คนอมก๋อยเคลื่อนใหญ่ ฟ้องคัดค้าน EIA เหมืองแร่ถ่านหิน

คนอมก๋อยเคลื่อนใหญ่ ฟ้องคัดค้าน EIA เหมืองแร่ถ่านหิน

มีรายงานความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตาที่ อำเภออมก๋อย  อำเภอที่อยู่ทางใต้สุดของจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พรชิตา ฟ้าประทานไพร เยาวชนบ้านกะเบอะดินปักหมุดผ่าน C-Site รายงานว่าเมื่อวันที่  28 มีนาคม 2565 ณ จุดชมวิวบ้านกะเบอะดิน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ว่าชาวบ้านกะเบอะดินและจากหมู่บ้านใกล้เคียงกว่า 100 คน มาร่วมกันจัดกิจกรรม  “อมก๋อย แดนมหัศจรรย์: ลมหายใจบนไหล่เขา รอยยิ้มของแผ่นดิน เสียงหัวเราะของสายน้ำ” โดยผลัดกันบอกเล่าประสบการณ์ที่ร่วมคัดค้านการเกิดขึ้นของเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อยด้วยกันมากว่า 3 ปี พร้อมพูดคุยให้กำลังใจกันและกัน พร้อมอ่านแถลงการณ์ไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหิน

แม่ของเยาวชนที่เป็นหนึ่งในทีมงานชุมชนขับเคลื่อนประเด็นเพื่อปกป้องบ้านเกิดของตนเอง กล่าวว่า “ลูกสาวได้เสียสละมาทำงานขับเคลื่อนการต่อสู้เหมือง จนไม่มีเวลาส่วนตัว ไม่ได้ทำงานสวนที่บ้าน ดังนั้น ตนเองจะต่อสู้จนกว่าจะได้รับชัยชนะในที่สุด คือ หยุดโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอย่างถาวร เพื่อให้ชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์และดำรงวิถีชีวิตอย่างเป็นสุข ไม่ต้องกังวลว่าใครจะมาทำลายที่ทำกินและธรรมชาติในชุมชนที่บริสุทธิ์ อีกทั้งรักษาวิถีวัฒนธรรมกะเหรี่ยงโปว์ซึ่งมีความงดงามเป็นเอกลักษณ์”

กิจกรรมดังกล่าวเป็นอีกครั้งที่ เครือข่ายภาคีปกป้องอมก๋อยจากถ่านหินและชาวบ้านอมก๋อย จะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ 28 มีนาคม – 4 เมษายน 2565 เพื่อบอกเล่าความกังวลเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่อมก๋อยต่อสังคมวงกว้างและ วันที่ 1 เมษายน กำหนดจะเดินทางมาที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อจัดงานเปิดตัวรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับชุมชน (CHIA) หรือ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยคนในชุมชนจัดทำข้อมูลชุมชนด้วยตัวเอง ที่แตกต่างจากรายงานอีไอเอ (EIA) ฉบับที่ขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชนซึ่งโครงการจัดทำเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา   

ธนกฤต โต้งฟ้า เยาวชนบ้านกะเบอะดิน เล่าถึงขบวนคัดค้านเหมือนแร่ถ่านหินอมก๋อย ว่าชุมชนพยายามสู้ด้วยข้อมูลของชุมชน และ CHIA หรือการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยคนในชุมชนคือความหวังว่าจะทำให้พวกเขาชนะในครั้งนี้  โดยบอกว่า ผู้เฒ่าคนหนึ่งในชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกะเบอะดิน เล่าสะท้อนเหตุการณ์เมื่อ 30 กว่า ปีที่แล้ว มีกลุ่มคนนอกเข้ามาในชุมชน และขู่ให้ยอมขายที่ดิน ถ้าไม่ยอมขายก็จะโดนยึดที่ดินฟรี ๆ ชาวบ้านก็เลยต้องยอมขายให้อย่างไม่เต็มใจ โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างบนที่ดินแห่งนี้ เป็นทั้งแหล่งต้นน้ำ ผืนป่าจิตวิญญาณของบรรพบุรุษ พื้นที่เพาะปลูก และเป็นแหล่งทรัพยากรที่ชุมชนพึ่งพาตามวิถีวัฒนธรรมชนเผ่ากะเหรี่ยงที่สืบทอดกันมาเป็นร้อยปี กระทั่งเวลาผ่านไปกว่า 20 ปี ในปี พ.ศ.2562 ชุมชนจึงได้รู้ว่าพื้นที่ทำกินและผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้จะกลายเป็นพื้นที่ตั้งของโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย

ธนกฤต โต้งฟ้า กล่าวเพิ่มเติมว่า ใบปิดประกาศการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ของหน่วยงานรัฐ เป็นจุดเริ่มต้นให้ชุมชนต้องลุกขึ้นมาคัดค้านแสดงจุดยืนไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหิน โดยการรวมกลุ่มกันของชาวบ้านกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีทั้งเยาวชน ผู้หญิง และผู้เฒ่า เริ่มจากการทำความเข้าใจขั้นตอนต่าง ๆ ในการทำเหมืองแร่ และศึกษาเนื้อหา กระบวนการต่าง ๆ ทั้งหมดของการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (EIA) ที่ชุมชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมเลยแม้แต่ขั้นตอนเดียว

ดังนั้น เพื่อให้เสียงของชุมชนซึ่งเป็นกลุ่มชนเผ่ากลุ่มเล็ก ๆ ถูกเปล่งออกไปสู่สาธารณะอย่างมีพลังและสร้างผลกระทบต่อสังคมได้อย่างแท้จริง จึงได้มีการขับเคลื่อนขบวนต่อสู้ในหลายรูปแบบ ทั้งการยื่นหนังสือ การเจรจา สร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการต่อสู้จากชุมชนอื่น เพื่อออกมาคัดค้านโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย ร่วมกับคนอมก๋อยและภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมอย่างเข้มแข็ง แต่การต่อสู้ทั้งหมดจะไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้หากไม่มีข้อมูล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการมาสนับสนุนขบวนต่อสู้ 

“ข้อมูลทั้งหมดถูกพัฒนาจากข้อมูลดิบ จัดทำให้เป็นสัดเป็นส่วนและถูกถ่ายทอดออกมาร้อยเรียงอย่างเรียบง่าย ทั้งในรูปแบบอักษร ภาพ วีดีโอ แผนที่ ทั้งหมดล้วนแต่เป็นการทำมือลงบนกระดาษแผ่นใหญ่ โดยมีผู้เฒ่าผู้แก่ที่มาร่วมกันเติม” ธนกฤต โต้งฟ้า เยาวชนบ้านกะเบอะดิน กล่าว

CHIA หรือ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยให้คนในชุมชนจัดทำข้อมูลชุมชนด้วยตัวเอง จึงเป็นอาวุธสำคัญเพื่อปกป้องชุมชน ปกป้องแหล่งน้ำ ผืนป่า และวิถีของคนในชุมชนอมก๋อย และเพื่อคนเชียงใหม่ทุกคนที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรป่าและน้ำในชีวิตประจำวัน เมื่อชุมชนมีชุดข้อมูลที่เพียบพร้อมและทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งแล้ว ก็สามารถนำไปสู่การกำหนดแนวทางต่อสู้ สื่อสารต่อสังคม ใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนทางคดีเพื่อฟ้องร้อง สร้างอำนาจต่อรอง และสนับสนุนขบวนการขับเคลื่อนคัดค้านโครงการเหมืองแร่ถ่านหินของชนเผ่าและคนอมก๋อยได้อย่างเข้มแข็งและมั่นใจด้วยตัวชุมชนเอง

การทำข้อมูลชุมชนมีความท้าทายหลายอย่างเนื่องจากเป็นเรื่องใหม่สำหรับชุมชน จึงใช้เวลาในการทำเกือบสองปีโดยมีภาคประชาสังคมคอยเป็นพี่เลี้ยงช่วยสนับสนุนเครื่องมือและแนวทางต่าง ๆ ในการจัดทำชุดข้อมูลชุมชน ซึ่งชุดข้อมูลทั้งหมดก็ได้ออกมาเป็นรูปเล่มหนังสือชุมชนเรียบร้อยแล้วและชุมชนร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมมีแผนที่จะจัดเวทีสาธารณะ เพื่อเปิดตัวหนังสือชุมชนในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2565 เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะถึงจุดยืนและเจตนาอันแน่วแน่ของชุมชนในการต่อต้านเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย และเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์และถอดเนื้อหาสำคัญของหนังสือ CHIA รวมถึงการร่วมกันหาแนวทางการผลักดัน CHIA ไปสู่นโยบายของรัฐและผลทางกฎหมายต่อไปอย่างเข้มแข็ง ต่อเนื่องด้วยในวันที่ 4 เมษายน 2565 ชาวบ้านจะยื่นฟ้องคดีที่ศาลปกครองเชียงใหม่เพื่อคัดค้านอีไอเอและเพื่อยืนยันสิทธิในทางศาลต่อไป

โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย 

  • ปี 2543 บริษัทเอกชน ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินระยะเวลา 10 ปี บนเนื้อที่ประมาณ 284 ไร่  ไม่ไกลจากชุมชน บ้านกะเบอะดินและบ้านขุน  โดยคาดว่ามีปริมาณถ่านหิน  720,000 ตัน  ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานปูนซีเมนต์ที่จังหวัดลำปาง  
  • ปี 2554  มีการสำรวจแหล่งแร่ และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จ แต่ชาวบ้านระบุว่าเป็นขั้นตอนการทำที่น่าสงสัย ไม่มีการชี้แจงผลกระทบ      
  • ปี 2562 เป็นจุดเริ่มต้นที่ชุมชนในพื้นที่อมก๋อยรวมตัวยื่นจดหมายและข้อเรียกร้องให้ยุติโครงการเหมืองถ่านหินต่อหน่วยงานอำเภอและจังหวัด โดยระบุถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และผลกระทบด้านสุขภาพ และดำเนินการรวบรวมข้อมูุลชุมชนเพื่อเคลื่อนไหวปกป้องพื้นที่
  • อย่างไรก็ตามปัจจุบันนอกจากโครงการเหมือนแร่แล้ว ชาวบ้านยังเผชิญกับโครงการใหญ่ๆอีก  คือพื้นที่โครงการผันแม่น้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ