เรื่อง : สาริศา รักษา / ภาพ : สุวนันท์ อ่ำเทศ
“จริง ๆ แล้วครูไทยมีวิธีการสอนเจ๋ง ๆ หลบซ่อนอยู่ทุกห้องเรียน ทำไมวิธีการสอนแบบนั้นต้องอยู่แค่ห้องเรียนของเขา เราเลยอยากทำพื้นที่ที่จะสามารถสื่อสาร นำไอเดียการสอนของครูในพื้นที่ต่างๆ มาโชว์และแลกเปลี่ยนกัน”
แจ่มชวนเพื่อน ๆ ทำความรู้จัก “นะโม” ชลิพา ดุลยากร จากเพจ Inskru พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน บัณฑิตสาวจากคณะสถาปัตกรรมศาสตร์ที่ฝันอยากเป็นครู กับโปรเจกต์ก่อนเรียนจบที่มีชื่อว่า Inskru ชวนครูมาออกแบบวิธีการสอนโดยเริ่มจากสิ่งรอบตัว แบ่งปันไอเดียและเชื่อมโยงเรื่องราวต่าง ๆ สู่ห้องเรียน เพราะการศึกษาไม่จำเป็นต้องเริ่มจากในหนังสือ
แนะนำตัวหน่อย
นะโม ชลิพา ดุลยากร จากเพจ inskru พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน
Inskru คืออะไร
Inskru มาจาก Inspire (แรงบันดาลใจ) บวกกับ ครู ค่ะ แนวคิดมาจากที่เราอยากสร้างพื้นที่ ๆ รวมสิ่งที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ครูได้ รวบรวมสิ่งเจ๋ง ๆ ที่เป็นแรงบันดาลใจในการสอนของครูค่ะ ตอนนี้ก็ประมาณ 7-8 เดือนแล้ว
เริ่มทำ inskru ได้อย่างไร สนใจเรื่องการศึกษาในมุมมองของครูตั้งแต่ตอนไหน
นะโมจบสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบอุตสาหกรรม มานะคะ แต่จริง ๆ อยากเข้าครู (หัวเราะ) แต่เราก็อยากจะเรียนอะไรที่มันสร้างสรรค์ก่อน แล้วค่อยเอาตรงนี้มาช่วยในเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษา ก็เลยเลือกเรียนสถา’ปัตย์ แล้วปีสุดท้ายต้องทำ project จบ ทำอะไรก็ได้ตอบโจทย์ user ซึ่งตอนนั้นเรามี passion ลึก ๆ ในใจแล้วว่าเราอยากทำเรื่องการศึกษา
จริง ๆ ความชอบส่วนตัวของนะโมเลยคือ เราชอบสอนหนังสือ ปกติเราก็ไปทำค่ายอาสาสอนหนังสืออยู่บ่อย ๆ แต่ด้วยความที่เราไม่ได้เรียนครูมา เลยไม่รู้ว่าเราจะสอนอะไรกับเด็กดี เราเลยหาว่าเราจะสอนอะไร แล้วก็ทำให้พบว่าการสอนรูปแบบใหม่ ๆ มันคิดยาก แล้วก็เวลาเราจะหาข้อมูลการสอนรูปแบบใหม่ ก็มีข้อมูลหายน้อยมากในไทย ต้องไปหาของเมืองนอก พอเริ่มหาข้อมูลรูปแบบการสอนใหม่ ๆ เราก็มาพบอีกว่า
“จริง ๆ แล้วครูไทยมีวิธีการสอนเจ๋ง ๆ หลบซ่อนอยู่ทุกห้องเรียน ทำไมวิธีการสอนแบบนั้นต้องอยู่แค่ห้องเรียนของเขา ก็เลยอยากทำพื้นที่ที่จะสามารถสื่อสาร นำไอเดียการสอนของครูในพื้นที่ต่างๆ มาโชว์และแลกเปลี่ยนกันค่ะ”
นอกจากหน้าแฟนเพจ ก็ยังมีในส่วนของเว็บไซต์ด้วยที่เปิดให้ใครก็ได้มาปล่อยของ ๆ ตัวเองกัน
จนออกมาเป็น Inskru ที่ตอนแรกตั้งใจจะทำ website ให้ใครก็ได้มาแบ่งปันวิธีการสอนของตัวเอง เพื่อที่จะกระจายไอเดียการสอนดี ๆ ไปสู่คาบเรียนอื่น ๆ ทั่วประเทศ แล้วก็เลยต้องทำเพจออกมาเพื่อจะสื่อสารในตัว website นี้ แต่พอทำไปทำมา เพจมันมีการ active เคลื่อนไหวมากกว่าจนมาถึงปัจจุบัน ถึงเราจะส่ง thesis จบหมดแล้ว ก็ยังทำต่อ เพราะรู้สึกว่าเรามีความสุขมาก
เรียนสถา’ปัตย์ นำมาปรับใช้ในการทำงานเพจเกี่ยวกับการศึกษาอย่างไร
สถา’ปัตย์ ช่วยเพิ่มสกิลให้นะโม นะโมเป็นคนชอบคิดอะไรใหม่ ๆ ไอเดียจะเยอะมาก ซึ่งสถา’ปัตย์ก็เหมาะกับเรา
อย่างแรกคือ กระบวนการในการออกแบบ อย่างที่ 2 คือทักษะในการ present งาน เพราะเราเรียนสถา’ปัตย์ ต้อง present งานให้คนเข้าใจ อาจจะเป็นจุดที่ทำให้ content เราเข้าใจง่าย หรือว่ามีเรื่องของการทำ mood and tone ซึ่งเป็นทุกอย่างที่จะคอยบอกว่า content เราจะเป็นประมาณไหน friendly อย่างไร แล้วอย่างที่ 3 คือทักษะเข้าใจ user คือเราจะไปคุยกับครู พยายามทำความเข้าใจกับครูให้ได้มากที่สุด จริง ๆ มันเยอะมาก เรียนสถา’ปัตย์มีทักษะเยอะ รู้สึกว่าได้ใช้หมดเลย รู้สึกดีมากที่ได้เอาทักษะที่ตัวเองเรียนมาทำประโยชน์ให้กับสังคมได้
ช่วยเล่าหน่อยว่า กว่าจะมาเป็นภาพอินโฟกราฟฟิกแนะนำไอเดียการสอน เราทำอะไรไปบ้าง
จริง ๆ เราหยิบโยกเรื่องรอบตัวมาคุยกัน จากนั้นก็ทำข้อมูล แล้วนำข้อมูลมาทำเป็นภาพอินโฟกราฟิก ยกตัวอย่างเรื่องหมูป่า “เรื่องของหมูป่าสอนอะไรได้บ้าง” ก่อนที่จะมาเป็นคำถามนี้ ตอนนั้นมันมีข่าวหมูป่าพอดี ก็สงสัยว่าทำไมมีคนพูดถึงแต่ประเด็นเรื่องการช่วยเหลือ ตอนนั้นเด็ก ๆ ก็สนใจเรื่องนี้ด้วย เราก็เคยคิดว่า น่าจะยกตัวอย่างเรื่องนี้มาสอน เด็กจะได้สนใจ จากนั้นก็ระดมความคิดกันในทีมว่าเรื่องหมูป่ามันสอนเรื่องอะไรได้บ้าง และเราก็อยากเปิดมุมมองให้กับครูทุกคน ทุกวิชาด้วย เราเลยเอาวิชามาวางเรียงกัน ทั้ง คณิต วิทย์ อังกฤษ ไทย สังคม การงานอาชีพ ศิลปะ แล้วแตกกันว่ามันเกี่ยวกับอะไรได้บ้างกับเรื่องหมูป่า เรื่องหมูป่ามาสอนคณิตอะไรได้บ้าง จนเมื่อเราได้ชุดข้อมูลตรงนี้ ก็นำมาทำเป็นภาพกราฟิกเพื่อสื่อสารให้เข้าใจง่าย
ยังมีเรื่องของคาบวิชาแนะแนวด้วยนะคะ ตอนนั้นเราจัดเป็นกลุ่มขึ้นมา เริ่มจากเพื่อน ๆ นะโมที่ชวนคุยกันว่า เราอยาก re-design คาบแนะแนวใหม่ เพื่อนชอบบ่นว่า จำไม่ได้สักทีว่าคาบแนะแนวมันเป็นอย่างไร ประสบการณ์ที่ผ่านมาคือคาบแนะแนวเป็นคาบว่าง ตอนนั้นเราชวนกันรวมกลุ่มเล็ก ๆ ประกาศทักไลน์เพื่อน ๆ กันไป ประมาณ 17 คน มาระดมไอเดีย โดยใช้กระบวนการ workshop ระดมกันว่าอยากเห็นคาบแนะแนวเป็นแบบไหน ไอเดียตอนนั้นฟุ้งมาก เราเลยใช้ทักษะของ visual thinking ในการจัด grouping ของไอเดีย ออกเป็นธีมต่าง ๆ ได้ออกมาประมาณ 6-7 ธีม ที่บอกว่า คาบแนะแนวใหม่ จะเป็นอย่างไร สรุปที่ได้ออกมาคือคาบแนะนำมีธีม 6 แนะ คือ แนะให้ทำ แนะให้รัก แนะให้สุข แนะให้รู้จักตัวเอง แนะให้รู้จักทักษะชีวิตผ่านคนอื่น แล้วก็ไม่แนะ (นะโมชอบแนะไหน ?) นะโมชอบแนะให้รัก เพราะว่าเรื่องรักมันเป็นเรื่องปัญหาระดับต้น ๆ ของวัยรุ่นที่ทุกคนต้องเจอ รู้สึกว่าคาบแนะแนวน่าจะเป็นอะไรที่สามารถช่วยเยียวยาส่วนตรงนี้ได้
Inskru ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง
จริง ๆ สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือ ไอเดียที่ทุกคนมาแชร์กันถูกเอาไปต่อยอด ไปทำจริง จะมีคนคอมเม้นท์ว่าได้เอาไปใช้แล้ว ขอบคุณมาก เราก็มีความสุขมาก แค่คนเดียวเราก็รู้สึกดีมาก อย่างคอนเทนท์ Pubg สอนอะไรเด็กบ้าง เราก็ทำไป ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะมีคนนำไปใช้ แต่ก็มีครูคนหนึ่งบอกว่าได้เอาไปใช้แล้ว เขาบอกว่าวันนั้นเริ่มสังเกตว่าเด็กสนใจอะไร แล้วจะมาออกแบบต่อ เด็กในห้องเขาสนใจ Pubg ซึ่งก็เป็นเกมที่เขาไม่เคยเล่นมาก่อนเลย โชคดีที่เจอคอนเทนต์นี้ ถึงจะมีแค่คนเดียวก็แฮปปี้แล้วที่มันไปจุดประกายให้เขาได้ ทำให้เขาเห็นว่าแบบเรื่องเกมที่มันดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกับบทเรียน มันเชื่อมโยงกับบทเรียนอย่างไรได้บ้าง หลุดออกจากกรอบเดิม ๆ ว่าการศึกษาต้องเริ่มจากหนังสือ จริง ๆ ทุกอย่างเราสามารถเรียนรู้ได้รอบตัว ยิ่งนะโมมาทำตรงนี้ เดินไปไหนก็รู้สึกว่าอยากจะหยิบเอาอันนั้นมาสอน อันนี้มาสอน ตอนนี้การเชื่อมโยงเต็มไปหมดเลยค่ะ สนุกมาก
มีเรื่องที่ประทับใจอีกไหม
มีนะคะ คือช่วงหนึ่งนะโมตั้งคำถามกับมันว่าสิ่งที่เราทำมัน impact ไหมนะ สิ่งเราทำมันเกิดอะไรขึ้นไหม พอดีได้ไปเจอกับอาจารย์อรรถพล (อรรถพล อนันตวรสกุล) อาจารย์เล่าว่าที่อาจารย์จัด workshop ทำกระบวนการให้กับครูตามต่างจังหวัด ครูบนดอยเขาก็ยังรู้จัก Inskru นะ เขาก็บอกว่าไม่ต้องมาอบรมไกล ๆ เขาก็ได้เทคนิคการสอนใหม่ ๆ จากเพจของเรา หนูก็แบบ น้ำตาจะไหล ดีใจมาก บอกว่า นโม inskru มัน impact มากเลย
Inskru ให้อะไรเราบ้าง
Inskru เปิดโลกนะโมมาก ก่อนเริ่มทำ inskru เราก็รู้สึกว่า เราอยากช่วยอะไรกับการศึกษาไทยก็เลยเอาตัวลงไปตาม เริ่มตั้งแต่ teach for Thailand เป็น campus leader ช่วยเขาสื่อสาร จากนั้นเราก็พอเราได้ลงไปทำอะไรสักอย่างแล้ว เหมือนเปิดประตูให้เราได้เจอกับคนที่กำลังขยับเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการศึกษาอยู่นะ เกี่ยวกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยนะ ซึ่งเราเองก็ทำได้ด้วย ณ ตอนนี้ เราค่อย ๆ เก็บความรู้จากที่ต่าง ๆ จนมาทำ Inskru ก็ยิ่งแบบเปิดประตูให้เราไปกลุ่มโน้น กลุ่มนี้ กลุ่มนั้นอีกเยอะ
รูปแบบและวิธีการสอนในยุคนี้เปลี่ยนไปแล้ว นิยามวิธีการสอนในแบบนะโมได้ไหม
จริง ๆ Inskru ทำให้นะโมเห็นอย่างหนึ่งนะคะ คือที่ผ่านมาทุกคนชอบบ่นว่าครูก็เหมือนเดิม สอนเหมือนเดิม ทำเหมือนเดิม แต่พอมี Inskru แล้วเราเจอกลุ่มครูรุ่นใหม่ที่เขาเจ๋งมาก คิดเก่งมากอยู่เต็มไปหมดเลย เราไม่เคยได้เรียนแบบนั้น และไม่รู้ว่ามีครูที่สอนเก่ง ๆ เจ๋ง ๆ แบบนี้อยู่
“นะโมมองว่าทุกการสอนเป็นไปได้ ทุกสิ่งทุกอย่างหยิบมาสอนได้ค่ะ”
นะโมเคยไปสอนหนังสือ ทำ design thinking ให้เด็ก re-design กระเป๋านักเรียนตัวเอง เอาที่เรียนสถา’ปัตย์มาย่อยให้อยู่ในคาบเรียนของเด็กประถม ให้เด็กสัมภาษณ์เพื่อนว่า กระเป๋าของตัวเองมีปัญหาอะไร ก็ให้ลองออกแบบออกวาดเป็นรูป เสร็จแล้วก็ประดิษฐ์ขึ้นมาจริง ๆ ใช้เวลาคาบเดียว เอากระดาษลังมาทำ สนุกมาก เราอยากสอน แล้วเราก็มีความรู้อยู่แค่นั้น ก็เลยหาอะไรมา support หรือสอนเรื่องออกไปในตัวด้วย ตอนค่ายสอนหนังสือ พยายามหาคาบแปลก ๆ ไปสอนเด็ก เช่น “แมงกินฟันมีจริงไหม” ไปสอน แบบไม่ต้องตามวิชา สิ่งที่เราอยากได้ให้เด็กฉุกคิดว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่เขาพูดกัน มันจริง ๆ เหรอ แมงกินฟันมันเป็นแมงจริง ๆ หรือเปล่า หน้าตาเป็นอย่างไร เป็นเหมือนแมงที่เราเห็นกันไหม วาดรูปออกมา จากนั้นเราก็แทรกรูปแบคทีเรียที่เป็นคำตอบจริงลงไป แล้วก็ให้เด็กเถียงกันว่า แมงกินฟันมันเป็นแบบไหน เป็นอะไรกันแน่
เด็กในห้องเป็นอย่างไรบ้าง
เด็กในห้องสนุกมากเลยค่ะ เด็กไม่เคยคิดอะไรแบบนี้ ตอนนั้นมีข่าวที่ชาวบ้านใช้อะไรก็ไม่รู้มาต้มและหยดใส่หู เป็นความเชื่อที่ทำแล้วแมงกินฟันจะหายไป แล้วพอหยดไปออกมาเป็นหนอนสีขาว ๆ เคยเห็นคลิปนี้ไหมคะ คนก็แห่กันทำตาม แล้วก็เสียเงิน ต้มสมุนไพรมาใส่ที่หู ซึ่งคนเขาก็ไม่รู้ แมงกินฟันมันไม่ใช่แมงแบบนี้ มันเป็นแบคทีเรีย เราเข้าไปกระตุ้นให้เด็กรู้ข้อมูลมากขึ้น และเขาเองก็สนุก จริง ๆ เรื่องแมงกินฟัน มันก็มีเหตุผลของผู้ใหญ่นะคะ เหมือนเป็นการสื่อสารให้เด็กเข้าใจ ให้เด็กกลัวว่ามีแมงอะไรแบบนี้อยู่ในปาก
“เรารู้สึกว่าอยากให้เด็กตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว ไม่ใช่ว่าได้อะไรมาก็รับอย่างเดียว ให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ตั้งคำถามเพื่อเปิดการเรียนรู้ภายนอก แล้วเชื่อมโยง เพื่อสังเคราะห์ออกมากลายเป็นการเรียนรู้ภายในด้วยค่ะ”
วางแผนจะทำอะไรต่อ
จริง ๆ ต่อยอดจาก workshop แนะแนวที่ทำ นะโมทำโปรเจ็ค “แนะว่าเรียนไปทำไม” ก็เลยเกิดมาอีก workshop หนึ่งที่ถามว่า “เราเรียนไปทำไม” เช่น วิชาคณิตศาสตร์เรื่องแมททริกซ์ เรียนไปไม่รู้ว่าจะใช้ทำอะไร แต่เพื่อนที่เรียนวิศวคอมพ์บอกว่าได้ใช้ ก็เลยแบบจัด workshop ที่ให้คนจากหลากหลายสาขาอาชีพที่เรียนมาระดมกันว่า คณิตแต่ละเรื่องใช้ทำอะไร แล้วก็ได้จัดชุดข้อมูลกันว่า เรื่องนี้มันใช้อย่างนี้ได้นะ ใช้อย่างนั้นได้นะ แล้วก็อยากจะเอามาทำนำเสนอ ก็เลยรู้สึกว่า series เรียนไปทำไมก็แบบดีเหมือนกัน มันเป็น main point ของเด็กจริง ๆ ที่ไม่รู้ว่าเรียนไปทำไมหลายเรื่อง เหมือนเด็กชอบเล่นเกม แคสเกมไป เล่าไปด้วยว่าคณิตศาสตร์อยู่ตรงไหนในเกม เขาเขียน code นะ ถ้าทำ series ชุดนี้มันก็อาจจะเป็นสื่อในคาบเรียนคณิตศาสตร์ด้วยหรือเป็น สื่อในคาบเรียนแนะแนว ที่ให้เด็กค้นพบอาชีพใหม่ ๆ ได้ด้วย ได้รู้จักอาชีพมากขึ้นด้วย
…
การขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาของนะโมก็ยังคงเดินหน้าต่อไป ความฝันของบัณฑิตคณะสถา’ปัตย์ที่อยากเห็นการศึกษาในมุมมองใหม่ ไอเดียการสอนเจ๋ง ๆ ที่ทุกคนแลกเปลี่ยน แบ่งปัน กระจายตัวกันอยู่ตามห้องเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ แจ่มชวนเพื่อน ๆ ติดตามมุมมอง ไอเดียของสาวน้อยคนนี้ได้ผ่านหน้าเพจและเว็บไซต์ “Inskru พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน”