ส่งออกผลไม้ไทยไปจีน : สำรวจข้อมูลโอกาส – ข้อจำกัด ของตลาดบนเส้นทางสายใหม่

ส่งออกผลไม้ไทยไปจีน : สำรวจข้อมูลโอกาส – ข้อจำกัด ของตลาดบนเส้นทางสายใหม่

หากอูฐและม้าไม่กี่ตัวของคณะพ่อค้าวาณิช ผู้แสวงบุญ นักบวช ทหาร จนไปผู้คนบนเส้นทางสายไหมได้เชื่อมโลกการค้า วัฒนธรรม เปลี่ยนโฉมหน้าของโลกไปโดยพลัน ด้วยการขนส่ง เทคโนโลยีการคมนาคม การเดินทางทั้งทางเรือ ทางอากาศ ระบบรางในปัจจุบัน กลายเป็นเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 จะพลิกโฉมผู้คนในโลกอย่างไร ซึ่งการค้าการส่งออก และความหวังจะใช้ประโยชน์จากการระบบรางเริ่มขึ้นแล้วพร้อมกับหวูดเสียงรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวอีกครั้ง

ภาพรวมการนำเข้าผลไม้ของจีน

สถิติการนำเข้าผลไม้ไทยของจีน จำแนกรายชนิด พบว่า สถิติปี 2564 เทียบกับ 2563 

  • เพิ่มขึ้น
    • ทุเรียน ขยายตัว 40.25%
    • ลำไย ขยายตัว 36.77%
    • มะพร้าวอ่อน ขยายตัว 35.79%
  • ลดลง
    • มังคุด ขยายตัว -10.56%
    • มะม่วง ขยายตัว -51.74%

เส้นทางขนส่งสินค้าผลไม้จากไทยไปจีน

ปัจจุบันเส้นทางขนส่งทางบก ได้แก่

  1. เส้น R3A ผ่านทาง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ไปทางห้วยทรายและบ่อเต็นของสปป.ลาว และสิ้นสุดที่โม่หาน ประเทศจีน หากนับระยะทางตั้งต้นจากกรุงเทพฯ ถึงคุนหมิง เป็นระยะทาง 1,887 กิโลเมตร
  2. เส้นทาง R9 ผ่านทาง จ.มุกดาหาร ไปทางสะหวันนะเขต ผ่านแดนสะหวัน สปป.ลาว เข้าสู่ลาวบาวและหลั่งเซิน ประเทศเวียดนาม ไปสิ้นสุดที่โหย่วอี้กว่าน ประเทศจีน ระยะทางจากมุกดาหาร – โหย่วอี้กว่าน ประมาณ 1,090 กิโลเมตร
  3. เส้นทาง R12 ผ่านทางจังหวัดนครพนม ไปทางท่าแขกและนาเผ้า สปป.ลาว ผ่านจาลอและหลั่งเซิน ประเทศเวียดนาม ไปสิ้นสุดที่โหย่วอี้กว่าน ประเทศจีน ระยะทางจากนครพนม- โหย่วอี้กว่าน ประมาณ 823 กิโลเมตร
  4. เส้นทาง R12 เข้าด่านตงซิง ผ่านเส้นทางจ.นครพนม ไปทางท่าแขกและนาเผ้า สปป.ลาว ผ่านจาลอและหมงก๋าย ประเทศเวียดนาม ไปตงซิน ประเทศจีน ระยะทางจากนครพนม- ตงซิน ประมาณ 874 กิโลเมตร
  5. เส้นทางด่านรถไฟผิงเสียง

ส่วนปลายทางของการขนสิ่งสินค้าผลไม้ 5 มณฑล/เขตพื้นที่มีการนำเข้าผลไม้ไทยมากที่สุด ได้แก่

  1. มณฑลกวางตุ้ง
  2. เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กว่างซี)
  3. มหานครฉงซิ่ง
  4. มณฑลยูนนาน
  5. มณฑลจ้านเจียง

รางรถไฟ ไทย – ลาว – จีน

เส้นทางรถไฟจีน – ลาว เป็นแผนเส้นทางรถไฟที่จะเชื่อมจากจีนลงไปสิงคโปร์ เชื่อมโยงอาเซียนและจีนโดยเส้นทางรถไฟ โดยในส่วนของเส้นทางรถไฟทางฝั่งจีนวิ่งจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ผ่านลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้ สุดแดนจีนที่ด่านรถไฟโม่ฮาน เข้าสปป.ลาว ที่ด่านรถไฟบ่อเต็น ผ่านลงมาทางใต้ถึงนครหลวงเวียงจันทน์ โดยเปิดดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสินค้า 8 กลุ่มที่ยังไม่สามารถนำเข้าผ่านด่านรถไฟโม่ฮาน เนื่องจากสินค้าสัตว์และพืชที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากจะต้องมีสถานที่ควบคุมตรวจสอบเฉพาะสำหรับสินค้านำเข้าดังกล่าว ได้แก่ 

  • ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์
  • ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่เย็น
  • ธัญพืช
  • ผลไม้
  • สัตว์น้ำเพื่อการบริโภค
  • ต้นกล้า ไม้ซุง

นั่นหมายความว่า เรายังจะไม่เห็นผลไม้ไทยขึ้นรถไฟความเร็วสูงจากลาวไปจีนจนกว่าจะมีจัดการตามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สาม นี่ยังไม่รวมระเบียบต่าง ๆเพิ่มเติมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

แล้วโอกาสและความท้าทายของสินค้าผลไม้ไทยในตลาดจีนอยู่ตรงไหนกันแน่?

สำนักเศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่บทวิเคราะห์ ระบุว่า ไทยจะเผชิญความท้าทายของสินค้านำเข้าจากจีน แต่ในทางกลับกันก็มีโอกาสในการขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดไปยังมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นปลายทางรถไฟ เพิ่มเติมเดิมที่สินค้าไทยส่วนใหญ่จะนิยมขนส่งไปทางจีนตะวันออกผ่านเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางถนน รวมถึงมณฑลกวางตุ้งและอื่น ๆ ทางเรือ

มณฑลยูนนานคือเป้าหมาย

ไทยมีโอกาสในการส่งออกสินค้าไปจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดไปยังมณฑลยูนนาน รวมทั้งมณฑลใกล้เคียง โดยระยะแรกคาดว่าสินค้าส่งออก จะเป็นสินค้าเดิมที่เคยส่งออกไปมณฑลยูนนาน หรือสินค้าที่มีการขนส่งทางถนนอยู่เดิม

จากการวิเคราะห์ความต้องการสินค้าของจีนและศักยภาพการส่งออกของสินค้าของไทย ซึ่งพิจารณาจากอัตราการเติบโตของตลาดเฉลี่ยและอัตราการขยายตัวของส่วนแบ่งตลาดไทยเฉลี่ยในทุกรูปแบบการขนส่ง เทียบกับค่าเฉลี่ยระหว่างปี พ.ศ.2559 – 2563 พบว่า กลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกไปจีน มีเพียง 2 กลุ่ม ดังนี้กลุ่มแชมปเปี้ยนส์ (ส่วนแบ่งของตลาดสินค้าไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ย) ได้แก่ ผลไม้ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบรถยนต์ ทองแดงและผลิตภัณฑ์ และเนื้อสัตว์เพื่อบริโภค รวมทั้งอาหารทะเล ซึ่งเป็นสินค้ากลุ่มที่ตลาดมีความต้องการ

ผลไม้ จีนมีการนำเข้าจากไทยอยู่แล้วยิ่งเมื่อเดือนกันยายน 2564 ด่านหนองคายได้รับอนุมัติเป็นด่านที่อยู่ในพิธีสารการส่งออกและนำเข้าผลไม้ทางบกของจีน ทำให้ไทยสามารถส่งออกผลไม้ผ่านด่านหนองคายได้สะดวกขึ้น

กลุ่มเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภค เดิมจีนมีการนำเข้าเนื้อไก่แข่แข็งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี และสามารถขยายประเภทสินค้าไปยังเนื้อสัตว์อื่น ๆ ที่ไทยมีศักยภาพ เช่น เนื้อโคและอาหารทะเล เนื่องจากมณฑลของจีนด้านตะวันตกมีประชากรชาวมุสลิมจำนวนมาก อีกทั้งยังอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีเขตติดทะเล ทำให้ต้องซื้ออาหารทะเลในราคาที่สูง

กลุ่มที่พัฒนาได้ (สินค้าที่ตลาดมีความต้องการสูง แต่ส่วนแบ่งของตลาดของสินค้าไทยลดลงกว่าค่าเฉลี่ย) เช่น เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ธัญพืช อาหารปรุงแต่ง เบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ (อาทิ กะทิสำเร็จรูป ซอสปรุงรส) น้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล รวมถึงเครื่องหอม/เครื่องสำอาง เป็นต้น 

หากไทยสามารถเพิ่มช่องทางการขายสินค้ากลุ่มนี้ไปเป็นสินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (Cross-Border E-Commerce: CBEC) โดยเฉพาะอาหารเครื่องดื่ม เครื่องหอม เครื่องสำอาง จะทำให้สินค้ามีศักยภาพมากขึ้นและสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้ในอนาคต เนื่องจากจีนมีการส่งเสริมการค้าผ่านช่องทางนี้

สินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกของภาคอีสาน สินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออก คือ กลุ่มผลผลิตทางการเกษตร และเกษตรแปรรูปเนื่องจากเป็นสินค้าในกลุ่มแชมป์เปี้ยนส์ ที่มีความต้องการนำเข้าจากจีนมาก และภาคอีสานมีจุดแข็งด้านการเป็นแหล่งผลิตสินค้าทางการเกษตรและปศุสัตว์ที่สำคัญของประเทศ

  • อาหารแปรรูป ได้แก่ ผลไม้แปรรูป สัปปะรดแปรรูปซึ่งได้ประโยชน์เพิ่มเติมจากข้อตกลง RECP และอาหารแปรรูปพร้อมทาน (Ready to eat) โดยเฉพาะผลิตภัณธ์ฮาลาล เนื่องจากคนจีนด้านตะวันตกเป็นชาวมุสลิมกว่า 22 ล้านคน 
  • ปศุสัตว์แปรรูป อาทิ เนื้อไก่แปรรูป และเนื้อโคขุน ซึ่งอัตราการเติบโตของตลาดเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังในจีนสูงถึงกว่าร้อยละ 2,000 แต่ปัจจุบันอีสานยังไม่ได้ส่งออกเนื้อประเภทนี้มากนัก สามารถพัฒนามาตรฐานการผลิตเพื่อคว้าโอกาสจากความต้องการนำเข้าของจีนที่มากขึ้น
  • สินค้าที่ระลึก โดยพัฒนาต่อยอดกับสินค้า OTOP ที่มีอยู่เดิมให้มีรูปลักษณ์ที่ทันสมัยมากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม ผ้าฝ้าย ของใช้ทำจากยางรารา สินค้าความงามประเภทสปา ครีมขัดผิวที่ทำจากสมุนไพร เนื่องจากชาวจีนนิยมใช้สินค้าที่ทำมาจากธรรมชาติมากขึ้น
  • ผลไม้สด ได้แก่ ทุเรียนภูเขาไฟ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง แต่ปัจจุบันอีสานมีปริมาณผลไม้น้อย ซึ่งเป็นโอกาสให้เกษตรกร ซึ่งเดิมปลูกพืชไร่ เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ที่มีความผันผวนด้านราคา ปรับเปลี่ยนมาปลูกไม้ผลเพื่อการส่งออกมากขึ้น

นอกจากพืชเกษตรหลักของภาคอีสาน เช่น ข้าว น้ำตาล ยางพารา และมันสำปะหลัง ซึ่งเดิมมีการขนส่งผ่านทางเรือไปจีน หากมีการเปิดตลาดใหม่ทางจีนตอนใต้ สินค้ากลุ่มนี้บางส่วนอาจเปลี่ยนมาขนส่งทางรถไฟ เพื่อลดระยะเวลาการขนส่งตามพื้นที่ตั้งของคู่ค้า

อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์นี้ชี้ว่า การขนส่งสินค้าในช่วงแรกยังไม่สามารถดำเนินการได้สะดวก เนื่องจากยังมีการปิดพรมแดนทั้ง สปป. ลาว และจีน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมทั้งปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ 1.โครงสร้างพื้นฐานใน สปป. ลาว อาทิ Vientiane Logistics Park (VLP) ซึ่งเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าใน สปป. ลาว และด่านรถไฟ โม่ฮานในจีนที่ยังดำเนินการได้ไม่สมบูรณ์

นอกจากนี้ยังมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีของจีน เช่น ความเข้มงวดด้านการนำเข้าสินค้าของ จีน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโคโรนาไวรัส โดยเฉพาะอาหารสดและผลไม้ และ 3.มาตรการกีดกันทางการค้าด้านภาษีศุลกากร อาทิ ระเบียบพิธีการด้านการขนส่งทั้งใน สปป.ลาว และจีน 

อย่างไรก็ดี ข้อตกลง RCEP ที่จะมีผลบังคับใช้เมื่อ วันที่ 1 ม.ค. 2565 จะมีส่วนช่วยบรรเทาข้อจำกัดด้านภาษีศุลกากรได้บ้าง และควรมีการหารือเรื่องการขนส่งร่วมกันระหว่าง สปป. ลาว และจีนเพิ่มเติม เพื่อให้การขนส่งไปจีนมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ใน สปป. ลาว คาดว่าการขนส่งสินค้าจะสะดวกมากขึ้น ในช่วงกลางปีนี้ (มิ.ย.2565) เป็นต้นไป ระหว่างนี้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs อาจเจอข้อจำกัดหลายด้านในการส่งออกสินค้าไป จีน ที่ทาให้ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทาย

ในช่วงปลายปี 2564 คณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ ได้หารือเพื่อประเมินผลกระทบจากนโยบายซีโรโควิด Zero Covid-19 ว่าจะกระทบการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนถึงขึ้นวิกฤต หากแก้ไขไม่ทันฤดูกาลผลิตปี 2565 และเตรียม 3 กลยุทธ์ได้แก่ กลยุทธ์ความร่วมมือในด้านมาตรการปฏิบัติในการป้องกันโควิดและระบบโลจิสติกส์ กลยุทธ์ด้านการตลาดทั้งในและนอกประเทศ การตลาดออนไลน์และการตลาดแบบออฟ กลยุทธ์ด้านซัพพลาย เช่น การแปรรูป การจัดเก็บสินค้าด้วยห้องเย็น การขนส่งโดยระบบ Cold Chain การเกลี่ยปริมาณผลผลิตผลไม้นอกฤดู

โดยวางแนวทาง 7 มาตรการ

  1. การเร่งเจรจาเปิดด่าน การกำหนดเกณฑ์ที่ชัดเจนในเรื่องการเปิด-ปิดด่าน โดยใช้การทูตในการสร้างความร่วมมือและการสร้างความเข้าใจผ่านกลไกทุกระดับโดยเฉพาะคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงเกษตรของสาธารณรัฐประชาชนจีน
  2. มาตรการ Covid Certification ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อสร้างความเชื่อมั่น
  3. การเร่งเปิดบริการการขนส่งผ่านเส้นทางรถไฟลาวจีนให้เร็วที่สุด
  4. การเร่งจัดระบบโลจิสติกส์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศและการนำระบบ Cold Chainเข้ามาใช้จากต้นทางจนถึงปลายทาง
  5. ขยายตลาดต่างประเทศไปยังตลาดรองอื่น ๆ
  6. ขยายตลาดในประเทศ การกระจายขายภายในประเทศให้มากที่สุด ผ่านระบบสหกรณ์ บริษัทไปรษณีย์ไทย ประเทศขนส่งภาคเอกชน
  7. การแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การจัดเก็บผลไม้ระบบสต็อก การเกลี่ยผลผลิตผลไม้นอกฤดูกาล

นี่เป็นกลยุทธ์ และแนวทางที่หลายส่วนพยายามขยับเพื่อสร้างโอกาสในระยะเฉพาะหน้า อย่างไรก็ตามโอกาสและประเด็นความท้าทายของตลาดผลไม้ไทยที่แม้จะเป็นที่ต้องการในตลาดจีนสูง และประเทศจีนยังอนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทยมากถึง 22 ชนิด แต่การวางตำแหน่งแห่งที่ของผลไม้ไทยจะเป็นอย่างไร การปรับพัฒนาจากผู้ผลิตเข้าสู่ผู้ประกอบการส่งออก รวมถึงการแผนการผลิตจะเป็นอย่างไร ท่ามกลางมาตรการโควิดที่เข้มงวดมากขึ้น คู่แข่งราย ๆ ใหม่ก็หันหน้าเข้าสู่ตลาดจีนเช่นเดียวกัน นี่ยังไม่รวมถึงความท้าทายภายในจากปัญหาการพบศัตรูพืชกักกันในผลไม้ไทย หรือกระทั่งปัญหาระบบโลจิสติกส์ผลไม้ของไทยเอง

โอกาสและความท้าทายจากมุมมองของเกษตรกรไทย คิดเห็น เตรียมการ และคิดอ่านอย่างไร ชวนชมรายการ คุณเล่าเราขยาย ในตอน โอกาสเกษตรกรไทยกับรถไฟจีน-ลาว วันศุกร์ที่ 11 มี.ค. 2565 เวลา 13:30 – 14:00 น.

@thaipbs โอกาสเกษตรกรไทยกับรถไฟจีน-ลาว ติดตามใน #คุณเล่าเราขยาย วันศุกร์ที่ 11 มี.ค. 65 เวลา 13.30 น. ทาง #ThaiPBS #ช่องหมายเลข3 ♬ เสียงต้นฉบับ – Thai PBS

เอกสารอ้างอิง

ทิศทางแนวโน้มตลาดสินค้าผลไม้ในจีนและเส้นทางขนส่งสินค้าผลไม้จากไทยไปจีน จัดทำโดย สำนักที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้

คว้าโอกาสใหก้ารคา้ไทยจากรถไฟจนี ศุทธาภา นพวิญญูวงศ์ สิรีธร จารุธัญลักษณ์ อภิชญาณ์ จึงตระกูล สานักเศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ความตกลงเขตการค้าเสรี อาเซียน – จีน (บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ