วิถีคนริมโขงบ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย เมื่อสายน้ำโขงบ่คือเก่า

วิถีคนริมโขงบ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย เมื่อสายน้ำโขงบ่คือเก่า

เรียบเรียง : อ้อมบุญ ทิพย์สุนา

บ้านม่วง“หน้าชนโขง หลังชนเขา”

ที่นี่คือ  1 ใน 1,500 หมู่บ้าน ในเขตพื้นที่ 7 จังหวัดภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของแม่น้ำโขง ซึ่งตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ล้อมรอบไปด้วยภูเขา มีแม่น้ำโขงไหลผ่านทางด้าน ทิศเหนือ มีทั้งหมด 7 หมู่บ้าน มีประชากร 3,252 คน จำนวน 844 ครัวเรือน มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบสูงมีภูเขาและเป็นป่าสงวนแห่งชาติ โดยมีพื้นที่ภูเขาถึง 80% ที่ราบลุ่มตามแม่น้ำลำห้วย 20% แต่แหล่งน้ำเหล่านี้เกษตรกรมักจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือถ้าใช้ก็น้อยมาก สาเหตุเนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย แหล่งน้ำอยู่ต่ำกว่าพื้นที่ทำการเกษตร จากสภาพภูมิประเทศเช่นนี้ทำให้ชาวบ้านที่นี่ต้องพึ่งพิงน้ำโขงในเรื่องการประกอบอาชีพประมงเป็นสำคัญ  

ชุมชนของตำบลบ้านม่วงติดแม่น้ำโขงรวม 5 หมู่บ้านความยาวกว่า  15 กิโลเมตร ซึ่งในอดีตที่นี่มีชาวประมงพื้นบ้านกว่า 100 คน ที่ได้พึ่งพาสายน้ำแห่งนี้ในการดำรงชีวิต คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร ทำสวนยางพารา ปลูกไม้ผล  ในพื้นที่ที่ส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เนื่องจากเป็นป่าสงวนแห่งชาติพานพร้าวแก้งไก่   การพึ่งพาแม่น้ำโขงจึงแทบจะเป็นแหล่งอาหาร แหล่งรายได้ที่สำคัญของคนบ้านม่วง  การตั้งถิ่นฐานแม้จะเป็นลักษณะ “หน้าชนโขง หลังชนเขา” แต่สถานที่แห่งนี้ในอดีต บรรพบุรุษเลือกตั้งถิ่นฐานเพราะ ในน้ำมีปลา ในป่ามีอาหารทั้งพืชพรรณและสิงสาราสัตว์ ชุมชนเคยปลูกพืชผักสวนครัวตามตลิ่งโขง เช่น มันแกว มันเภา มะเขือเทศ พริก ผักสารพัดชนิด  มีรายได้ปีละ 5,000-20,000 ต่อครัวเรือต่อปี  ในแม่น้ำโขง เป็นแหล่งอาหารมี กุ้ง หอย ปู ปลา ด้วงไคร้ จี่นาย ฮวก เขียด กบ หนู นกเป็ดน้ำ นกกระยางขาว นกนางแอ่น นกเขาทราย เทา /สาหร่ายน้ำจืด หน้าแล้งยามน้ำลดก็มีที่สำหรับแหล่งท่องเที่ยว เช่น พันโขดแสนไคร้ อ่างปลาบึก ล่องแก่ง  หาดทราย ร้านขายอาหารช่วงเทศกาลและการค้าชายแดน การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงจึงกระทบกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก เนื่องจากมีทางเลือกไม่มากนัก

“พันโขดแสนไคร้ แดนดินถิ่นปลาแม่น้ำโขง”

ตำบลบ้านม่วง ถูกขนานนามว่า เป็นดินแดนแห่งพันโขดแสนไคร้ เนื่องจากระบบนิเวศย่อยแม่น้ำโขงที่นี่ มีความหลากหลาย เกาะแก่งในลำน้ำโขง ที่ประกอบไปด้วยโขดหินต่างๆมากมาย หินแต่ละก้อนจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป รวมถึงมีประวัติความเป็นมาเกือบทุกก้อน มีต้นไคร้น้ำ ไคร้นุ่น ตลอดจนต้นหว้าน้ำ เกิดทั่วบริเวณ นับเป็นพื้นที่ที่เรียกได้ว่า “บ้านปลา”

ภาพ ก้านก่อง จันลอง สำรวจไกแม่น้ำโขง มีนาคม,2562

                   

ในช่วงน้ำลด จะมองเห็นเกาะแก่งต่างๆ ที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด โดยช่วงที่น้ำโขงมีปริมาณลดลงเรื่อย ๆ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว จนถึงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อน มีทั้งหาดทราย แก่งหิน คก เวิน บุ่งต่างๆ รวมถึงพืชประเภทพุ่มไม้และพืชล้มลุกขึ้นปกคลุมโดยจะมีระบบนิเวศย่อยที่ชาวบ้านจะเรียกชื่อระบบนิเวศนั้นๆ ซึ่งคนในชุมชนมีเรื่องเล่า  จดจำสืบต่อกันมา  ในนิเวศย่อยเหล่านี้เอง ที่คนในชุมชนได้สั่งสมองค์ความรู้ภูมิปัญญา ในการหาปลา และจับจองสืบทอดกันมาในอดีต ชาวบ้านที่นี่เรียกพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ปลาชุกชุม ว่า “ลวงปลา”

ลวงปลา- ลวงมอง การจับจองของคนท้องถิ่น

ลวงปลา คือพื้นที่หาปลาที่มีปลาชุกชุมและอุดมสมบูรณ์ในลำน้ำโขงที่มีการจับจองมาตั้งแต่บรรพบุรุษมีลักษณะการจับจองคล้ายการจับจองที่ดิน ประมงพื้นบ้านที่นี่ จะเลือกหาพื้นที่ ที่เหมาะสม มีต้นไคร้ มีดอน มีก้อนสำหรับวางเครื่องมือหาปลา  ชาวบ้านจะรู้กันเองในหมู่บ้านว่าพื้นที่ตรงไหนเป็นของใคร ไม่ก้าวล่วงกัน

ลักษณะของแต่ละลวงก็จะแตกต่างกันออกไปตามระบบนิเวศที่เกิดขึ้น ลวงเปรียบเสมือนที่พักอาศัยของปลาหรือทางผ่านของปลาที่สามารถวางเครื่องมือจับปลาได้ตลอดปี ลวงถือว่าเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งความสมบูรณ์จากระบบนิเวศของต้นไคร้ หรือตะกอนเศษไม้ที่พัดพามาตามน้ำ จึงทำให้สัตว์ตัวเล็ก เช่น กุ้ง หอยหรือแม้กระทั่งปลาตัวเล็กๆ ก็จะออกมาหากินหรืออาศัยบริเวณนี้บางลวงที่มีลักษณะของร่องน้ำลึกมักจะพบปลาตัวใหญ่ เสมอและความอุดมสมบูรณ์ก็จะแตกต่างกันออกไปตามระบบนิเวศนั้นๆ

การครอบครอง ลวงปลาของลำน้ำโขงของชาวประมงพื้นบ้าน เป็นระบบซึ่งมีทั้งกรรมสิทธิ์ส่วนตัว และกรรมสิทธิ์ส่วนรวมหรือลวงสาธารณะ เป็นการแบ่งพื้นที่ในการทำมาหากินในลำน้ำโขงที่เป็นการจัดการกันเองของคนในพื้นที่นั้นๆ  โดยหน่วยงานรัฐไม่ได้เข้ามาจัดการพื้นที่หรือไม่ได้ออกกฎหมายเอกสารสิทธิ์ใดๆให้กับชาวประมง คนที่นี่จึงสามารถมอบให้เป็นมรดกตกทอดให้กับลูกหลาน หรือขายต่อในกรณีที่ต้องเงิน หรือยกเลิกอาชีพหาปลาเนื่องจากอายุมาก บางรายก็ปล่อยทิ้งไว้เป็นลวงสาธารณะหรือให้พรานปลาคนอื่นๆ หากินในลวงได้ถ้าตนเองไม่หาปลาแล้ว

หินทุกก้อนมีชื่อ มีเจ้าของ

ลักษณะพื้นที่หาปลาของคนที่นี่จะะมีชื่อเรียกและมีประวัติความเป็นมาที่ทำให้คนในชุมชนจดจำและสังเกตได้ว่าก้อน แก่ง  หาด คก เวิน คอน ลวงมอง ต่างๆนั้นอยู่ที่ใดมีลักษณะอย่างไร ซึ่งเป็นระบบนิเวศช่วงฤดูน้ำลด เช่น 

ก้อนหมาเน่า เป็นบริเวณที่เมื่อมีสัตว์ตายลอยน้ำมาจากทางอื่นจะไหลวนเข้ามาที่ก้อนนี้ทำให้เรียกว่าก้อนหมาเน่าเพราะจะพบสุนัขตายที่บริเวณนี้มากสุด ปลาที่พบบริเวณนี้คือ ปลายอน (เป็นปลากินเนื้อ กินของเน่า )ก้อนตัก ช่วงที่ปลาขึ้นไปตักต่องก้อนอื่นจะไม่ได้ปลา ต้องมาตักต่องที่ก้อนนี้เพราะปลาจะเยอะ คน20-30 คนหมุนเวียนกันตักก็ยังคงได้ปลาอยู่เพราะอยู่ใกล้แก่งที่น้ำไหลเชี่ยวปลาจึงหลบเข้าก้อนนี้เพื่อรอจังหวะแล้วว่ายออกไป

ก้อนพระปัด ที่เรียกก้อนพระปัดเนื่องจากว่าเป็นบริเวณที่ปลาชุมว่านแหลงไปปลาล้นแหเวลายกขึ้นก็เอามือปัดปาใส่แห ในการว่านแหบริเวณนี้ต้องไม่ว่านแหให้แตกกระจายออกไปมากเพราะน้ำไหลแรงถ้าว่านแหกว้างน้ำจะพัดแหทำให้แหไม่จ่มน้ำลงลึก จึงต้องว่านแหแคบลงแล้วยกตีนแหขึ้นปัดปลาเข้าแห ปัจจุบันก็ยังมีอยู่แต่ลาวยึดพื้นที่แล้วใช้เครื่องมือที่รุนแรงทั้งช็อต ระเบิดและเครื่องดูด ทำให้คนฝั่งไทยหาปลาบริเวณนี้ไม่ได้

ก้อนโด่ เป็นลักษณะของก้อนหินที่ยื่นออกมาเลยก่อนหินก้อนอื่นทำให้เห็นได้ชัด เป็นพื้นที่ดูปลาว่าปลาจะมาเมื่อใด มีปลาในบริเวณนี้และใกล้เคียงหรือไม่ เพราะบริเวณข้างเคียงเป็นคกที่น้ำไหลวน ปลาจะรอฝูงก็ดูที่ก้อนโด่ เป็นพื้นที่เหมาะแก่การหว่านแห

ก้อนพ่อบั่ว ที่เรียกชื่อนี้เนื่องจากว่าคนที่ชื่อบั่วจับจองพื้นที่นี้เป็นพื้นที่หาปลาโดยไม่ยอมไปหาปลาที่อื่นเลย เพื่อนชวนไปหาที่อื่นก็ไม่ไป เป็นพื้นที่ตักต่อง พ่อบั่วตักต่องที่นี้และเสียชีวิตลงบริเวณก้อนนี้ จึงเรียกก้อนพ่อบั่วเรื่อยมา       

ก้อนซุงนาก เป็นก้อนซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของตัวนาก (ลักษณะคล้ายแมวน้ำแต่เท้าเหมือเท้าสุนัข) มีหินใหญ่ 3 ก้อน ตั้งโอบกันไว้ ทำให้เกิดโพรงขึ้นนากจึงอาศัยเป็นที่อยู่อาศัยและคอยจับปลากินบริเวรนี้เนื่องจากมีปลามาก นากจึงเป็นเหมือนตัวควบคุมระบบนิเวศปลาไม่ให้มากเกินไป ปัจจุบันนากไม่พบแล้วในบริเวณนี้ แต่พบเมื่อ 20 ปี หรือในราวพี พ.ศ. 2522 ยังพบอยู่ประมาณ 5-6 ตัว

คกตุ้ม เป็นบริเวณที่น้ำโขงไหลมาเป็นเวิน ผู้เฒ่าผู้แก่จะสานตุ้มไปดักปลาบริเวณนี้ ทั้งตุ้มปลาออด ตุ้มปลาเผาะ โดยจะนึ่งผักกุ่ม หรือ หมักผักกุ่มมัดเป็นก้อนนำไปใสไว้ในตุ้มเพื่อเป็นเหยื่อล่อปลาที่กินพืช

ก้อนศาลา ที่เรียกก้อนศาลาเนื่องจากเป็นหินก้อนใหญ่เด่นชัดกว่าก้อนอื่น ๆ เป็นพื้นที่เหมาะแก่การตักต่อง และเนื่องจากเป็นหินก้อนใหญ่จึงเหมาะแก่การนัดพบและเป็นที่พักอาศัยของคนหาปลาเหมือนศาลาวัดที่ใหญ่และมีคนอาศัยอยู่ได้หลายคน

ก้อนปอสา ฤดูกาลที่ปลาปาก ปลาตะเพียรขึ้น จะนำใบปอสามาฝั่งบริเวณก้อนนี้แล้วปลาจะเข้ามากินใบปอสา จึงเรียกก้อนปอสา

ก้อนแซนสูง เป็นก้อนหินที่สูงและชัน ในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม จะเห็นชัดเจนมาก เพราะอยู่สูงกว่าหินก้อนอื่นๆ เป็นพื้นที่ลวงมอง ส่วนมากจะจับปลาใหญ่ได้บริเวณนี้      

ก้อนอาน เป็นพะลานหินใหญ่เหนือก้อนอาจะมีคกเวินขนาดใหญ่ เป็นที่หาปลาของคนในชุมชนเนื่องจากเป็นพื้นที่น้ำขนาดใหญ่และเหมาะแก่การอยู่อาศัยของปลา   

ก้อนปลาปาก เมื่อถึงฤดูที่ปลาปากขึ้นจะขึ้นบริเวณก้อนนี้เป็นจำนวนมาก ก้อนอื่นก็มีแต่ไม่มากเหมือนก้อนนี้ เพราะเป็นบริเวณที่ปลาปากผ่าน  

คกตุ้ม สมัยก่อนบริเวณนี้จะใส่เฉพาะตุ้ม ไม่ให้ใส่เครื่องมือหาปลาอย่างอื่น จึงเรียกคกตุ้ม

ก้อนพรานแหลม เป็นลักษณะของหินแหลมที่ยื่นออกมา เอาไว้เป็นที่สอดส่องดูปลา และเหมาะแก่การว่านแห

ก้อนคอนพระนาง มีหินขึ้น 2 ก้อนคู่กัน มีน้ำไหลผ่าล่องกลาง ปลาจะเยอะช่วงเดือนพฤษภาคม

ก้อนบาทเวิน เป็นลักษณะน้ำไหลวนแรง เป็นพื้นที่เหมาะแก่การว่านแหที่มีลูกแกหนัก เพราะจากน้ำที่ไหลแรงถ้าใช้แหที่ลูกแหไม่หนักแหจะไม่จมจะลอยอยู่บนน้ำ แต่ถ้าลูกแหหนักจะทำให้แหจมและถึงที่อยู่ของปลา

ภาพจำลองแสดงข้อมูลลวงมองหาปลาในเขตพื้นที่ตำบลบ้านม่วงโดย สมาณ แก้วพวง,2562

กรรมสิทธิ์บนผืนน้ำของคนลุ่มน้ำโขง

“ลวงส่วนตัว” ผู้ที่ครอบครองหรือเป็นเจ้าของจะมีการจับจองเอง หรือ ได้รับตกทอดมาจากบรรพบุรุษหรือที่เรียกกันว่า “มูน” มรดกหรือมูล สามารถวางเครื่องมือได้เฉพาะเจ้าของลวง คนไหนที่เขาใส่ประจำก็ถือว่าเป็นสิทธิ์การครอบครองโดยชอบธรรม สำหรับหารหาปลาพรานปลาหนึ่งคนจะมี ลวงตั้งแต่ สองลวงขึ้นไปตามกำลังในการหาปลา นอกจากได้รับตกทอดจากบรรพบุรุษ สืบทอดตามรุ่นพ่อสู่รุ่นลูกถ้าบ้านหลังไหนที่ทำประมงแล้วมีลูกสาวจะมอบลวงสืบทอดให้กับลูกเขย ยังมีการซื้อขายลวงปลาอีกด้วย

กลุ่มชาวบ้านที่นี่จะรู้กันเองว่าลวงตรงไหนเป็นของใคร วางเครื่องมือในลวงปัจเจกได้ถ้าเจ้าของอนุญาตหรือจะวางเครื่องมือที่มีขนาดเล็กกว่าเจ้าของลวงหากจับเข้าไปใช้ลวงปลาของคนอื่นจะต้องมีการบอกกล่าวขออนุญาตเจ้าของลวงเพื่อจะเข้าไปใช้ลวง จะต้องบอกว่าจะใส่อุปกรณ์อะไรถ้าเจ้าของลวงอนุญาตแล้ว จึงจะสามารถเข้าไปใช้พื้นที่นั้นได้ เมื่อหาปลาได้เป็นจำนวนหนึ่งถึงได้มากหรือน้อยก็ตามส่วนใหญ่ตนที่ไปขอยืมลวงหรือขอใช้ลวงจะแบ่งปลาให้กับเจ้าของลวงถ้าได้ปลาเยอะก็จะนำไปขายและแบ่งเป็นจำนวนเงินให้ แต่ถ้าหากมีการเข้าไปใส่มองในลวงของคนอื่นโดยไม่ได้บอกกล่าวก็จะมีการทำโทษหรือบอกกล่าวเพื่อให้เก็บมองขึ้นมาจากลวงนั้น

“ลวง” จะมีระบบนิเวศที่ต่างกันสภาพพื้นที่นั้น  แต่ละลวงจึงมีพื้นที่หาปลาไม่เหมือนกันโดยเจ้าของลวงนั้นจะเป็นผู้ที่รู้วิธีการการจับปลาในลวงได้ดีที่สุดและชาวประมงพื้นบ้านจะถนัดในการหาปลาที่ต่างกัน ถนัดใช้เครื่องมือต่างกันจึงเป็นที่มาของคำว่า เซียนปลาเอิน เซียนปลาโจก เซียนปลาม้าง และเซียนปลาต่างๆ โดยสรุป “เซียนปลา” คือชาวประมงที่มีความถนัดเชี่ยวชาญในการหาปลาแต่ละชนิด

  การหาปลาแม่น้ำโขงของนายอนุวรรัตน์  ชานัย  ภาพโดย มนตรี จันทวงศ์

ลวงส่วนรวม

นอกจากลวงส่วนบุคคลแล้ว ยังมีลวงมองสำหรับสาธารณะของชาวประมงพื้นบ้านของที่นี่ ถือว่าเป็นลวงที่ชาวประมงทั้งสองฝั่งโขงสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ร่วมกันได้โดยที่ไม่ต้องขออนุญาตใคร แต่ต่างคนที่เข้าไปใช้ประโยชน์ก็ต้องดูแลรักษาช่วยกัน ไม่ใช้เครื่องมือที่ผิดกฎหมายเช่นเครื่อง ซ็อตปลา สามารถใช้มอง  ที่เป็นเครื่องมือที่สามารถใช้ได้ตลอดปีได้ จะมีบางลวงที่เคยเป็นลวงส่วนบุคคลที่กลายมาเป็นลวงสาธารณะ ประมงพื้นบ้านจะมีการสอบถามว่าลวงนี้เป็นสิทธิ์ของใครถ้าไม่มีเจ้าของก็ถือว่าเป็นลวงสาธารณะไม่มีคนมาสืบทอดก็จะมอบให้ชาวประมงสามารถหาปลาร่วมกันได้ ก็ถือว่าเป็นลวงสาธารณะไม่ผิดกฎของชุมชน  อย่างไรก็ตาม ลวงสาธารณะที่บ้านม่วงมีไม่มาก และมักจะหาปลาได้น้อยหรือหาได้เป็นบางฤดู ผู้คนเลยไม่ได้จับจองเลยกลายเป็นลวงสาธารณะ ที่ทุกคนสามารถหาได้ แต่พื้นที่หาอาหาร สาธารณะของคนบ้านม่วง ส่วนใหญ่จะอยู่ตามริมตลิ่งใส่ตุ้มกุ้ง ตุ้มกบ หรือหว่านแห่ตามบุ่ง ดอน ต่างๆ

แม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลง ลวงมองก็เปลี่ยนไป  หากแม่น้ำโขงยังอุดมสมบูรณ์ ประชาชนก็ไม่ต้องพึ่งพารัฐ

นายอนุวรรัตน์ ชานัย นายกอบต.บ้านม่วง อดีตกำนันต.บ้านม่วง ให้ข้อมูลว่า ลวงแต่ละลวงมีราคาแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานที่และช่วงเวลาที่ปลาแต่ละชนิดขึ้น รวมถึงปริมาณปลาที่เคยจับได้ ลวงที่ตนเองครอบครองอยู่มีทั้งสิ้น 15 ลวง  โดยสืบทอดจากบรรพบุรุษให้มาจำนวน 5 ลวง และภายหลังซื้อเพิ่มจากพรานปลาด้วยกันอีก 10 ลวง แต่ละลวงมอง พรานปลาด้วยกันจะรู้ความสำคัญและประเมินราคากันทุกลวง โดยส่วนตัวแล้วมีลวงมองดังนี้

  1. ลวงก้อนแดงใหญ่ หาปลาได้หลายชนิดโดยเฉพาะปลาซวย ตั้งราคาขายที่ 50,000 บาท เช่า ปีละ2,000-5,000 บาท
  2.  ก้อนพ่อบั่ว ได้ปลาอีตู๋ ปลาแกง ขาย 3,000 บาท
  3.  คกบักเจ้า หาปลาได้ตลอดและได้ปลาหลายชนิด โดยเฉพาะปลาเอิน ขายที่ราคา 50,000 บาท เช่าต่อปี 3,000-4,000 บาท
  4.  ก้อนลวงไซ มีปลาอีเปิ้น ปลาช้างเหยียบ ปลาชะกลาง จำนวนมาก ขายที่ราคา 10,000 บาท เช่าต่อปี 1,000 บาท
  5. ก้อนซุงนาก ได้ปลาทั่วไป ขายที่ราคา 4,000 บาท เช่าต่อปี 800 บาท
  6. ก้อนคกซุงนาก ได้ปลาทั่วไปขายที่ราคา 30,000 บาท เช่าต่อปี 1,000 บาท
  7. ก้อนแกร่งกล้า ได้ปลาทั่วไปจำนวนมาก ขายที่ราคา 50,000 บาท เช่าต่อปี 3,000 บาท
  8. คกดอนโม ได้ปลาอีตู๋ ปลาปาก ซื้อต่อจากพ่อตู้สี 1,400 บาท
  9. ก้อนคกอาน ได้ปลาทั่วไป ขายที่ราคา 5,000 บาท เช่าต่อปี 500 บาท
  10. ก้อนหาดคอนแซนหมื่น ได้ปลาโจก ปลาบาน หาได้เกือบทุกวันโดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน ขายที่ราคา 10,000 บาท เช่าต่อปี 1,000 บาท
  11. ก้อนแปช้าง ได้ปลาอีตู๋ ขายที่ราคา 3,000 บาท เช่าต่อปี 300 บาท
  12. ก้อนคกผ้าห่ม ได้ปลาทั่วไป ขายที่ราคา 3,000บาท เช่าต่อปี 300 บาท
  13. ก้อนหลัก ได้ปลาตัวเล็ก ปลาอีตู๋ ขายที่ราคา 1,000บาท เช่าต่อปี 200 บาท
  14. ก้อนแซนสูง เช่าจากเจ้าของเดิมราคา 3,000 บาท ขอซื้อจากเจ้าของ 50,000 บาท เขาไม่ขายให้
  15. ก้อนดอนโม ซื้อมา 1,400 บาท ขาย 3,000 เช่าต่อปี 800 บาท

รวมทั้งสิ้นเฉพาะราคาขายไม่รวมค่าเช่า ประเมินเป็นเงินได้ประมาณ 250,000 บาท

เสียงผู้นำท้องถิ่นข้อเสนอต่อรัฐ

นายกอบต.บ้านม่วง นำเสนอปัญหาผลกระทบที่เกิดจากแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลง 5 พฤษภาคม 2565

นายกอบต.บ้าน กล่าวสรุปปิดท้ายในงานประชุมประชาคมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่แม่น้ำโขง เพื่อประกอบการจัดทำแผนพัฒนาด้านการเกษตรเพื่อเสนอต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 อย่างน่าสนใจว่า “ตนเองได้อาศัยแม่น้ำโขงทำมาหากิน จนสามารถมีรายได้เพียงพอเลี้ยงลูกจนเติบใหญ่ เรียนจบปริญญาตรี รายได้จากการหาปลาแต่ละปี เฉพาะตนเอง ท่านนายกฯประเมินขั้นต่ำไม่ต่ำกว่าปีละ 100,000-200,000 แสนบาท  เฉลี่ยขั้นต่ำ 500 บาท/วัน  บางวันได้ 3,000-5,000 บาท นับเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัวอย่างดี หลังจากทำการเกษตรบนบกเสร็จ ก็ลงน้ำโขงหาปลาเป็นอาชีพเสริม ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้กล้าลงทุนที่จะซื้อลวงมองกับชาวประมงคนอื่นๆ ที่มีอายุมาก ไม่สามารถสืบทอดได้ บางลวงราคาสูงถึง 70,000 บาท แต่การหาปลาเวลาได้ปลาใหญ่เช่น ปลาบึก ปลาแข้ ปลาคัง ก็ขายได้ราคาสูง ก็สามารถคุ้มทุนเงินซื้อลวงมองที่จ่ายไป  

ทั้งหมดเป็นภาพความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงในอดีตกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันหลังมีเขื่อนไซยะบุรีแม่น้ำโขงขึ้นลงรายวัน ทำให้แหล่งอาหาร แหล่งรายได้เปลี่ยนไป การลงทุนเพิ่มขึ้น ทั้งเครื่องมือหาปลาที่ต้องซื้อทีละเกือบหมื่นบาท ต่อรอบเดือนและหายไปกับน้ำขึ้นลง ซึ่งตนไม่สามารถเก็บกู้ได้ทัน บางทีมีเศษขอนไม้ ไกหรือเทามติดจำนวนมากเนื่องจากน้ำใส  เวลา น้ำมันเรือ สูญหายไปกับภาวะ น้ำโขงขึ้นลงผิดฤดูกาล  ทำให้ตนเลิกหาปลาได้เกือบครึ่งปีแล้ว ลวงมองทั้ง 15 แห่งจึงเหลือเพียงตำนาน ขายในราคา 150,000 บาท ในตอนนี้ก็ไม่มีใครซื้อ บางลวงเคยหมานปลาโจก 5-10 ตัวในการใส่มองแต่ละครั้ง ปัจจุบันหาปลาไม่ได้เหมือนเดิมแล้ว  ตู้แช่เย็นเพื่อแช่ปลาขาย 4 ตู้ จึงไม่ถูกใช้งาน  

“พันโขดแสนไคร้” กำลังจะกลายเป็นแค่ชื่อ เพราะมีแต่โขดหิน ไม่มีต้นไคร้น้ำซึ่งทำหน้าที่เป็นบ้านปลาให้สิ่งมีชีวิตได้อาศัย  ชาวประมงแม่น้ำโขงในตำบลบ้านม่วงกว่า 100 คน ลดลงเรื่อย ๆ หันหาอาชีพอื่น ชาวประมงที่เป็นผู้สูงอายุไม่สามารถปรับตัวได้เพราะเป็นชาวประมงมาทั้งชีวิต ความเห็นสำคัญในฐานะผู้นำ เขาไม่อยากให้สร้างเขื่อนกั้นน้ำโขง เพราะส่งผลกระทบชัดเจน หากแม่น้ำโขงอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม ชาวบ้านไม่เดือดร้อน ไม่จำเป็นต้องเรียกร้องอะไรจากรัฐ สามารถพึ่งพาตัวเองได้  ยิ่งในสถานการณ์โควิด ชุมชนชนบทมีแหล่งทรัพยากรให้พึ่งพิง มีปลา มีผัก ขอกันกินได้  

ล่าสุดมีบริษัทเอกชนมาหาเช่าซื้อที่ดิน 20-30 ไร่ เพื่อเตรียมแคมป์คนงานก่อสร้างเขื่อนปากชม เลยแลกเปลี่ยนเรื่องไฟฟ้าล้นเหลือในไทย ทำไมถึงจะสร้างเขื่อนอีก เห็นมีส่งขายในประเทศเพื่อนบ้าน และได้ข้อมูลว่า ต.บ้านม่วงจะกระทบหนักที่สุด อาจมีการย้ายจุดจากต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย มาเป็นพื้นที่บ้านม่วง

ท้ายสุด นายกอบต.บ้านม่วงได้ปิดท้ายว่า ธรรมชาติของแม่น้ำโขงที่ขึ้นลงตามฤดูกาล เดือนพฤศจิกายน น้ำค่อยๆลด ปลาจะขึ้นตามฤดูกาล ชาวบ้านจะมีภูมิปัญญาในการหาปลา การใช้เครื่องมือที่เหมาะสม  ระบบนิเวศย่อยก็จะเกิดตามมา เป็นบุ่ง ดอน ปลาก็วางไข่ เมื่อเข้าหน้าฝน ปลาเล็กปลาน้อยเหล่านี้ก็ไปเติบโตในแหล่งน้ำใหญ่ การขึ้นลงที่ผิดปกติ ทำให้ต้นไคร้น้ำที่เปรียบเสมือนแมว 9 ชีวิต ล้มตายลง ปลาก็คงเหมือนคนที่ต้องการแหล่งอาศัยที่กินอิ่มนอนอุ่น ปัจจุบัน กรรมสิทธิ์บนผืนน้ำที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษไร้มูลค่าใด ๆ  สิทธิของผู้คนที่ต้องการอยู่ในที่ ๆ อุดมสมบูรณ์ถูกละเมิดอย่างไร้ความรับผิดชอบและขาดการชดเชย เยียวยา

 ต้นไคร้น้ำแม่น้ำโขง ที่มีระบบรกเหมือนต้นโกงกางทะเล เสมือนบ้านปลา
  ต้นไคร้น้ำแม่น้ำโขงที่ตายลงเพราะระบบแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลง

กระบวนการต่อสู้เรียกร้องเพื่อปกป้องแหล่งอาหารและรายได้

พรานปลากว่า 100 ชีวิตที่นี่ ได้มีการพูดคุยถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง และเริ่มศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้น นายก อบต.อนุวรรัตน์ ชานัย เป็นหนึ่งในนั้น เขาเองเคยร่วมนำเสนอสถานการณ์ปัญหากับเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ในนามประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านม่วง และร่วมกิจกรรมเครือข่าย สนับสนุนให้แกนนำชุมชนคนรุ่นใหม่ เพื่อสืบสานการต่อสู้ปกป้องแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง  รวมทั้งให้ข้อมูลข่าวสารการเปลี่ยนแปลงกับสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศไม่ได้ขาด

รวมพลังทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาแม่น้ำโขง หน้าวัดสองคอน

แกนนำของชุมชนที่ลุกมาปกป้องสายน้ำคนแล้วคนเล่า ที่สละเวลาส่วนตัวเพื่อส่งเสียงให้ดังขึ้น ทั้ง สมาณ แก้วพวง ชัยวัฒน์ พาระคุณ และพรานปลาคนอื่นๆ ลูกหลานเยาวชนในพื้นที่ ต่างพยายามเรียนรู้ รวมตัวกันในนาม กลุ่มอนุรักษ์ กลุ่มเยาวชนคนฮักถิ่น  กิจกรรมครั้งแล้วครั้งเล่าถูกสื่อสารออกมาเป็นระยะ ทั้งทำงานวิจัยไทบ้าน ค่ายอาสา การสำรวจระบบนิเวศ การทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง  การร้องเรียน การร่วมกับหน่วยงานรัฐ เอกชนในการจัดทำแผนเพื่อแก้ไขปัญหา รวมทั้งเป็นห้องเรียนสำหรับนักศึกษาหลายสถาบันการศึกษาที่มาเยี่ยมเยือน กลุ่มคนเหล่านี้ก็ได้ทำหน้าที่อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไป และเขื่อนแห่งใหม่ก็เกิดขึ้นเรื่อย ๆ  และสิ่งที่เจ็บปวดสุดคือ ในวันนี้ คนลุ่มน้ำโขงอย่างสมาณ แก้วพวง และชัยวัฒน์ พาระคุณ ที่เคยมีปลาแม่น้ำโขงให้ได้หากินหาขาย กลับต้องเรียนรู้ที่จะเพาะเลี้ยงปลากับกรมประมง เพื่อความอยู่รอดเฉกเช่นชาวประมงแม่น้ำโขงที่เสี่ยงต่อการสูญเสียอาชีพตลอดกาล

การจัดทำแผนภาพระบบนิเวศประกอบการจัดทำแผนแก้ไขปัญหากับกระทรวงเกษตรและสกรณ์

การฝึกอบรมกับกรมประมง ของสมาณ แก้วพวงและชัยวัฒน์  พาระคุณ

 

กิจกรรมงานบุญไหว้ปู่เจ้าดอนหอ เจ้าปู่แห่งลุ่มน้ำโขง ความเชื่อ ความหวังสุดท้ายของคนลุ่มน้ำ
  ภาพแสดงดนตรีเลี้ยงผีแม่น้ำโขง ในงานพิธีเลี้ยงปู่ดอนหอ 19 พฤษภาคม  2565

ขอบคุณข้อมูล : สรัญญา ธาตุไชย, “ ความเปราะบางและการปรับตัวของชาวประมงจากการเปลี่ยนแปลงระดับแม่น้ำโขง กรณีศึกษา บ้านภูเขาทอง ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย”,มหาวิทยาลัยขอนแก่น,2556

สุพัตรา อินทะมาตร, ระบบกรรมสิทธิ์ในการจัดการพื้นที่หาปลาในลำน้ำโขงของชาวประมงพื้นบ้านและผลกระทบจากการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง,มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,2561

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ