แพร่ยังบรัช : คนรุ่นใหม่กลับบ้าน เล่าขานตำนานเมืองแพร่ ผ่านการสร้างเศรษฐกิจชุมชน

แพร่ยังบรัช : คนรุ่นใหม่กลับบ้าน เล่าขานตำนานเมืองแพร่ ผ่านการสร้างเศรษฐกิจชุมชน

เปิดพื้นที่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่กลับมาอยู่บ้าน เพื่อร่วมกันสร้างเมืองแพร่น่าอยู่ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

จังหวัดแพร่เป็นพื้นที่ภาคเหนือที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าและภูมิปัญญาของงานฝีมือแขนงต่าง ๆ หรือที่คนเมืองเรียกกันว่า “สล่า” ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดแพร่อย่างเหล็กและไม้สักที่สามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น มีด เครื่องเฟอร์นิเจอร์ จนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดแพร่และจังหวัดภาคเหนือที่อยู่ข้างเคียง

ที่ผ่านมางานฝีมือในจังหวัดแพร่ถูกขับเคลื่อนด้วยช่างฝีมืออาวุโสเป็นหลัก จนกระทั่งเกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 บรรดาลูกหลานที่เป็นคนรุ่นใหม่ออกไปทำงานต่างพื้นที่ได้ทยอยกลับบ้านจากผลกระทบด้านหน้าที่การงานและผลประกอบการ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยที่ได้รับทักษะงานช่างฝีมือจากคนรุ่นก่อนติดตัวไป เมื่อพวกเขากลับมาตั้งหลักที่บ้านก็ได้นำทักษะดังกล่าวมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้มากขึ้น

หนึ่งในคนรุ่นใหม่เมืองแพร่มีความเห็นว่า หากต้องการให้คนรู้จักงานสล่าแพร่มากขึ้น จะอาศัยแค่จุดขายจากผลิตภัณฑ์อย่างเดียวอาจยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่ยังต้องหาทางเพิ่มคุณค่า ยกระดับงานฝีมือชุมชน ด้วยการสร้างเรื่องราวให้กับผลิตภัณฑ์ ยกตัวอย่างที่ชุมชนบ้านร่องฟองในพื้นที่อำเภอเมืองแพร่ เมื่อก่อนชาวบ้านที่นี่จะเน้นผลิตมีดเพื่อรองรับงานอุตสาหกรรมการเกษตร ทำให้ในแต่ละเดือนชาวบ้านร่องฟองสามารถผลิตมีดได้เป็นจำนวนมาก แต่พอถึงช่วงที่คนรุ่นใหม่เริ่มทยอยกลับบ้าน และกำลังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง งานตีมีดสไตล์คนรุ่นใหม่จึงปรับรูปแบบเป็นงานคราฟต์ เน้นขายความเป็นศิลปะของมีด ยกระดับมีดชุมชนให้ดูมีคุณภาพ น่าซื้อเก็บสะสม สามารถนำไปใช้สอยได้จริง และสามารถเก็บรักษาได้เป็นเวลานาน

เช่น เดียวกับที่บ้านพระหลวง หนึ่งในชุมชนที่โดดเด่นด้านภูมิปัญญาเฟอร์นิเจอร์ไม้สักในพื้นที่อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ที่ต้องการยกระดับงานเฟอร์นิเจอร์ให้ได้มากกว่าการใช้สอยประโยชน์ อย่างผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ท่านหนึ่งในบ้านพระหลวงที่นอกจากจะนำคอนเซ็ปต์ของเฟอร์นิเจอร์ชุมชนมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็กกะทัดรัดแล้ว เขายังสามารถขยายเป็นสตูดิโอขนาดย่อมที่สามารถเปิด Workshop เชื่อมกับชุมชนฯ ทำให้ภาพการมีส่วนร่วมกับชุมชนจากหลายกลุ่มคนมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งชุมชนบ้านพระหลวงที่เป็นชุมชนวัฒนธรรมต้นแบบก็จะมีสิ่งน่าสนใจที่หลากหลายและมีความร่วมสมัยมากขึ้น

จากแนวคิดบ้านร่องฟองและบ้านพระหลวง กลุ่มผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่จึงมองว่า ถ้าช่างฝีมือแขนงต่าง ๆ มารวมตัวกันแล้วสร้างกลุ่มเครือข่ายสล่าจังหวัดแพร่ นอกจากจะนำเสนองานฝีมือได้หลากหลายรูปแบบแล้ว การรวมกลุ่มยังสามารถพัฒนามาตรฐานงานฝีมือในจังหวัดแพร่หรือจังหวัดใกล้เคียงให้มีคุณภาพดีขึ้นกว่าเดิม สามารถกำหนดราคามาตรฐานที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า เป็นราคาที่ตอบโจทย์คุณค่าของความคิดสร้างสรรค์ ทักษะงานฝีมือและผลงานออกมาได้อย่างสมเหตุสมผล และยังเป็นพื้นที่ที่เปิดรับคนรุ่นใหม่ที่อยากกลับบ้าน แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง พื้นที่แพร่ยังบัรชก็สามารถช่วยเป็นที่ปรึกษาให้แก่คนเหล่านี้ได้เช่นกัน

จากแนวคิดการรวมกลุ่มในวันนั้นได้เกิดเป็น “ข่วงสล่าแพร่” ก้าวแรกของการรวมกลุ่มผู้ประกอบการงานสล่าในจังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นงานกิจกรรมที่จัดขึ้นเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา และเป็นงานที่ได้ผลตอบรับอย่างเหนือความคาดหมาย จนภาครัฐและเอกชนในจังหวัดแพร่เริ่มเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดพื้นที่ “ข่วงสล่าแพร่” ที่ถนนคนเดินกาดกองเก่าในทุกวันเสาร์อาทิตย์ หรือที่ประตูชัยไนท์มาร์เก็ตในทุกวันอาทิตย์และวันจันทร์

เราจึงได้เห็นมุมมองที่มีต่อการรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายจากผู้ประกอบการงานสล่าที่มีหลากหลายแขนง และประกอบด้วยคนทุกรุ่นว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลง เชื่อมต่อ หรือขยายผลไปสู่ประเด็นอื่นได้อย่างไร และจะเกิดขึ้นในมิติใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นด้านภูมิปัญญา เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมในท้องถิ่น ซึ่งการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการงานสล่าแพร่ยังสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนที่นำโดย นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ อีกด้วย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ