เปิดหลังเล่ม CHIA ฉบับคนอมก๋อย กว่าจะเป็นหลักฐานฟ้องศาลปกครองถอน EIA เหมืองถ่านหิน

เปิดหลังเล่ม CHIA ฉบับคนอมก๋อย กว่าจะเป็นหลักฐานฟ้องศาลปกครองถอน EIA เหมืองถ่านหิน

ช่วงเย็นของวันที่ 3 เม.ย. 2565 ลานเสรีภาพหน้าตึกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถูกเปลี่ยนให้เป็นเวทีสาธารณะขนาดย่อม เปิดให้เครือข่าย คนอมก๋อยและภาคี จัดเวทีในชื่อ “จุดแสงสว่างกลางหุบเขา กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์” เพื่อเปิดตัวรายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน ด้วยตัวแทนชาวบ้านมานำเสนอร่วมข้อค้นพบ และการเติมเต็มความเห็นจากภาคีที่เกี่ยวข้อง ดังปรากฏรายงานข่าวก่อนหน้านี้ 

ทีมสื่อพลเมือง ชวนไปมองสิ่งที่น่าสนใจ และเบื้องหลังกว่าจะมาเป็นรายงานศึกษาที่ชุมชนภูมิใจ และใช้เป็นหลักฐานสำคัญประกอบการยื่นฟ้องถอน EIA เหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย ของบริษัทที่ปรึกษาในวันที่ 4 เม.ย. 2565

เยาวชนชาวบ้านร่วมเก็บข้อมูล ปีเศษ จนพบคำตอบของชุมชน

ธนกฤต โต้งฟ้า ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายปกป้องอมก๋อยจากถ่านหิน ต้องบอกว่าชาวบ้านเขาไม่เคยเจอกับเหตุการณ์ หรือโครงการอะไรแบบนี้มาก่อน เขาก็ใช้จำนวนมวลชนเป็นหลักในการต่อสู้ รวมตัวหรือตั้งขบวนไปต่อต้าน แต่ส่วนสำคัญหนึ่งที่เราสามารถต่อสู้ในระบบได้คือการใช้ข้อมูลชุมชน จึงทำให้ชุมชนร่วมกับพี่เลี้ยงพยายามหาเครื่องมือที่ชุมชนจะเก็บข้อมูลเบื้องต้นของชุมชนได้ เพื่อเอาไว้ใช้สนับสนุนการเคลื่อนขบวน เพื่อคัดค้านเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย 

ในช่วงแรกเป็นอะไรที่ท้าทายมาก ชาวบ้านไม่เคยเขียน ไม่เคยเก็บข้อมูลแบบนี้มาก่อน จึงทำให้กระบวนการออกแบบ และการลงมือเก็บข้อมูลใช้เวลาเกือบ 2 ปี พวกเราเริ่มต้นจากการอธิบาย concept ของการทำ CHIA ชวนเยาวชนรวมกลุ่มกัน แบ่งหน้าที่และบทบาทในการทำข้อมูลชุมชนร่วมกับพี่เลี้ยง ซึ่งพี่เลี้ยงจะเป็นให้คำแนะนำ วางแบบฟอร์มต่าง ๆ ร่วมกับน้อง ๆ แล้วไปเดินสำรวจบางที่ที่เขาไม่เคยไป ระหว่างมันก็ทำให้หลายคนรู้สึกว่าสิ่งที่เขาเจอ สิ่งต่าง ๆ ในพื้นที่มันมีคุณค่า เขาสามารถบอกกับสาธารณะได้ว่าพื้นที่แห่งนี้ไม่ควรจะมีเหมืองเลย

“กระบวนการเก็บข้อมูลชุมชน มันคู่ไปพร้อมกับเรียนรู้ พอทีมงานเก็บข้อมูลไปได้สักพัก เขาก็พยายามสื่อสารภายในชุมชนกันเอง ว่ามันมีเรื่องอะไรที่ไม่รู้มาก่อน กลายเป็นคุณค่าที่สามารถใช้อาวุธสำคัญในการต่อสู้กับข้อมูลของทางฝั่งบริษัท ซึ่งก็คือ EIA ซึ่งฝั่งของเราเรียกว่า CHIA”

ในที่สุดเมื่อชุมชนได้ข้อมูลมา เขาก็คิดว่าเสียงในชุมชนเองมันดังไม่พอ ก็เลยจะหาช่องทางและโอกาสต่าง ๆ ในการเอาข้อมูลทั้งหมดที่เก็บมาเกือบ 2 ปี ออกไปสื่อสารข้างนอก เริ่มจากการสื่อสารกับคนในอมก๋อย บอกเขาว่าเราได้ข้อมูลอะไรมา เราจะไปใช้อะไรต่อ ด้วยเจตนาและจุดยืนอะไร จากอมก๋อยก็ขยับมาสื่อสารในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งทำไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย. เพื่อให้คนในเมืองรับรู้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนอมก๋อยมันเชื่อมถึงในเมืองแบบไหน ถ้าคนในเมืองไม่สนับสนุนการต่อสู้ของชุมชน ต้นน้ำคุณภาพดี วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมก็จะหายไปหมด

“น้ำในทุกวันนี้ ต้นตอก็ไหลมาจากอมก๋อย เป็นตาน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำเมย แม่น้ำสาละวิน และคนอมก๋อยกับคนเมืองก็ใช้อากาศเดียวกัน หากมีเหมืองขึ้นมาโดยที่ขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชน อาจเกิดผลกระทบกับวิถีชีวิต ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ฝุ่นต่าง ๆ ที่ทั้งคนบนดอยและคนในเมืองหายใจร่วมกันก็จะลำบากมากขึ้น”

จนถึงวันนี้ 3 เม.ย. ชุมชนก็ใช้โอกาสนี้ นำตัวเล่มรายงานที่พิมพ์เป็นหนังสือมาเปิดตัวสื่อสารกับสาธารณะว่าข้อมูลชุดนี้มันมีคุณค่า มีความสำคัญอย่างไร เพื่อจะนำไปสู่วันสำคัญที่จะข้อมูลชุดนี้ไปยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เชียงใหม่ในวันที่ 4 เม.ย.

“สำหรับติดตามความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เริ่มต้นได้จากเพจเฟซบุ๊ก กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์ ส่วนตัวเล่ม CHIA สามารถเข้าไปดูในนั้นและสแกนคิวอาร์โคด หรือถ้าลงไปพื้นที่หรือมาที่เชียงใหม่ก็สามารถติดต่อทางโทรศัพท์รับเล่มจริงไปอ่าน”

ดวงใจ วงศธง หนึ่งในผู้ร่วมทำรายงาน CHIA ฉบับนี้เล่าว่า เราพบว่าสิ่งที่เขาทำไม่จริงในมุมของคนพื้นที่ กระบวนการ CHIA ทำให้พบความจริงว่าชาวบ้านคนเขียนหนังสือไม่ได้ แต่ปรากฏรายมือในรายงาน EIA บ้าง หรือมีรายชื่อเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะบ้าง ที่สำคัญที่สุดคือพบว่าลำห้วยหลายสายที่สำคัญกับคน สัตว์ป่า และพืชพรรณมากมาย ไม่อยู่ในรายงาน EIA ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านที่นั่นมีชีวิตพึ่งพิงด้วยสิ่งเหล่านี้

“เราเกิดที่นี่คิดว่าเห็นมันมาตั้งแต่เกิด แต่การทำรายงานมันทำให้เราเห็นเรื่องราวของชุมชนมากมาย ถ้าไม่มีเยาวชนหรือชาวบ้านร่วมทำตัวรายงานก็จะไม่สำเร็จ ถามว่ามันยากไหม ก็ไม่ยากแต่สิ่งที่เวลาทำนานที่สุดคือแผนที่น้ำ ต้องค่อย ๆ ปะติดปะต่อ ชวนชาวบ้านมาดู ช่วยอธิบาย ก็เลยประทับใจเพราะแผนที่สวยและออกมาดีมาก”

สุขภาพ คือ ชีวิต CHIA ช่วยทำความเข้าใจผลกระทบต่อชีวิตอย่างรอบด้าน

สมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบประเมินผลกระทบโดยชุมชน เล่าว่า CHIA Community Health Impact Assessment หมายถึงกระบวนการที่ชุมชนลุกขึ้นมาประเมินผลกระทบทางสุขภาพด้วยของเขาตัวเอง ฉะนั้นเวลาที่ชาวบ้านมองเรื่องสุขภาพก็จะผ่านมุมมองที่เป็นองค์รวม เพราะเขามองว่าสุขภาพคือชีวิต คือสุขภาวะ หรือภาวะที่อยู่เย็นเป็นสุข ดังนั้นปัจจัยต่าง ๆ ที่กระทบกับชีวิตที่ดีของเขามันก็เกี่ยวข้องกับสุขภาพทั้งหมด ซึ่งจะต่างจากกับบางกลุ่มที่มองสุขภาพเป็นเรื่องมด หมอ หยูกยา แค่นั้น ดังนั้นเวลาพูดถึง CHIA หรือการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพ เขาจะไม่ได้มองแค่ว่าโครงการไหนทำให้เจ็บป่วยและเกิดโรคอะไร แต่จะมองว่าโครงการต่างมันส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาอย่างไร

“เอาชีวิตของคนเป็นตัวตั้ง และการที่คนจะมีชีวิตที่ดีได้ คือเอาปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ความเชื่อ วัฒนธรรม ความสัมพันธ์ต่าง ๆ ในเรื่องของสิทธิชุมชน เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งหมดเลย”

การจะเริ่มทำการประเมินผลกระทบไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพหรือกระทั่งเศรษฐกิจ ข้อมูลสำคัญที่เราจะต้องรู้ก่อน คือ ข้อมูลพื้นฐานของชุมชน หรือจะเรียกว่าเป็นการทำความเข้าใจบริบทของชุมชนที่โครงการนั้นจะเข้าไปดำเนินการ ซึ่งบริบทไม่ได้หมายความว่า หมู่บ้านนั้นมีกี่ครัวเรือน ประชากรเท่าไหร่ ใครประกอบอาชีพอะไรบ้าง แต่มันหมายถึงความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นคนในชุมชน คนกับสิ่งแวดล้อม การใช้ฐานทรัพยากรต่าง ๆ ฉะนั้นถ้าเราใช้ข้อมูลพื้นฐานจากการสืบค้นข้อมูลมือสอง หรือจากหน่วยงานราชการ ก็จะเห็นเพียงข้อมูลตัวเลขที่ไม่เห็นความสัมพันธ์ แต่กระบวนการ CHIA จะเริ่มต้นจากการค้นหาคุณค่าของชุมชน 

“ถ้าชุมชนลุกขึ้นมาศึกษา อธิบายคุณค่าวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง มันก็จะทำให้ข้อมูลตรงนี้ชัดขึ้น และใช้ข้อมูลนี้พื้นฐานที่จะอธิบายว่าโครงการที่จะเข้ามาในชุมชน มันส่งผลกระทบต่อใคร? อย่างไร? และจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไร? ในแง่มุมไหน? มันจะทำให้การคาดการณ์ผลกระทบมีความแม่นยำมากขึ้น”

ฉะนั้น ตัวคุณค่าและความสำคัญของ CHIA หลักคือเรื่องบริบทชุมชน ซึ่งเป็น baseline สำคัญในการคาดการณ์ผลกระทบ แต่ไม่ได้หมายความว่าชุมชนต้อง stand alone ทำกันเองคนเดียว เพราะโครงการที่จะเข้ามาอาจจะมีข้อมูลทางด้านเทคนิค วิศวกรรม หรือมิติอื่น ๆ ที่มีความซับซ้อน ชุมชนก็ต้องทำความเข้าใจและร่วมมือกับนักวิชาการสาขาต่าง ๆ ที่จะทำความเข้าใจร่วมกัน ขณะเดียวกันนักวิชาการสาขาต่าง ๆ ที่จะเข้าไปประเมินผลกระทบอาจจะมีความรู้ในมุมของเขา แต่ไม่มีความเข้าใจชุมชนที่มากพอ ถ้าเขาไม่ร่วมมือกับชาวบ้านก็อาจทำให้การคาดการณ์ของเขาไม่แม่นยำ หรือผิดเพี้ยนไปได้

ดังนั้นหัวใจของ CHIA นอกจากการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน มันต้องมีการ Co-production of knowledge คือการประกอบสร้างร่วมกันระหว่างความรู้ของชุมชนกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้การคาดการณ์ผลกระทบที่แม่นยำมากขึ้น

CHIA อมก๋อยบอกอะไรกับสังคม ทำไมคนต้องรู้

กรณีของอมก๋อยที่ชัดเจนที่สุด คือ ตัวคุณค่าของระบบนิเวศของพื้นที่ เวลาพูดถึงเหมืองถ่านหิน คนอาจจะมองว่า เหมืองไม่มีอะไร ก็แค่ขุดดินเอาถ่านหินขึ้นมาแล้วเอาไปขาย แล้วจริง ๆ มันอาจจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยซ้ำไป พอเอาถ่านหินไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในการทำปูนซีเมนต์ และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ก็ต้องการปูน ดังนั้นประชากรบางกลุ่มก็ต้องยอมแลก เสียสละ แต่วิธีคิดแบบนี้มันเชย เพราะต้องไปดูว่าชาวบ้าน หรือคนกะเหรี่ยงเขาอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ และสิ่งที่อธิบายออกมามันคือสายน้ำ ที่เขาเห็นต้นน้ำและโครงข่ายเหมือนเส้นเลือดฝอย และรวมสายน้ำออกไปที่สบเมย 

ขณะเดียวกัน วิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่กับตัวพื้นที่ป่าเขาก็ทำในเรื่องพื้นที่เกษตร ซึ่งถ้าตีค่าเป็นตัวเลข เป็นเชิงปริมาณมันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจีดีพีประเทศเลย แต่ความสามารถที่จะพึ่งพิงตัวเองและอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่างหากที่มีความสำคัญ ซึ่งถ้าเกิดเราไปขุดเหมืองตรงนั้นจะมีอีกกี่ชีวิตที่ถูกผลักให้ชนขอบ และไม่สามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้ เขาต้องเปลี่ยนอาชีพ ต้องทำงานในเมือง และชีวิตเขาจะเป็นอย่างไร 

กรณีของอมก๋อยสำคัญมากที่จะชี้ให้เห็นว่า พื้นที่แบบนี้ถ้าคิดในเชิงคุณค่าเศรษฐกิจ อาจจะไม่มากนักเมื่อเทียบกับสเกลอื่น ๆ แต่ถ้าเทียบกับมิติในเรื่องเชิงคุณค่า มิติการมีชีวิต มิติการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่คนจะอยู่กับตัวธรรมชาติได้อย่างเกื้อกูลกัน มันเป็นแบบไหน

ขั้นตอนง่าย ๆ ชวนคนทบทวนคุณค่า ขีดเส้นเวลาของชุมชนโดยตัวชุมชนเอง

จริง ๆ แล้วกระบวนการ CHIA ไม่ได้ซับซ้อนก็คือการที่ชุมชนสามารถลุกขึ้นมาทบทวนตัวเอง และไม่ได้หมายความว่าการจะเริ่มต้นทำ CHIA ก็ต่อเมื่อมีโครงการอะไรเข้ามาคุกคาม บางทีอาจจะเริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่าปัจจุบันบ้านเรามันเปลี่ยนอย่างไร และเราต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงในทางไหนให้มันดีขึ้นแล้วก็ทำ CHIA ได้ มันก็จะมีการลุกขึ้นมาทบทวน ง่ายที่สุดคือการทำแผนที่เดินดิน เพราะเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนได้มาคุยกัน ตอนนี้บ้านเรือนเราเป็นอย่างไร สายน้ำ พื้นที่ทำกิน พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ร่วมกันของคนในชุมชน หรือคนกับการใช้ประโยชน์ของฐานทรัพยากรธรรมชาติ แล้วเอาไปใช้มองอนาคตว่าถ้าเราจะเปลี่ยนบ้านเราให้ดีขึ้น ให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน มีสุขภาวะ หรือพัฒนาคุณภาพชีวิต เราควรจะต้องทำอะไรบ้าง

ขณะเดียวกันการทำข้อมูลแบบนี้ไว้ หากมีโครงการอะไรเข้ามามันก็สามารถทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าเขาจะมาทำอะไรในหมู่บ้านเราและการทำโครงการนั้นมันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร ทั้งการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม สภาพแวดล้อมในเชิงกายภาพ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพสังคม เศรษฐกิจและความสัมพันธ์ของคนในชุมชน เราก็เห็นตรงนั้นชัดขึ้นและชุมชนจะนำไปสู่การตั้งคำถามว่ามันจริงหรือไม่ และร่วมกันที่จะหาคำตอบ หากว่าโครงการไม่ได้มีความซับซ้อนก็อาจหาคำตอบได้ในชุมชน แต่ถ้าไม่เขาก็จะรู้ว่าเขาควรจะคุยกับใคร นักวิชาการหรือหน่วยงานไหนที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติม

“ถ้าชุมชนสนใจก็เริ่มทำได้เลย เครื่องมือง่าย ๆ คือ 1. วาดแผนที่ก่อน  2. ทำเส้นการเปลี่ยนแปลงของชุมชน ตั้งแต่การก่อกำเนิดและการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทั้งด้านดีและไม่ดี รวมถึงสถานการณ์ปัจจุบันชุมชนเราเป็นอย่างไรเพื่อจะมองอนาคตได้ ถ้าทำสองเรื่องนี้ก่อนก็จะทำให้ชุมชนสามารถเข้าใจชุมชนได้มากขึ้น”

อนึ่ง ประเด็นมูลฐานสำคัญแห่งการฟ้องต่อศาลปกครองของชาวบ้านอมก๋อย ในวันที่ 4 เม.ย. 2565 ประกอบไปด้วย  

  1. การขาดหายของข้อมูลในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อยและการขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน
  2. การปิดทับเส้นทางน้ำสาธารณะและการขออนุญาตก่อสร้างโครงการเหมืองแร่ในแหล่งน้ำซับซึม
  3. อายุของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ใช้ข้อมูลเก่า 10 ปี
  4. การปลอมแปลงรายมือชื่อในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ภาพประกอบ : ชเลฝัน ดิษฐ์ผู้ดี

อ่านรายงาน CHIA ฉบับคนอมก๋อย จุดแสงสว่างกลางหุบเขา กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ