วอชิงตัน ดี.ซี./ กรุงเทพฯ, 27 มีนาคม 2558- เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา รายงานจากกรีนพีซ โดยอ้างสำนักข่าวเอพีได้เปิดเผยข้อมูลรายงานการสืบสวนเกี่ยวกับการใช้แรงงานทาสบนเรือประมงอวนลากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดส่งผลิตภัณฑ์อาหารทะเลให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่และบริษัทแปรรูปอาหารทะเลทั่วสหรัฐอเมริกา ตามรายงานของสำนักข่าวเอพีระบุว่าแรงงานที่ถูกกดขี่และโดนบังคับให้ทำงานในบนเรือประมงบริเวณเกาะเบนจิน่าประเทศอินโดนีเซียส่วนใหญ่มาจากเมียนมาร์ โดยสัตว์น้ำที่จับได้จะถูกส่งมายังประเทศไทยแล้วถูกส่งต่อไปยังตลาดอาหารทะเลโลก ซึ่งรวมถึงห่วงโซ่การจัดหา จัดส่งผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของสหรัฐอเมริกา
รายงานได้ระบุถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการตั้งคำถามถึงปลายทางของอาหารทะเลที่มาจากการใช้แรงงานทาสว่าไปสิ้นสุดที่ใด บันทึกของศุลการกรสหรัฐอเมริการะบุว่าหลายโรงงานหลายแห่งในไทยมีความเชื่อมโยงกับการทำประมงที่ขาดความรับผิดชอบที่จัดส่งผลิตภัณฑ์อาหารทะเลสู่สหรัฐอเมริกา การตรวจสอบของสำนักข่าวเอพียังได้เปิดเผยถึงข้อมูลแรงงานทาสที่โดนทารุณกรรมทั้งโดยการเตะ ทุบตี หรือถูกเฆี่ยน นอกจากนี้ยังพบว่ามีการทิ้งศพผู้เสียชีวิตลงทะเลให้ฉลามหรือเก็บไว้ในตู้แช่แข็งปลา
หนึ่งในบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้จัดหาวัตถุดิบคือคือบริษัทไทยยูเนี่ยนซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ชิกเก้นออฟเดอะซีและกำลังอยู่ระหว่างการซื้อบริษัทบัมเบิลบี แม้ว่าสำนักข่าวเอพีไม่ได้เจาะจงในตรวจสอบการทำประมงทูน่า แต่จากเนื้อหาของรายงานได้ตอกย้ำความกังวลเกี่ยวกับห่วงโซ่การผลิตสำหรับบริษัททูน่ารายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้การจัดอับดับผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องของกรีนพีซระบุว่าบริษัททูน่ารายใหญ่ได้แก่ ชิกเก้น ออฟ เดอะ ซี (Chicken of the Sea) บัมเบิลบี (Bumble Bee) และสตาร์คิตส์(Starkist) มีส่วนแบ่งการตลาดในสหรัฐอเมริกาถึงร้อยละ 80 โดยทั้งหมดได้รับคะแนนความล้มเหลวด้านความยั่งยืนและสิทธิมนุษยชน
มีแรงการกดดันต่ออุตสาหกรรมปลาทูน่าในประเทศไทยมากขึ้นในเรื่องความรับผิดชอบด้านแรงงาน ปี 2557 สหรัฐอเมริกาลดระดับประเทศไทยให้อยู่ในอันดับ 3 (Tier 3)ซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำสุดของการจัดอันดับ เนื่องด้วยปัญหาการค้ามนุษย์ อีกทั้ง ประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำในการคุ้มครองแรงงาน
บริษัทไทยยูเนี่ยนได้ตอบกลับรายงานการเปิดเผยข้อมูลของสำนักข่าวเอพีและยุติการรับซื้อสินค้าประมงจากบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานทาส อย่างไรก็ตาม รายงานของเอพีได้ตรวจสอบการส่งสินค้าจากผู้จัดหาวัตถุดิบเพียงรายเดียว ทำให้ยังคงมีข้อกังวลถึงแหล่งที่มาของอาหารทะเลของบริษัทว่ามีที่มาจากแหล่งอื่นๆอีกหรือไม่
จอห์น โฮซิวา ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ด้านมหาสมุทร กรีนพีซสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า สิ่งที่สำนักข่าวเอพีค้นพบนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาแรงงานทาสและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานของอาหารทะเล และได้ชี้ให้เห็นถึงการทำงานบนเรือประมงซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสภาพการทำงานที่เลวร้ายที่สุด ในขณะที่การตรวจสอบยังไม่ได้เจาะจงไปที่เรือประมงทูน่าแต่รายงานได้เชื่อมโยงปัญหาแรงงานทาสและการละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้ากับตลาดปลาทูน่าขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา นั่นคือ บริษัทไทยยูเนี่ยน บริษัทดังกล่าวมีความเกี่ยวโยงกับการทำประมงทูน่าที่ไม่ยั่งยืนที่พบในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ไทยยูเนี่ยนเป็นเจ้าของบริษัทชิกเก้นออฟเดอะซี และกำลังจะเป็นเจ้าของกิจการบริษัทบัมเบิลบีและส่งผลิตภัณฑ์ไปวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต Kroger และ Walmart หากคุณรับประทานปลาทูน่าที่มาจากไทยยูเนี่ยน ไม่มีวีธีการใดที่คุณจะมั่นใจได้ว่าคุณไม่ได้รับประทานปลาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาแรงงานทาสหรือการจับปลาภายใต้สภาพการทำงานที่เลวร้ายสุดๆ
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า หากไทยยูเนี่ยนมีความตั้งใจต่อการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ก็จะนำไปสู่การขจัดการใช้แรงงานทาสและการละเมิดสิทธิมนุษยชนหมดไปจากห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด มิใช่แต่เพียงการยกเลิกผู้จัดหาวัตถุดิบเพียงรายเดียว การรับรองว่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่ผลิตจากการใช้แรงงานทาสที่น้อยลงนั้นเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคไม่อาจยอมรับได้ ไทยยูเนี่ยนจะต้องเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารทะเลอย่างแท้จริงโดยมีมาตรการการตรวจสอบย้อนกลับในผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่เรือต้นทางที่จัดหาวัตถุดิบไปถึงการวางจำหน่าย นอกจากนี้ ควรที่จะมีการตรวจสอบจากบุคคลภายนอกและการขึ้นตรวจเรือโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าอย่างสม่ำเสมอ บริษัทควรเดินหน้าเพื่อให้แน่ใจว่าแหล่งที่มาของวัตถุดิบนั้นมาจากแหล่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีความยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ผลิตภัณฑ์ทูน่าที่จัดจำหน่ายโดยไทยยูเนี่ยนจะต้องไม่มีแหล่งที่มาจากเรือลำอื่น หรือการขนถ่ายในทะเลซึ่งเป็นวิธีที่เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการผิดกฎหมายและป้องกันการตรวจสอบย้อนกลับที่จำเป็นในการขจัดแรงงานทาสจากห่วงโซ่อุปทานของอาหารทะเล
ขณะเดียวกัน จอห์น โฮซิวา ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ด้านมหาสมุทร กรีนพีซสหรัฐอเมริกา กล่าวทิ้งท้ายว่า แรงงานทาสถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2408 แต่บริษัทอเมริกันยังคงมีกำไรจากแรงงานทาสในเรือประมง ธุรกิจอาหารทะเลเช่น บริษัทไทยยูเนี่ยนซึ่งเกี่ยวข้องกับแรงงานทาสและการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะต้องร่วมกันแก้ปัญหาอย่างแข็งขัน มิฉะนั้นอาจไม่เป็นที่ยอมรับในตลาดอเมริกา