ประชาสังคมเชียงใหม่ ขอชะลอบ้านประชารัฐ ริมดอยสุเทพ ชี้บ้านเพื่อคนจนที่คนจนเข้าไม่ถึง

ประชาสังคมเชียงใหม่ ขอชะลอบ้านประชารัฐ ริมดอยสุเทพ ชี้บ้านเพื่อคนจนที่คนจนเข้าไม่ถึง

วันนี้ 11 ก.พ. 2565 ที่ลานหน้าพิพิธภัณฑ์ฟื้นถิ่นล้านนา จ.เชียงใหม่ เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ร่วมกับภาคประชาสังคม และประชาชนที่ติดตามโครงการพัฒนาในพื้นที่ดอยสุเทพ ล้อมวงนั่งพูดคุยถึงข้อห่วงใย ข้อห่วงกังวลหากมีการดำเนินการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย 1,170 ห้อง บนพื้นที่ 15 ไร่ ตามโครงการบ้านคนไทยประชารัฐ จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนตัวแทนส่งจดหมายขอให้ชะลอและทบทวนโครงการฯ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

อ. อิศรา กันแตง อาจารย์ประจำสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ล้านนา กล่าว่า โครงการนี้เป็นแนวนโยบายของรัฐบาล เชียงใหม่เป็น 1 ใน 8 พื้นที่เป้าหมายของโครงการที่ต้องการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย โดยใช้ที่ดินของรัฐ ดำเนินการโดยกรมธนารักษ์จัดหาพื้นที่ซึ่งมีความเหมาะสมและเปิดประมูลให้เอกชนลงทุนจัดสร้างและบริหารโครงการในระยะเวลา 30 ปี และให้ผลประโยชน์กลับคืนแก่ทางราชการ กรณีของเชียงใหม่พบว่ามันมีสิ่งที่น่าห่วงกังวล คือ ตัวมติครม.วันที่ 3 ม.ค. 2561 เห็นชอบและรูปแบบการก่อสร้างที่อยู่อาศัยแบบบ้านแฝด/บ้านแถว อาคารชุดพักอาศัยขนาดไม่น้อยกว่า 28 ตร.ม. จากที่กำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 584 ยูนิต แต่ตัวโครงการของเชียงใหม่มีจำนวนอาคารที่อยู่อาศัยสูงถึง 1,170 ยูนิต

ย้ำดอยสุเทพพื้นที่สำคัญของเมือง เสนอลดความสูงอาคาร ลดความหนาแน่น

“ตนในฐานะนักวิชาการผังเมืองและคณะทำงานมรดกโลก ได้ทักแต่ต้นว่ามีความหนาแน่นมากเกินไป และผลของการสร้างชุมชนเมืองใหม่ อาจส่งผลต่อแหล่งต้นน้ำ แหล่งผลิตทรัพยากร ถ้าสภาพแวดล้อมไม่ดี เราคงอยู่ไม่ได้”

เดิมที่ดินผืนนี้เป็นของทหาร เป็นพื้นที่สีขาวตามกฎหมายผังเมือง ยังไม่ได้เปลี่ยนสีจากขาวเป็นสีน้ำเงินหรือที่ดินของส่วนราชการ ซึ่งจะควบคุมความสูงอาคารไว้ที่ 12 เมตร ตัวแบบอาคารตามโครงการมีความสูง 22.94 เมตร การดำเนินการพิจารณารายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจะดำเนินการที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่หากสูงเกิน 23 เมตรจะเข้าข่ายพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และต้องส่งไปพิจารณาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่กรุงเทพ

อ. อิศรา เสนอว่า ตัวโครงการอาจจะลดผลกระทบโดยลดขนาดอาคารลง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้ดีขึ้น และใช้ที่ดินอื่น เช่น ที่ดินของราชพัสดุในพื้นที่อื่น ๆ ขอให้ทบทวน ออกแบบ ให้เหมาะสมเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย เพราะผังเมืองรวมเชียงใหม่ได้กำหนดให้พื้นที่เชิงดอยสุเทพ เป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม และคุณค่าทางสังคม ประวัติศาสตร์ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคนเชียงใหม่ถึงรู้สึกอะไรมากมายกับพื้นที่เชิงดอยสุเทพ เช่น กรณีของบ้านป่าแหว่ง เป็นต้น

“อาคารสูงไม่ได้น่ารังเกียจ ตัวอาคารโครงการนี้ก็สูงเพียง 8 ชั้น เพียงแต่มันอาจจะอยู่ไม่ถูกที่”

นายศุภวุฒิ บุญมหาธนากร สถาปนิกชุมชนใจบ้านสตูดิโอ กล่าวว่า โครงการนี้ควรจะถูกพักหรือชะลอไปก่อน เพราะยังมีเวลานั่งคิดดี ๆ อีกครั้ง มันอาจจะเป็นประวัติศาสตร์ที่แย่ที่สุดในชีวิตของคนที่มีส่วนตัดสินใจ ซึ่งอาจซ่อนเร้นไว้ด้วยเรื่องการช่วยเหลือคนจน หรือช่องว่างของข้อบังคับระเบียบที่เกี่ยวข้อง

เจตจำนงค์ของโครงการบ้านคนไทยประชารัฐ ต้องการสร้างบ้านที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย แต่ในวิธีการแบบนี้ในจังหวัดเชียงใหม่อาจไม่มีความเหมาะสม ตนในฐานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยริมคลองแม่ข่าของจังหวัด พบข้อมูลจากการสำรวจชุมชนคนจนเมือง ซึ่งพักอาศัย เช่าที่หลวง หรือกระทั่งบุกรุกริมคลองแม่ข่า ซึ่งไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย 22 ชุมชน กว่า 2,000 ครัวเรือน ระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายนที่ผ่านมา ทำให้เห็นหลายมิติของชีวิต ทั้งการใช้พื้นที่ อาชีพ รวมถึงศักยภาพการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มั่นคง พบว่ามันขัดแย้งกับโครงการที่จะสร้างตึกสูง และต้องผ่อนจ่ายรายเดือนสูงถึง 4,500 บาท

ชี้บ้านประชารัฐเชียงใหม่ บ้านเพื่อคนจนที่คนจนเมืองเข้าไม่ถึง

ถ้ายึดตามหลักวิชาการว่าหนึ่งครัวเรือนไม่ควรจะมีรายจ่ายด้านที่อยู่อาศัยเกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด ผลการสำรวจพบว่าคนจนเมืองส่วนใหญ่ มีศักยภาพในการจ่ายที่อยู่อาศัยต่ำกว่า 4,500 บาท/เดือน นอกจากรายได้ไม่สูงพอแล้ว และธรรมชาติรายได้ของคนจนเมืองมีลักษณะเป็นรายวัน หรือตามระยะเวลาการจ้าง นอกจากนั้น วิถีชีวิตของคนจนเมือง พบว่าคนส่วนใหญ่ทำงานในภาคบริการในเมือง ยิ่งย้ายไปอยู่ข้างนอกเมืองก็จะยิ่งเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยเฉพาะในเมืองที่ไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีพอ 

ดังนั้นหากยึดเจตนาในการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก มันก็อาจใช้โมเดลอื่น ๆ ได้ จากข้อมูลการสำรวจพบว่าชุมชนคนจนริมคลองแม่ข่าส่วนใหญ่ก็เช่าที่ดินของธนารักษ์ในลักษณะปีต่อปี และที่ส่วนใหญ่ยังซ้อนทับกับโบราณสถาน หรือพื้นที่สาธารณะอื่น ๆ ยิ่งวาระพัฒนาคลองแม่ข่าเป็นโจทย์ใหญ่ของจังหวัด มันจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเอาพื้นที่ธนารักษ์ในเขตเมือง มาจัดระบบ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนจนเมือง รวมถึงการพัฒนาพื้นที่สีเขียว พื้นที่ทางวัฒนธรรม เป็นต้น

“วิธีการเอาที่ของรัฐ ให้เอกชนทำตึก อาจจะไม่เหมาะสม เพราะภาคเอกชนก็ต้องทำกำไร ดังนั้นการออกแบบก็พยายามซอยแบ่งให้ได้จำนวนห้องให้เยอะที่สุด แต่มันตอบเรื่องคุณภาพชีวิต หรือตอบโจทย์การได้มาซึ่งรายได้ของผู้รายได้น้อยหรือไม่ หรือตอบโจทย์หลักของเมืองที่จะรักษาพื้นที่เชิงดอยสุเทพที่มีคุณภาพไว้อย่างไร ดังนั้นอาจจะชะลอโครงการไว้ก่อน ทบทวนปรับรูปแบบและวิธีการของโครงการ” 

นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ กล่าวว่า ช่วงหลังปัญหาของเชียงใหม่เกิดจากช่องโหว่ของระเบียบราชการ วัตถุประสงค์เขาบอกว่าทำเพื่อคนจนแต่ลูกค้าที่จองส่วนใหญ่เป็นราชการ ที่มีกำลังจ่าย มันไม่ควรสร้างสูงเกิน 12 เมตร แต่อาศัยความเป็นพื้นที่สีขาวของธนาคารไปทำอาคาร มันเป็นการเฉือนที่ธนารักษ์มาทำธุรกิจ ซึ่งเท่าที่ทราบมาคนที่จองไม่ใช่คนจน หรือคนที่มีรายได้น้อย

“พวกเราไม่ได้คัดค้านโครงการ ไม่ได้ห้ามก่อสร้าง แต่ควรลดความหนาแน่น ลดความสูงลงหน่อย ทำให้มันต่ำกว่านี้ได้หรือไม่ พวกเราเป็นห่วงเมืองเชียงใหม่ เพราะเราอาศัยพึ่งพาการท่องเที่ยว ซึ่งสัมพันธ์การบริหารพื้นที่และกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ดอยสุเทพโดยรวม” 

นายวิเชียร ทาหล้า อาสาสมัคร กลุ่มคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เกือบทุกหน่วยราชการ ชอบผลักคนจนเมืองออกไปอยู่นอกเมือง ออกไกลห่างจากพื้นที่ซึ่งพวกเขาใช้ชีวิต หารายได้เลี้ยงชีพ การทำแบบนั้นยิ่งเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำ หรือที่ร้ายกว่านั้นคือเอาคนจนในเมืองไปแอบอ้าง ซึ่งตนเห็นด้วยกับแนวคิดการนำพื้นที่แปลงอื่น ๆ ของธนารักษ์ที่อยู่ในเมืองมาพัฒนาที่อยู่อาศัยจะตอบโจทย์ได้ตรงกว่า

อนึ่ง เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดประชุมเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และการบริการชุมชน จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 4/2565 เพื่อพิจารณารายงานฯ และกำหนดจะต้องพิจารณาผลภายในวันที่ 12 เมษายน 2565 

กรมธนารักษ์โดยจังหวัดเชียงใหม่เปิดประมูลให้เอกชนลงทุนจัดสร้างและบริหารโครงการที่อยู่อาศัยตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้ชื่อโครงการ “บ้านคนไทยประชารัฐ” ในที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชม.1745 (บางส่วน) ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 15 ไร่ 96 ตารางวา ติดกับศูนย์สินค้าเกษตรภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งบริษัทเชียงใหม่รายวัน จำกัด ชนะการประมูล ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ออกแบบ และพัฒนาโครงการ ที่ประกอบด้วยอาคารห้องพักอาศัยรวม ขนาด 8 ชั้น สูง 22.90 เมตร จำนวน 7 อาคาร จำนวน 1,170 ห้อง ห้องละ 28 ตารางเมตร และอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น อีก 2 อาคาร จำนวน 10 คูหา รวมพื้นที่ใช้สอยทั้งโครงการ 45,935.05 ตร.ม. ประมาณการผู้อยู่อาศัย 3,510 คน

โดยโครงการมีการเปิดให้ประชาชนจองห้องพักอาศัย ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2562 กำหนดเงื่อนไขให้สิทธิประชาชนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและประชาชนผู้มีรายได้น้อยไม่เกินเดือนละ 35,000 บาท ก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งปรากฏว่าประชาชนให้การตอบรับอย่างดีและมีการจองเกือบเต็ม ในราคาห้องละ 699,000 บาท.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ