“ชุมชนแออัด 49 ชุมชน สร้างสงขลาขึ้นมา เพราะมีแรงงานมาตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสงขลา ทำให้สงขลาเติบโต”
กอแก้ว วงศ์พันธุ์ นักวิจัยโครงการคนจนเมือง กรณีศึกษา จ.สงขลา เล่าให้ทีม แลต๊ะแลใต้ เห็นถึงที่ความเชื่อมโยงของคนจนเมือง ในจังหวัดสงขลาที่มีความผูกพันกับเมืองนี้จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลา
“จากการศึกษาข้อมูล ตั้งแต่ทศวรรษ 2500 (ประมาณ 50-60 ปีที่แล้ว) มีกลุ่มจับกัง ขนของท่าเรือ มีสินค้าจากปีนัง อินโดนีเซีย จากสิงคโปร์ คนสมัยก่อนจะเป็นจับกัง ขนข้าว ขนถ่าน จากท่าเรือของสงขลา พอรัฐบาลส่งเสริมเรื่องของประมง สงขลากลายเป็นเมืองประมงขนาดใหญ่ มีเรือ 3-4 พันลำ มีแรงงานประมงเข้ามาจำนวนมาก จนประมงเป็นเสมือนกระดูกสันหลังของเมืองสงขลา” เขาเริ่มเล่าถึงที่มาของกลุ่มคนจนเมืองตามงานวิจัยที่เขาค้นคว้า
คนจนเป็นผู้บริการราคาถูก ทั้งเรื่องแรงงาน และเรื่องอาหาร เป็นผู้บริการทุกอย่าง จักรยานยนต์รับจ้าง รถตุ๊กตุ๊ก รถสองแถว ให้เมืองสามารถเดินได้ทุกเวลา และกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าเป็นกลุ่มที่ทำให้เศรษฐกิจเมืองสงขลาหมุนด้วย ผู้ประกอบการรายย่อยในเขตเทศบาลเป็นหมื่นราย ซื้องของจากตลาด จากห้าง จากแหล่งร้านค้าต่าง ๆ แล้วเอามาขาย เขาเป็นผู้หมุนเศรษฐกิจเมืองสงขลาด้วย นี่คือคนจนเมืองที่อยู่บนรางรถไฟทำหน้าที่นี้ ถ้าไม่มีจักรยานยนต์รับจ้าง ถ้าไม่มีแรงงานรับจ้าง มันจะเป็นยังไงถ้าคนเหล่านี้หายไปจากเมือง นี่คือคนจนเมืองที่หมุนเศรษฐกิจเมืองสงขลาอยู่ ไม่ใช่แค่ธุรกิจขนาดใหญ่” กอแก้ว ย้ำถึงความสำคัญของกลุ่มคนจนเมืองอีกครั้ง
“ปัญหาหลักของชุมชนคนจนเมืองคือปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย พวกเขากลัวที่จะต้องถูกให้ออกจากเมือง เพราะพวกเขาทำมาหากินในเมือง พวกเขาค้าขาย ทำงานรับจ้างในเมือง แต่ถ้ารัฐเอาพวกเขาออกจากเมือง พวกเขาจะไปทำอะไร แล้วถ้าต้องไปอยู่ไกลจากที่ทำงานก็ต้องเพิ่มต้นทุนในการเดินทาง ถ้าบ้านโดนรื้อจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อที่ดิน เอาเงินจากไหนไปสร้างบ้านใหม่”
นักวิจัยโครงการคนจนเมือง จ.สงขลา เล่าถึงสิ่งที่คนจนเมืองต้องเผชิญหากถูกไล่รื้อที่
ปัญหาไล่รื้อที่อยู่อาศัยของคนริมรางรถไฟ เป็นความเดือดร้อนใหญ่ของชาวบ้าน เวลานี้มีความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยของคนริมรางเกือบ 4 หมื่นหลังคาเรือน ใน 394 ชุมชน จาก 36 จังหวัด ทั่วประเทศ ที่กำลังต้องเตรียมรับมือผลกระทบ
หลายชุมชนพยายามส่งเสียงว่า พวกเขาอยากขอมีส่วนร่วมแก้โจทย์นี้ และไม่ได้อยากอยู่ฟรีอย่างที่หลายคนเข้าใจ อย่างชุมชนรถไฟคลองเปล 4 ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการเตรียมสัญญาเช่า หลัง มติครม. เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ปลดล็อคให้คนจนสามารถเช่าอยู่อาศัยในที่ดินรถไฟได้
“ชุมชนคลองเปลมาตื่นตัวช่วงปีนี้เอง เราเลยให้เขามาทำข้อมูลเบื้องต้นก่อน อย่างการจัดทำกลุ่มออมทรัพย์ชุมชน สำรวจสมาชิก ทำผังชุมชนว่าบ้านหลังไหนอยู่ตรงไหน บ้านหลังไหนที่โดนผลกระทบจากโครงการ เราก็ให้ทำผังเหล่านี้เพื่อจะได้เห็นภาพรวม แล้วให้พวกเขารวมกลุ่มกันทำกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อที่จะเอาไปเช่าที่ดินการรถไฟ นี่เป็นแผนเบื้องต้น รวมกลุ่มก่อน แล้วเสนอต่อการรถไฟ”
ซัฟวัน หะมะ เล่าถึงกิจกรรมล่าสุดที่เขาลงไปทำร่วมกับชุมชนคลองเปล 4
“พวกเขามีเจตนาที่จะเช่าที่ดินการรถไฟแบบถูกกฎหมาย เขาไม่อยากอยู่แบบผู้บุกรุก (ตามภาษากฎหมาย) พวกเขารู้สึกละอายใจที่จะถูกคนเรียกพวกเขาด้วยคำนั้น พวกเขาต้องคุณภาพชีวิตที่ดี และกังวลเรื่องอนาคตเพราะว่าคนที่อยู่ในที่ดินการรถไฟส่วนใหญ่เขามีลูก มีหลาน พวกเขาไม่มีศักยภาพมากพอที่จะเช่าหรือซื้อที่ดินตามกลไกของตลาดได้”
เมื่ออยากที่จะอยู่ถูกต้องตามกฎหมายเลยมีการรวมตัวกัน ชุมชนคลองเปลจึงเป็นการรวมกลุ่มของชาวบ้านที่มีการจัดระบบบริหารกันเองได้ดี ผมว่านี่เป็นศักยภาพของชุมชนที่จะบอกว่าพวกเขาสามารถจัดการตัวเองได้ ไม่เหมือนกันข้อกล่าวหาของคนทั่วไปที่บอกว่าเป็นคนเถื่อน แต่ความจริงแล้วคนที่อยู่ในสลัม คนที่อยู่ในที่ดินการรถไฟ เขามีการศึกษา มีความรู้ การทำกลุ่มออมทรัพย์ก็บ่งบอกได้ว่าพวกเขามีระบบการจัดการที่ดี มีความรับผิดชอบมากเพียงพอ
การจะทำให้พวกเขามีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยได้ ต้องใช้กระบวนการเช่าแบบถูกต้องตามกฎหมาย
“เวลาเราลงพื้นที่เราจะสัมผัสความรู้สึกพวกเขาได้ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาพอไม่มีองค์กรมาช่วย หรือหน่วยงานรัฐก็ไม่สามารถช่วยเขาได้ พวกเขามีความกังวลจากข่าวที่พบเจอ ทำให้รู้สึกกลัวที่จะเจอคดี กลัวที่จะไม่มีบ้านอยู่ เพราะบางคนเป็นผู้สูงอายุ ถ้าสมมุติเขาเจอการไล่รื้อ สุดท้ายเขาจะกลายเป็นคนไร้บ้าน นี่เป็นปัญหาทับซ้อนที่ได้รับผลกระทบจากการอยู่อาศัยที่พวกเขากังวล” ซัฟวัน เล่าถึงความกังวลใจของชาวบ้าน
“เราวางแผนกันมากว่า 2 เดือนแล้วในการเก็บเงินออมทรัพย์ 140 บาทต่อเดือน คือ 100 บาทสำหรับนำไปเช่าพื้นที่รถไฟเพื่อที่อยู่อาศัย 40 บาทเป็นค่าดำเนินการ อย่างค่าถ่ายเอกสาร ค่าอาหารเวลามีการนัดประชุม”
พัชรรินทร์ วรรณอริยภรณ์ หัวหน้าชุมชนรถไฟคลองเปล 4
พัชรรินทร์ เล่าถึงวิธีการจัดสรรเงินของกลุ่มออมทรัพย์ ที่ขณะนี้มีคนในชุมชนเข้าร่วมแล้ว 26 ราย โดยแต่ละรายก็จะได้รับการจัดสรรพื้นที่สำหรับสร้างที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน และหากได้รับสัญญาเช่าอยู่ถูกต้องพวกเขาก็สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้ในราคาที่ถูกลง