เมื่อ 30 กว่า ปีที่แล้ว มีกลุ่มคนนอกเข้ามาในชุมชน และขู่พวกเราให้ยอมขายที่ดิน ถ้าไม่ยอมขายก็จะโดนยึด ที่ดินฟรีๆ เราก็เลยต้องยอมขายให้เขา
คำบอกเล่าจากผู้เฒ่าคนหนึ่งในชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกะเบอะดิน
คำกล่าวข้างต้นคือเหตุการณ์เมื่อ 35 ปีที่แล้ว ที่ชาวบ้านถูกขู่และถูกบังคับให้ขายที่ดินของตัวเองอย่างไม่เต็มใจ โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างบนที่ดินแห่งนี้ ซึ่งเป็นทั้งแหล่งต้นน้ำ ผืนป่าจิตวิญญาณของบรรพบุรุษ เป็นพื้นที่เพาะปลูก และเป็นแหล่งทรัพยากรที่ชุมชนพึ่งพาตามวิถีวัฒนธรรมชนเผ่ากะเหรี่ยงที่สืบทอดกันมาเป็นร้อยปี กระทั่งเวลาผ่านไปกว่า 20 ปี ในปี พ.ศ. 2562 ชุมชนจึงได้รู้ว่าพื้นที่ทำกินและผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้จะกลายเป็นพื้นที่ตั้งของโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย
ใบปิดประกาศการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ของหน่วยงานรัฐ เป็นจุดเริ่มต้นให้ชุมชนต้องลุกขึ้นมาคัดค้านแสดงจุดยืนไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหิน โดยการรวมกลุ่มกันของชาวบ้านกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีทั้งเยาวชน ผู้หญิง และผู้เฒ่า เริ่มจากการทำความเข้าใจขั้นตอนต่าง ๆในการทำเหมืองแร่ และศึกษาเนื้อหา กระบวนการต่างๆทั้งหมดของการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (EIA) ที่ข้อมูลทั้งหมดล้วนมาจากการจัดทำของบริษัทที่ปรึกษาที่ได้รับการว่าจ้างจากเจ้าของโครงการ และพบว่าเนื้อหาต่างๆนั้นไม่ได้ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่เลยแม้แต่น้อย และที่สำคัญตลอดระยะเวลาการศึกษาทำรายงานอีไอเอของบริษัทนั้น ชุมชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมเลยแม้แต่ขั้นตอนเดียว
เพื่อให้เสียงของชุมชนซึ่งเป็นกลุ่มชนเผ่ากลุ่มเล็กๆถูกเปล่งออกไปสู่สาธารณะอย่างมีพลังและสร้างผลกระทบต่อสังคมได้อย่างแท้จริง ชุมชนจึงได้มีการขับเคลื่อนขบวนต่อสู้ในหลายรูปแบบ ทั้งการยื่นหนังสือ การเจรจา สร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการต่อสู้จากชุมชนอื่น เพื่อออกมาคัดค้านโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย ร่วมกับคนอมก๋อยและภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมอย่างเข้มแข็ง แต่การต่อสู้ทั้งหมดจะไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมีเหตุผล ชัดเจนและตรงไปตรงมาหากไม่มีข้อมูล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการมาสนับสนุนขบวนต่อสู้
จึงนำมาสู่กระบวนการจัดทำข้อมูลชุมชนโดยการทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน หรือ CHIA (Community Health Impact Assessment) ซึ่งเป็นเครื่องมือการจัดทำข้อมูลชุมชนหรือรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับชุมชน ที่สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าทางวิถีชีวิตวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชน เห็นศักยภาพของพื้นที่ เห็นความสมบูรณ์ของทรัพยากรทั้งบนผืนดินและแหล่งน้ำ และที่สำคัญทำให้เห็นว่าหากมีโครงการเหมืองแร่ถ่านหินเกิดขึ้นในพื้นที่ของชุมชน จะมีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต สุขภาพ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ของชุมชน
ในกระบวนการและขั้นตอนการทำข้อมูลชุมชนนั้น กลุ่มเยาวชนจะเป็นคนเก็บข้อมูลโดยมีผู้อาวุโสร่วมกันพาไปสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ บริเวณรอบ ๆ ชุมชนที่มีความสำคัญและมีคุณค่าทางสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม พาไปสำรวจแหล่งต้นน้ำบนภูเขา ที่ไหลผ่านพื้นที่แหล่งเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร นาข้าว พื้นที่เลี้ยงสัตว์ รวมถึง ไร่หมุนเวียน ผืนป่าจิตวิญญาณและลำห้วยที่เป็นแหล่งอาหารที่มั่นคงของชุมชน ซึ่งล้วนแต่อยู่ในเขตพื้นที่การขอประทานบัตรเหมืองแร่ทั้งสิ้น ข้อมูลทั้งหมดค่อยๆถูกพัฒนาจากข้อมูลดิบค่อยๆถูก จัดทำให้เป็นสัดเป็นส่วนและถูกถ่ายทอดออกมาร้อยเรียงอย่างเรียบง่าย ทั้งในรูปแบบอักษร ภาพ วีดีโอ แผนที่ ทั้งหมดล้วนแต่เป็นการทำมือลงบนกระดาษแผ่นใหญ่ โดยมีผู้เฒ่าผู้แก่ ที่มาร่วมกันเติมข้อมูลและขยายข้อมูลต่างๆที่ถูกรวบรวมให้ลึกและกว้างขึ้น โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์และแหล่งค้นพบของโบราณต่างๆที่แสดงให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในพื้นที่แห่งนี้ว่ามีนานแค่ไหนแล้ว หลังจากการได้ข้อมูลมาในแต่ละส่วน กลุ่มเยาวชนจะมาเล่าให้ชุมชนฟังเพื่อทำความเข้าใจกับชุมชน เพื่อเป็นการทำความเข้าใจและเรียนรู้กระบวนการ เนื้อหาและคุณค่าชุมชนของตนไปในตัว
ดังนั้น CHIA จึงเป็นอาวุธสำคัญที่ชุมชนต้องมีไว้เพื่อปกป้องชุมชน ปกป้องแหล่งน้ำ ผืนป่า และวิถีของตัวเองเพื่อคนในชุมชนอมก๋อย เพื่อคนเชียงใหม่และเพื่อทุกคนที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรป่าและน้ำในชีวิตประจำวัน เมื่อชุมชนมีชุดข้อมูลที่เพียบพร้อมและทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งแล้ว ก็สามารถนำไปสู่การกำหนดแนวทางต่อสู้ สื่อสารต่อสังคม ใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนทางคดีเพื่อฟ้องร้อง สร้างอำนาจต่อรอง และสนับสนุนขบวนการขับเคลื่อนคัดค้านโครงการเหมืองแร่ถ่านหินของชนเผ่าและคนอมก๋อยได้อย่างเข้มแข็งและมั่นใจด้วยตัวชุมชนเอง
การทำข้อมูลชุมชนมีความท้าทายหลายอย่างเนื่องจากเป็นเรื่องใหม่สำหรับชุมชน จึงใช้เวลาในการทำเกือบสองปีโดยมีภาคประชาสังคมคอยเป็นพี่เลี้ยงช่วยสนับสนุนเครื่องมือและแนวทางต่าง ๆ ในการจัดทำชุดข้อมูลชุมชน ซึ่งชุดข้อมูลทั้งหมดก็ได้ออกมาเป็นรูปเล่มหนังสือชุมชนเรียบร้อยแล้วและชุมชนร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมมีแผนที่จะจัดเวทีสาธารณะ เพื่อเปิดตัวหนังสือชุมชนในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2565 เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะถึงจุดยืนและเจตนาอันแน่วแน่ของชุมชนในการต่อต้านเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย และเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์และถอดเนื้อหาสำคัญของหนังสือ CHIA รวมถึงการร่วมกันหาแนวทางการผลักดัน CHIA ไปสู่นโยบายของรัฐและผลทางกฎหมายต่อไปอย่างเข้มแข็ง ต่อเนื่องด้วยในวันที่ 4 เมษายน 2565 ชาวบ้านจะยื่นฟ้องคดีที่ศาลปกครองเชียงใหม่เพื่อคัดค้านอีไอเอและเพื่อยืนยันสิทธิในทางศาลต่อไป
ร่วมสนับสนุนชุมชนและเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อคัดค้านเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อยไปด้วยกันได้โดยการติดตามกิจกรรม “อมก๋อย แดนมหัศจรรย: ลมหายใจบนไหลเขา รอยยิ้มของผืนดิน เสียงหัวเราะของสายน้ำ” และร่วมแชร์เรื่องราวการต่อสู้ของชุมชนพร้อมติดแฮชแท็ก #saveomkoi #omkoinocoal หรือมาแสดงพลังเพื่อร่วมสนับสนุนชุมชนในวัน และสถานที่ดังกล่าวข้างต้น
ร่วมติดตามกิจกรรมได้ที่ เพจ กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์
สามารถดาวน์โหลดเล่ม CHIA ได้ที่ “จุดแสงสว่างกลางหุบเขา กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์“
รู้หรือไม่!: การประเมินผลกระทบโดยชุมชน (Community-led Impact Assessment) ได้มีพัฒนาการมาจาก การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน (Community Health Impact Assessment: CHIA) ตามประกาศของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนท้องถิ่นในการแสวงหาข้อมูลหลักฐานประกอบการตัดสินใจเลือกนโยบาย โครงการ และกิจกรรมการพัฒนาต่างๆ ที่เป็นผลดีต่อสุขภาวะของชุมชน โดยมีเป้าหมายสู่การสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและความเป็นธรรมด้านสุขภาพ
ธนกฤต โต้งฟ้า
ผู้หลงใหลในธรรมชาติและเคียงข้างชุมชน
นักข่าวพลเมือง