ในโมงยามที่รถไฟจีน-ลาว จอดเทียบประตูบ้านตรงข้ามด่านชายแดน จ.หนองคาย ที่นครหลวงเวียงจันทน์ เกษตรกรไทยพร้อมยกระดับมองหาโอกาสใหม่ แต่โจทย์เรื่องมาตรฐานสินค้าและโอกาสการแข่งขันยังต้องคุยกัน เกษตรกร และรัฐบาลไทย ต้องขยับกันในทิศทางไหน? ชวนคุยกับคุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และคุณสว่าง ชื่นอารมย์ เกษตรกรสวนผลไม้และประธานสภาเกษตรกรจังหวัดตราด
เนื้อหาบางห้วงบางตอนของรายการ #คุณเล่าเราขยาย เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มี.ค. 2565 กองบรรณาธิการร้อยเรียงความเห็นและติดตามความเคลื่อนไหวสำคัญเพื่อเร่งหาทางออกดังกล่าว
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรัตน์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า รถไฟจีน-ลาว มันเป็นทั้งวิกฤตและโอกาสของประชาชนคนไทย เพราะการขนส่งทางรางน่าจะเป็นการขนส่งที่สะดวกและประหยัดที่สุด สภาเกษตรกรจึงติดตามการพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงมาโดยตลอด พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลไทยได้เตรียมความพร้อมเพื่อไม่ให้เกษตรกรไทยเสียโอกาสในการส่งสินค้าไปยังประเทศจีน
“ได้มีการหารือกับหลายภาคส่วน รวมทั้งตัวแทนจากประเทศจีนในการส่งสินค้าเกษตรหลายสาขา เช่น ผลไม้ สินค้าปศุสัตว์มีความต้องการจากไทยมาก หากไทยเตรียมการไม่ดี สินค้าการเกษตรของจีนจะทะลักเข้ามาอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ข้อจำกัดเวลานี้มีอยู่หลายเรื่อง”
เช่น ด่านโควิด พิธีสารฯ (พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สาม) ซึ่งต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทย – รัฐบาลจีน หลักการเราอยากเห็นผลไม้พรีเมียมของไทยไปวางจำหน่ายบนชั้นที่ประเทศจีนในคุณภาพที่ดี สดใหม่ พร้อมบริโภค ที่ผ่านมาเราส่งออกทางเรือกว่าจะเดินทางไปถึงผู้บริโภคใช้เวลา 5-10 วัน
เราอยากเห็นหน่วยงานราชการไทยไปหารือเรื่องแนวทางปฏิบัติที่ดี เช่น การตรวจและรับรองคุณภาพสินค้าที่ต้นทาง การตรวจคุณภาพการปนเปื้อนที่ด่านชายแดน โดยการเพิ่มเจ้าหน้าที่ เพิ่มงบประมาณ เพื่อทำให้ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจกระชับขึ้น
ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวอีกว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ลงนามในเอกสารที่จะส่งผ่านไปยังนายรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้รัฐบาลได้กรุณาดำเนินการต่อ เพื่อให้ส่งสินค้าไปยังรัฐบาลจีนได้มากขึ้น
นายสว่าง ชื่นอารมย์ คณะกรรมการด้านพืชสวน สภาเกษตรกรแห่งชาติ และประธานสภาเกษตรกรจังหวัดตราด กล่าวว่า เมื่อมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้น พี่น้องเกษตรกรและผู้ประกอบการชาวไทยมีความหวังว่าจะใช้เส้นทางนี้แม้ว่าในตอนนี้จะยังไม่มีการขนส่งผลไม้ไปทางนี้ก็ตาม แต่เราก็ยังมีอีกหลายช่องทางทั้งทางรถผ่านทางด่านเชียงของ นครพนม หรือทางเครื่องบินที่กำลังมีการเจรจาความเป็นไปได้ แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือสถานการณ์เรื่องโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในไทยตอนนี้ ทำให้การส่งออกไม่คล่องตัวเหมือนเมื่อก่อน
ผู้ประกอบการและเกษตรกรก็ยังต้องพึ่งตนเองและหาตลาด ไม่ทิ้งตลาดเพื่อนบ้านใกล้ ๆ อย่างเวียดนาม กัมพูชา เมียนมา และมาเลเซีย ซึ่งก็สามารถส่งออกทุเรียนได้บางส่วน
นายสว่าง ชื่นอารมณ์ กล่าวอีกว่า ผู้ประกอบการได้รวมตัวไปที่กระทรวงพาณิชย์เพื่อติดตามการเจรจาว่ามันมีความคืบหน้าอย่างไร ซึ่งเขาบอกว่ายังตอบอะไรไม่ได้ นี่คือความล่าช้าของรัฐบาลที่พี่น้องเกษตรกรและผู้ประกอบการอยากให้ขยับเร็วกว่านี้
เปิดข้อเสนอสภาเกษตรกรต่อนายก. รมว. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
จากหนังสือ บันทึกข้อความข้อเสนอเรื่องเสริมสร้างความร่วมมือและประสานงานในการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ของสภาเกษตรกรแห่งชาติที่ส่งตรงถึงนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 3 มีนาคม 2565 ระบุถึงสาระสำคัญประเด็นหารือระหว่างสภาเกษตรกรแห่งชาติ กับ อัครราชทูตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและการค้าแห่งประเทศจีน เพื่อเร่งให้มีการดำเนินการลงนามพิธีสารการค้าระหว่างไทยและจีนโดยตรง
โดยระบุเหตุผลว่า การส่งออกสินค้าเกษตรของไทย โดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์ มันสำปะหลัง ผลไม้และสินค้าเกษตรอื่น ๆ ไปยังประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มากนั้นยังมีปริมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณความต้องการบริโภคของประชาชนชาวจีน เนื่องจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนยังไม่ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงและลงนามในพิธีสารการค้าระหว่างกันโดยตรง ถึงแม้ว่าจะมีความตกลงเขตการค้าเสรี อาเซียน-จีน ก็ตาม นอกจากนั้นยังพบปัญหาเฉพาะหน้าอย่างโรคโควิด-19 ส่งผลให้สินค้าปศุสัตว์ของไทยไม่สามารถส่งออกไปยังประเทศจีนได้โดยตรง จำเป็นต้องผ่านประเทศที่สาม ซึ่งทำให้ต้นทุนการส่งอออกเพิ่มมากขึ้นจนไม่สามารถแข่งขันได้
ขณะที่ คณะกรรมาธิการแก้ไขราคาผลผลิตทางการเกษตร ได้หารือพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการขนส่งสินค้าเกษตรระหว่างประเทศโดยเฉพาะผักและผลไม้ผ่านระบบราง ระหว่างไทย ลาว จีน ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยการขนส่งทางอากาศ เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมาเช่นกัน
เนื่องจากพบว่าสินค้าการเกษตรของไทยยังถูกจำกัดการนำเข้าเนื่องจากจีนมีมาตรการซีโร่โควิด ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการส่งผลไม้จากไทยไปจีน โดยเฉพาะกับฤดูทุเรียนและมังคุดที่กำลังจะมาถึง ซึ่งคาดการณ์ว่าระหว่างเดือนมีนาคม – มิถุนายน 2565 จะมีผลผลิตทุเรียนนับ 1 ล้านตัน โดยผู้แทนกรมการค้าต่างประเทศชี้แจงต่อกมธ.ฯว่า รมว.พาณิชย์ฯ ได้เข้าพบรัฐมนตรีจากจีนเพื่อหารือประเด็นนี้แล้วแต่ยังไม่มีการตอบรับถึงการแก้ปัญหาร่วมกัน
ทั้งนี้หากยังไม่สามารถส่งออกได้จริง ก.พาณิชย์แนะนำว่าต้องระบายผลผลิตขายในประเทศก่อน ซึ่งกมธ.เห็นว่าควรแก้ปัญหาตามด่านต่าง ๆ เพื่อให้การขนส่งทำได้สะดวกก่อน เพราะผลผลิต 1 ล้านตัน ไม่น่าจะระบายในประเทศได้ทั้งหมด ขณะที่ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทยระบุว่า รฟท. มีความพร้อมในการอำนวยความสะดวก แต่ติดปัญหาเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งจีนยังไม่อนุญาตให้ใช้ตู้คอนเทนเนอร์ของไทยในการดำเนินการ ส่วนการขนส่งทางอากาศจะมีค่าใช้จ่ายสูง