บ่ายวันเสาร์ที่ 2 เม.ย. ฝนตกเทลงตั้งแต่เช้าตรู่แล้วหยุดเอาก่อนเที่ยง พวกเรานัดเจอกันที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งกลางเมืองเชียงใหม่ หลังจากที่เมื่อวานได้ฟังการแสดงของลานข่วงท่าแพ กับเพลง รอคอย…บิลลี่ และความยุติธรรม (ชาวอมก๋อยไม่เอาเหมืองเเร่) ในงาน “อมก๋อย” แดนมหัศจรรย์ ลมหายใจบนไหล่เขา รอยยิ้มของผืนดิน เสียงหัวเราะของสายน้ำ
….กฎเกณฑ์ที่พวกคุณสร้าง ไร้ซึ่งคุณค่า ไร้มาตรฐาน
พวกผมแค่ราษฎร อยู่ชนบท ไร้ซึ่งปัญหา
ผืนป่าที่เคยรักษา แต่มารับโทษในภายภาคหลัง
แบบนี้คงไม่ใช่เรื่อง คงยิ้มไม่ออกกันทั้งสยาม
ข้อดีไม่มี มีแต่ข้อเสีย แค่อยากจะถาม ถูกต้องหรือไง
หวังผลกำไรจากธรรมชาติ เป็นคุณจะยอมหรือไง
หันมาปกป้องและอนุรักษ์ให้มันอยู่กันไป
ไม่อยากจะเห็นน้ำตาพี่น้องต้องหลั่งไหลไปถึงวันตาย…
เนื้อร้อง ดนตรี อารมณ์ที่ FeelingRhyme ถ่ายทอดบนลานท่าแพ ดึงดูดให้คนเข้าไปรู้จักพวกเขามากขึ้น
ทีม FeelingRhyme เรียงจากซ้ายไปขวา : แม็ก (PPM), เจ็ด เดจาวู (DEJAVU), เอก โปรดิวเซอร์ และ นะ นะรันทู (NARUNTO)
รีวิวการแสดง “อมก๋อย” แดนมหัศจรรย์ ลมหายใจบนไหล่เขา รอยยิ้มของผืนดิน เสียงหัวเราะของสายน้ำ ที่เพิ่งผ่านมาเป็นหน่อย
วันที่ 29 มี.ค. เราขับรถออกจากเชียงใหม่ตอนหกโมงเย็น ไปถึงอมก๋อยตอนสี่ทุ่ม ก็ซ้อมกันถึงตีสอง เพื่อเล่นในที่สนามเทศบาลอมก๋อยในวันที่ 30 แล้วก็ตีกลับมาเชียงใหม่เพื่อเล่นในวันที่ 1 เม.ย.
“บรรยากาศที่ท่าแพ คนอาจจะน้อยไปหน่อย แต่พวกผมก็เล่นกันเต็มที่ ส่วนที่อมก๋อยบรรยากาศแม้คนจะไม่มากแต่บรรยากาศคึกครื้น ส่งอะไรไปเขาก็ส่งกลับมา” ร้อนแต่สนุกมากครับ
นะ : พวกผมเจอกันเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วในตัวเมืองเชียงใหม่ ผมกับเจ็ดเป็นคนอมก๋อย เป็นคนบ้านเดียวกัน ส่วนแม็กอยู่ที่ตัวเมืองแม่ฮ่องสอน แต่พวกเรามาเจอกันในตัวเมืองเชียงใหม่ เพราะชื่นชอบการฟังเพลงเหมือนกัน ไปเจอกันที่ร้านเหล้า เคมีมันถูกชะตากัน ก็เลยชวนกันทำเพลง เริ่มเขียนเพลง และคิดตรงกันว่าจะลองหารายได้จากการทำเพลง ก็เลยซื้อไมค์ ซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ มา
เจ็ด : ผมกับพี่นะ เราเริ่มทำเพลงกันก่อนคนอื่น ต่างคนก็ต่างเขียนเพลงแล้วก็เอามาฟีเจอร์ริง (ft)
พอมา ft ก็เลยตั้งชื่อวงว่า FeelingRhyme ในความหมายว่า เพลงที่เราแต่งขึ้นมาต้องเป็นความรู้สึกของเรา ส่วนไรม์ก็เป็นคำ เป็นวลี
เอาแรงบันดาลใจมาจากไหน
นะ : ตอนนั้นผมฟังเพลงแร็ปของ อิลสลิก (ILLSLICK) และอีกหลายคน
ไม่มีพวกเพลงธา (เพลงพื้นบ้านปกาเกอะญอ) บ้างหร๋อ ผมถามหยอก
เจ็ด : เมื่อก่อนผมก็ร้องได้หมดนะครับ แต่นาน ๆ ไปก็ลืม ตอนนั้นจะร้อง น่ออี้ ตือโพ
แล้ว ชิ สุวิชาน หล่ะ?
อาจารย์ชิ อาจารย์ชิ (ทุกคนพูดพร้อมพงกหัว)
เคยร่วมงานกันครับที่อ.สันทราย เป็นงานชาติพันธุ์ ช่วงก่อนที่โควิดจะเข้ามาก็มีงานหลายที่เลยครับ
เผยแพร่ผลงานกันทางไหน
ส่วนมากพวกเราก็ลงในยูทูบ เฟซบุ๊กส่วนตัว เพจของวงก็เพิ่งตั้งได้ไม่นานนี้เอง แต่ไม่ค่อยได้อัปเดตเท่าไหร่นะครับ (หัวราะ)
หมายความว่า พออยู่กันคนละที่ ก็จะใช้โอกาสที่มีคนชวนเราไปร้องเพลงตามงานต่าง ๆ มารวมตัวกัน เหมือนอย่างงานอมก๋อยเมื่อวานนี้ แล้ววางเป้าหมายของวงหรือของตัวเองไว้อย่างไร
นะ : ตอนแรก ๆ ที่ทำเพลงก็คิดว่าเพลงแร็ป/เพลงใต้ดินจะสามารถมีรายได้ ถ้าผู้ติดตาม ยอดวิวมันถึงที่เขากำหนด ก็จะมีรายได้จากส่วนนั้นมาเลี้ยงครอบครัว เลี้ยงวง เลี้ยงตัวเองได้
อยากจะไปเข้าค่ายเพลง หรืออยากจะประกวดอะไรแบบนั้นบ้างไหม
นะ : แรก ๆ ก็มีสั่งออดิโอไปประกวดในรายการไทยแรป แต่พอมันไม่ผ่าน หลัง ๆ ก็ไม่ส่งไปแล้วครับ กลับมาทำเพลงของเราเองต่อไปดีกว่า รายการพวกนี้ก็อาจทำให้เราถึงความฝันได้เหมือนกัน แต่ตอนนั้นความสามารถของเรายังไม่ถึง
เจ็ด : ผมมีความสุขเวลาที่ผมได้แต่งเพลง ทำเพลง และมีคนเข้ามาฟัง ส่วนพวกรายได้ผมก็ตั้งเป้าและคาดหวังว่ะได้จากมัน มีเงินใช้ เลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัวได้ ส่วนด้านที่ผมอยากพัฒนาตัวเอง คือการแต่งเพลงภาษาปะกาเกอะญอ เมื่อก่อนผมแต่งแต่เพลงไทย ปฏิเสธตัวเองมาตลอดว่าแต่งเพลงภาษาตัวเองไม่ได้ แต่ไปมาผมก็ลอง พอทำได้ก็มีกำลังใจและพยายามทำต่อไปเรื่อย ๆ
“อยากแต่งเพลงที่พูดถึงปกาเกอะญอ ที่มาที่ไป พ่อแม่ การใช้ชีวิต พวกวิถีชนเผ่า”
ขอฟังสักท่อนได้ไหม ที่แต่งแล้วมันจี๊ดตัวเองชอบมาก ๆ
“ชะ โมะ เทาะ เก เต่อ มึ เลอ แว สะ เก่อ หย่อ บะ นา กว้า เทาะ โมโคะ เต่อ ที ลา นา โทะ หล่อ มะ เนอ สะ นา โอะ เลอ ลอ นา เต่อ แต โพ มา โอะ เขาะ นา แกร นา ฮู เก่ ลี เต้อ ฮา เก บื่อ แว่ สะ ยื่อ บะ นา”
สรุปสั้น ๆ ว่าพี่เขาหายเงียบไป ลูกเมียรออยู่ที่บ้าน ผมภูมิใจมากที่แต่งเพลงถึงพี่บิลลี่ มันเป็นเนื้อหาที่พูดความจริงที่เกิดขึ้น
แม็ก : ผมฟังเพลงแล้วเห็นเขาแต่งตัวมันเท่ห์ดีครับ ช่วงนั้นผมใส่กางเกงหลุดตูดตลอด ก็ฟังมาเรื่อย ๆ จนมาเจอเพื่อนชวนทำเพลง ก็มีแรงผลักดัน เป้าหมายของผมก็อยากสำเร็จสักครั้ง สามารถได้เงินจากสิ่งที่เราคลุกคลีกับมันแล้วมีความสุข
ฟังทั้งสามคน ดูเหมือนจะมีเป้าหมายเดียวกันนะ
แม็ก : มันเหมือนได้พิสูจน์ตัวเองว่าเราก็ทำได้
เอก : ผมมาหลังสุด หน้าที่หลักของผมไม่ใช่การร้อง แต่เป็นการสนับสนุนพี่ในวงทุกคน ถ้าคนไหนอยากถ่ายเอ็มวีเพลงผมก็ไป สิ่งที่อยากจะเห็นเพื่อน ที่จากไม่มีอะไรด้วยกัน มีกล้องบ้าง ไม่มีขากล้อง ช่วยกันทุลักทุเลกันไป อยากเห็นเพื่อนที่เราร่วมสุขร่วมทุกข์มาด้วยกันประสบความสำเร็จ อย่างน้อยเราก็ภูมิใจว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันเขาไป
“ผมอาจจะถูกเรียกว่าเป็นโปรดิวเซอร์ หรือช่วยจัดการ แต่ในวงคนหนึ่งเป็นได้หลายตำแหน่ง มันก็ไม่แบ่งหน้าที่กันตายตัว อย่างเมื่อวานมีนักร้องที่จะต้องร่วมฟีเจอร์ริงขาดไป ผมก็ขึ้นไปร้องแทน”
งั้นก็ร้องได้สิแบบนี้
นิดหน่อยครับ
ซ้อมกันที่ไหนครับ
แล้วแต่สถานการณ์ บางที่ก็ในห้องอัด หรือซ้อมกันเองก็ในห้องพักบ้าง เพราะเราอยู่กันคนละที่ แต่ถ้ามีงานอะไร เราจะโทรนัดมาเจอกันล่วงหน้า ต้องซ้อมกันก่อนนะ หาเวลาช่วงค่ำช่วงเย็นที่ทุกคนว่างตรงกัน
นะ พี่ใหญ่ ทำงานส่วนตัวที่บ้านอมก๋อย
เจ็ด ตัวเล็กสุด กำลังเรียนสังคมสงเคราะห์ อยู่ชั้นปี 3 ที่มจร. วัดสวนดอก
แม็ก ช่วยที่บ้านขายข้าวกล้องปลอดสารอยู่ที่ในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน
เอก เล่าว่าเมื่อก่อนขายเสื้อผ้าออนไลน์ขายดีมาก ๆ พอมีสถานการณ์โควิดเลยไม่กล้าลงทุนยาว ๆ ช่วงนี้ก็ไปขับไรเดอร์บ้าง มีคนจ้างงานอะไรก็รับหมด
แล้วพอเป้าหมายระยะยาวเป็นแบบนั้น ตอนนี้พอมีรายได้จากสิ่งที่เราทำอยู่ไหม?
เจ็ด : จะมีคนเดียวที่มีรายได้เล็ก ๆ จากยูทูบ แต่มันก็นิดเดียว และโดนตัดไปเรื่อยเพราะมีคนร้องเรียนเรื่องลิขสิทธิ์บ้างอะไรบ้าง ก็ไม่เป็นไร เอาใหม่ดีกว่า ส่วนขอพวกเราจะมีช่องของตัวเอง แต่ช่องของวงจะเอาไว้ลงเพลงที่มาฟีเจอร์ริงกัน
ถ้าคนเขารู้จักเรามาก ๆ รายได้จากยูทูบมันก็จะมาเอง
นะ : เรื่องการทำเพลง พวกผมก็จะทำไปเรื่อย ๆ เพราะมันเป็นความชอบ เพลงของเรามันไม่ได้จบแค่มันออกมา พอเพลงที่เราแต่งมาจากความรู้สึกของเรา พอเราเครียด มีความสุข ไม่มีความสุข จะแฮปปี้หรือไม่ก็เอามาใส่เพลงได้หมด เพลงมันจึงเป็นอีกทางหนึ่งในการระบายมันออกไป
เจ็ด : พวกผมอยากจะลองทำสิ่งใหม่ ๆ ดูบ้าง ที่ผ่านมาคือเราทำเพลง มิกซ์เพลงกันเองทั้งหมด ก็อยากจะลองไปอัดในห้องอัดจริง ๆ ดูบ้าง ให้เขามาสเตอร์ให้ ซึ่งมันก็ต้องเตรียมเงินไว้ เพราะมันก็หลายตังค์
ผมเห็นกลุ่มแร็ปเปอร์ฝั่งทางตาก ฝั่งศูนย์อพยพ ดูเขาเวิล์ดไวด์มาก มีคนมิกซ์ มีคนทำดนตรีให้แบบใสกริ๊ง ผมก็เลยย้อนกลับมามองทางเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ยังไม่มีแบบนั้น ถ้าสมมุติกลุ่มผมสามารถบุกเบิกขึ้นมากได้ก็จะเป็นความภาคภูมิใจมาก
“ถ้าเขาทำได้ เราก็ทำได้”
เอก : ดูทางฝั่งนั้นจะสามัคคีกันมา ผู้หลัก ผู้ใหญ่ คนมีอายุสนใจหลายคนสนใจมาช่วยวัยรุ่นกันเยอะมาก เพลงเขาในยูทูบมันปังมาก แต่มองกลับมาทางพวกผม ผู้หลักผู้ใหญ่ทางบ้านยังไม่ค่อยสนับสนุนกันเท่าไหร่
เขารู้สึกว่ามันแปลกๆ หรืออย่างไรครับ
เขาน่าจะฟังไม่ทัน แร็ปเร็วไปหน่อย (หัวเราะ)
พอหัวเราะกันเสร็จ เอก ก็กลับมาขยายประเด็นต่อ
ผมก็ฟังเพลงของคนอื่น จะคิดตามตลอดว่าเขาทำอย่างไรให้เสียงมันใส เสียงเคลียร์ได้แบบนั้น แต่มันคงเป็นเรื่องเงินที่เรายังไม่มี ก็ทำวันนี้ไปแบบของเราไปก่อนครับ
อุปสรรคเยอะมาก บางทีฝนตกฟ้าร้อง ต้องให้เพื่อนมาฟีเจอร์ริงก็หอบคอมพิวเตอร์ หิ้วไมค์ อัดกันไปมีเสียงกบ มีเสียงฟ้าร้องเข้ามาด้วย สุด ๆ แล้ว
มีอะไรอีกไหมที่อยากจะทำ แต่ยังไม่ได้ลอง
เยอะเลยพี่
เจ็ด : ผมก็อยากให้ทุกคนอยู่ใกล้ ๆ กัน แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะต่างคนต่างมีหน้าที่ ก็เลยกระจัดกระจายกัน หาโอกาสเท่าที่ทำได้ เหมือนอย่างงานอมก๋อยที่ผ่านมา ปุปปับมากเลย พี่เขาโทรหาเราก็ตกลง
นะ : เพลงเหมืองแร่มันมาจากการได้เห็นข่าวว่าจะมีเหมืองขึ้นที่บ้านเรา ก็เลยระบายความรู้สึกลงไปในเพลง และเป็นอีกเสียงหนึ่งที่จะช่วยชาวบ้าน
เจ็ด : ตอนนั้นจะมีเวทีสักอย่างที่อมก๋อย แต่พวกผมกลับกันไม่ได้ ก็เลยทำเพลงส่งไปเป็นตัวแทน แต่พอเขาเห็นเพลงก็เรียกพวกเรากลับไปเลย
จากนั้นพี่นิด สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย ชวนเราไปร่วมงาน “เราทุกคนคือบิลลี่” เราก็แต่งเพลงบิลลี่ไปแจม
ตามความคิดของพวกเรา เพลงที่แต่ง ร้องออกไป มันทำงานอย่างไรกับคนฟัง
นะ : คนฟังเขาก็ชอบ และบอกว่าเขาไม่เอาเหมืองแร่เหมือนกับเรา
เจ็ด : เอาตรง ๆ นะพี่ ครั้งแรกที่ผมขึ้นไปอมก๋อยตรงที่จะเป็นเหมืองแร่ ผมเห็นเยาวชนจำนวนไม่มากที่ออกมาเป็นตัวแทนชาวบ้าน ส่วนมากจะเป็นคนเฒ่าคนแก่ ผู้หลักผู้ใหญ่ แต่รอบนี้ที่กลับไปเห็นเยาวชนเยอะมาก ส่วนหนึ่งน้อง ๆ ที่เขาเห็นผม แม้จะไม่รู้จักชื่อผมแต่ก็จะเข้ามาทักว่าอันนี้นักร้อง
เขายังไม่รู้จักเราในชื่อ เดจาวู
เจ็ด : ไม่รู้พี่ ตอนที่เราขึ้นร้องเพลง เราอาจจะไม่ได้แนะนำตัว จับไมค์แล้วร้องเลย (หัวเราะ) แต่ก็มีบางคนคอมเมนต์เข้ามาของเพลงไปลงในติ๊กต็อกผมเห็นก็ปลื้มใจนะ ผมว่าเพลงที่เราทำมันจะไม่หายไปไหน มันก็จะอยู่ตรงนั้น ทำหน้าที่ของมันไปเรื่อย ๆ
เจ็ด เดจาวู (DEJAVU)
ยังเหลือฝันอะไรบ้างที่อยากจะทำต่อ หรืออยากให้คนฟังเพลงเราแบบไหน
นะ : ผมก็จะทำเพลงไปเรื่อย ๆ อยู่คนเดียวก็จะระบายความรู้สึกออกไป ถึงมีครอบครัวก็อยากจะทำห้องอัดอยู่ ให้เพื่อน ๆ ได้มาใช้ ส่วนคนฟังก็อยากเขาลองฟังเพลงรักของผมดูบ้าง
เจ็ด : ไม่มีใครเลิกทำแน่ ๆ เหมือนกับเราหยุดทำงานไม่ได้ แล้วกับเพลงมันเป็นงานที่เรารักมีความสุข เพลงที่อยากทำต่อไปก็เป็นแนววิถีปกาเกอะญอ ตื่นเช้ามาไปดักหนู ผ่าฟืนหุงข้าว
แม็ก : อยากทำเพลง Trance พวกตึ๊ด ๆ เป็นเมโลดีที่คนฟังไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ)
“พวกเราคนละสไตล์แต่เราหาจุดกึ่งกลางให้มาอยู่ร่วมกันได้”
ส่งท้ายหน่อย FeelingRhyme ในมันมีความหมายร่วมของแต่ละคนคืออะไร
ถึงแม้จะสมาชิกแต่ละวงจะมีแนวทางของตัวเอง ทำเพลงต่างกันไปจะโอล์ดสคูล อาร์แอนด์บีบ้าง หรือทำแทรกซ์บ้าง แต่เพลงที่ออกมามันมาจากความรู้สึก แล้วก็มาปรึกษากันเอาท่อนที่แต่ละคนแต่งมารวมกัน ทำให้ความหมายมันถึงจริง ๆ
นะ นะรันทู (NARUNTO)
มันเหมือนเป็นจิกซอว์ต่อกันเป็นภาพได้ ตอนที่ผมแต่งอยู่คนเดียวอาจจะติดขัด ก็ต้องมีเพื่อน มีตัวช่วยหนุนเสริม
เจ็ด เดจาวู (DEJAVU)
เอาจริง ๆ ผมไม่ได้เรียนถ่ายวิดีโอ การตัดต่อ แต่เราให้กำลังใจกัน ผลักดันกันไป โดยที่ไม่ต้องรอคนอื่นตลอดเวลา
เอก โปรดิวเซอร์
ส่วนแม็ก (PPM) ที่ดูจะพูดน้อยกว่าเพื่อน นั่งมอง คิดและพยักหน้าตามเพื่อน ๆ เสมอ การพูดคุยเราหยุดอยู่ตรงนั้น และส่งท้ายด้วยการร่ำลากัน เจ็ดและเอกยังจะอยู่ในเมืองเชียงใหม่ ส่วนนะจะกลับบ้านที่อมก๋อย แม็กจะกลับแม่ฮ่องสอนในวันพรุ่งนี้ ขอให้ฝนที่กำลังตั้งเค้า ความแปรปรวนของสภาพอากาศไม่เป็นอุปสรรคกับการเดินทางของพวกเขามากนัก … ลองไปรู้สึกแบบพวกเขา ผ่านผลงานได้ที่ Feeling-Rhyme Music