บันทึกจากรัฐยะใข่ ตอนที่ 1: รอยปริแยกที่ถูกกระแทกให้แตกออกจากกัน

บันทึกจากรัฐยะใข่ ตอนที่ 1: รอยปริแยกที่ถูกกระแทกให้แตกออกจากกัน

พฤศจิกายน 2558 

ภายในพื้นที่ที่สำหรับผู้อพยพลี้ภัยในรัฐยะใข่ แม้จะสามารถให้ความปลอดภัยในชีวิตแก่ผู้อพยพชาวมุสลิมได้แต่ก็ทำให้โลกของชาวมุสลิมในยะใข่ที่หลายคนเคยอยู่ร่วมกับชาวพุทธในชุมชนเดียวกันูแยกออกจากกันมากขึ้นเรื่อยตลอดในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา อนาคตที่พวกเขาจะสามารถกลับไปอยู่ร่วมกันกับคนอื่นๆ คงจะยากมากขึ้น

วันที่ 8 พฤศจิกายน โลกจับตาดูความพยายามของเมียนมาในการจัดการเลือตั้งทั่วไปครั้งที่สอง การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นท่ามกลางความหวังและความหมดหวังของใครหลายคน การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นภายหลังจากการออกกฎหมาย 4 ฉบับที่มุ่งจำกัดสิทธิทางวัฒนธรรม และการเมืองของชาวมุสลิมโดยเฉพาะโรฮิงยาในรัฐยะใข่ที่ทำให้การกีดกันชาวมุสลิมโรฮิงยาในรัฐยะใข่ดูหนักหนามากขึ้น ที่ผ่านมาแม้ว่าชาวโรฮิงยาที่มีบัตรประจำตัวและส่วนใหญ่ที่ถือบัตรประจำตัวสีขาวที่แสดงสถานะเป็นคนต่างด้าวแต่ก็ยังได้รับสิทธิในการเลือกตั้ง สิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งสามารถมีผู้แทนอยู่ทั้งในสภาพระดับชาติและในระดับท้องถิ่น ควาามกังวลไม่ได้เพียงแค่การที่ชาวโรฮิงยาถูกกีดกันออกจากการเลือกตั้งครั้งนี้แต่ยังรวมถึงหากพรรคชาตินิยมอาระกันชนะการเลือกในระดับรัฐการกีดกัน การจำกัดอย่างเป็นระบบอาจจะเกิดขึ้นและนำไปสู่การอพยพออกจากรัฐยะใข่อีกระลอก

สถานการณ์ในช่วงเวลาของการเลือกตั้งครั้งนี้ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดด้วยความระมัดระวัง การเมืองภายในเมียนมายังคงอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสุ่การเป็นประชาธิปไตย อย่างน้อยที่สุดแม้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นด้วยความสงบเรียบร้อยแต่ก็ยังไม่สามารถบอกอนาาคตการเมืองของเมียนมาได้ กลุ่มการเมืองภายในเมียนมายังคงต่อรองเพื่อบรรลุความต้องการของตนโดย การเลือกตั้งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเกมการเมืองที่ใหญ่กว่าภายในประเทศ ความไม่แน่นอนทางการเมืองแม้จะผ่านการเลือกตั้งไปแล้วทำให้สถานการณ์ในอนาคตมีความเสี่ยงโดยเฉพาะในพื้นที่ยังคงมีปัญหาอยู่เช่นในรัฐยะใข่ หน่วยงานระหว่างประเทศที่ทำงานให้ความช่วยเหลือ ติดตามสถานการณ์ภายในรัฐยะใข่ต่างเลือกที่จะถอนเจ้าหน้าที่ของตนกลับออกมาเพื่อให้สถานการณ์มีความชัดเจนมากขึ้นหรืออย่างน้อยให้เห็นแนวโน้มของการตั้งรัฐบาลแม้ว่าจะรู้ผลการเลือกตั้งไปแล้วก็ตาม เหลือเพียงเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่ยังคงอยู่และทำงานกันต่อไป

ผู้เขียนเดินทางไปถึงเมืองซิตตเว เมืองเอกของรัฐยะใข่ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในเมียนมา การควบคุมและจำกัดการเดินทางเห็นได้ตั้งแต่ท่าอากาศยานซิตตเว ชาวต่างชาติทุกคนต้องแสดงหนังสือเดินทาง ลงบันทึกวันที่การเดินทางและต้องบอกเป้าหมายการเดินทางของตนก่อนที่จะเดินทางออกจากสนามบิน ผู้เขียนได้รับความช่่วยเหลือจากองค์กรท้องถิ่นที่ทำงานให้ความช่วยเหลือในยะใข่ประสานงานการเดินทางไว้ให้เบื้องต้น แต่ก็ไม่ได้คาดหวังว่าในวันรุ่งขึ้นว่าเราจะสามารถเดินทางตามแผนที่วางไว้ได้หรือไม่ ภายในระยะเวลา 5 วันในรัฐยะใข่ หรือโชคร้ายก็คงต้องอยู่ในเมืองซิตตเวหากไม่สามารถไปใหนได้

ซิตตเว (Sittwe) เป็นเมืองเอกของรัฐยะใข่ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเล ติดกับปากแม่น้ำคาลาดาน (kaladan River) ทางตะวันตกที่เชื่อมการเดินทางจากซิตตเวขึ้้นไปตอนเหนือผ่านเมือง Ponnagyun และ Mrauk-U ก่อนที่จะขึ้นไปถึงรัฐชินที่เป็นต้นน้ำ และแม่น้ำมายุที่เชื่อมกับเมืองอย่าง Rathedaung, Kyaung Taung, และ Buthidaung ที่สามารถใช้เส้นทางบกมุ่งหน้าทางตะวันตกถึง Maungdaw เมืองริมชายฝั่งแม่น้ำนาฟ (Naf river) ชายแดนระหว่างเมียนมากับบังคลาเทศ ซิตตเวจึงกลายเป็นศูนย์กลางของความเจริญในรัฐยะใข่ หลักฐานการอยู่ร่วมกันของคนต่างศรัทธา วัฒนธรรมในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านยังคงอยู่อย่างชัดเจนมัสยิดขนาดใหญ่ที่ถูกทิ้งล้างใจกลางเมือง และอีกหลายแห่งที่รอบนอกปะปนอยู่กับวัดทั่วไป แม้ในเมืองซิตตเวปัจจุบันจะไม่พบเห็นชาวมุสลิมแล้วก็ตาม

เป้าหมายของการเดินทางในครั้งนี้ไม่ได้มีอะไรชัดเจนไปมากกว่าการมาดูสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ภายในรัฐยะใข่ ที่ทำให้ชาวโรฮิงยา บางส่วนเป็นบังคลาเทศต้องเดินทางหลบหนีและลักลอบเข้าไปในประเทศมาเลเซียโดยผ่านประเทศไทยในระยะเวลาเกือบสิบปีที่ผ่านมา ที่ทำให้คนตายระหว่างการเดินทางไปมากกว่า 1,000 คน หลายพันคน อาจถึงหลายหมื่นคนที่กลายเป็นสินค้าภายในขบวนการค้ามนุษย์ที่มีเครือข่ายใหญ่อยู่ในประเทศไทย และการจับกุม ปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 ทำให้กลายเป็นวิกฤติด้านมมนุษยธรรมที่เลวร้ายมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันอออกเฉียงใต้อีกครั้งนับตั้งแต่วิกฤติเรือของผู้อพยพเวียดนาม

คนท้องถิ่นที่ช่วยเราประสานงานขออนุญาตกับทางรัฐบาลในการเข้าไปในค่ายผู้ลี้ภัยภายในประเทศ (Internally Displaced Persons: IDP) ใน 2 พื้นที่คือในพื้นที่เขตปกครองซิตตเว เและเขตปกครองเมืองราธีดอง เป็นชาวโรฮิงยาที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยใกล้กับเมืองซิตตเว โดยที่ตัวเขาเองนั้นจะเป็นคนนำทางและช่วยเราสื่อสารระหว่างที่เราเข้าไปในค่ายผู้ลี้ภัยในเขตปกครองของเมืองซิตตเว และยังช่วยติดต่อประสานงานกับผู้นำชุมชนมุสลิมในราธดอง ช่วยหาคนนำทางที่เป็นชาวยะใข่พุทธให้ระหว่างที่เราเดินทางไปในพื้นที่ปกครองของเมืองราธีดอง

ในพื้นที่ปกครองของเมืองซิตตเว มีค่ายผู้ลี้ภัยที่แยกออกเป็นสองกลุ่มชัดเจน กลุ่มแรกเป็นชาวพุทธที่ศูนย์เสียบ้านเรือนของตนไปในเหตุการณ์ความรุนแรงเช่นเดียวกับชาวมุสลิมโรฮิงยา ผุ้เขียนเข้าไปในค่ายผู้ลี้ภัยของชาวพุทธยะใข่สองแห่งใกล้เมืองซิตตเว แห่งแรกมีขนาดใหญ่ มีการก่อสร้างถนนและสะพานทำให้การเดินทางเข้าไปค่อนข้างสะดวก ที่พักอาศัยชั่วคราวของพวกเขาถูกสร้างเป็นบ้านสองชั้นขนาดปานกลาง แต่ก็ใหญ่กว่าบ้านของคนนำทางชาวพุทธที่อยู่ในเมืองซิตตเวเกือบเท่าตัว และใหญ่กว่าบ้านของคนในชุมชนคนยากจนในเมืองซิตตเวมากอย่างเห็นได้อย่างชัดเจน ในค่ายผู้ลี้ภัยชาวพุทธแห่งที่สองแม้จะมีขนาดเล็กกว่าแห่งแรกแต่ถนนทางเข้าก็เรียบร้อย มีสภาพไม่ต่างจากแห่งแรกนอกเหนือไปจากที่ผู้เขียนพบชายวัยรุ่นใส่เสื้อของพรรคชาตินิยมอาระกันกำลังเดินไปที่ร้านขายของชำและน้ำชาที่ติดสัญลักษณ์ของพรรคชาตินิยมอาระกันอย่างชัดเจน

  

ค่ายผู้ลี้ภัยอีกกลุ่มเป็นของชาวมุสลิม ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงยา มีมุสลิมคามานบางส่วนอยู่ด้วย ค่ายผู้ลี้ภัยของชาวมุสลิมตั้งอยู่อีกด้านของเมืองซิตตเวและอยู่ริมชายฝั่ง ประกอบด้วยค่ายผู้ลี้ภัยหลายสิบแห่ง และหมู่บ้านของชาวมุสลิมดั้งเดิมอีกจำนวนหนึ่ง การเดินทางจากเมืองซิตตเวมุ่งหน้าออกนอกเมืองมาผ่านด่านของทหาร 1 แห่ง และด่านตรวจของตำรวจอีกแห่งก่อนที่จะเข้าถึงค่ายซึ่งผู้เขียนใช้เส้นทางนี้เดินทาง และผ่านการตรวจหนังสืออนุญาตด้วย ตลอดทางยาวจากด่านทหารจนมาถึงด่านของตำรวจนั้นเป็นพื้นที่ที่ตั้งของหน่วยทหารเมียนมาที่ทอดยาวเหมือนจะทำหน้าที่กันชาวมุสลิมไว้ให้อยู่ห่างจากเมืองซิตตเว ผู้ลี้ภัยในพื้นที่นี้มีมากกว่า 100,000 คน

ในพื้นที่ประกอบด้วยค่ายผู้ลี้ภัยทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการหลายสิบแห่ง มีผู้ลี้ภัยที่อยู่อาศัยทั้งที่ได้ขึ้นทะเบียนกับเจ้าหน้าที่และที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ สภาพในค่ายทางการอาจจะดูไม่ต่างจากค่ายของชาวพุทธเท่าไหร่นัก เพียงแต่เป็นบ้านยกพื้นสูงและขนาดเล็กกว่าแต่บริเวณรอบนอกค่ายทางการเหล่านี้คือบริเวณที่เป็นค่ายไม่เป็นทางการ เป็นที่พักของผู้อพยพที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ที่อยู่อาศัยในกระท่อมติดดินขนาดประมาณ 2 x 2 เมตรที่ปลูกติดๆ กัน

 

ผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในช่วงแรกจะถูกขึ้นทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ซึ่งได้จะได้รับส่วนแบ่งอาหาร เป็นข้าวสารในปริมาณที่เกือบจะเพียงพอสำหรับครอบครัวใน 1 วัน แต่การขึ้นทะเบียนก็ดำเนินการในช่วงปีแรกเท่านั้น สำหรับคนที่เข้ามาภายหลังไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไร พวกเขาไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ และจะไม่ได้รับส่วนแบ่งข้าวสารและที่พักภายในแคมป์ ไม่มีใครทราบจำนวนของผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเหล่านี้ที่ชัดเจน แม้ว่าสภาพภายในค่ายผู้ลึ้ภัยจะปลอดภัยกว่าภายนอกแต่ก็ทำให้ชีวิตลำบากมากขึ้น หลายคนไม่สามารถทำนา หรือออกเรือหาปลาได้เหมือนที่บ้านเดิม

นอกจากค่ายผู้ลี้ภัยทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการที่รองรับผู้ลี้ภัยทั้งที่ขึ้นทะเบียนและไม่ขึ้นทะเบียน พื้นที่ของค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้ยังครอบคลุมพื้นที่ของชุมชนของชาวมุสลิมดั้งเดิม หลายหมุ่บ้านในพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 2555 แต่การกำหนดพื้นที่บริเวณนี้ซึ่งครอบคลุมหมู่บ้านของตนเองให้เป็นที่ตั้งของค่ายผู้ลี้ภัย มีการวางมาตรการควบคุมการเข้าออกในพื้นที่ก็ทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านเหล่านี้กลายเป็นผู้ลี้ภัยโดยไม่ได้ตั้งใจ และทำให้บริการพื้นฐานทางสังคมในพื้นที่ เช่น โรงเรียน และสถานบริการสุขภาพที่มีอยู่เดิมเผชิญกับปัญหาที่ไม่สามารถดูแลผู้อพยพที่เข้ามาใหม่ รวมถึงคนที่อยู่เดิมได้อย่างเพียงพอ

ภายในพื้นที่ที่สำหรับผู้อพยพลี้ภัยแห่งนี้ แม้จะสามารถให้ความปลอดภัยในชีวิตแก่ผู้อพยพชาวมุสลิมได้แต่ก็ทำให้โลกของชาวมุสลิมในยะใข่ที่หลายคนเคยอยู่ร่วมกับชาวพุทธในชุมชนเดียวกันูแยกออกจากกันมากขึ้นเรื่อยตลอดในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา อนาคตที่พวกเขาจะสามารถกลับไปอยู่ร่วมกันกับคนอื่นๆคงจะยากมากขึ้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ