คุณ Sara Heine ผู้บริหารสถาบันนานาชาติ IOGT nto movement ประเทศสวีเดน เดินทางมาศึกษาดูงานการขับเคลื่อนโครงการเพื่อการแก้ไขปัญหาสุราและสารเสพติดในกลุ่มเยาวชนนักศึกษา ภายใต้การขับเคลื่อนของเครือข่ายป้องกันปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดในจังหวัดเชียงใหม่ภายใต้การสนับสนุนจาก IOGT , สสส, และมูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทย ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายเยาวชนนักศึกษาจากการรวมตัวกันของนักศึกษา 4 มหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงใหม่อันได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาภาคพายัพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผ่านกลไกการทำงานของชมรมอิสระที่มีความสนใจการขับเคลื่อนงานในประเด็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด
โดยที่ผ่านมาการขับเคลื่อนงานของชมรมที่เกิดนวัตกรรมในการขับเคลื่อนงานในการลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มสมาชิกชมรม รวมไปถึงการเกิดนวัตกรรมกิจกรรมปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับคณะ อันจะนำไปสู่การลดการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อนักศึกษาซึ่งจะเป็นกระบวนการในการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ รวมไปถึงได้มีในส่วนของกติกาในการควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนทุกชมรมมีกติกาที่ไม่รับการสนับสนุนทุนในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมจากกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่
การขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันของเครือข่ายฟรีมหาวิทยาลัยภายใต้ชื่อกลุ่มว่า NPAD Network โดยมีกิจกรรมในการสื่อสารต่อสังคมในประเด็นผลกระทบที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และขับเคลื่อนงานเพื่อลดการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกิจกรรมระดับจังหวัด อาทิ กิจกรรมรณรงค์สงกรานต์ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กิจกรรมรณรงค์วันวาเลนไทน์ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กิจกรรมรณรงค์วันสตรีสากล และในช่วงปลายปีนี้จะมีทิศทางในการขับเคลื่อนโครงการเพื่อสำรวจความเสี่ยงและผลกระทบจากการจัดกิจกรรมพิเศษทางการตลาดของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อตัวเด็กเยาวชนนักศึกษา เพื่อจะเป็นข้อมูลในการที่จะนำเสนอในเชิงนโยบายต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลจากพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดต่อไป
นอกจากนี้คุณ Sara Heine ยังมีการแชร์ประสบการณ์บทเรียนในการขับเคลื่อนงานของกลุ่มเครือข่ายเด็กและเยาวชนทางทวีปยุโรปในการแก้ไขปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยทราบว่า บริบทการดื่มสุราในประเทศไทยไม่ต่างจากกลุ่มเด็กและเยาวชนในทวีปยุโรปเลย เพราะมีพื้นที่โดยรอบสถานศึกษามีจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่าย รวมไปถึงสามารถที่จะมองเห็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของกลุ่มธุรกิจ รวมไปถึงการจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆอีกด้วยซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ในการที่จะต้องสื่อสารกับกลุ่มเด็กและเยาวชนเพื่อที่จะสามารถป้องกันตนเองจากพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงการคำนึงถึงเรื่องของสิทธิความเท่าเทียมของหญิงชาย และประเด็นสิทธิเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนงานในการแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกด้วย