วาทกรรม “ครูคือผู้เสียสละ” เชิดชู หรือกดทับเหล่าแม่พิมพ์ของชาติ

วาทกรรม “ครูคือผู้เสียสละ” เชิดชู หรือกดทับเหล่าแม่พิมพ์ของชาติ

“ครูมาพูดเรื่องเงินเดือน งั้นเพิ่มเงินเดือนครูสิ แต่บางคนก็บอกว่า คุณเป็นครูจริง ๆ หรือเปล่า มีจิตวิญญาณความเป็นครูไหม ครูต้องเสียสละสิ”

ครูคือผู้เสียสละ

วาทกรรมที่ได้ยินมาตั้งแต่เด็กจนโต ทั้งจากโรงเรียน จากวันครู จากทีวี จากสื่อ คำนี้อยู่คู่กับครูไทยมานาน แม้กระทั่งคำขวัญวันครูปี พ.ศ. 2525  โดย ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ ยังพูดถึงครูว่า

“ครูนั้น สังคมยกย่องนับถือว่าเป็นปูชนียบุคคล ทั้งนี้เพราะว่าครูเป็นผู้เสียสละยึดมั่นในคุณงามความดี และความถูกต้อง จึงขอให้รักษาความดีนี้ตลอดไป”

คำขวัญวันครูปี พ.ศ. 2525 

จากวันวานสู่ปี พ.ศ 2564 กับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป ทั้งเทคโนโลยี การสื่อสาร นวัตกรรม ไปจนถึงโครงสร้างนโยบายของภาครัฐกับระบบการศึกษา วาทกรรม “ครูคือผู้เสียสละ” ถูกตั้งคำถามพร้อมตีความใหม่ ให้ไม่โรแมนติก ซาบซึ้ง จนบ่อน้ำตาแตกอย่างที่เคยเป็น

จาก #ทำไมครูไทยอยากลาออก สู่วงพูดคุยหลายครั้ง สะท้อนปัญหาครูหลากมิติ หนึ่งภาระที่มากกว่าการสอนที่ครูหลายท่านพูดเป็นเสียงเดียวกัน คือ ครูทำเอกสารเยอะ ทั้งงานธุรการ งานพัสดุ งานราชงานหลวง ถาโถมเข้าใส่ จนหลายครั้งกัดกินเวลาสอน หรือยุคโควิด-19 ครูก็ต้องมาตรวจโควิด ถูกบ้างผิดบ้าง แล้วครูต้องมารับความเสี่ยงหรือไม่ ใช่หน้าที่ครูไหม ไปจนถึงเรื่องเงินเดือนที่มีการถกเถียงกันว่าน้อยไปหรือเปล่า กับสิ่งที่ต้องแบก

เมื่อ ครู+เสียสละ ถูกทำให้ซาบซึ้ง

ความเสียสละกับครูในแง่ของวาทกรรมและภาคสาธารณะ มันถูก Romanticized (การทำให้ดูโรแมนติก) พร่ำเพื่อผ่านสื่อกระแสหลัก ลองนึกภาพ วันครูปีไหนก็จะมีโฆษณามาเต็มที่ ครูบนดอย ครูใช้เงินตัวเองเพื่อให้เด็กได้เข้าถึงการศึกษา คนดูก็ฟิน น้ำตาก็ไหล เพราะครูคือผู้เสียสละ

ไม่เฉพาะคนทั่วไป แต่ครูเอง ที่โดนกดทับจากวาทกรรมนี้ บางคนก็ยินดีไปด้วย รู้สึกดีไปด้วย ผมไม่ได้บอกให้ไม่เสียสละนะ แต่ระบบโครงสร้างมันจำเป็นต้องให้ครูต้องเสียสละ เพราะมันมีปัญหา ถ้าเราไม่เสียสละ ปัญหามันก็จะเรื้อรัง ซึ่งผลเสียมันก็เกิดกับตัวเด็ก

ว่าที่ครู “ต้น” แสดงความเห็น

ครูกิ๊กเป็นครูอัตราจ้าง ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษ โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนอยู่ไม่ถึง 60 คน และอยู่ติดกับเขตชายแดน ห่างไกลความเจริญ ไฟฟ้าก็ไม่มี กลางคืนจะไม่มีน้ำใช้ ครูกิ๊กเล่าว่า ถ้าเลือกได้ ไม่มีใครอยากจะเข้ามาทำงานที่นี่

นี่เรียกว่าการเสียสละหรือเปล่า

ผู้เขียนถาม

นี่คือการเสียสละที่เราปฏิเสธความสบาย เพื่อนักเรียนที่ต้องการโอกาส แต่อยากจะชวนมองว่าการเสียสละตรงนี้ พอที่จะมีใครมาช่วยไหม

ครูกิ๊กตอบ

แสงจากตัวครูกิ๊กอาจพอส่องสว่างให้นักเรียนชายขอบได้มองเห็นอนาคตบ้าง แต่จะสว่างพอที่จะให้ท่านข้างบนได้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำตรงนี้หรือไม่ หรือครูกิ๊กต้องเป็นผู้เสียสละตลอดไป

สังคมไทยให้คำว่าเสียสละกับครู ผูกติดกันมา ทำให้คำว่าเสียสละโดนยัดเยียด เมื่อครูคนหนึ่งไม่ไหว แล้วออกมาพูด ก็จะโดนโยงเข้ากับคำว่าเสียสละไปซะหมด ทำให้ครูไม่สามารถที่จะออกมาพูดอะไรทั้งสิ้น ซึ่งบางเรื่องก็เห็นอยู่ว่ามันหนักไปสำหรับครู อย่างภาระงานที่มากกว่าการสอน

ครูต้อมแสดงความเห็น

วาทกรรมการเสียสละ มันมีเงื่อนไขบางอย่างที่มันทำให้ครูต้องเสียสละจนเคยชิน จนเข้าใจกันไปเองว่ามันคือความปกติ แทนที่จะมองว่าการที่คนต้องมาเสียสละมันไม่ปกติ เราสามารถเสียสละตัวเองได้ แต่ควรปฏิเสธวาทกรรมนี้ ไม่ผลิตซ้ำ และตอบโต้ไปสู่ต้นปัญหาจริง ๆ มันก็อาจจะค่อย ๆ เปลี่ยน หรือลดทอนอำนาจของวาทกรรมนี้ให้ลดลง

ว่าที่ครู “ต้น” เสนอ

จากวงแลกเปลี่ยนผู้เขียนรู้สึกถึงความกังวลใจของเหล่าแม่พิมพ์ของชาติ ไฟที่กำลังค่อย ๆ มอดกับความอยากเป็นครู ทว่าพวกเขาก็ไม่ได้ล้มเลิกความฝันที่อยากจะเป็นครู เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการที่ไม่อยู่ภายใต้ระบบการศึกษาไทย ควบคู่กันไปกับความฝันใหญ่ที่ต้องการเปลี่ยนระบบโครงสร้างราชการการศึกษา ให้เหมาะกับยุคสมัย บนพื้นฐานสิทธิและความเท่าเทียม

แล้วจะไปยังไงต่อกับ “โรงเรียนในฝัน” ที่อยากจะให้เป็น

ผู้เขียนถามต่อ

เราคงต้องรวมกลุ่มกันให้แน่น สร้างเครือข่ายครูที่เข้มแข็งเพื่อต่อรองกับระบบการศึกษา รักษาความเป็นธรรมให้กับครู สุดท้ายไม่ใช่แค่เพื่อตัวครู แต่ถ้าระบบดี นั่นหมายถึงนักเรียนจะได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ จากครูที่พร้อมในทุกด้าน ไม่ใช่การที่ต้องเสียสละเพื่อให้เกิดความพร้อม

เสียงสะท้อนจากครูและว่าที่ครู ในวงแลกเปลี่ยน “ว่าที่ครู ความฝัน ความหวัง และสิ่งที่อยากจะเป็น”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ