7 สิ่งที่คนอมก๋อยอยากให้เข้าใจก่อนเปิดเหมืองถ่านหิน

7 สิ่งที่คนอมก๋อยอยากให้เข้าใจก่อนเปิดเหมืองถ่านหิน

  • กะเหรี่ยงแปลว่าคน
  • กะเบอะดินคือชื่อบ้านหมู่ 12 
  • กะเบอะ ในภาษากะเหรี่ยงหมายถึงดินเหนียวที่นำมาปั้นเป็นภาชนะดินเผา หม้อดิน
  • หมู่ 12 ที่นี่เป็นพื้นที่ยื่นขอประทานบัตร เหมืองแร่ถ่านหิน เนื้อที่ 284 ไร่ 30 ตารางวา
  • ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จัดทำในปี 2554 บ่งชี้ว่า ถ่านหินประมาณ 720,000 ตัน จะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงงานปูนซีเมนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง
ภาพโดย : ชเลฝัน ดิษฐ์ผู้ดี

บทนำจากรายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน ฉบับเหมืองถ่านหินอมก๋อย ใช้ชื่อว่า จุดแสงสว่างกลางหุบเขา กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์ ที่เขียนโดย สมพร เพ็งค่ำ CHIA Platform in Southeast Asia ระบุว่านี่เป็นการแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ เป็นข้อค้นพบของคนในชุมชนที่เข้ามาร่วมกันศึกษา ค้นคว้า เรียบเรียง ประกอบสร้างความรู้ร่วมกันกับความรู้ของผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่าง ๆ เพื่อคาดการณ์และขีดเส้นมาตรฐาน ข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบกับชุมชนในมิติต่าง ๆ เป็น 7 สิ่งขั้นต่ำที่อยากชวนทุกคนได้อ่านและทำความเข้าใจว่า ทำไมคนอมก๋อยทั้งเยาวชน คนสูงวัย ถึงต้องเคลื่อนขบวนฝ่าความร้อน ฝุ่นควัน เข้ามาในตัวเมืองเชียงใหม่ ตั้งหมุดหมายที่ศาลปกครอง ณ วันที่ 4 เม.ย.ที่กำลังจะมาถึง

เรื่องสำคัญ เป็น baseline ข้อมูลพื้นฐานที่คนอมก๋อยห่วงใย

การประมวลข้อมูลและวิเคราะห์ถึงผลกระทบหลักที่ส่งผลใน 7 เรื่อง

  1. สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ความสมดุลของระบบนิเวศ ป่าจิตวิญญาณ กลายเป็นแหล่งมลพิษของคนอมก๋อยและคนเชียงใหม่
  2. แปลงพืชอาหาร ที่ดินทำกินของคนในพื้นที่ ซึ่งปลูกพืชเศรษฐกิจมะเขือเทศและฟักทองมากกว่า 50 ครอบครัว อยู่ในบริเวณพื้นที่ของประทานบัตรเหมืองถ่านหิน
  3. อาจสูญเสียพื้นที่กักเก็บน้ำใต้ดินและพื้นที่ดูดซับน้ำและชะลอการไหลของน้ำ ซึ่งสัมพันธ์กับนิเวศของแหล่งน้ำโดยรอบ
  4. ปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมจากฝุ่นควัน แหล่งต้นน้ำปนปื้อนโลหะหนัก ไม่ปลอดภัยต่อการใช้อุปโภคและทำการเกษตรได้ รายจ่ายที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจากความเจ็บป่วยที่จะเกิดขึ้น
  5. ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางถนน การขนย้ายถ่านหินด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่จะสัญจรไปมาในพื้นที่ และความเสี่ยงต่อดินโคลนถล่มอันเป็นผลจากการระเบิดหน้าหน้าดินเพื่อทำเหมือง
  6. ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์ได้รักษาวิถีคนอยู่กับป่า พร้อมกับการปรับตัวให้เข้ากับแนวทางจัดการและฟื้นฟูธรรมชาติอย่างยั่งยืน อาจถูกสั่นคลอนและถูกแทนที่ด้วยอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินที่คนในชุมชนไม่ต้องการ
  7. ความขัดแย้ง ความรุนแรง ความแตกแยกอันเนื่องมาจากความไม่ลงรอยของคนที่มีต่อโครงการพัฒนา และถูกกดดันจากกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ที่มีส่วนได้เสียกับโครงการนี้

ประกาศค้านเหมืองที่หมู่ 12 บ้านกะเบอะดิน แต่พื้นที่ผลกระทบกว้างขวางกว่านั้น

ในรายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า พื้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ใช่พื้นี่บริเวณพื้นที่ทำกินของคนกะเบอะกินเท่านั้น แต่หากพิจารณารัศมี 20 กิโลเมตรจากพื้นที่ตั้งโครงการ ยังมีพื้นที่อาจได้รับผลกระทบ 6 หมู่บ้าน 2 หย่อมบ้าน

  1. บ้านกะเบอะดินและหย่อมบ้านผาแดง หมู่ 12 ตำบลอมก๋อย
  2. บ้านตุงลอยและหย่อมบ้านหนองกระทิง หมู่ที่ 4 ตำบลอมก๋อย
  3. บ้านยองกือ หมู่ที่ 8 ตำบลอมก๋อย
  4. บ้านขุน หมู่
  5. บ้านห่างหลวง
  6. บ้านตุงติง

จุดที่จะเป็นบริเวณที่ตั้งของเหมือง (ประมาณการ)

จากลุกขึ้นทำรายงาน CHIA และการฟ้องร้องให้เพิกถอน EIA

คำขอประทานบัตรเริ่มขึ้นในปี 2543 ต่อมามีการศึกษาอีไอเอในปี 2563 ชาวบ้านคลางแคลงและพบข้อพิรุธระหว่างกระบวนการจัดทำรายงานอีไอเอหลายจุด จนนำไปสู่จัดทำแจ้งความว่าเอกสารในการศึกษามีความผิดพลาดและข้อพิรุธสำคัญ อาทิ ปรากฏลายมือชื่อของบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ นี่จึงเหตุผลที่สำคัญที่เยาวชน และเครือข่ายภาคประชาสังคมออกมาร่วมกันขับเคลื่อนการรับรู้ในสังคมอีกครั้งในชื่อ “อมก๋อย” แดนมหัศจรรย์ ลมหายใจบนไหล่เขา รอยยิ้มของผืนดิน เสียงหัวเราะของสายน้ำ  ซึ่งเริ่มต้นแล้วเมื่อวันที่ 28 มี.ค 2565 ที่ผ่านมาและไปสิ้นสุดที่การยื่นฟ้องศาลปกครองในวันที่ 4 เม.ย.2565 ณ ศาลปกครอง จ.เชียงใหม่ ส่วน CHIA และรายละเอียดของพื้นที่เป็นอย่างไร ศึกษาเพิ่มเติมได้จากลิงก์แนบท้ายด้านล่างข้อเขียนนี้

ภาพโดย : ชเลฝัน ดิษฐ์ผู้ดี

สัดส่วนการใช้ถ่านหินของไทยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมมากกว่าผลิตไฟฟ้า

สำหรับถ่านหินในพื้นที่อมก๋อย บริษัทที่ยื่นขอประทานบัตรระบุว่าจะนำไปใช้กับโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ในจังหวัดลำปาง ซึ่งข้อมูลภาพรวมการผลิตและจัดหาถ่านหินของประเทศไทยอยู่ที่ พบสัดส่วนดังนี้ ผลิตในประเทศร้อยละ 63 นำเข้าร้อยละ 37 ขณะที่เมื่อจำแนกตามการใช้พบว่าประเทศไทยใช้ในอุตสาหกรรมสูงถึงร้อยละ 65 โดยเชื้อเพลิงถ่านหินจะถูกนำไปเผาไหม้ในหม้อไอน้ำเพื่อนำความร้อนไปผลิตไฟฟ้า หรือผลิตไอน้ำเช่นอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ โรงบ่มยาสูบ อุตสาหกรรมสิ่งท่อ เคมีภัณฑ์ ฯลฯ ส่วนอีกร้อยละ 35 ถูกนำผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า

อนึ่ง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (SCG) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนรายใหญ่แถลงทิศทางการข่าว SCG ESG Pathway เมื่อปลายปี 2564 ระบุว่า บริษัทตั้งเป้าจะลดการใช้พลังงานจากถ่านหินลดร้อยละ 50 โดยเริ่มต้นที่โรงปูนสระบุรีก่อนเป็นเป็นแห่งแรก ภายใต้กลยุทธ์

  1. Cement and Concrete ที่มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ ในกระบวนการผลิตและผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  2. Green Solutions ที่เน้นการนำเทคโนโลยี และดิจิทัลต่างๆ เข้ามาใช้ในการบริหารโครง การ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการก่อสร้าง
  3. Green Circularity ที่มุ่งเน้น ให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ด้วยแนวทางการ Turn Waste to Value

โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050

อ้างอิงข้อมูล

จุดแสงสว่างกลางหุบเขา กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์

ข้อมูลการผลิต การใช้ และการนำเข้าถ่านหิน กระทรวงพลังงงาน

วิสัยทัศน์ SCG

ระบบฐานข้อมูลประทานบัตร กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ