‘มนุษย์ครู’ ในวันที่การศึกษาไม่เอื้อต่อการสร้างความเป็นมนุษย์

‘มนุษย์ครู’ ในวันที่การศึกษาไม่เอื้อต่อการสร้างความเป็นมนุษย์

เมื่อ “ครูคือมนุษย์” ชวนครูสำรวจความเป็นมนุษย์ในตัวเอง ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่มีพลัง ส่งต่อไปยังห้องเรียน

ในระบบการศึกษา ก็เหมือนการทำให้แตงโมกลายเป็นสี่เหลี่ยม คุณตัด เฉือน เพื่อให้มันมีประสิทธิภาพ ให้ง่ายต่อการจัดใส่ชั้นวาง (Shelf) ทั้ง ๆ ที่ธรรมชาติของแตงโมคือทรงกลม เราเฉือนส่วนอื่นทิ้ง สิ่งที่เฉือนทิ้งคืออะไร ความเมตตากรุณาหรือเปล่า ความเสียสละหรือเปล่า จิตสำนึกเพื่อสังคมหรือเปล่า – กิตติคุณ ภูคงคา หนึ่งทีมงาน New Spirit (โครงการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาด้วยชุมชนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง)

แจ่มชวนอ่านความคิดของวิทยากรแต่ละท่านในวงแลกเปลี่ยน “รวมพลคนกล้าสอน สู่การเรียนรู้มีชีวิต” เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมริมน้ำ LA 107 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โดยวิทยากรแจ่ม ๆ
1.ประชา หุตานุวัตร : ผอ.หลักสูตร Awakening Leadership Training Program
2.อธิษฐาน์ คงทรัพย์ : ก่อการครู, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ : คณะกายภาพบำบัด, มหาวิทยาลัยรังสิต
4.อรรถพล อนันตวรสกุล : Thai Civic Education, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5.คฑา มหากายี : ผู้ปกครองที่จัดการเรียนการสอนร่วมกับลูก ๆ
6.ณัฐฬส วังวิญญู : ผู้จัดกระบวนการหลักสูตร “ครูกล้าสอน”, สถาบันขวัญแผ่นดิน
7.พิธีกรรับเชิญ โดย อังคาร จันทร์เมือง

ประชา หุตานุวัตร : ผอ.หลักสูตร Awakening Leadership Training Program

การศึกษาในปัจจุบันทำให้เด็กที่มีความสุข เป็นคนไม่มีความสุข ครูก็ถูกทำร้าย ที่สำคัญคือการศึกษาทำให้เราทุกคนรู้สึกว่าเราดีไม่พอ เราด้อย เรารู้สึกว่าไม่ได้เรื่อง แม้จะอยู่ในโรงเรียนดัง ๆ ห้องเรียนลำดับต้น ๆ เราก็ยังรู้สึกว่าเราดีไม่พอ ถ้ามองให้ดี นี่ก็ไม่ใช่ผลของการศึกษา แต่เป็นผลมาจากสังคมทั้งระบบ และก็ไม่ได้เป็นเฉพาะประเทศไทย แต่เป็นทั่วโลก

ปัญหาการศึกษาแก้ไม่ได้ เพราะการศึกษาไม่เอื้อต่อการสร้างความเป็นมนุษย์

การศึกษาทำลายความเป็นมนุษย์ของเรา เราดูถูกตัวเอง คิดว่าคุณธรรมทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราไม่แก้จุดนี้ การแก้ปัญหาคอรัปชั่นก็เป็นไปไม่ได้

ประเทศไทยเราอยู่ใต้ระบบการค้า ลึก ๆ ส่งผลให้เรามีความรู้สึกว่าเราไม่ดี เราไม่เก่ง เราไม่ฉลาด เพื่อเราจะได้รู้สึกดีขึ้น เมื่อเราซื้อมือถือยี่ห้อใหม่ ๆ ใส่เสื้อมียี่ห้อ ขับรถแพง ๆ ทั้งหมดคือผลมาจากสังคมปัจจุบันที่ทำให้เราแปลกแยก รู้สึกอยากซื้อของ ไต่เต้าไปในสังคม เพื่อจะก้าวขึ้นไปข้างบน เพื่อจะรวยขึ้นไปเรื่อย ๆ หาเงินเยอะขึ้นไปเรื่อย ๆ

การปฏิรูปการศึกษาทั้งหมดเป็นการฝันหวาน ถ้าสังคมไม่เปลี่ยนระบบ เราจะโทษเจ้าหน้าที่ โทษครู โทษกระทรวงศึกษาไม่ได้ ถึงแม้จะมีคู่มือออกมาพยายามให้คนเปลี่ยนทั้งประเทศก็ทำไม่ได้ เพราะเมืองไทยระบบทั้งระบบตายแล้ว ไม่มีทางปฏิรูป แต่เราไปอบรม 100 ได้ครูที่มีสปิริทแค่ 4-5 คน

ถ้าเราจะจัดการศึกษาที่ไม่ทำลายความเป็นคน การฝึกให้เด็กกล้าตัดสินใจ ให้เด็กมีส่วนร่วมคิดในกระบวนการเรียนรู้ หรือการร่วมกันสร้างองค์ความรู้ เรานั่งเรียนอยู่ในห้อง 12 ปี 15 ปี 18 ปี เด็กไม่ได้ตัดสินใจ ไม่ได้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง แม้แต่การตัดสินใจผิด ก็เป็นสิทธิ์ที่เด็กไม่ได้ตัดสินใจ การตัดสินใจลงมือทำ ทำให้เด็กเกิดความมั่นใจ

หัวใจของการศึกษา คือ การตัดสินใจในการศึกษา ต้องให้เด็กขัดเกลาตัวเอง มีฉันทะในการฝึกฝนตัวเอง และต้องให้เด็กช่วยกันเรียนมีกัลยาณมิตร การฝึกฝนตนขัดเกลาตัวเอง ลดความเห็นแก่ตัวลง การศึกษาที่สร้างความเป็นมนุษย์คือ การศึกษาที่ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางมากเกินไป ทำสิ่งที่ดีงามโดยไม่ต้องมีคนเห็นก็ได้ และต้องรู้จักยับยั่งช่างใจตัวเอง ทั้งหมดนี่เป็นส่วนการฝึกฝนตนเอง เป็นหัวใจของการศึกษา

ที่สำคัญอีกอย่างคือ การช่วยเหลือกัน ต้องช่วยกันเรียน ไม่ใช่แข่งกันเรียน การแข่งกันเรียนเป็นการทำร้ายเด็ก แต่ถ้าช่วยกันเรียนความรู้จะพอกพูนขึ้น มีครูเป็นตัวเสริม เด็กช่วยกันเรียน และสร้างความเป็นมิตร สร้างความเป็นเพื่อน เกิดความรักระหว่างครูกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง ความรักคือการศึกษา ถ้าไม่มีความรักการศึกษาไม่เกิด

เด็กจะเป็นคนอย่างไร ต้องดูว่าเด็กเป็นอย่างไรตอนอยู่กับเพื่อน อยู่กับพ่อแม่ พี่น้องทั้งหลาย เพราะฉะนั้นเด็กที่โตมาในชนบทได้เปรียบกว่าเด็กที่โตมาในกรุงเทพฯ ในห้องแคบ ๆ มีแค่พ่อกับแม่ 2 คน เด็กเหล่านี้จนมากในเรื่องความสัมพันธ์ ถ้าไม่มีความสันพันธ์การศึกษาไม่เกิด

และอีกอันคือการใคร่ครวญชีวิต การได้ไตร่ตรอง มองตัวเองลึก ๆ มีเวลา มีพื้นที่ให้พวกเขาได้นั่งคิดเงียบ ๆ

4 อย่างนี้ที่เราใช้ ทั้ง การตัดสินใจ การขัดเกลาตัวเอง การมีกัลยาณมิตร และการใคร่ครวญตัวเอง จะช่วยสร้างความเป็นคนได้ ความเป็นคน หมายถึง การเกิดความมั่นใจและรู้สึกว่าเราเป็นมนุษย์ การเป็นมนุษย์มีค่ามาก เราไม่จำเป็นต้องรวย ไม่จำเป็นต้องมีอำนาจเยอะ ๆ เราก็มีค่า เราทำงานสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง เราก็มีค่า ซึ่งเป็นความแปลกแยกที่สังคมสมัยใหม่สร้างให้เรา

อธิษฐาน์ คงทรัพย์ : ก่อการครู, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเข้ามาอยุ่ในระบบการศึกษา เพราะเราค้นพบว่ามี การเรียนรู้ที่มีชีวิตอยู่อีกมากที่ตอบโจทย์เราได้ พอหันกลับไปมองชีวิตที่เราผ่านมาเรียนรู้ในระบบ ก็คิดว่าทำไมเราทนกับการเรียนแบบนั้นยาวนานได้เป็น 10 ปี แล้วก็มีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า แล้วทำไมการเรียนรู้ที่มีชีวิตแบบนี้ ไม่สามารถเข้าไปอยู่ตรงนั้นได้ ทำไมเราต้องปล่อยให้เด็กมานั่งอยู่ในความกดดัน ในความหวาดกลัว กลัวสอบตก กลัวครูว่า จนชะตากรรมบางอย่างได้พาตัวเราเองเข้าไปทำงานที่ธรรมศาสตร์ ในคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษา ด้วยความตั้งใจว่า เราอยากจะสร้างสิ่งใหม่ให้กับการศึกษาไทย

เราพบว่า เรามีเพื่อนที่ทำงานเรื่องการศึกษานอกระบบอยู่เยอะมาก กระจายตัวอยู่ในที่ต่าง ๆ เขาไม่สามารถฝ่ากำแพงที่แข็งแกร่งของระบบการศึกษาเข้ามาได้ แต่เพื่อนเหล่านี้เขาทำเรื่องดี ๆ เยอะมาก ทำกับครู ทำกับเด็ก ทำกับพ่อแม่ เราชวนเพื่อเหล่านี้มาทำอะไรดี ๆ ด้วยกัน เพราะทุกวันนี้การศึกษาคือ ความทุกข์ อย่างที่สาธิตธรรมศาสตร์ ก็มีพ่อแม่มาร้องไห้ เพราะกลัวลูกสอบเข้าไม่ได้ การศึกษามันคือความทุกข์ขนาดนั้นเลยหรอ ก็เลยชวนเพื่อนมา ก่อการครู

ตอนที่เปิดตัวไม่คิดว่าจะเป็นกระแส แต่คิดว่ามันคงไปกระแทกตรงจุดความเจ็บปวดของผู้คน อย่างในสายพานการผลิตครู เรารู้ว่าครูหลายคนถูกอบรมมาเยอะมาก จบจากระบบการผลิตครูในวิทยาลัย ออกมาแล้วก็ยังเจออบรมอีก แล้วก็ไม่ได้อะไรจากการอบรมแบบนั้น เราก็เลยคิดว่า แล้วมีไหมพื้นที่ ที่จะสร้างการเรียนรู้แบบมีชีวิตให้กับครู ที่ครูจะอยู่ในพื้นที่นั้นได้อย่างมีความสุข

เราตั้งคำถามว่าเบื่อไหมกับการอบรมที่ไม่ตอบโจทย์ชีวิตของครู เบื่อไหมกับการอบรมที่ไปนั่งเฉย ๆ แล้วก็ฟังอย่างเดียว ทุกวันนี้เราบอกว่าเราอยากจะสร้าง Active learning ในชั้นเรียน แต่กระบวนการที่เราใช้ในการอบรมครูไม่เคยให้ครูได้ลุกขึ้นมา Active learning เลย ก็เรียน Active learning แบบ Passive Learning ก็นั่งฟังและจดตามว่า Active learning คืออะไร

เรามองว่าครูทั่วประเทศมีประมาณ 500,000 คน จะให้ทำทั้งหมดก็คงจะไม่ไหว เลยคิดว่า เราอยากจะทำงานกับครูสัก 1 % ประมาณ 5,000 คน มาจากการรับสมัครครูที่มีใจ ที่อยากจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงการศึกษาในชั้นเรียนตัวเอง อยากเห็นลูกศิษย์ตัวเองเรียนรู้อย่างมีความหมาย ก็ตั้งต้นจากตรงนั้น เปิดรับสมัครครู 100 คนแรก

เราพบว่า ความทุกข์ในระบบเยอะมาก คือเขาเข้ามาสู่อาชีพนี้ด้วยไฟ มีความฝันว่าอยากจะช่วยเด็กให้เติบโต ให้เด็กได้เรียนรู้ คนเข้ามาเป็นครูด้วยใจมุ่งมั่นแต่อยู่ไปแล้วไฟมันมอด ต้องออกจากอาชีพเพราะคิดว่าอยู่ไปไม่มีค่า

เวทีแรกที่เราเปิดใช้ชื่อว่า “ครูคือมนุษย์” ชวนครูให้กลับมาสำรวจความเป็นมนุษย์ในตัวเอง ครูถูกตั้งไว้ว่า ครูคือแม่พิมพ์ของชาติ ครูต้องเป็นต้นแบบ มันละเลยชีวิตส่วนอื่น ๆ ของครูไปหมด เราก็เลยเปิดพื้นที่ในฐานะที่ครูเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เราแค่เปิดพื้นที่ให้ครูได้ฟัง และได้กลับมาสำรวจตัวเอง ปรากฎว่าเวทีแรกที่เราจัดไป ไฟติด ประกายตาครูเปลี่ยน แล้วบอกว่าเขาจะกลับไปเปลี่ยนชั้นเรียนของเขา สร้างความสัมพันธ์แบบใหม่กับเด็กของเขา เขารู้แล้วว่าการที่คน ๆ หนึ่งได้รับการรับฟัง ได้รับการมองเห็นอย่างแท้จริง มันมีความหมายมาก แววตาของครูเปลี่ยนไป เวลาคนคนหนึ่งได้รับการมองเห็นศักยภาพ มันได้จุดไฟให้เขา และเขาอยากไปจุดไฟต่อ

ตอนนี้เรากำลังค่อย ๆ ทำงาน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เกิดขึ้นจาก ความเจ็บปวดจากการศึกษา และในขณะเดียวกันมันก็มี passion ด้วยว่าเราเจ็บมากขนาดนี้ เราจะหาทางออกกับมันอย่างไร เราเชื่อว่าปัญหาจริง ๆ มันเป็นทั้งระบบสังคม มันไม่ใช่แค่การศึกษาที่เดียวหรือที่ใดที่หนึ่ง ต้องทำด้วยกัน

ความสนใจและกำลังที่เรามีคงแตะระบบใหญ่ไม่ได้ และหลายคนที่ขึ้นไปกระทรวงก็พบว่ามันเปลี่ยนได้ยากมาก จึงขอเริ่มจากครูในห้องเรียน ครูที่อยู่กับเด็กๆ เริ่มจากการเรียนรู้ของคน ซึ่งคิดว่าเราจะช่วย ก่อการครู ในครั้งนี้ได้

วรชาติ เฉิดชมจันทร์ : คณะกายภาพบำบัด, มหาวิทยาลัยรังสิต

ผมขอเอางานวิจัยมาเล่าให้ฟัง เรื่องแรกที่อยากเล่าให้ฟัง คือ เล่าถึงเป้าหมายสูงสุดที่เรามาทำเรื่องการศึกษา คือเราอยากจะผลิตนักกายภาพบำบัดที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์

ทุกท่านเคยไปโรงพยาบาล เคยรู้สึกผิดหวังกับการบริการของโรงพยาบาลไหม แล้วส่วนใหญ่ความผิดหวังนั้น เราไม่ได้ผิดหวังจากการรักษาของโรงพยาบาล แต่ผิดหวังจากปฏิสัมพันธ์กับบุคคลากรทางด้านสุขภาพ คนให้บริการ คนให้ข้อมูลข่าวสาร เราประเมินกับชาวบ้านทั่วไปว่า ชาวบ้านพอใจไหมกับการให้บริการในระบบสาธารณสุข ชาวบ้านส่วนใหญ่พอใจ เพราะว่าเมื่อไหร่ที่ไปโรงพยาบาล ถ้าเขาได้ยานั้นคือการบริการที่ถูกต้อง แต่พอลงลึก ๆ แล้วพบกว่าเกือบทุกที่จะไม่ค่อยพอใจกับปฏิสัมพันธ์กับการให้ข้อมูลข่าวสาร แต่การจ่ายยาถือว่าจบเรื่อง ปิดเกมส์แล้วระหว่างเรากับโรงพยาบาล ในเชิงความรับผิดชอบของหมอก็หมดภาระหน้าที่นั้นแล้วเมื่อยาอยู่ในมือคนไข้ ถ้ามองในมุมของนักกายภาพบำบัดภาระหน้าที่เขาหมด ในวันที่คนไข้เดินออกจากโรงพยาบาลไป เราคิดว่านั้นไม่ใช่หัวใจของความเป็นมนุษย์ของนักกายภาพบำบัด เริ่มต้นคือต้องการผลิตนักกายภาพบำบัดที่มีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่แค่มีความสามารถทางวิชาการ แต่มีความเป็นมนุษย์ที่ต้องสื่อสารผ่านภาษากายได้ด้วย

ผมก็เลยทำวิจัยทดสอบคุณภาพภายในของตัวเด็กดู จากปี 1 จนปี 4 ถ้าเราเชื่อว่า การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาความเป็นมนุษย์ แสดงว่าภายในของเด็กต้องดีขึ้น ผลปรากฎว่าปี 1 กับ ปี 4 นั้น ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็มีบางคณะที่แตกต่างไป อย่างความอดทนสูงขึ้นแค่นั้นเอง เราทำแบบนี้กับอาจารย์ด้วย ผลปรากฎว่าอาจารย์ก็ไม่ได้แตกต่างกับนักศึกษาชั้นปี 4 เลย

ทำให้เห็นว่า โครงสร้างของสังคม มันทำให้มนุษย์คนที่อยู่ในสังคม อาจจะใช้คำรุนแรงไปคือ ถอดถอย ต่ำตมขึ้นไปเรื่อย ๆ คล้าย ๆ แบบนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้ผมอยากทำเรื่องการศึกษา เรารับรู้ในโลกความจริงว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้าง เปลี่ยนระบบได้ แต่เราเปลี่ยนห้องเรียนทั้งเนื้อหาและการเรียนการสอนได้ โดยเริ่มจากครู ที่ต้องมีเครื่องมือ และเข้าใจเด็กในห้อง

กระบวนการที่ทำคือ 1.การเรียนการสอนต้องสอนประสบการณ์ 2.สอนวิชาคนบวกวิชางานและวิชาการจึงมา 3.เปลี่ยนจากแข่งขันเป็นแบ่งปันให้มากๆ โดยพาเด็กออกไปเรียนรู้ในพื้นที่จริง

ในกระบวนการสอนต้องสอนประสบการณ์ สอนวิชาคนมากกว่าวิชาการ เปลี่ยนการแข่งขันให้เป็นการแบ่งปันให้มาก ๆ เรื่องของการเรียนรู้ต้องเอาเด็กออกนอกห้องเรียนมาเรียนในพื้นที่จริง เอาเด็กมาเรียนรู้ในพื้นที่จริง พร้อมกับตรวจสอบทั้งความรู้ ทักษะ สิ่งที่อาจารย์มีด้วย เป็นเครื่องมือที่พัฒาตัวอาจารย์ด้วย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ

เวลาลงพื้นที่จริง เราจะเห็นวิชาคน วิชางาน ชัดแล้วมาผูกกับวิชาการ ทำให้เด็กหลายคนได้เจอความหมายใหม่ในชีวิตที่หลากหลาย และเราก็ต้องเป็นครูชั้นยอดที่ทำให้เด็กค้นพบชีวิตใหม่ได้ หัวใจสำคัญที่ทำให้การเรียนรู้มีชีวิตคือ เอาวิชาการข้ามแดนไปเรียนรู้ในชีวิตจริงให้ต่อเนื่องและยาวนานพอ จนเกิดผลขึ้นให้ได้

อรรถพล อนันตวรสกุล : Thai Civic Education, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผมเป็นครูของครู ผมโตขึ้นจากการเห็นลูกศิษย์โตขึ้นเหมือนกัน ได้รู้ได้เห็นว่าเขาได้ไปเจออะไรบ้างในโรงเรียน ได้เห็นความทุกข์ของครูที่เป็นลูกศิษย์เรา ผมจึงเลือกออกมาในพื้นที่เพื่อส่งเสียงแทนพวกเขา เพราะความเป็นครูในโรงเรียนอาจจะส่งเสียงอะไรไม่ได้มาก

งานที่ผมทำอยู่ช่วง 2-3 ปีมานี้ คือการทำเครือข่าย Thai Civic Education เราเกาะกลุ่มเป็นเครือข่ายกัน เพื่อทำให้เห็นตัวครู เห็นการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น เราเชื่อเรื่องการทำงานเป็นทีม เสริมพลัง (empower) ครูผ่านกระบวนการเรียนรู้ และเชื่อมพลังแล้วไปทำงานต่อในโรงเรียน

เราทำงานกัน 3 เรื่อง เรื่องที่ 1 การบูรณาการข้ามศาสตร์โดยมุ่งไปที่การสร้างพลังพลเมือง เรื่องที่ 2 เสริมพลังคุณครูผ่านกระบวนการเรียนรู้ไปด้วยกัน เรื่องที่ 3 การพยายามที่จะต่อเชื่อมพลังของครูเหล่านี้ เพื่อไปขับเคลื่อนกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ในห้องเรียน ในโรงเรียน และระหว่างโรงเรียนด้วยกัน กระบวนการเรียนรู้จะแบ่งเป็น 4 โมดูล โดยการเข้ามาเรียนรู้ด้วยกัน 4 วัน แล้วกลับไปทำงาน 3 เดือน จากนั้นก็กลับมาเจอกันอีกทุก ๆ 3 เดือน เราทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการสร้างชุมชนคนทำงานที่มีเป้าหมายเดียวกัน ใช้แกนในการสร้างพลเมือง นั่นคือการตระหนักรู้ในอำนาจของตัวเอง เราเชื่อว่าจะเปลี่ยนการศึกษาได้ต้องมองให้เห็นความเชื่อมโยงกับการสร้างพลเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

โมดูลแรกเราทำงานกับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องพลเมือง เรื่องประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่เรื่องกลไกทางการเมืองที่เป็นเรื่องของการเมืองทางการ แต่เราพูดถึงการสร้างพลังพลเมือง การสร้างวัฒนธรรมเคารพกัน เพื่อที่จะขับเคลื่อนสังคมไปด้วยกันท่ามกลางความหลากหลาย

โมดูลที่สองเป็นเรื่องของพลเมืองเท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลในสังคมที่หลากหลายวัฒนธรรม ร่วมกับสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.)

โมดูลที่สามเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

และโมดูลที่สี่เป็นเรื่องของพลเมืองโลก พลเมืองอาเซียน และการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อก้าวข้ามความเกลียดชัง

เราใช้กระบวนการเรียนรู้ไปด้วยกัน พยายามใช้กระบวนการที่เป็น Active Leaning มาก ๆ เพื่ิสร้างความเชื่อใหม่ในการจัดการศึกษา เราเชื่อว่า เราจะต้องเปลี่ยนใครบางคนที่อยู่ต้นน้ำให้ได้ เราจึงพยายามที่จะไปต่อเชื่อมกับครู และอาจารย์ฝึกหัดครูรุ่นใหม่ อายุไม่เยอะมากไม่เกิน 35 ปีหรือมากกว่านั้นก็ได้ที่พร้อมจะ Active เปลี่ยนแปลงอยู่ เราชวนอาจารย์ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการฝึกหัดครูจากหลากหลาย่มหาวิทยาลัย แล้วก็ให้เขาชวนลูกศิษย์ที่เป็นครูอยู่แล้วในโรงเรียนเข้ามาเป็นกลุ่มร่วมเรียนรู้ผ่านกระบวนการไปกับพวกเรา จนทุกวันนี้เกิดเครือข่ายครูที่เกาะกลุ่มกัน เราเชื่อเรื่องของการที่เขากลับไปโรงเรียนและมหาวิทยาลัยแล้ว ต้องไม่ให้เขาโดดเดี่ยวลำพัง เราจึงคิดโครงการต่าง ๆ ร่วมกับเครือข่ายรองรับไว้ เมื่อเขากลับไปเขาสามารถชวนเพื่อนครูคนอื่น ๆ มาร่วมกับเราด้วย เรียนรู้ไปด้วยกันผ่านโครงการต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโรงเรียน มีบางอย่างเป็น Core value ด้วยกัน

เราพยายามเชื่อมโยงงานของอาจารย์ฝึกหัดครูกับห้องเรียน จริง ๆ ในโรงเรียน ให้เขาได้เห็นห้องเรียนอีกแบบ เราหวังว่าเขาจะนำพาความรู้จากห้องเรียนแบบนี้ไปถึงการเตรียมครูใหม่ในชั้นเรียนของพวกเขา เราคิดว่าไปรอแก้ที่ปลายน้ำไม่ได้แล้ว มาทำงานที่สถาบันฝึกหัดครูเลยดีกว่า ถ้าเราเปลี่ยนเขาได้คนหนึ่ง ตัวคูณมันมหาศาล

ผมลองคิดเล่น ๆ ว่า ครูมัธยมศึกษาทั้งชีวิต ถ้าทำงานมา 38 ปี ตลอดชีวิตการทำงานเขาจะได้สอนนักเรียนกี่คน เป็นพันเป็นหมื่นคน แล้วคำถามคืออาจารย์ฝึกหัดครูเอง ชั่วชีวิตการทำงานของพวกเขาจะเกี่ยวข้องกับการฝึกหัดครูกี่คน ทั้งครูก่อนประจำการ และครูประจำการ

ตอนนี้ที่เรากำลังทำคือจะทำอย่างไรที่จะปลุกพลังบวกในตัวครูของครูในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เราพยายามถักทอตัวนี้ให้ได้ ตอนนี้ก็เกาะกลุ่มกันเป็นเครือข่ายคณาจารย์ครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์และคณะที่เกี่ยวข้องเช่น รัฐศาสตร์ นิเทศศาสตร์ มีกันอยู่ 24 มหาวิทยาลัย รวมกับครูจากโรงเรียนอีกร้อยกว่าแห่ง

ในส่วนของครูที่ผ่านกระบวนการกับเรา ตลอด 2-3 ปีมานี้ก็เริ่มเกิดปรากฎการณ์แล้ว เราเห็นกลุ่มครูที่ร่วมกันออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ออกแบบกิจกรรมค่ายเป็นของตนเอง เป็นกลุ่มเล็ก ๆ รวมตัวกันประมาณ 5 โรงเรียน มีเด็กจาก 5 โรงเรียนมาเรียนรู้ด้วยกัน แล้วก็ผลัดกันเป็นเจ้าภาพ โมเดลนี้ตอนนี้ก็อยู่ในการพัฒนาตัวกิจกรรม หรือตัวชุดความรู้หลาย ๆ เรื่อง เราพยายามคืนความเป็นมืออาชีพ ให้เขาโดยที่เราไม่ได้สอนเขา แต่พยายามส่งเสริมเขาว่าลองทำ ทำเสร็จแล้วก็ชวนคนมาช่วยกันมองว่าเป็นอย่างไร และเขาก็ไม่ได้ทำโดดเดี่ยว เขามีเพื่อน เราทำมาตอนนี้เป็นปีที่ 3 เข้าปีที่ 4 และกำลังตกผลึก มีครูในเครือข่ายอาสากันมาถอดบทเรียน เขียนเป็นหนังสือด้วยกัน ถอดบทเรียนจากชีวิตในการทำงานตลอดหลายปีที่ผ่านมาของเขา เราจะไม่เคลมว่าพวกเขาคือความสำเร็จของเราลำพัง เพราะพวกเขาไม่ได้มาตัวเปล่า ๆ Thai Civic Education เป็นแค่สายธารสายหนึ่งในชีวิตเขา เขายังต้องเจอสายธารอีกหลายสาย แต่เราเชื่อว่าถ้าเราติดตั้งความเข้มแข็งในตัวเขาเพียงพอ เราจะแข็งแรงพอที่จะเกาะกลุ่มเป็นเพื่อนกัน แล้วก็เติบโตไปด้วยกันได้

ตลอด 3 ปีมานี้เราพยายามไม่รับทุนจากจากแหล่งทุนใดแหล่งทุนหนึ่งลำพัง เพื่อคงไว้ซึ่งเสรีภาพในทางวิชาการ จะได้ไม่ถูกควบคุมทิศทางหรือแทรกแซง แล้วก็ด้วยความที่เราทำเรื่องพลเมือประชาธิปไตย ในสถานการณ์ตลอดหลายปีมานี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

เราได้เห็นวัฒนธรรมอำนาจ โครงสร้างที่เอื้อให้ต้องจัดงานเชิงปริมาณที่ไม่สร้างคุณภาพ เราก็พยายามจะไม่เกี่ยวโยงกับส่วนนั้น จนมาถึงปีนี้ที่เราคิดว่าการทำงานของเราต้องโตขึ้น มีแหล่งทุนหลายแห่งที่มองว่าเราควรเป็นองค์กรที่จับต้องได้

อีกทางหนึ่ง เราก็พยายามต่อเชื่อมเครือข่ายกับประชาคมนักวิชาการนานาชาติ ปัจจุบันมีการทำงานร่วมกับนักวิชาการจากออสเตรเลีย แคนาดา สิงคโปร์ และฮ่องกง ที่ช่วยสนับสนุนเราในเชิงวิชาการ

กลับมาสุดท้ายเรื่องหนังสือ “กล้าที่จะสอน” เป็นหนังสือที่ผมได้อ่านตั้งแต่เป็นฉบับภาษาอังกฤษ ราวปี 2542 ผมไม่รู้ว่ามันมีอิทธิพลต่อผมหรือเปล่า แต่มันเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ชวนตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ของเรา

ทุกวันนี้ผมเห็นลูกศิษย์ผมยืนอยู่ตรงกลางระหว่าง 2 ฝั่ง ฝั่งแรกเป็นฝั่งที่หดหู่ เซื่องซึม สิ้นหวัง และอีกฝั่งเป็นฝั่งที่โกรธเกรี้ยว ไม่พอใจ ผมอยากเห็นพวกเขาแข็งแรงพอที่จะยืนอยู่ตรงกลาง ไม่เอียงไปข้างซ้ายและขวา มีความเป็นผู้นำจากภายใน (Leadership Within) เผชิญกับปัญหาได้อย่างเข้มแข็ง

ระบบไม่เปลี่ยนเองหรอกครับ มันถูกสร้างด้วยมนุษย์ มนุษย์ต้องเปลี่ยนมัน ระบบต้องการแรงกระแทกหลาย ๆ ส่วน ต้องคิดกลไกที่มันไกลตัวมากขึ้น นั่นคือเราต้องทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ สร้างภาวะนำร่วม (Collective Leadership) ให้ได้

สำหรับผม หนังสือเล่มนี้ก็มีส่วนในการตั้งคำถามถึงตัวตนของตัวเอง ผมไม่อยากเห็นคนแปลกแยกกับสังคม ก็ต้องเริ่มจากการไม่แปลกแยกกับตัวเอง

ส่วนงานของผมในมหาวิทยาลัย ตอนนี้ผมได้รับผิดชอบทำหน้าที่ปรับปรุงระบบการฝึกปฏิบัติการระหว่างเรียนของนิสิตในคณะ ในระดับบุคคล แล้วก็คิดว่าได้เริ่มมีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ จากห้องเรียนของตัวเอง ห้องเรียนของลูกศิษย์ ของเพื่อนลูกศิษย์ แล้วก็หลาย ๆ โรงเรียนที่อยู่ในเครือข่ายที่กำลังร่วมกันผลักดันอยู่

คฑา มหากายี : ผู้ปกครองที่จัดการเรียนการสอนร่วมกับลูก ๆ

เรารู้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษา ผมทำบ้านเรียน ทำมา 2 ปีแล้ว ไม่ได้ตั้งใจจะทำ เพราะผมเอาลูกเข้าโรงเรียนไปแล้วด้วย แต่สุดท้ายเรามีคำถามเกี่ยวกับการศึกษา สังคมไทยไม่ค่อยชอบคำถาม เป็นเหตุทำให้ผมเอาลูกออกมาจากระบบ ถ้ามองจริง ๆ แล้วเหมือนเราถูกทำให้ออกมา เราถามคำถามมาก ๆ ในโรงเรียน เรากลายเป็นตัวปัญหา สุดท้ายเราก็ออกมาทำการศึกษาด้วยตัวเอง

ลองจินตนาการดูเล่น ๆ ว่าการศึกษาคืออะไร คำตอบคือ การศึกษาแบบบ้านเรียนมันหลากหลายมาก ๆ ขึ้นอยู่กับการให้ความหมายของแต่ละบ้าน แต่ความหมายที่ให้มันจะตามมาด้วยพฤติกรรม

ความรู้สึกที่จะออกมาทำการศึกษา แต่พอจะทำการศึกษาเหมือนเดิมก็รู้สึกอายเนาะ อยากจะทำอะไรที่แปลก ๆ บ้าง เวลาเราอยู่ในระบบการศึกษามันมีประสบการณ์ที่หลายครั้ง เราโตมาโดยตั้งคำถามว่าทำไมระบบไม่สนใจผู้เรียน ในวัยที่เขาเป็นวัยรุ่น ช่วงมัธยม เราทุกคนมีเป้าหมาย คือการไปสอบ แต่ถ้ามองดี ๆ ชีวิตเขาไม่ได้มีมิตินั้นมิติเดียว อนาคตที่เป็นมาไม่สามารถรับประกันได้ด้วยการสอบในวันนั้นเลย จากความช้ำใจของผมเองตอนเรียนมหาลัย เราพยายามมาเกือบ 20 ปี เราเพื่อจะเป็นอะไรบ้างอย่างเท่านั้นเองหรอ มันมีแบบนั้นแบบเดียวมันไม่มีแบบอื่นเลยหรอ วัยรุ่นนั้นเป็นวัยที่มีทุกความรู้สึกอยู่ แต่การศึกษาไม่เคยให้ความรู้สึกกับเรา

ผมอยากเล่าเรื่องไก่ให้ฟัง ที่บ้านผมจะให้ลูกแบ่งหน้าที่กันว่าแต่ละคนจะทำอะไร ให้เขาฝึกคำว่าวินัยมาจากข้างใน ไม่ใช่อำนาจที่มาจากข้างนอก ลูกชายผมบอกว่า เขาอยากเลี้ยงไก่ เลี้ยงไป 7 เดือน ไก่ออกไข่ วันหนึ่งผมนั่งคุยกับเขา เป็นโต๊ะคุยง่าย ๆ สบาย ๆ หลังทานข้าวเสร็จ วันนั้นผมเล่าให้เขาถึงสิ่งที่ผมรัก แล้วถามเขาว่า “ความรักของลูกคืออะไร” ลูกชายผมบอกว่า เขารักไก่ และบอกว่า ผมเข้าใจว่า ความรักที่ป๊าว่าคืออะไร เราก็งงเลย แค่เราให้เขาเลี้ยงไก่เราจะสอนเรื่องความรับผิดชอบ เราถามเขาต่อว่า แล้วลูกเป็นพ่อไก่หรอ เขาก็ตอบเราว่า ใช่ แล้วรู้แล้วว่าทำไมป๊าต้องดุ

การศึกษาเหมือนความงอกงามของเมล็ดที่เราไม่รู้จัก หากเราพาเขาไปเรียนรู้ เขาจะต่อยอดความคิดที่งอกงามด้วยตัวเขาเอง การศึกษาคือความงอกงาม เราเพียงคนเฝ้ามองและสนับสนุนเขา เราทำหน้าที่ได้เพียง observe และคอยมองเขาว่าจะโตเป็นอะไร

พอเราใช้โลกนี้เป็นห้องเรียน เราจะไม่สามารถแบ่งห้องเรียนได้เลย เพราะทุกอย่างมันร้อยเรียงกัน การพูดคุยกับเขา เล่าเรื่องสักเรื่องให้เขาฟัง ผมไปเก็บดินแถวบ้าน แล้วชวนเขาตั้งคำถาม เริ่มจากเรื่องดินเป็นเรื่องของธรณี เอาดินไปแยกเป็นทรายได้ไหม จะทำอย่างไร เขาก็ทดลองลงมือทำ ให้เขาสัมผัส ทำไปเรื่อยๆ จากดินกลายเป็นสี สีที่ได้เป็นอย่างไร  แล้วดินที่แยกปลูกต้นอะไรขึ้นไหม เป็นหลักวิทยาศาสตร์ จนไปถึงว่าดินที่เราเจออยู่ที่ไหน สภาพภูมิศาสตร์อย่างไร มีชาวบ้านอาศัย ประวัติความเป็นมาอย่างไร แร่ในดินคืออะไร ธาตุมีอะไร จากขุดดินมันยาวไปถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ สังคม และเขื่อมโยงกันไปเรื่อย ๆ

ณัฐฬส วังวิญญู : ผู้จัดกระบวนการหลักสูตร “ครูกล้าสอน”, สถาบันขวัญแผ่นดิน

จริง ๆ แล้วการศึกษาน่าจะเป็นการต่อยอดจากสิ่งที่เรารู้ การศึกษาน่าจะเป็นการเรียนรู้ชีวิต โดยที่เป็นการค้นหามากกว่าการมีหลักสูตรอะไรบางอย่าง บางคนได้แค่ความอดทนก็พอแล้ว และได้ไม่เหมือนกัน

เรามีลูกเพราะเขามาให้เราค้นพบว่าเราคือใคร เขาเกิดมาไม่ใช่แค่หน้าเหมือนเรา มากไปกว่านั้น เขาเกิดมาให้เราค้นพบว่า เขาจะมาสอนเรื่องออะไร ผมชอบคำถามเหล่านี้เพราะมันไม่มีข้อสรุป มันทำให้ผมค้นหาตัวตนของเรา แล้วลูกแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ผมสนใจเรื่องการศึกษา จากการที่รู้จักใครหลาย ๆ คน ผมคิดว่า การศึกษาคือ ความรักที่จะเรียนรู้ กล้าที่จะเรียนรู้ในเรื่องที่เราสนใจจริง ๆ การศึกษาคือโอกาสของการเรียนรู้ และได้กลับไปเป็นเด็ก

จากตำนานที่ผมชอบเล่า ถ้าเรามองว่ามนุษย์เป็นอูฐ อูฐเกิดมาก็ถูกสอนให้แบกภาระของสังคม อูฐที่ดีคือหมอบเลย คืออูฐที่รับภาระไปส่งของ แต่อูฐที่วันหนึ่งเริ่มจะตั้งคำถามว่าตกลง มันเป็นอูฐจริงหรือเปล่า ก็จะเริ่มไม่อยากแบกของ จนวันหนึ่งก็ตัดสินใจจะเลิกแบกของแต่วิ่งเข้าไปในทะเลทราย ทั้ง ๆ ที่ โดนขู่ไว้เยอะว่า ถ้าเขาไปในทะเลทรายจะตายแน่ ๆ อูฐได้ค้นพบว่าจริง ๆ แล้วตัวเองไม่ได้เป็นอูฐ ไปส่องในแอ่งน้ำในทะเลทรายแล้วค้นพบว่าเราเป็นเสือ เป็นราชสีห์ ถูกบอกว่าตัวเองเป็นอูฐมาโดยตลอด เป็นการตื่นขึ้นครั้งแรก แต่ก็ต้องมีคำถามก่อน เพราะว่าเริ่มเบื่อที่จะเป็นอูฐแล้ว เมื่อค้นพบว่าเราคืออะไร ก็ต้องเดินทางต่อไป อาจจะไปเจอมังกรเฝ้าทอง เป้าหมายคือต้องไปฆ่ามังกร ที่แข็งแรง มีฤทธิ์เยอะ มังกรตายก็ยังไม่จบ มีการเรียนรู้ต่อไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายก็ต้องกลายเป็นเด็ก เด็กที่มีการเรียนรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลา

การพามนุษย์ออกไปนอกขอบเขตของความคุ้นชิน ไปเจออะไรใหม่ ๆ เสี่ยงออกไปพบเจอสิ่งใหม่ ๆ แสวงหาและออกไปนอกขอบเขตของสิ่งที่เราเป็น มันน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาไหม มันคือการออกไปทำตามความรู้สึกโดยไม่คำนึกถึงเหตุผล

2 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่องทางที่จะหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณครู และสร้างเครือข่ายระหว่างครูในโรงเรียนและครูมหาลัย หลาย ๆ คนมาแชร์เรื่องราวส่วนหนึ่งในชีวิตของความเป็นครู และได้ทำความเข้าใจกับความรู้สึกของตัวเอง ความเป็นมนุษย์ของครู แล้วครูดูแลตัวเองอย่างไร โลกภายในของครูเป็นอย่างไร ทำให้เราเข้าใจความเป็นครูและจิตวิญญาณครูมากขึ้น ช่วยเสริมแรงกำลังใจกัน ชวนครูตั้งคำถามแทนที่จะเป็นข้อสรุป ให้ไปสู่กระบวนการคิด จนถึงการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียน เปิดพื้นที่ให้ครูได้แลกเปลี่ยน ทำลายความน่าเบื่อแบบเก่า เปลี่ยนแปลงมัน เราไม่ได้ตายเพราะไม่ได้เปลี่ยนอะไรบางอย่าง แต่อาจตายเพราะเบื่อตาย ครูก็เช่นกัน พอมาร่วมกันทำ ได้คุยกัน เราก็จะได้เจอสิ่งดี ๆ

……………………………………………………………

ชมย้อนหลังได้ที่

Live [สด] เวทีแลกเปลี่ยนสาธารณะ

Live [สด] เวทีแลกเปลี่ยนสาธารณะ.ช่วงแรก ดวลวาที "ทำไมการศึกษาจึงไปไม่ถึงไหน"โดย ครูกระต๊อบ-พร้อมพณิต เกตุทิพย์ VS ครูไก่โต้ง-นำโชค อุ่นเวียง.และวงแลกเปลี่ยน “รวมพลคนกล้าสอน สู่การเรียนรู้มีชีวิต".โดยวิทยากรแจ่ม ๆ 1.ประชา หุตานุวัฒน์ : ผอ.หลักสูตร Awakening Leadership Training Program2.อธิษฐาน์ คงทรัพย์ : ก่อการครู, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์3.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ : คณะกายภาพบำบัด, มหาวิทยาลัยรังสิต4.อรรถพล อนันตวรสกุล : Thai Civic Education, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย5.คฑา มหากายี : ผู้ปกครองที่จัดการเรียนการสอนร่วมกับลูก ๆ6.ณัฐฬส วังวิญญู : ผู้จัดกระบวนการหลักสูตร "ครูกล้าสอน", สถาบันขวัญแผ่นดิน7.พิธีกรรับเชิญ โดย กตัญญู สว่างศรี พิธีกรอีเว้นท์คิวชุก ผู้ปลุกสร้างบรรยากาศความเป็นกันเอง.วันนี้ (21 ก.ค. 61) เวลา 12.30 – 16.00 น. ณ ห้องประชุมริมน้ำ LA 107 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นะคะ.#รวมพลคนกล้าสอนสู่การเรียนรู้มีชีวิต #การศึกษาไทย #Jamชวนแจม #JAMสัญจร #ThaiPBS

โพสต์โดย JAM เมื่อ วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม 2018

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ