นาคะวิโรจน์ หรือปลา ที่เรียนจบแล้วเลือกกลับมาอยู่บ้าน โดยนำความรู้จากรั้วมหาวิทยาลัย มาสร้างผลิตภัณฑ์และแบรนด์ของตัวเองในบ้านเกิด ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่ปลาและครอบครัวผูกพันมาตั้งแต่เด็ก ๆ

ตรงนี้จะเรียกกันว่าป่าสาคู มาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว เมื่อเรามาทำอะไรที่นี่เลยคิดว่าน่าจะเป็นชื่ออื่นไปไม่ได้ เลยใช้ชื่อว่า “ป่าสาคู” ตอนนี้เปิดให้นักท่องเที่ยวได้มาเรียนรู้ รองรับได้ตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ มีกิจกรรมทำผ้ามัดย้อม งาน DIY เราทำบราวนี่สาคู เพื่อทำให้สาคูกินง่ายขึ้น

ปพิชญา นาคะวิโรจน์

“เราไม่ได้มองว่าสาคูเป็นเพียงแป้งทำขนม หรือเป็นอาหารสัตว์ เรานำมาพัฒนาเป็นของกินที่เข้าถึงเด็กรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น กินง่ายขึ้น อยากการนำมาเป็นส่วนผสมในน้ำ ทำเป็นไข่มุก ให้ดูน่ากิน สิ่งเหล่านี้ได้มาจากการที่เราซึมซับกับภูมิปัญญา แล้วนำมาประยุกต์ใช้”

“ในส่วนของผ้าสาคู เราใช้น้ำล้างแป้งซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการผลิตแป้งสาคู ซึ่งเป็นน้ำเหลือทิ้ง เราอยากใช้ประโยชน์จากสาคูให้ได้มากที่สุด เลยนำน้ำเหลือทิ้งมาแช่หรือหมัก ให้ได้สีของสาคูที่จะออกโทนสีน้ำตาล”

ปพิชญา นาคะวิโรจน์ สาธิตการทำผ้ามัดย้อมจากสีของแป้งสาคู

“ช่วงแรกที่เราทำตรงนี้ พ่อแม่ก็สนับสนุน แต่จะมีคนข้างบ้านมากกว่าที่ตั้งคำถามต่าง ๆ นานา เราเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ แล้วค่อยขยายไปเรื่อย ๆ ตามกำลังของตัวเอง ตอนนี้คนที่เคยตั้งคำถามเหล่านั้นน่าจะเห็นแล้วว่าเราทำได้จริง”

“เราทำท่องเที่ยวที่ให้คนทุกกลุ่ม ทุกวัยได้สร้างประสบการณ์ร่วมกัน เป็นการท่องเที่ยวไปพร้อมกับการทำกิจกรรมและได้ความรู้กลับไปด้วย หลายคนที่ได้มาก็จะประทับใจ ลูกค้าบางคนก็มาแล้วมาอีก และบอกต่อเพื่อน ๆ ด้วย บางคนทำงานอยู่กรุงเทพฯ เมื่อได้กลับบ้านที่พัทลุงก็จะแวะมาทุกปี”

“เราอยากเป็นพื้นที่ ที่เข้ามาแล้วอบอุ่น มาได้ทั้งครอบครัว สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ เปิดโอกาสให้ตนเองได้เรียนรู้ ให้ครอบครัวได้สานสัมพันธ์กันมากขึ้น”

ปพิชญา นาคะวิโรจน์

การต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับสาคู ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ดูแปลกหน้าแปลกตาไปจากวิถีเดิม เป็นอีกวิธีการของคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาอยู่ในวิถีคนทำสาคู แต่อีกปัญหาที่กำลังเป็นโจทย์ใหญ่ของพื้นที่ในตอนนี้คือปริมาณของป่าสาคูที่ลดลงต่อเนื่อง ทั้งจากการพัฒนาของหน่วยงานรัฐ และการเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งในมุมของมอส โจ และปลา ยังมองว่าวันนี้ป่าสาคูอาจจะเหลือน้อยลง แต่ก็ยังเพียงพอที่จะเปิดรับคนที่ต้องการกลับมาอยู่บ้านและทำอาชีพที่ยึดโยงกับต้นสาคูได้อยู่

“บ้านเราก็เปลี่ยนไปมากครับ ผู้คนแยกย้าย ป่าสาคูที่เราเคยไปเล่นน้ำถูกถมทำถนนหมดแล้ว อาจจะยังเหลืออยู่บ้าง แต่สำหรับผมแล้วเมื่อก่อนสบายกว่านี้ อยากให้หลายสิ่ง หลายอย่างยังคงอยู่เหมือนเมื่อก่อน” มอส กนกพล นาคะวิโรจน์ เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่เขามองว่าหลายสิ่งกำลังเปลี่ยนไปและส่งผลกระทบโดยตรงกับวิถีและความเป็นอยู่ที่ครั้งหนึ่งเคยผูกพันกับป่าสาคูมากกว่าตอนนี้

วันนี้เรายังมีทรัพยากรที่เพียงพอสำหรับการแปรรูปหรือนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับว่าเราจริงจังกับมันแค่ไหน ทรัพยากรมีอยู่ทุกที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่พืช หรือคน หรือสัตว์ แต่อาจจะเป็นกลุ่มคน หรือสังคมใดสังคมหนึ่งก็ได้ ซึ่งหากคนที่ออกไปอยู่ข้างนอกแล้วอยากกลับมาอยู่บ้าน แล้วมีใจอยากทำงานของตัวเองจริง วันนี้พัทลุงเรามีทรัพยากรพร้อมไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ ธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ”

“เรามีแผนรองรับ 2 แผน คือตรงไหนมีต้นสาคูเราก็จะซื้อและทำสัญญาไว้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น

ในส่วนของการแก้ปัญหาระยะยาว เราใช้พื้นที่ว่างของเราประมาณ 8 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำด้วย โดยการปลูกต้นสาคูทดแทน ด้วยหลักการคือโค่นสาคู 1 ต้น ปลูกทดแทน 2 ต้น

ซึ่งมั่นใจว่าในระยะเวลา 3-4 ปีนี้ เราไม่ขาดแคลนแน่นอน”

“สาคูหล่อเลี้ยงชีวิตเราเหมือนกับสายน้ำ ให้ความรู้สึกอบอุ่น

ที่นี่เป็นเหมือนปลายน้ำ ที่สามารถนำสินค้าของชุมชน มาทำให้คนจากข้างนอกได้เรียนรู้และเข้าถึงชุมชนง่ายขึ้น

ใครที่อยากเรียนรู้วิธีการทำแป้งสาคูเราก็จะส่งต่อไปยังกลุ่มที่แปรรูปแป้งสาคู

เพื่อให้รายได้กลับไปยังชุมชน”

ผลิตภัณฑ์จากป่าสาคู

ขอบคุณภาพจาก : ทีม On the REC.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ