“เขื่อนที่กำลังเฮ็ด ให้เซาสาเนาะ” เสียงจากเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน

“เขื่อนที่กำลังเฮ็ด ให้เซาสาเนาะ” เสียงจากเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ระดมส่งคลิป-ถ่ายภาพ บอกเล่าวิถีชีวิตคนริมฝั่งโขงเพื่อบอกเล่าสื่อสารความผูกพันคนสองฝั่งกับแม่น้ำโขงในพื้นที่ภาคอีสาน รวมถึงผลกระทบหลังมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในตอนบนของเหนือประเทศไทย เนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก (International Day of Action against Dams) ตรงกับวันที่ 14 มีนาคม ของทุกปี

“เมื่อก่อนมาหาปลาก็พอได้อยู่ได้กิน ลงมาช่วงตี 5 ถึง 6 โมงเช้า ไม่ถึง 30 นาที หรือสุงสุดก็แค่ 1 ชั่วโมง” ชาวบ้านนาทาม ต.พระกลางทุ่ง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวพลเมืองลุ่มน้ำโขง อำนาจ ไตรจักร์ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ที่ลงพื้นที่สำรวจพูดคุยกับคนในชุมชนถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิตหลังมีปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำโขง ขึ้นลงผันผวนตลอดช่วงที่ผ่านมา และส่งผลต่อปริมาณปลาและสัตว์น้ำหาได้ยากขึ้น

“แต่ก่อนก็พอได้เอามาต้ม มาแกง แต่ทุกวันนี้ไม่ได้เลย เมื่อเช้ามาตั้งแต่ตี 05.30 น. ไม่มีปลาเลย ได้ปลาตัวเล็ก ๆ แค่ 2-3 ตัวเอง ปลาหายากมาก” แม่หญิงพรานปลาชาวบ้านนาทามอธิบายผลกระทบที่เกิดขึ้น พร้อมย้ำถึงความกังวลใจและผลกระทบจากเขื่อนที่ยังคงไม่มีทีท่าจะหยุดลง “เขื่อนที่กำลังเฮ็ด ให้เซาสาเนาะ มันสร้างความเดือนร้อนให้ชาวบ้านหลาย แบบนี้บ้านเมืองสิบ่เจริญดอก”  

เช่นเดียวกับ อำนาจ ไตรจักร์ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ผู้ทำหน้าที่นักข่าวพลเมืองบันทึกเหตุการณ์และเสียงจากชุมชนเพื่อสื่อสารสู่สาธารณะ ได้กล่าวย้ำถึงความกังวลใจต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง วิถีชีวิตชุมชน และประเพณีท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับแม่น้ำโขงก็หายไป จึงขอให้หยุดการสร้างเขื่อนที่กำลังจะเกิดขึ้น

“สิ่งที่พี่น้องกังวลมาตลอดจากการสร้างเขื่อน  คนน้ำโขงเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศแม่น้ำโขง เห็นหาดทราย เห็นการทำประมงที่หายไป ปลาหลาย ๆ ชนิดที่หายไปเนื่องจากการสร้างเขื่อน น้ำขึ้น-ลง ผิดปกติ อยากขึ้นก็ขึ้น อยากแห้งก็แห้ง ปลาก็หลงฤดู

ในวันที่ 14 มีนาคมของทุกปีเป็นวันหยุดเขื่อนโลก ทางเครือข่ายลุ่มน้ำโขงเราก็อยากขอร้องผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการหาผลประโยชน์จากแม่น้ำโขง หยุดได้แล้วการทำเขื่อน เพราะว่าพี่น้องลุ่มน้ำโขงเดือนร้อนกันมาก ก็อยากขอให้หยุดในการสร้างเขื่อนในวันหยุดเขื่อนโลกนี้ครับ ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนวัฒนธรรมประเพณีที่เคยทำกันมาทุกวันนี้ไม่มีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการแข่งเรือ การเล่นน้ำในช่วงสงกรานต์ มันหายไป สิ่งที่พี่น้องลุ่มน้ำโขงทำได้ตอนนี้คือการทำเขตอนุรักษ์เพื่อจะรักษาปลาในแม่น้ำโขงเพื่อสร้างความสมบูรณ์ทางอาหารให้ลูกหลานได้ดู ปลาหลาย ๆ ชนิดที่มันหายไป เกิดจากการสร้างเขื่อนทั้งนั้น การที่จะสร้างเขื่อนต่อไปควรมาถามพี่น้องให้ดี ๆว่า สมควรที่จะทำหรือไมเพราะมันมีผลกระทบต่อพี่น้องอย่างมากก็อยากจะฝากตรงนี้ครับ

จากสภาพแม่น้ำโขงที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันแม่น้ำโขงเปลี่ยนไปมาก ความอุดมสมบูรณ์มันหายไปหลังจากมีการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงสายประธาน ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนที่จีนหรือเขื่อนไชยะบุรี มันทำให้ระบบนิเวศแม่น้ำโขงเปลี่ยนไป ขนบธรรมเนียมประเพณีคนริมโขงหลายอย่างเริ่มหายไป ปลาที่หล่อเลี้ยงคนริมโขงเริ่มหายากขึ้น เกิดจากการสร้างเขื่อนทั้งนั้น เนื่องในวันหยุดเขื่อนโลกนี้ ผมในนามประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด และ หนึ่งในผู้ฟ้องศาลปกครองลำดับที่ 11 กรณีเขื่อนไชยะบุรี ก็อยากขอร้องผู้นำประเทศและผู้ที่มีส่วนในการสร้างเขื่อนให้หันมาฟังเสียงพี่น้องประชาชนคนริมโขงบ้าง ว่าข้อมูลความเดือดร้อนที่พวกเขาเอามานำเสนอจริงหรือไม่ พอเสียทีกับการหาผลประโยชน์กับแม่น้ำโขง”

นอกจากนี้ อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องในวันเขื่อนโลขอให้ยุติการมีส่วนในการสร้างเขื่อนใหม่ ทบทวนการซื้อขายไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ดำเนินการเจรจาทวิภาคีกับประเทศต้นน้ำให้เคารพสิทธิคนท้ายน้ำ และอยู่ร่วมกันอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีทัดเทียม

“กราบเรียน ฯพณฯ พลเอก

ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

และสวัสดี ทุกท่านเนื่องในวันหยุดเขื่อนโลกค่ะ

ดิฉัน เคยประกอบอาชีพอิสระเป็นแม่ค้าขายอาหารตามชายหาดแม่น้ำโขง เวลาน้ำลด ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา สายน้ำมีความผันผวนและอาการหนักขึ้น จนขณะนี้ ขึ้นลงรายวัน ยากจะคาดเดาและวางแผนการทำมาค้าขายได้ ดิฉันสูญเสียอาชีพนั้นไป เฉกเช่นคนตัวเล็กตัวน้อยอื่น ๆ ที่วางแผนการผลิตไม่ได้ และได้รับผลกระทบกันไปต่าง ๆ นานาจากความผันผวนของแม่น้ำโขง

ในนามผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขง และเป็น 1 ใน 37 ผู้ฟ้องคดีเขื่อนไซยะบุรี

เรารอคอยมานานนับ 10 ปี ยังไม่ทราบผลการพิจารณาคดี ในขณะที่สถานการณ์ปัญหาก็ถูกแก้ไขอย่างล่าช้า เรากังวลว่าระบบนิเวศแม่น้ำโขงที่เสียหายไปยากที่หวนคืน หากไม่ยุติการสร้างเขื่อนตัวต่อ ๆ ไป

ย้อนกลับไปคราวพวกเรา ประท้วงการสร้างเขื่อนไซยะบุรี พวกเราถูกประนามว่าเป็นเสมือน “กระต่ายตื่นตูม” ถูกคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก กระนั้น พวกเราไม่เคยยอมแพ้ รณรงค์ เก็บกำข้อมูลเพื่อแสดงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น นำเสนอให้สาธารณะเห็น นำเสนอเชิงนโยบายในทุกที่ทุกเวลาที่เราทำได้ เราถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่จะลุกขึ้นมาปกป้องแม่น้ำโขง ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น “แม่” ของสรรพสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนสองฟากฝั่ง เราไม่มีอาวุธอื่นใดในการต่อสู้ นอกจาก “ความจริง”

เนื่องในวันที่ 14 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันหยุดเขื่อนโลก ดิฉันขอเป็นอีกหนึ่งเสียงของคนตัวเล็กตัวน้อยวอนขอให้ผู้นำประเทศช่วยยุติการมีส่วนในการสร้างเขื่อนใหม่ ทบทวนการซื้อขายไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ดำเนินการเจรจาทวิภาคีกับประเทศต้นน้ำ ให้เคารพสิทธิคนท้ายน้ำและอยู่ร่วมกันอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีทัดเทียม

เราขอให้ผู้นำประเทศ ตัดสินใจในห้วงเวลาอันสำคัญนี้ ดำเนินการเร่งรัด เยียวยา ชดใช้ ทดแทน ฟื้นฟูสภาพนิเวศแม่น้ำโขงที่สูญเสียไป รวมทั้งพิจารณาช่วยเหลือชาวบ้าน ชุมชน ผู้ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน และเป็นรูปธรรม

นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา

-ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ จ.หนองคาย

-1 ใน 37 ผู้ฟ้องคดีเขื่อนไซยะบุรี ศาลปกครองสูงสุด

-เลขาธิการสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน

-ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประมงน้ำจืดในคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ

-คณะกรรมการป้องกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศแม่น้ำโขง ก.เกษตรและสหกรณ์”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ