ชายหาดของ…ใคร ? คุยกับ ‘น้ำนิ่ง อภิศักดิ์ ทัศนี’ หนึ่งในกลุ่มเยาวชนรักชายหาด จ.สงขลา

ชายหาดของ…ใคร ? คุยกับ ‘น้ำนิ่ง อภิศักดิ์ ทัศนี’ หนึ่งในกลุ่มเยาวชนรักชายหาด จ.สงขลา

เรื่อง : สาริศา รักษา / ภาพ : สุวนันท์ อ่ำเทศ, มานิตย์ หวังชิตนาย

เราต้องเป็นคน Monitor ชายหาดเอง และจัดทำชุดนโยบายของชุมชนให้ได้ กำหนดชะตากรรมตัวเองให้ได้ ว่าบ้านเราควรเป็นอย่างไร

แจ่มชวนคุย และทำความรู้จักกับ ‘น้ำนิ่ง อภิศักดิ์ ทัศนี’ แกนนำกลุ่ม Beach for life กลุ่มเยาวชนที่รวมตัวกันเเบ่งบันความรู้ ปลูกจิตสำนึกพลเมืองสงขลา ดูแลรักษาชายหาด

น้ำนิ่งเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มของ Beach for life จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในห้องเรียน จนได้รับรางวัลดีเด่นผลงานนักเรียน “เเผนงาน เครือข่าย Beach for life พลังพลเมืองเยาวชนสงขลา โรงเรียนมหาวชิราวุธ” ในงานวันนวัตกรรมเเละคุณภาพ ครั้งที่ 3 : Hatyai Inno-Q Day 2013 จนถึงวันนี้ เกิดเครือข่ายเยาวชนทำงานขับเคลื่อนเรื่องชายหาดในพื้นที่จังหวัดสงขลา

แนะนำตัวหน่อย

น้ำนิ่ง อภิศักดิ์ ทัศนี แกนนำกลุ่ม Beach for life

เริ่มสนใจเรื่องทรัพยากรธรรมชาติตั้งแต่ช่วงไหน

ถ้าสนใจเรื่องธรรมชาติมาตั้งแต่เด็กแล้ว เพราะบ้านอยู่ติดทะเล ชอบชายหาด รักชายหาด อยู่กับชายหาดทุก ๆ เย็น เคยทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ไปเข้าค่ายสิ่งแวดล้อมมตั้งแต่ประถม แต่มาเริ่มจับงานเรื่องชายหาดจริง ๆ ตอนปี 2555 เริ่มจากที่ 2554 ที่มาเรียนรู้เรื่องชายหาด แล้วเห็นการพังทลายของชายหาดอยู่ทุกวัน แต่ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร เราคิดว่าการสร้างโครงสร้างจะช่วยป้องกันชายหาดได้ แต่จริง ๆ แล้วเป็นการทำลายชายหาด พอมารู้ความจริงเลยทำให้รู้สึกว่า

ทำไมเราอยู่กับทะเลประจำ แต่เราไม่เข้าใจธรรมชาติของชายหาด ทำไมเราไม่รู้สิ่งนี้ทำให้ชายหาดพัง ทั้ง ๆ ที่เราอยู่กับมันมาเกือบทั้งชีวิต ก็เลยรู้สึกว่า ถ้าเราไม่รู้ธรรมชาติชายหาด แล้วคนทั่วไปจะรู้หรือเปล่า

เลยรวมกลุ่มเพื่อนชวนกันมาทำงานให้ความรู้กับคนสงขลา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง ธรรมชาติชายหาดคืออะไร หาดทรายเคลื่อนตัวอย่างไรและชายหาดพังได้เพราะอะไร ก็เริ่มทำงานมาจากตรงนั้นตั้งแต่ปี 2555

ตอนนั้นมีเยาวชนที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องชายหาดเยอะไหม

เริ่มต้นจากเพื่อน ๆ ในโรงเรียนมัธยม รวมกันประมาณ 5-6 คน ในโต๊ะเคมี แล้วคุยกันว่า เราอยากจะทำเรื่องชายหาด จะทำอะไรดี จะรวมกลุ่มกันแบบไหน จะเดินงานกันอย่างไร จากที่คุยกันก็เริ่มขยายฐานเพื่อนเป็น 10 กว่าคน 19 คน 50 คนที่ทำงานร่วมกัน เกิดเครือข่ายเยาวชนในสงขลา แต่ก็ใช้เวลา 2 ปีกว่า เราได้กลุ่มเพื่อน 11 สถาบัน มีทุกสถาบันในเขตเทศบาลนครสงขลาที่ทำงานเรื่องชายหาดด้วยกัน มีทั้งเด็กมัธยม เด็กมหาวิทยาลัย ทำงานร่วมกับทางสงขลาฟอรั่ม เราก็ได้รับงบจากมูลนิธิสยามกัมมาจลผ่านสงขลาฟอรั่มมาแล้ว ทำงานประเด็นเรื่องชายหาด เพื่อพัฒนาความเป็นพลเมืองในตัวเรา แต่ก็ยังยึดประเด็นเรื่องชายหาดเป็นหลัก

Beach For life คืออะไร

Beach for life คือกลุ่มเยาวชนที่รวมตัวกันโดยความรู้สึกรักชายหาด เห็นว่าตัวเองยึดโยงกับชายหาด ผูกพัน สัมพันธ์กับชายหาด รวมตัวกันเพื่อที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการชายหาดอย่างยั่งยืน เพราะเราเชื่อว่าการจัดการชายหาดที่ยั่งยืนต้องเริ่มจากเรา เราต้องเป็นผู้กำหนดนโยบาย บอกว่าชายหาดแห่งนี้ควรจะทำอย่างไร บนฐานข้อมูลองค์ความรู้ทางวิชาการต่าง ๆ

Beach For life ทำอะไรบ้าง

Beach for life เติบโตจากระบวนการสร้างพลเมืองของสงขลาฟอรั่ม มูลนิธิสยามกัมมาจล งานที่เราทำมีอยู่ 4 ส่วนหลัก ๆ อย่างแรกเป็นงาน ส่งเสริมความรู้และพัฒนาองค์ความรู้ เป็นการไปจัดนิทรรศการให้ข้อมูล จัดเวทีส่งเสริมความรู้ มีจัดอบรมจะเป็นงานส่วนแรกแล้วก็งานเอกสาร งานวิชาการที่เราจะพัฒนาองค์ความรู้ที่เราเก็บรวบรวมมาได้ งานที่ 2 คืองานติดตามสภาพชายหาด เป็นงานมอนิเตอร์ ว่าชายหาดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร แต่ละครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเพราะอะไร งานที่ 3 จะเป็นงานของการสร้างการมีส่วนร่วม เวลามีโครงการหรือมีชุดนโยบายที่เกิดขึ้นที่สมิหลา กลุ่มเยาวชนกลุ่มนี้ก็จะพูดคุยกัน หาข้อมูลแล้วมาคุยว่าโครงการนี้เราจะเข้าไปมีส่วมร่วมได้อย่างไร เราจะเสนอนโยบายอะไร และสุดท้ายก็คือ งานจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อจะบอกว่าชายหาดที่นี่ควรเป็นอย่างไร จะเก็บข้อมูลอย่างไร

อยากให้สะท้อน หลังจากที่เราเข้าไปทำเรื่องชายหาด เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง

ผมเติบโตมาจากการทำงานของทางสงขลาฟอรั่ม ที่ทำงานเพื่อที่จะสร้างความเป็นพลเมืองให้ตัวเรา สิ่งที่เราเรียนรู้คือ เรื่องของความเป็นพลเมืองที่เติบโตจากการลงมือทำ ไปเรียนรู้จากเรื่องจริง ชีวิตจริง สถานการณ์จริง นี่คือสิ่งที่เราได้มาโดยตลอดและมันเป็นพื้นฐานของการเติบโตในชีวิตเราด้วย และเราคิดว่าเพื่อนๆ ที่ร่วมทาง ร่วมทำงานก็เติบโตในมิตินี้เช่นเดียวกัน เราเข้าใจเรื่องสิทธิ์มากขึ้น เราเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น เราเคารพกฎหมาย เคารพกติกาที่อยู่ร่วมกัน เราเข้าใจความเป็นมนุษย์จากการที่มีสงขลาฟอรั่มเป็นพี่เลี้ยง โดยเอาประเด็นที่เราสนใจมาเป็นตัวเล่นกับเรา อันที่ 2 ก็คือสิ่งที่เราเติบโตคือ ผมคิดว่าผมชัดในองค์ความรู้เรื่องชายหาดมากในระดับหนึ่ง ระดับที่เราสามารถที่จะแลกเปลี่ยนพูดคุยหรือเสนอแนะในทางวิชาการในเชิงนโยบายได้ ซึ่งนี่ก็เป็นผลพวงจากการที่เราลงมือทำ เรารู้ในเรื่องนี้จริงๆ และเกิดการคุยกับเพื่อนๆ ว่าควรไปทิศทางไหน นี่คือสิ่งที่เราได้

แผนต่อไปในอนาคต การทำเรื่องชายหาดจะเป็นอย่างไร

ผมคิดว่า แผนหนึ่งในใจผมคือ จะทำอย่างไรให้มีกลุ่มเยาวชนรักชายหาดในทุกๆ พื้นที่ แผนต่อมาก็คือ ชุมชนจะต้องมีข้อมูลเครื่องมือเป็นของตัวเองให้ได้ เรารอรัฐไม่ได้แล้ว เรารอรัฐให้มาเก็บข้อมูลตรงนี้ช้ามาก เราต้องเป็นคน Monitor ชายหาดเอง และจัดทำชุดนโยบายของชุมชนให้ได้ กำหนดชะตากรรมตัวเองให้ได้ ว่าบ้านเราควรเป็นอย่างไร นี่คือสิ่งที่ผมฝัน เพราะว่าระบบราชการที่สั่งการลงมาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ตอบโจทย์ ณ ตอนนี้แล้ว สิ่งที่ตอบโจทย์คือ การทำให้ชุมชนตื่นรู้และกำหนดนโยบายจากด้านล่างขึ้นด้านบนบนฐานข้อมูลความรู้ที่มี นี่คือสิ่งที่อยากจะทำ และเราคิดว่า มันกำลังเดินในทางนี้อยู่ มันเกิดเครือข่ายเยอะแยะมากมายที่กำลังทำ อย่างเช่นที่จะนะ ที่กลุ่มเด็กรักหาดสวนกงกำลังทำ ที่สงขลาขยับเรื่อง Beach Zoning แล้วตอนนี้เป็นที่แรกของประเทศไทย ที่เทพามีกลุ่มที่คอยติดตามเรื่องชายหาดอยู่ แล้วก็กำลังจะเกิดขึ้นอีกหลาย ๆ ที่ ทั้งที่ปัตตานี และฝั่งสิงหนครและระโนด ของจังหวัดสงขลา นี่คือสิ่งที่เราวาดหวังจะทำ และถ้ามันเกิดขึ้นทั่วทุกพื้นที่ชายฝั่งในประเทศไทย ก็จะกลายเป็นเครือข่ายที่เรียนรู้ร่วมกัน มีชุดข้อมูล แล้วก็กำหนดจากด้านล่างขึ้นด้านบน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ