อยู่ดีมีแฮง : สถิติปี 2564 เด็กอีสานจมน้ำสูงสุดในหน้าแล้ง

อยู่ดีมีแฮง : สถิติปี 2564 เด็กอีสานจมน้ำสูงสุดในหน้าแล้ง

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 2555-2564 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำถึง 35,915 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถึง 7,374คน คิดเป็น ร้อยละ 20.5  โดยเด็กช่วงอายุ 5-9 ปี เป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุด จำนวน 2,867 คน และช่วงเดือนที่เสียชีวิตมากที่สุด คือ มีนาคม – พฤษภาคม เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 32.7 ของการจมน้ำเสียชีวิตตลอดทั้งปี 

อีสานเป็นภูมิภาคที่มีมายาคติเรื่องสภาวะแล้งและอากาศร้อนที่ต้องเผชิญยาวนาน สลับกับฤดูฝนและหนาว สถิติการสูญเสียจากภาวะจมน้ำจำนวนมากจึงเป็นเรื่องที่น่าฉงน สงสัย และหาคำตอบ ถึงสาเหตุและแนวทางป้องกัน อ็อด กิติศักดิ์ ปิยะมโนธรรม  หนึ่งในอาสาสมัครหน่วยกู้ชีพนครสาเกต จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งทำงานอาสากู้ชีพกู้ภัยมาอย่างต่อเนื่องมามากกว่า 10 ปี ในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด  โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์อุบัติเหตุ เจ็บป่วย และเหตุฉุกเฉิน ที่ได้รับการประสานร้องขอความช่วยเหลือร่วมกับเจ้าหน้าที่ องค์กรเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแน่นอนรวมถึง “เหตุจมน้ำ” 

โดยข้อมูลเพิ่มเติมของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค บอกว่าแค่เฉพาะเดือน มีนาคม – พฤษภาคม 2564 มีเด็กไทยกว่า 189 คน ที่เสียชีวิตจากการจมน้ำ เพราะว่าเป็นช่วงที่โรงเรียนปิดเทอม ซึ่งภาคอีสานมีอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำสูงที่สุด รองลงมาคือ ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคกลาง ตามลําดับ 

สถิติการจมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุดในหน้าแล้ง

“โดยส่วนใหญ่ที่จมน้ำเสียชีวิตก็จะอยู่ในช่วงฤดูแล้ง ฤดูร้อน ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมไปสิ้นสุดเดือนพฤษภาคม เนื่องจากว่าสภาวะของภาคอีสานค่อนข้างร้อนอบอ้าว โดยส่วนใหญ่นิยมไปเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวที่มีน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นน้ำ แพต่าง ๆ ทำให้หลาย ๆ คนจมน้ำเสียชีวิต ในห้วงเวลานั้นเยอะครับ” 

กิติศักดิ์ ปิยะมโนธรรม เกริ่นถึงสถิติโดยเฉลี่ยของสถานการณ์ผู้ประสบเหตุในเบื้องต้น ก่อนจะอธิบายรูปธรรมจำนวนผู้เสียชีวิตในแต่ละปีของ จ.ร้อยเอ็ด 

“โดยเฉลี่ยเท่าที่มีข้อมูล คนเสียชีวิตจากการจมน้ำมีมากกว่า 70 คน  ที่มีเจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติงาน หมายความว่าถ้ามีการรับแจ้งเหตุคนจมน้ำเสียชีวิตใหม่ ๆ จะมีนักประดาน้ำออกปฏิบัติงาน 50-60 เคสต่อปี แต่ก็จะมีบางเคสที่เราไม่ได้รับแจ้ง แต่ลอยขึ้นมาเองก็ประมาณ 10-20 เคสต่อปี เช่นกัน ดังนั้นก็โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 50-70 เคสต่อปี 

การขอความช่วยเหลือเมื่อประสบเหตุ “คนจมน้ำ”

“โดยเฉลี่ยถ้าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวก็จะเจอคนจมน้ำเสียชีวิตตั้งแต่ช่วงอายุ 12-30 ปี อันนี้จากสถานที่ท่องเที่ยว ส่วนในเคสที่จมน้ำตามอ่างเก็บน้ำตามสถานที่ต่าง ๆ ที่ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุตั้ง 40 ปี ขึ้นไปกรณีที่ไปประมง หาปลา แล้วก็พลัดตกหรือประสบอุบัติเหตุครับ”  

อ็อด กิติศักดิ์ ปิยะมโนธรรม  ลงรายละเอียดถึงข้อมูลของผู้เสียชีวิต ซึ่งสะท้อนถึงวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนอีสาน ที่นอกจากชอบท่องเที่ยวตามแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อคลายร้อนแล้ว วิถีการหาอยู่หากินที่พึ่งพาแหล่งน้ำตามหัวไร่ปลายนา ห้วย หนอง  แหล่งน้ำสาธารณะ เช่น อ่างเก็บน้ำ ก็มักจะกลายเป็นจุดเสี่ยงที่หลายคนอาจมองข้าม

แต่เมื่อมีความเสี่ยงเกิดขึ้น ความรู้ ความเข้าใจ เรื่องการประสานร้องขอความช่วยเหลือ การปฏิบัติตัวเบื้องต้นเพื่อลดความสูญเสียจากการจมน้ำเสียชีวิต เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ต้องสื่อสารให้ได้รู้และเข้าใจในวงกว้าง เพราะการกู้ชีพทางน้ำนั้น จำเป็นต้องมี “นักประดาน้ำ” หรือเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในการร่วมปฏิบัติการ 

ไม่ควรดำน้ำค้นหาด้วยตนเอง ป้องกันเหตุซ้ำซ้อน

“มันจะมีอยู่ 2 กรณี กรณีที่หนึ่งจมน้ำหายไปแล้ว ผมแนะนำว่าประชาชนทุกท่านไม่ควรที่จะไปดำน้ำค้นหาด้วยตัวของท่านเอง สืบเนื่องจากใต้พื้นน้ำเราไม่รู้ว่าพื้นน้ำมีขนาดความลึกจริง ๆ เท่าไร แล้วประเด็นที่สองเราไม่ทราบว่ามันมีสิ่งปลูกสร้างหรือมีต้นไม้ใหญ่ไหม โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการดำน้ำแบบตัวเปล่าค่อนข้างสูง อาจจะมีอุบัติเหตุซ้ำซ้อนมา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้ช่วยเหลือ” 

อ็อด กิติศักดิ์ ปิยะมโนธรรม  ย้ำเรื่องนี้เป็นอันดับแรก เพราะการปฏิบัติการใต้น้ำมีความเสี่ยง

“ตะโกน โยน ยื่น” เมื่อเจอคนตกน้ำแต่ยังไม่จม

“แต่ถ้าเป็นกรณีที่เราเห็นคนตกน้ำแต่ยังไม่จมน้ำ ยังขอความช่วยเหลือได้ เราก็ใช้อุปกรณ์รอบตัวเราไม่ว่าจะเป็นการตะโกน โยน ยื่น โดยการใช้เชือก ขวดน้ำใหญ่ ๆ หรือกล่องใด ๆ ที่สามารถสร้างเป็นสุญญากาศหรืออากาศในภาชนะนั้น ๆ โยนไปให้ผู้ประสบภัยในการที่จะประคองตัวในผิวน้ำนะครับ 

เพื่อให้เขาพักก่อนที่จะเข้ามาก็ได้ หรือโยนเชือกก็ได้เป็นเรื่องที่ดี  แต่ไม่แนะนำให้เอาตัวเองลงไปว่ายน้ำเพื่อจะไปช่วยผู้ประสบภัยหากไม่มีการฝึกฝนมาก่อน เนื่องจากผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ใกล้จมน้ำกำลังดิ้นทุรนทุรายเพื่อจะหนีตาย โอกาสที่จะมาคว้าล็อคตัวเราให้จมน้ำไปด้วยกันค่อนข้างสูง ซึ่งบุคคลเหล่านั้นที่สามารถที่จะว่ายน้ำหรือกระทำการใด ๆ ในการเข้าไปช่วยเหลือจะต้องผ่านการฝึกฝนในระดับปฏิบัติการได้ ในประชาชนทั่วไปแนะนำว่าให้ใช้เชือก โยนชูชีพหรือถังน้ำให้ประชาชนเป็นเรื่องที่ปลอดภัยกว่าครับ”

ทุกการสูญเสียไม่มีใครอยากให้เกิด รวมถึง “การจมน้ำ” ซึ่งจากข้อมูลข้างต้นพบว่า กลุ่มเสี่ยงในช่วงหน้าแล้งซึ่งเป็นช่วงปิดเทอม คือ เด็กและเยาวชน ที่โปรดปราณการเล่นน้ำคลายร้อนตาม ห้วย หนอง คลอง บึง หรือแหล่งน้ำตามหัวไร่ปลายนาของชุมชน ที่มักจะชักชวนกันไปเล่นน้ำตามลำพังกับกลุ่มเพื่อนในช่วงวัยเดียวกันโดยไม่มีผู้ใหญ่ดูแล ซึ่งการร่วมกันสอดส่องบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ทั้งจากคนในครอบครัวและสมาชิกของชุมชนจึงเป็นส่วนสำคัญในการป้องกัน ควบคู่กับการจัดการแหล่งน้ำเพื่อให้เกิดความปลอดภัย เช่น สร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำที่เป็นจุดเสี่ยงสำหรับการช่วยเหลือ

แต่หากมีเหตุฉุกเฉินพบเห็นคนตกน้ำ อยู่ในภาวะอันตราย ให้โทรแจ้ง 1669 และส่งอุปกรณ์ช่วยเหลือเบื้องต้นที่สามารถพยุงให้คนตกน้ำสามารถลอยตัวได้ ตามหลัก “ตะโกน โยน ยื่น” เพื่อป้องกันและลดการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น

ขอบคุณภาพจากกิติศักดิ์ ปิยะมโนธรรม และ สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ