พื้นที่สีขาวเพื่อเยาวชน

พื้นที่สีขาวเพื่อเยาวชน

whitespace platform

พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓

  • มาตรา ๘๖ ในคดีที่เด็กหรือเยาวชนต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูง ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ถ้าปรากฏว่าเด็กหรือ เยาวชนไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หากเด็กหรือเยาวชนสำนึกในการกระทำก่อนฟ้องคดี เมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สภาพร่างกาย สภาพจิต อาชีพฐานะ และเหตุแห่งการกระทำความผิดแล้ว หากผู้อำนวยการสถานพินิจพิจารณาเห็นว่าเด็กหรือเยาวชนนั้น อาจกลับตนเป็นคนดีได้โดยไม่ต้องฟ้อง ให้จัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูให้เด็กหรือเยาวชนปฏิบัติ และหากจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองเด็กหรือเยาวชนอาจกำหนดให้บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคล หรือผู้แทนองค์การ ซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยปฏิบัติด้วยก็ได้ ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปรับเปลี่ยนความ ประพฤติของเด็กหรือเยาวชน บรรเทา ทดแทน หรือชดเชยความเสียหายแก่ผู้เสียหาย หรือเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ชุมชนและสังคม แล้วเสนอความเห็นประกอบแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูต่อพนักงานอัยการเพื่อพิจารณา เมื่อพนักงานอัยการได้รับแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูและความเห็นของผู้อำนวยการสถานพินิจ หากพนักงานอัยการเห็นว่าแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กหรือเยาวชนแล้ว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้พนักงานอัยการเห็นชอบกับแผนดังกล่าวและให้มีการดำเนินการตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูทันที พร้อมทั้งรายงานให้ศาลทราบ ทั้งนี้ แผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูต้องได้รับความยินยอมจากเด็กหรือเยาวชนและผู้เสียหายด้วย หากคดีนั้นเป็นคดีที่มีผู้เสียหาย

Whitespace Platform โครงการสานพลังชุมชน เปิดพื้นที่สีขาวให้กับเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงกระทำความผิด เยาวชนที่กระทำผิดเข้าเกณฑ์ มาตรา 86 และเยาวชนที่พ้นโทษ ได้มีพื้นที่เรียนรู้ ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยความร่วมมือของ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน), สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด และ Change Fusion

สันติ โฉมยงค์ “หมอติ” ที่ชาวบ้านเรียกขาน หรือ “ครูติ” ของเด็กๆ กลุ่มรักษ์บางบาล นักกิจกรรมเพื่อสังคมที่เข้ามาร่วมทำงานเป็นเสมือน local manager ออกแบบกิจกรรม วางแผนให้คนทำงานด้านสังคม ชุมชน และเยาวชนมาพบเจอกัน มีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างนวัตกรรมสังคมให้เกิดการเรียนรู้ตามแผนแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู ที่สอดคล้องกับวิถีของชุมชน

“สิบกว่าปีที่ผ่านมาพวกเราทำงานขับเคลื่อนสังคมด้วยเป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างคนและสร้างชุมชนเพื่อเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้”

ที่ผ่านมาเราได้รับสนับสนุนการสร้างคน ทั้งจากสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ที่ชวนคนเลิกเหล้าแล้วมาทำงานเพื่อสังคม จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ให้โอกาสพวกเราเป็นพี่เลี้ยงดูแลเด็กนอกระบบการศึกษา และได้รับการสนับสนุนจาก สสส.สำนัก 6 ในการพัฒนาพี่เลี้ยงให้ทำงานด้วยข้อมูล มุ่งเน้นผลลัพธ์ ทำซ้ำจนเกิดการเรียนรู้ และยังให้ทุนสนับสนุนชุมชนไปทำงานเพื่อแก้ปัญหาสังคม สุขภาพ และสภาพแวดล้อมร่วมกัน

ในบทบาทของการเป็น local manager ต้องมีการวางแผนร่วมกับทีมพี่เลี้ยงและทีมชุมชน ออกแบบกิจกรรมในแผนแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู สำหรับเยาวชนที่กระทำผิด เข้าเกณฑ์ มาตรา 86 และเปิดพื้นที่ให้กับเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงกระทำความผิด และเยาวชนที่พ้นโทษแล้วได้เข้ามาร่วมเรียนรู้ได้ด้วย

จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นพื้นที่แรกที่เกิด Whitespace Platform ขึ้นภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างอัยการ ผู้อำนวยการสถานพินิจ ชุมชน และภาคประชาสังคม ในการวางแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู เยาวชน ทั้งกลุ่มเสี่ยงกระทำความผิด กลุ่มที่กระทำความผิด และกลุ่มที่พ้นโทษแล้ว เพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลคลองจิก อำเภอบางปะอิน เป็นชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนโครงการสร้างเสริมสุขภาพขนาดเล็ก จากหน่วยจัดการร่วมกับ สสส.ในระดับพื้นที่ (node) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นชุมชนแรกที่ได้เปิดพื้นที่เรียนรู้สำหรับเยาวชน โดยใช้ต้นทุนชุมชนที่มี ใช้วิถีชีวิตด้านการเกษตร การผลิตและบริโภคผักปลอดสารเคมีในครัวเรือน การจัดการขยะชุมชน และการท่องเที่ยวชุมชน เป็นสารตั้งต้นในการเรียนรู้ของเยาวชน

เรียนรู้ชีวิตจากผักตบชวา

ผักตบชวาถูกมองว่าเป็นสาเหตุของน้ำเน่าเสียจากการขยายพันธ์ที่รวดเร็ว เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค และกีดขวางทางน้ำ ทำให้น้ำท่วม ทั้งๆที่ผักตบชวาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เป็นอาหาร เลี้ยงสัตว์ ทำปุ๋ยหมัก ทำยา ทำเครื่องจักสาน ฯลฯ อุปมาก็เหมือนเยาวชนที่ถูกสังคมตีตราในมุมที่ก้าวพลาด  การเปิดพื้นที่เรียนรู้ตั้งแต่ขั้นตอนการนำต้นผักตบชวาขึ้นมาจากน้ำ เพื่อมาแปรรูปเป็นบับเบิ้ลกันกระแทก ขายสร้างรายได้หรือใช้ประโยชน์เพื่อลดต้นทุนให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ทำให้รู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง ในแง่มุมที่สังคมอาจมองข้ามไป เศษชิ้นส่วนเหลือใช้ของผักตบชวาสามารถนำมาทำปุ๋ยหมัก บำรุงดิน ประดิษฐ์เป็นกระถางปลูกต้นไม้ที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังสามารถนำส่วนราก ใบ และเศษชิ้นส่วนที่เหลือใช้มาตากแห้ง ใช้แทนแกลบในการทำระเบิดจุลินทรีย์ (อีเอ็มบอล) บำบัดน้ำเสียตามแหล่งน้ำในชุมชนซึ่งเคยเป็นแหล่งที่อยู่ของผักตบชวานั่นเอง

เรียนรู้จากต้นไม้

กิจกรรมมัดย้อมสีธรรมชาติจากต้นไม้ที่พบเห็นได้ในชุมชน เช่น ต้นจิก มะเกลือ ต้นหว้า นนทรีย์ ดาวเรือง ฯลฯ เรียนรู้การนำเสื้อผ้าเก่ามาพับลวดลายศิลปะก่อนจะนำไปย้อมสีธรรมชาติ คืนชีวิตให้เสื้อผ้ากลับมามีสีสันอีกครั้ง

การทุบสีจากดอกไม้ ใบไม้  ทำลวดลายบนผ้า สร้างมูลค่าให้กระเป๋าผ้า พัฒนาเป็นของฝากจากชุมชน กิจกรรมต่างๆ ได้สร้างการเรียนรู้ต้นทุนทรัพยากรในชุมชน เพื่อนำมาสร้างมูลค่าผ่านงานศิลปะ ได้เรียนรู้การอนุรักษ์ทรัพยากร การวางแผนใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ยังมีฐานการเรียนรู้ โคก หนอง นา การแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน และการทำเส้นทางปั่นจักรยานท่องเที่ยวชุมชนเพื่อเรียนรู้ธรรมชาติ ศึกษาประวัติศาสตร์ สร้างเศรษฐกิจฐานราก กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งคาดหวังว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนได้กลับตัวกลับใจ หันด้านสีขาวเข้าหากัน เพื่อสร้างสรรค์ สร้างสุข ให้กับสังคมต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ