อยู่ดีมีแฮง : แรงงานอีสานไกลถิ่น ในวันที่โควิด-19 ระบาดหนัก

อยู่ดีมีแฮง : แรงงานอีสานไกลถิ่น ในวันที่โควิด-19 ระบาดหนัก

“คนงานหลายคนก็ถูกเลิกจ้าง เนื่องจากติดโควิด-19 ในขณะที่กลุ่มทุนเขาฉกฉวยโอกาสบ้างก็อ้างว่าขาดทุน บ้างก็อ้างว่าสถานการณ์โควิด-19 ระบาด แต่ถ้าไปดูยอดขายในแต่ละโรงงานสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา มันไม่ได้ลดลงเลย”

นี่คือคำบอกเล่าของบุญยืน สุขใหม่ ซึ่งปัจจุบันพี่บุญยืนก็เป็นผู้ประสานงานแรงงานกลุ่มสัมพันธ์ตะวันออก และเป็นที่ปรึกษาสภาองค์กรลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย โดยองค์กรนี้เป็นองค์กรด้านแรงงาน ที่เกิดขึ้นจากการร่วมกลุ่มกัน และได้มีสำนักนักงานไว้เป็นศูนย์เรียนรู้ ทั้งในเรื่องของสิทธิแรงงานและช่วยเหลือกันในเรื่องของการถูกละเมิดสิทธิแรงงาน ถูกเลิกจ้าง ไม่ได้รับความเป็นธรรม และถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งวันนี้ทีมอยู่ดีมีแฮงเราขอพาเพื่อน ๆ นักอ่านเดินทางไกลออกไปตามชีวิตแรงงานอีสานที่ไปทำงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก โดยเราจะมาเริ่มต้นเรื่องเล่ากับพี่บุญยืน สุขใหม่ ที่ อ.บ่อวิน จ.ชลบุรีครับ

โรงงานภาคตะวันออกคือแหล่งรวมตัวกันของคนอีสาน

พี่บุญยืนเล่าให้เราฟังว่า “จากข้อมูลของประกันสังคมแรงงานอีสานเฉพาะในจังหวัดชลบุรี นี่ก็เกือบล้านคน และอยู่ในจังหวัดระยองนี่ก็เกือบ 6 แสนกว่าคน แต่ตัวเลขที่แท้จริงมันน่าจะเยอะกว่านั้นเป็นเท่าตัว บางคนก็มีทั้งลูก และบางคนก็มีพ่อแม่จากภาคอีสานมาเลี้ยงหลานอยู่ที่นี่ก็เยอะ มีทุกสาขาอาชีพ ส่วนมากก็จะเป็นคนอีสาน ร้านขายลาบ-ก้อย ร้านก๋วยเตี๋ยว หรือแม้กระทั้งในห้างสรรพสินค้า ซึ่งพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีมากกว่า 10 นิคม และพนักงานจำนวนมากก็จะเป็นคนอีสาน”

การอพยพเข้ามาเป็นแรงงานต่างถิ่นของคนอีสานในชลบุรีกับระยอง ก็มีจำนวนมากเทียบเท่ากับคนในจังหวัดเล็ก ๆ ในอีสาน 2-3 จังหวัดเลยทีเดียว เดินไปไหนมาไหนในพื้นที่ 2 จังหวัดนี้ก็จะสื่อสารกันด้วยภาษาอีสานรู้เรื่องในแทบทุกจุด แต่การแม้ว่าการเดินทางมาทำในพื้นที่เดียวกันแบบนี้เยอะ ๆ สร้างมูลค่ามหาศาลขนาดไหน กลุ่มแรงงานไกลถิ่นเหล่านี้ยังถูกมองข้ามเรื่องสิทธิแรงงานและความเสมอภาคที่เทียบเท่าคน

GDP สูง แต่คุณภาพชีวิตต่ำ

 “จะเห็นว่าภาคตะวันออก GDP สูงมาก แต่ในความเป็นจริงคนที่อยู่ในพื้นที่ระยองจะอดตายอยู่แล้ว คนงานที่อยู่ที่นี่กำลังจะอดตายอยู่แล้ว คือค่าแรงมันก็ไม่ได้เยอะเหมือนที่หลายคนคาดหวังไว้ การทำงาน 8 ชั่วโมง เงินมันไม่พอใช้ ไหนจะมีค่าเช่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายประจำวันอีก ซึ่งเงินเดือนก็หมดไปแล้ว ซึ่งกลับเป็นว่า ถ้าอยากได้เงินเยอะก็ต้องทำงานเกินเวลา แทนที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำงานแค่ 8 ชั่วโมง แล้วมีเงินพอใช้ เหลือส่งให้ลูก ให้ครอบครัวบ้าง แต่กลับเป็นว่าชีวิตต้องมาอยู่แต่ในโรงงาน คือไม่มีโอกาสจะไปไหนได้เลย”

โควิด-19 มา แรงงานระทม

นี่คือภาวะปกติที่ยังไม่มีการระบาดของโรคโควิด-19 นะครับ หนุ่มสาวโรงงานก็แทบจะหาเวลาใช้ชีวิตในเวลาพักผ่อนก็แทบจะไม่มี อย่างมากสุดของการใช้ชีวิตคนแรงงานส่วนใหญ่ก็อยู่ที่โรงงาน กลับมาถึงห้องก็หมดแรงนอนพัก ตื่นขึ้นมาเตรียมลุยงานกันต่อ แม้นทำงานหนักขนาดนี้หลายคนก็ยังแทบจะไม่มีเงินเหลือเก็บเลย ยิ่งช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดในช่วงที่ผ่านมา ยิ่งทำให้สถานการณ์ทางการงานและการเงินของพี่น้องแรงงานอีสานหนักขึ้นไปอีก

“ปกติเคยมีรายได้ทำงานล่วงเวลา 12 ชั่วโมง แต่ปริมาณงานมันลดลง รายได้ก็ลดลง ทุกอย่างก็ลดตาม ยิ่งเฉพาะสถานการณ์ช่วงโควิด-19 มันก็จะหนักขึ้นมากกว่าเดิม เพราะคนงานหลายคนก็ถูกเลิกจ้าง เนื่องจากติดโควิด-19 นายจ้างเขาก็หาเหตุมาเลิกจ้าง เพราะเวลาติดโควิด-19 ในช่วงแรกก็ต้องถูกกักตัว 14 วันและช่วงหลังอีก 14 วัน รวม 28 วัน ซึ่งทำให้แรงงานถูกเลิกจ้างในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เยอะมาก”

กลุ่มแรงงาน เป็นที่พึ่งของแรงงาน

การถูกเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและข้ออ้างต่าง ๆ ของกลุ่มนายจ้างในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการเลิกจ้าง บางคนก็ตัดสินใจพาครอบครัวย้ายคืนถิ่นอีสาน บางคนก็ยังต้องฝ่าฟันอดทนอยู่ จนตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา มีคดีความและการฟ้องร้องเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีคดีเพิ่มขึ้นมาเยอะมาก ซึ่งจะเป็นคดีที่ฟ้องย้อนหลังเกี่ยวกับมาตรา 11/1 เพื่อที่จะเรียกค่าจ้างและสวัสดิการกลับคืนมา เพราะกฎหมายระบุผู้ประกอบการนี้ต้องจัดค่าจ้างและสวัสดิการโดยเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งมันก็มีในคำพิพากษ์ษาของศาลฎีกาบอกว่าโดยเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติคืออะไร แต่ในทางปฏิบัติ พอไปถามเจ้าหน้าที่รัฐ เขาก็บอกให้ไปฟ้องศาลเอาสิ แต่ถ้าหากลูกจ้างไปฟ้องนายจ้างเขาก็ต้องถูกเลิกจ้าง ลูกจ้างก็เลยต้องมาฟ้องหลังจากที่ตัวเองถูกเลิกจ้างไปแล้ว แม้กระทั้งหน่วยงานของรัฐก็เช่นกันเรื่องการทำงาน ในการที่จะมาดูแลบังคับใช้กฎหมาย เขาเองก็อ้างเรื่องโควิด-19 เขาก็ไม่กล้าที่จะลงพื้นที่ทำงาน เดี๋ยวให้โควิด-19 หายก่อนแล้วค่อยคุยกัน

การใส่เกียร์ว่างในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ของหน่วยงานรัฐในช่วงที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มแรงงานไกลถิ่นจากอีสานต้องออกช่วยเหลือดูแลกันเอง ทั้งในรูปแบบขององค์กรแรงงานสัมพันธ์ เพื่อน ๆ แรงงาน หรือบางโรงงานดีหน่อยก็มีสวัสดิการดูแลเยียวยาพนักงาน แต่ก็ไม่ได้มีหลายโรงงานนักที่โชคดีแบบนี้ จนทำให้พี่น้องแรงงานอีสานหลายคนต้องคืนถิ่นในช่วงสถานการณ์ระบาดที่ผ่านมา

โดยข้อมูลจาก Telco ของ True Digital Group[6] ของผู้ใช้มือถือประมาณ 20 ล้านคน ช่วง 1 ม.ค. 62 – 28 ก.พ. 64 เป็นข้อมูล Aggregate ไม่แยกแยะข้อมูลรายบุคคล เพื่อศึกษาพฤติกรรมการย้ายคืนถิ่นของแรงงานที่ครอบคลุมช่วงล็อกดาวน์ครั้งแรก เริ่ม 26 มี.ค. 63 และช่วงซอฟล็อกดาวน์ครั้งสอง พบว่าภาพรวม ในช่วง ก.พ. – เม.ย. 63 แรงงานย้ายคืนถิ่นกลับภูมิลำเนา รวมกัน 2.0 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของช่วงหลังของปี 63 จำนวนกว่า 2 แสนคนต่อเดือนส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานอายุ 21-60 ปี(ร้อยละ 80) และกว่าครึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อยเทียบเคียงจากข้อมูลจ่ายบิลค่าโทรศัพท์เดือนละ 0-99 บาท สอดคล้องกับผลสำรวจแรงงานนอกระบบโดยจุฬาฯ ที่พบว่าแรงงานย้ายคืนถิ่นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรายได้น้อย ลูกจ้างรายวัน ทำงานในภาคบริการ โรงแรม และภัตตาคาร การตัดสินใจกลับภูมิลำเนาเพื่อความอยู่รอด

ขณะที่ในมิติเชิงพื้นที่ แรงงานที่ถูกเลิกจ้างย้ายถิ่นออกจากกรุงเทพฯและปริมณฑล และเมืองท่องเที่ยวหลัก ชลบุรี ภูเก็ตและเชียงใหม่เป็นสำคัญ ขณะที่จังหวัดในภาคอีสานและนครศรีธรรมราชมีแรงงานย้ายเข้าจำนวนมาก เฉพาะเดือน ก.พ. มีประชากรย้ายออกจากกรุงเทพฯ สูงถึงร้อยละ 58 ของคนย้ายถิ่นทั้งหมด สะท้อนว่าแรงงานจำนวนมากถูกเลิกจ้าง ถูกลดชั่วโมงทำงาน ขาดรายได้และไม่สามารถแบกรับค่าครองชีพในเมืองใหญ่ได้ และตัดสินใจกลับบ้านฐานที่มั่นบ้านเกิดของตนเอง

พี่บุญยืนมองว่า หลายคนก็เลยพยายามฉกฉวยโอกาสจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มคนงานกลับถูกละเมิด ถูกเอาเปรียบ ไม่ได้รับการดูแลทั้งจากนายจ้าง และจากทั้งหน่วยงานของรัฐ ที่เราช่วยเหลือมาได้ เมื่อเทียบกับคนที่ถูกเลิกจ้าง 100 คน จะเข้ามาหาเราเพียงแค่ 10-20 % แต่อีก 80% คือไม่ว่าจะทำอย่างไร ทางเลือกก็คือมันต้องกลับบ้าน ทั้งที่แรงงานเหล่านี้ได้มาสร้างมูลค่าทางเศรฐกิจให้กลับพื้นที่มหาศาล แต่สิ่งที่ได้รับกลับตรงกันข้ามกับแรงกายที่ทุ้มเทลงไป

นี่คืออีกหนึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับพี่น้องแรงงานอีสานไกลถิ่น ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ผ่านการบอกเล่าของพี่บุญยืน สุขใหม่ครับ ในพื้นที่อุตสาหกรรมแรงงานภาคตะวันออก

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ