23 มี.ค. 2559 ในการแถลงข่าวในหัวข้อ “แม่น้ำโขง แม่น้ำของใคร? น้ำโขงจากจีน น้ำโขงของใคร?” ณ ห้องประชุมสุจิตรา ชั้น 4 ตึกมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มีการแถลงการณ์ข้อเรียกร้องถึงผู้นำ 6 ประเทศลุ่มน้ำโขงต้องฟังเสียงประชาชน เขื่อนแม่น้ำโขงต้องคำนึงถึงชุมชนท้ายน้ำเขื่อนน้ำโขงตอนล่างต้องยุติทันที และศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน โดยเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง รายละเอียดดังนี้
000
แถลงการณ์ผู้นำ 6 ประเทศลุ่มน้ำโขงต้องฟังเสียงประชาชน
เขื่อนแม่น้ำโขงต้องคำนึงถึงชุมชนท้ายน้ำ เขื่อนน้ำโขงตอนล่างต้องยุติทันที และศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
23 มีนาคม 2559
แม่น้ำโขง ซึ่งไหลผ่าน 8 จังหวัดของประเทศไทยนับตั้งแต่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ลงไปยัง อ.เชียงคาน จ.เลย ไหลเรื่อยไปถึง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ได้หล่อเลี้ยงวิถีชีวิต และเศรษฐกิจของชุมชนริมโขงมาโดยตลอด แต่ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีเขื่อนแห่งแรกกั้นแม่น้ำโขงในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และสร้างต่อเนื่องมาจนปัจจุบันมีเขื่อนแล้วถึง 6 เขื่อน จากทั้งหมด 15 โครงการ ซึ่งทำให้แม่น้ำโขงตอนบนถูกควบคุมโดยสมบูรณ์ด้วยเขื่อนขั้นบันได และเชื่อมโยงกับการเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่จากจีนลงมายังเชียงแสน
ในวันนี้ ซึ่งผู้นำของประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งหมดได้ประชุมร่วมกันที่ประเทศจีน เพื่อลงนามในกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขงล้านช้าง ที่ประเทศจีนเป็นผู้นำนั้น เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ซึ่งทำงานติดตามการพัฒนาแม่น้ำโขงร่วมกับชุมชนมาโดยตลอด ขอเรียกร้องให้ผู้นำของไทย และผู้นำในประเทศลุ่มน้ำโขง
1. ยอมรับ และนำปัญหาที่เกิดขึ้นจากการผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการแม่น้ำโขงด้วยเขื่อนตอนบนของจีน มาตลอดหลายปี ขึ้นมาพิจารณาอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหาข้ามพรมแดนอันเกิดจากการใช้งานเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าและระบายน้ำเพื่อการเดินเรือของจีน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศและการใช้แม่น้ำโขงของชุมชน ของคนตัวเล็กตัวน้อย ที่อาศัยอยู่ในประเทศท้ายน้ำ
2. ร่วมหาทางแก้ไขบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นทันที และเยียวยาความเสียหายที่ผ่านมา ทั้งภาวะน้ำท่วมฉับพลันอันเกิดจากการปล่อยน้ำของเขื่อน และภาวะน้ำแห้ง เพราะเขื่อนหยุดระบายน้ำในช่วงที่มีการปรับปรุงร่องน้ำ (ระเบิดแก่ง) ในการเดินเรือ เป็นต้น
3. หยุดและชะลอการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ที่กำลังเดินหน้าไปอย่างขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่พึ่งพาแม่น้ำโขงอย่างแท้จริง เพื่อป้องกันผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศและสังคมต่อประชาชนในเขตท้ายน้ำ
4. สร้างกลไกในการบริหารจัดการแม่น้ำโขงอย่างรับผิดชอบและมีส่วนร่วม ร่วมกันทั้ง 6 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมของชุมชนซึ่งเป็นผู้ที่เดือดร้อนโดยตรง
เพราะแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่เป็นดังมาตุธารของอุษาคเนย์ เราใช้สายน้ำนี้ร่วมกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ อย่าปล่อยให้ใครนำทรัพยากรส่วนรวมไปเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง