อุดมคติของครูยุคใหม่จะเป็นอย่างไร

อุดมคติของครูยุคใหม่จะเป็นอย่างไร

อาชีพครูในประเทศไทยยังเป็นที่ใฝ่ฝันของคนรุ่นปัจจุบัน แต่จากข่าวครูรุ่นใหม่ลาออก เพราะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับระบบการศึกษาไทยได้ เนื่องจากการประกอบอาชีพครูในสมัยนี้จำเป็นต้องใช้แรงกายแรงใจเป็นอย่างมาก บางครั้งก็ไม่สามารถเลือกสถานที่ที่จะสอนได้ บางคนต้องไปสอนในเมือง บางคนนั้นได้ไปสอนที่ชนบท ซึ่งโรงเรียนในเเต่ละที่มีความแตกต่างกัน ความพร้อมทางด้านอุปกรณ์ สถานที่ต่างๆก็ย่อมเเตกต่างกัน แล้วครูรุ่นใหม่แตกต่างจากครูรุ่นก่อนอย่างไร คนรุ่นใหม่ที่ใฝ่ฝันจะประกอบอาชีพครูในอนาคตคิดอย่างไรกันแน่ มองการศึกษาไทยอย่างไร และอุดมคติความเป็นครูควรจะเป็นอย่างไร

ในมุมมองของคุณครูหทัยรัตน์ อมรเดชากุล มองว่า “ครูรุ่นใหม่แตกต่างไปจากครูรุ่นก่อน  อย่างแรกคือจะมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าคุณครูในอดีตเพราะว่า ด้วยความที่เป็นเด็กหัวสมัยใหม่เขาจะมีมุมมองที่แตกต่างไปจากคุณครูในอดีต มีมุมมองโลกกว้างขึ้น หรือเคยผ่านช่วงเวลาที่เป็นนักเรียนมาก็จะเข้าใจเด็ก ๆ นักเรียนที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกันมากกว่า  และสองคือการเข้าถึงเทคโนโลยีมากกว่าคุณครูในอดีต ทำให้การเรียนการสอนในอนาคตอาจจะน่าสนใจมากกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ เพราะเทคโนโลยีเติบโตและพัฒนาไปพร้อมๆกับเรา ซึ่งคำตอบที่ได้มานี้ก็ทำให้เราเห็นถึงความตั้งใจจริงเเละทัศนคติใหม่ ๆ ในมุมของคนที่เป็นคุณครู”

ในประเด็นปัญหาระบบการศึกษาไทย จากการสัมภาษณ์นางสาวกิตติยาภรณ์ มะโร นักศึกษาสาขาศึกษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับปัญหาการศึกษาในประเทศไทยว่า “ปัญหาที่สำคัญ คือ สังคมไทยสอนให้ยอมรับในอํานาจที่กดขี่ผู้อื่น แม้อาจจะถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การไว้ทรงผมของนักเรียน อีกทั้งครูบางคนไม่ค่อยให้สิทธิเเละเสรีภาพทางความคิดกับเด็ก มักคิดให้อยู่เเต่ในกรอบทําให้นักเรียนไม่กล้าคิด กล้าพูด การเเสดงออกมากเท่าที่ควร”

ด้านคุณครูหทัยรัตน์ อมรเดชากุลมองว่า ปัญหาการศึกษาไทย คือ ความล้าสมัย ทั้งบทเรียนแบบเดิม เนื้อหาที่เรียนแล้วเรียนอีก แต่ว่าเราไม่ได้นำไปใช้ในชีวิตจริง มันควรจะเรียนพอให้เรารู้ เอาที่จำเป็นจริง ๆ เนื้อหาหรือหลักสูตรถูกล็อคตามเกณฑ์ว่า เด็กควรจะเรียนอยู่แค่นี้ แล้วมันก็อยู่ในกรอบแค่นั้น เด็กไม่ได้ไปหาความรู้เองจากที่อื่น ถึงเขาจะบอกว่า เรียนโดยให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ แต่ว่าคนที่เลือกหัวข้อเรียนไม่ใช่นักเรียน แต่เป็นทางสถานศึกษาที่เขาจัดมาให้ว่านักเรียนชั้นนี้ต้องเรียนอันนี้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่นักเรียนชอบหรือว่าสนใจจริง ๆ เลยทำให้นักเรียนไม่อยากจะเรียนรู้ ไม่อยากจะอยู่ในห้องเรียน ไม่อยากตั้งใจฟังคุณครูสอน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการสั่งการบ้าน เข้าใจว่าต้องการทบทวนหรือให้นักเรียนมีความรู้เพิ่มเติม แต่เรามองว่างานควรจะเป็น 1 ชิ้น ที่รวมเนื้อหาที่เรียนไป ไม่ใช่สั่งในคาบเรียนแล้วให้นักเรียนมาทำเป็นการบ้านอีก มองในฐานะนักเรียนมันให้ความรู้สึกว่างานเยอะ ท้อ เหนื่อย และน่าเบื่อกับงานที่คุณครูท่านนี้สั่ง ทำให้เกิดอคติต่อครูผู้สอน เป็นอีกหนึ่งปัญหาต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน

ในขณะที่นางสาวกิตติยาภรณ์ มะโร กล่าวถึงปัญหาครูรุ่นใหม่ไม่อยากไปเป็นครูในชนบท เป็นปัญหาของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาครูส่วนใหญ่ไม่อยากไปสอนในชนบท เนื่องจากต้องการสอนในเมือง มีความพร้อมมากกว่า การเเข่งขันที่มากกว่า ทำให้มีเเรงกระตุ้นในการสอนมากกว่า เพราะว่าครูมีหน้าที่สอนอย่างเดียว ต่างจากครูในชนบทที่ต้อง ทำหลายหน้าที่ ไม่มีเเรงกระตุ้น เนื่องจากไม่รู้ว่าทําไปแล้วได้อะไร สิ่งเหล่านี้ทำให้เเรงกระตุ้นของครูในเมืองเเละในชนบทเเตกต่างกัน”

คุณครูหทัยรัตน์ อมรเดชากุล กล่าวว่า ภาระหน้าที่ของคุณครูทั้งครูที่อยู่ในเมืองและในชนบท มองว่าไม่ต่างกันเพราะว่าหน้าที่คุณครู มันก็คือเป็นครู แล้วก็ต้องทำหน้าที่บริบทอื่น ๆ ที่อยู่ในโรงเรียนเหมือนกัน แต่ความแตกต่างมันอยู่ที่ความพร้อม ความสะดวกสบายในการจัดการเรียนรู้ การมีอุปกรณ์ที่โรงเรียนเขาจัดให้ ที่ไหนดีกว่ากันก็คงต้องเป็นครูที่ในเมือง ที่เขาจะจัดอุปกรณ์การจัดการเรียนรู้ให้ครบครันมากกว่าครูในชนบท มันทำให้ในชนบทยากต่อการจัดหาสถานที่หรือจัดหาอุปกรณ์ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และอาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่ครูต้องจ่ายเอง

สำหรับประเด็นครูยุคใหม่ต้องการเป็นครูตามอุดมคติหรือมองเรื่องฐานะความมั่นคงมากกว่ากัน ได้คุณครูหทัยรัตน์ อมรเดชากุล ให้คําตอบว่าส่วนตัวมองเรื่องความมั่นคงมากกว่า พอมีความมั่นคงในสายวิชาชีพเราก็จะสามารถเป็นครูในอุดมคติได้ ส่วนนางสาวกิตติยาภรณ์ มะโร กล่าวว่า ถ้ามีโอกาสได้เป็นครูตามที่คิดไว้จริง ๆ อยากจะเปลี่ยนเเปลงอะไร สิ่งที่อยากให้เปลี่ยนอย่างเเรกคือ ต้องการพัฒนาบ้านเกิดให้คนในหมู่บ้านได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง เทียบเท่าเด็กในเมือง อีกอย่างหนึ่งที่อยากให้เปลี่ยนคือ การคัดเลือกบุคลากรที่จะไปเป็นครู ยังวัดผลจากการสอบปรนัยเเค่ข้อกาเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ควรจะวัดที่การมีจิตวิทยามากกว่า เพราะคนที่เป็นครูควรเข้าใจเด็ก ไม่ใช่เเค่อ่านหนังสือก็สามารถมาเป็นครูได้ ทําให้ยังไม่สามารถผลิตครูที่อยากเป็นครูทั้งกายเเละใจได้มากเท่าที่ควร

เมื่อพิจารณาจากปัญหาคนรุ่นใหม่ลาออกจากการเป็นครูในระบบการศึกษาของไทย แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อย แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า ระบบการศึกษาไทยซึ่งต้องการครูรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาให้ดีขึ้น แต่ปัญหาความมั่นคงในอาชีพครู ระบบต่างๆที่ไม่เอื้อต่อการทำงานของครู ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนในชนบท ล้วนเป็นปัจจัยที่อาจทำให้คนรุ่นใหม่ที่ใฝ่ฝันจะเป็นครูที่มีอุดมคติค่อย ๆ หายไปจากสังคมก็เป็นไปได้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ