รถไฟจีนลาวจ่อหน้าบ้านไทย – ค้าขายอย่างไรไม่ให้ตกราง?

รถไฟจีนลาวจ่อหน้าบ้านไทย – ค้าขายอย่างไรไม่ให้ตกราง?

“เราห่วงตั้งแต่รถไฟยังสร้างไม่เสร็จ เพราะเห็นว่าฝั่งไทยยังไม่เตรียมความพร้อมที่จะผลักดินสินค้าออกไป และก็ไม่ได้ตั้งรับสินค้าจีนที่จะไหลเข้ามา หรือวางแนวทางปรับการผลิตอะไรเพื่อลดผลกระทบต่อเกษตรกร”

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์  ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เอ่ยขึ้นด้วยความกังวล เมื่อเราชวนสมาชิกสภาเกษตรกรคุยกันถึงความเปลี่ยนแปลงการขนส่งระบบราง ครั้งสำคัญของภูมิภาคนี้นั่นคือการเปิดการเดินรถไฟจีน ลาว 

“ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบเราก็ต้องยอมรับความจริง รถไฟจีนลาวทำให้สถานะของลาวเปลี่ยนเป็น HUB ในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและข้อจำกัดสำหรับไทย สิ่งที่สภาเกษตรกรทั่วประเทศกำลังทำคือมองโอกาสพยายาม หาสินค้ารุกป้อนเข้าไปยังตลาดจีนตามความต้องการ ซึ่งมีหลายตัว  แต่ขณะเดียวกันก็ห่วงเกษตรกรส่วนใหญ่ ที่ปลูกพืชผัก ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด เพราะจีนสามารถผลิตพืชผักเหล่านี้ได้มากและทันสมัยและเหลือพอที่จะส่งออกไปทั่วโลก”  ศรีสะเกษ สมาน สมาชิกสภาเกษตรกรจากจังหวัดลำปางกล่าว

โอกาสที่ว่าใครจะต้องทำอะไรและข้อจำกัดที่มี จะทะลวงหรือป้องกันอย่างไรได้บ้าง The Citizen.Plus  คุยกับเกษตรกรตัวจริงในสภาเกษตรกรแห่งชาติ  ถึงประสบการณ์ตรงที่กำลังพยายามดีลครั้งสำคัญทั้งกับรัฐบาลไทยและฝ่ายจีน เพื่อให้เกษตกรไทยไม่ตกรางบาดเจ็บ ล้มตายจากการมาของรถไฟขบวนนี้?

หนองคายหน้าด่าน หวังส่งออกรุกตลาดจีน

นายบัญญัติ บูชากุล หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดหนองคาย เล่าบรรยากาศหน้าด่านศุลากรหนองคายแต่ละวันหลังรถไฟจีนลาวเปิดให้บริการว่า จะมีรถขนส่งสินค้าวิ่งเข้าออกอย่างคึกคักเพิ่มขึ้น โดยส่วนมากเป็นรถสินค้าที่ขนสินค้าจากไทย ไปเวียงจันทน์ และเริ่มมีรถขนสินค้าจากพื้นที่อื่นมาทดลองใช้เส้นทางสายนี้เพิ่มขึ้น เช่น รถขนข้าวจากจังหวัดตาก จึงเห็นว่า เป็นโอกาสดีของสินค้าไทยที่จะไปสู่จีนได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ถ้าหากช่วยกันระบายสินค้าทางการเกษตรไปสู่ตลาดที่มีความต้องการในเส้นทางนี้

หนองคายมีพื้นที่กว่า 800 ไร่ที่เตรียมเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะรวบรวมกลุ่มทุน ที่จะสร้างโรงงานหรือสถานที่แลกเปลี่ยนสินค้าไว้นานแล้วตั้งแต่มีการสร้างสะพานมิตรภาพไทยลาว และมีการเตรียมพื้นที่ทำสถานีขนส่งสินค้าภาคการเกษตร แต่ยังไม่ดำเนินการใดใด ขณะที่ที่ฝั่งลาวเขาเตรียมการไว้หมดแล้วพร้อมที่จะขนถ่ายสินค้า และความเคลื่อนไหวอีกอย่างคือ จีนเริ่มมีบริษัทชิปปิ้งของเขาเองที่จดทะเบียนใหม่ เตรียมการขนส่งสินค้า

ประเด็นคนจีนมาตั้งบริษัทเพื่อรวบรวมสินค้าส่งกลับในระบบบรางต่อไปอาจทำให้เกิดการเสียดุลการค้ามากกว่าได้ดุล ซึ่งจะต้องหาทางลดผลกระทบ 

มองโอกาสรุกส่งสินค้า เตือนกลุ่มพืชผักเปราะบางรับผลกระทบ

นายศรีสะเกษ สมาน สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดลำปางกล่าวว่า  รถไฟ จีน-ลาว ทำให้สถานะของลาวเปลี่ยนเป็นฮับของภูมิภาคอาเซียน การส่งสินค้าไปจีนจะต้องผ่านเส้นทางนี้ ฉะนั้นเรามีทางเดียวก็คือว่า สร้างกลุ่ม สร้างกระบวนการของไทยให้เข้มแข็งและก็ไปเชื่อมกับลาวและจีน สภาเกษตรกรแห่งชาติทั่วประเทศ กำลังพยายาม สร้างทีมขึ้นมาเพื่อที่จะรุกเข้าไปในจีนว่าเขาต้องการอะไร เช่น ข้าว มัน ปศุสัตว์ แร่ ผลไม้ ประมง โดยให้สภาเกษตรกรจังหวัดหนองคายเป็นหน่วยที่จะรับส่งออก

แต่ส่วนของการนำเข้า ก็กังวลว่ามีสินค้าบางตัวที่เราไม่มีทางจะสู้จีนได้เลยคือ พืช ผัก อาหาร ซึ่งตรงนี้ก็น่าเป็นห่วงกังวลมาก เพราะกระบวนการผลิตพืชผักอาหารของจีนเยอะมากและทันสมัย สามารถผลิต เลี้ยงคนได้กว่าพันล้านคน จนเหลือพอที่จะส่งออกไปทั่วโลก เพราะฉะนั้นการที่จะส่งมาที่เมืองไทยเพื่อคนแค่ 40-50 ล้านคน หรือ 80 ล้านคน ไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย ดังนั้น คนปลูกผักซึ่งเป็นเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด แต่กระบวนการดูแลของราชการไทยยังเหมือนตีบตัน ต้องหาทางดูแลหรือปรับตัว เช่นคุยกับสถานทูตจีนให้สินค้าเกษตรของไทยมีที่ยืนด้วย 

“เราอาจจะปลูกผักกาดขาว ผักกะหล่ำ หอมแดง มันก็อาจจะอยู่ในระดับพอบริโภค แต่โดยรวมเกษตรกรไทยจะแข่งขันอะไร  ถ้ามองในมุมของผู้บริโภค ผักราคาถูกจากจีน มันอาจจะดีสำหรับผู้บริโภค แต่เกษตรกรเราจะทำอย่างไร พวกพืชผักก็เป็นส่วนน้อยที่จีนอยากได้ เอาเข้าจริง ๆ เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ในตอนนี้ นอกจากจะทำนา ทำมันสำปะหลัง ก็จะมีพืชผักนี่แหละที่ทำเลี้ยงตัวเองในทุกวัน”  

ภาพ : https://unsplash.com/photos/vyHo3nnk8G8

ดังนั้นผู้ปลูกผักเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุดที่จะได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของจีน ซึ่งกระบวนการของราชการไทยมันยังตันไปหมด คือมันแทบไม่มีทางออก งงกันไปหมดว่าจะไปตรงไหน จะไปยังไง หรือจะปล่อยให้เผชิญชะตากรรมต่อไปหรือเปล่า

นายศรีสะเกษกล่าวด้วยว่า หลังจากที่เราพอจะเริ่มตั้งหลักได้แล้วนั้น มีหลายอย่างที่พยายามคุยกับทางจีนว่า สถาเกษตรกรจะหาสินค้าให้ในอนาคต อาจจะเป็นสินค้าประมง อาหารทะเลต่าง ๆ เมื่อจีนเขาตีตู้เปล่ากลับไปไม่ได้ และทางประเทศลาวก็วางตัวเองให้เป็นฮับ ดังนั้นประเทศที่ผลิตก็จะมีไทยกับเวียดนาม 2 ประเทศที่แข่งขันกันเข้มข้น ดุเดือด ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำอะไรได้แค่ไหน และรัฐไทย ราชการไทยจะเข้ามาร่วมตรงไหน อันนี้เรื่องใหญ่มาก ซึ่งสร้างความตื่นตัวและตระหนกให้กับแวดวงเกษตรกรไทยไม่น้อย

ปรับทิศ คิดใหม่ ผ่านกลไกสภาเกษตรกรแห่งชาติ

“จริง ๆ สภาเกษตรกรเป็นห่วงเรื่องนี้มาตั้งแต่แรกเริ่มแล้วตั้งแต่ทางรถไฟสร้างขึ้นใหม่ ๆ เพราะเราสัมผัสได้ว่าฝั่งไทยยังไม่ได้มีการเตรียมพร้อมอะไรเลย ที่จะผลักดันส่งสินค้าเกษตรหรือสินค้าอื่นออกไปผ่านทางรถไฟและก็ยังไม่มีการตั้งรับเลย” ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าว

สำหรับสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามา ไม่รู้ว่ามีตัวไหนบ้างและไม่รู้ว่าควรจะปรับการผลิตยังไงบ้างเพื่อที่จะลดผลกระทบ เช่น พืชผักเมืองหนาวทั้งหลาย ซึ่งจีนเขาปลูกได้ดีกว่าเรา ประเทศเราขาดการเตรียมความพร้อมทั้งการตั้งรับ เพื่อลดผลกระทบและการผลักดันสินค้าทางการเกษตรเพื่อส่งออก 

ประพัฒน์ ขยายความว่า เมื่อขาดการเตรียมความพร้อมก็จะทำให้โอกาสที่จะเกิดขึ้นก็ไม่เกิด โอกาสที่เราจะผลักดันสินค้าทางการเกษตรส่งออกหรือสินค้าอื่นให้ส่งออกได้มันก็จะช้า ซึ่งทางสภาเกษตรกรก็จะพยามทำอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกก็คือการพยายามประสานกับหน่วยงานราชการไทยโดยเฉพาะกรมวิชาการเกษตร กระทรวงพาณิชย์ เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกในการส่งออก เพื่อที่จะคุยกันดูว่ามีช่องทางไหนบ้างที่จะทำให้เกิดความสะดวกมากกว่านี้ 

ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือ สินค้าทางการเกษตรทั้งหมดที่จะส่งออกจะต้องมีใบอนุญาตการส่งออกจากกระทรวงพาณิชย์ เราจะทำอย่างไรให้เกิดการบริการแบบ One Stop Service ได้ในพื้นที่ สินค้าเกษตรที่จะส่งออกทุกตัวจะต้องได้รับมาตรฐานว่าเป็นสินค้า GAP เพราะไม่อย่างนั้นก็จะไม่สามารถส่งออกได้ ซึ่งการรับรอง GAP ทั้งหมดนั้นจะต้องรับรองโดยราชการ แต่ปรากฏว่าตอนนี้ราชการไทยไม่มีงบประมาณในการที่จะมารับรองมาตรฐานในแปลง บุคลากรก็ไม่พอเงินก็ไม่พอ ยิ่งไปกว่านั้นเกษตรกรในประเทศส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ความสามารถที่จะทำให้ได้การรับรองมาตรฐานก็เป็นไปแทบไม่ได้เลย และตอนนี้ทราบว่ากรมวิชาการเกษตรได้จัดตั้งบริษัทเอกชนเข้ามารับรองมาตรฐาน GAP แทนหน่วยงานราชการ ซึ่งทั้งหมดมีค่าใช้จ่าย ซึ่งทำให้เกษตรกรรายย่อยไม่มีโอกาสเลยที่จะส่งสินค้าทางการเกษตรไปที่จีน

“แม้การผลิตจะทำได้มาตรฐาน GAP ทำได้ปลอดภัย แต่จะให้หน่วยงานมารับรองเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเกษตรกรจะต้องเสียเงินในการจ้างบริษัทเอกชนมาตรวจแปลง เพราะว่าค่าใช้จ่ายสูงมาก ฉะนั้นนี่คือข้อจำกัดของฝ่ายเรา เป็นข้อจำกัดที่ทำร้ายตัวเอง ทำให้โอกาสในการส่งสินค้าเกษตรออกไปยุ่งยากมากขึ้น”

มากกว่า GAP คือทุนจีนการกินรวบห่วงโซ่การผลิต

อีกเรื่องก็คือตอนนี้คนจีนก็เข้ามาตั้งบริษัทเพื่อที่จะหาสินค้าเกษตรหรือสินค้าอื่นในประเทศไทย ส่งกลับไปประเทศจีนผ่านระบบราง ซึ่งสินค้าที่เขาอยากได้มีหลายตัวน่าสนใจมาก เช่น ผลิตภัณฑ์ไม้ สินค้าปศุสัตว์ทั้งที่มีชีวิตและแปรรูป เขามีตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นอย่างดีเลย จะฟรีซหรือซีลก็ได้ เท่าที่ผมทราบมีตู้ใหม่ประมาณ 2,000 ตู้ 

“ก็น่าห่วงอยู่ครับเพราะการค้าขายเราไม่สามารถสู้เขาได้อย่างสิ้นเชิงเลยโดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งถ้าเรายังตั้งรับอยู่แบบนี้ไม่ทำงานในเชิงรุก ในอนาคตเราก็จะรับแต่สินค้าเกษตรของเขาเข้ามา และการส่งออกก็ไม่สามารถสู้ได้เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วผมคิดว่าเราจะเสียดุลมากกว่าได้ดุล

ผมมองว่าปัญหายังติดอยู่ที่ส่วนราชการ ตอนนี้เกษตรกรพร้อมมาก พ่อค้าพร้อมมาก ทุกคนพร้อม อยากจะส่งออกมาก แต่ข้อจำกัดก็ติดอยู่ที่ระบบของเราเอง”  

นายประพัฒน์กล่าวว่าหากในที่สุดประเทศไทยสามารถส่งออกไปจีนได้จะเป็นโอกาสที่ใหญ่มาก เพราะตลาดจีนเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และสินค้าหลายตัวเป็นที่ต้องการเพราะบ้านเขาขาดแคลน เพราะฉะนั้นการเปิดเส้นทางขนส่งด้วยระบบราง จากชายแดนไทยไปถึงประเทศจีน ซึ่งการขนส่งระบบรางปกติแล้วก็เป็นการขนส่งที่ต้นทุนตำที่สุด ก็น่าจะเป็นโอกาสสำคัญให้เราได้มีโอกาสส่งออกสินค้าต่าง ๆ ได้มากขึ้น 

“หากว่าเราขาดการเตรียมความพร้อมและไม่ปรับตัว ทั้งระเบียบและบุคลากร โอกาสต่าง ๆ เรานั้นก็จะกลายเป็นวิกฤตวิกฤตที่ว่าคือเราอาจจะเสียดุลให้เขา เช่น นำเข้าสินค้าเขาเยอะแต่ส่งออกได้น้อยลง ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามันเป็นโอกาสเพราะตลาดจีนใหญ่ แต่โอกาสต่าง ๆ ก็อาจจะกลายเป็นวิกฤตเพราะเราไม่ได้เตรียมความพร้อมให้ดีพอ”

ข้อจำกัดอีกอย่างคือ ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์รัฐก็จะไม่รับรองมาตรฐานให้ ทั้ง GAP ทั้งไม่ได้รับการอำนวยความสะดวกจากรัฐ แม้แต่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรก็รับรองไม่ได้ ประเด็นนี้ทางสภาเกษตรกรได้ทำบันทึกถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว อยู่อย่างไม่มีสิทธิ์ในที่ทำกิน ทั้งที่เป็นพื้นที่ซึ่งรัฐอนุญาตให้ทำกิน มีมติครม.อนุญาตทำกินได้ แต่รัฐก็ไม่ยอมรับว่าเขาเป็นเกษตรกร แต่มองว่าเป็นประชาชนที่ทำกินอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่ของรัฐ

ประธานสภาเกษตรกร เสนอว่า รัฐบาลไทยน่าจะต้องตั้งคณะทำงานร่วมกัน น่าจะประสานกันเลยกับกระทรวงเกษตรจีน เพื่อจะแก้ปัญหาที่ว่าขอมาตรวจที่ต้นทางเลยได้ไหม ไม่ต้องไปตรวจที่ด่านหรือปลายทาง ถ้าสามารถมาตรวจที่ต้นทางประเทศเรา แล้วผลตรวจออกมาดีทุกอย่างแล้วก็จะได้ถือว่าเป็นการรับรอง 2 ประเทศพร้อมกัน ก็จะทำให้เกิดความสะดวกในการส่งออกมากขึ้น ซึ่งจะทันหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ เพราะว่าฤดูกาลผลไม้ใกล้จะถึงเต็มที่แล้ว เพราะเดือนมีนาคม เมษายนก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวทุเรียนได้แล้ว 

ภาพ : สภาเกษตรกรฯเปิดทางเชื่อมตลาดสินค้าเกษตรไทย-จีน ปล่อยขบวนมีนาคมนี้

ทุเรียนตราดเตรียมนำร่องทดลองส่งออกใหม่ทางรถไฟลาว-จีน

นายสว่าง ชื่นอารมณ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดตราด กล่าวถึง มาตรฐานสินค้า GAP ทั้งประเทศ มันไม่ใช่แค่ผลไม้แต่ต้องได้รับมาตรฐานทุกชนิด แต่ถ้าภาครัฐให้เอกชนมาดำเนินการ ส่วนนี้จะเกิดผลกระทบต่อเนื่องและเป็นผลกระทบต่อการส่งออก ไม่ว่าจะส่งไปประเทศไหนก็ตาม นอกจากนั้น ยังต้องดูประเทศจีนหรือประเทศปลายทาง ว่าใช้มาตรฐานอะไรอีก และเข้มงวดมากน้อยแค่ไหน 

รัฐบาลจะได้ให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการรับรองมาตรฐาน GAP ซึ่งหากเอกชนเป็นผู้รับรอง ก็จะมีค่าใช้จ่าย

  • ขนาด 20 – 30 ไร่ ค่าใช้จ่ายประมาณ 12,500 บาท
  • ขนาด 30 – 50 ไร่ ค่าใช้จ่ายประมาณ 16,500 บาท
  • ขนาด 50 – 100 ไร่ ค่าใช้จ่ายประมาณ 21,500 บาท
  • ขนาด 100 – 150 ไร่ ค่าใช้จ่ายประมาณ 27,500 บาท 

“ถ้าเกษตรกรจะตรวจ GAP ค่าใช้จ่ายก็อาจจะอยู่ที่ประมาณ 35,000 – 80,000 บาท ให้เอกชนมาตรวจรับรองมาตรฐานถึงจะได้ใบส่งออก ซึ่งถ้าเป็นกลุ่มที่ขายผลไม้อย่างล้งทุเรียนเขาก็อาจจะพออยู่ได้เพราะเขาเป็นผู้ประกอบการ แต่ที่จะหนักจริง ๆ ก็คงเป็นพี่น้องเกษตรกร แต่จากที่ผมไปประชุมมาล่าสุดคือ ถ้าเกษตรกรที่ทำเกษตรขนาด 20 – 50 ไร่ ก็จะยังเป็นกรมวิชาการเกษตรดูแลอยู่ แต่ถ้าเกิน 50 ไร่ขึ้นไปจะเป็นภาคเอกชนที่ตรวจรับรองมาตรฐาน ซึ่งเขาจะมีการผ่อนผันในปี2565 นี้อีก 1 ปี” 

“แต่เวลานี้เราวิตกกังวลปัญหาเรื่องผลไม้ ล้ง การขนส่ง การเดินทาง การส่งออก ซึ่งทางจีนอาจจะตรวจเข้มในเรื่องของสารกำจัดศัตรูพืช หรือ โควิด-19 อย่าลืมนะว่าเขารู้เราแต่เราไม่ค่อยรู้เขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขนส่งหรือการทำธุรกิจ”

นายสว่าง กล่าวว่า ในส่วนของประเทศเพื่อนบ้าน 4-5 ประเทศที่อยู่ใกล้ ๆ ไม่ว่าจะเป็นพม่า กัมพูชา มาเลเซีย ลาว รวมถึงเวียดนาม ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องไปทำความร่วมมือกับเขา เพราะต้องผ่านประเทศเขา เราไม่สามารถดำเนินการเองได้เลยเนื่องจากชายแดนเราไม่ได้อยู่ติดจีน

จึงจะต้องทำความสัมพันธ์ไมตรีกับลาว ส่วนเรื่องรถไฟตนมองว่า ยังต้องติดตามใกล้ชิด และดีใจกับพี่น้องเกษตรกรว่าต่อไปเราจะมีอีกช่องทางหนึ่งในการส่งออก และเราก็ต้องหาอีกหลาย ๆ ช่องทางว่าทำอย่างไรให้เราไปเวียดนาม  ไปลาว ไปบ่อเต็น เข้าสิบสองปันนา ได้อย่างคล่องตัว ซึ่งทางภาครัฐต้องดำเนินการโดยตนมีความเชื่อมั่นว่าถ้ารัฐดำเนินการประสานงาน 3 ประเทศ ลาว พม่า เวียดนาม ที่เป็นจุดสำคัญ เพราะต่อไปนี้ของที่ส่งผ่านเวียดนาม ทางรถไฟมันจะไปได้มาก

ภาพ : https://unsplash.com/photos/fHsX0eS5X9Y

“สภาเกษตรกรจังหวัดตราดก็มีการทำ MOU ว่าจะส่งผลไม้ในนามของบริษัทประชารัฐสามัคคี จ.ตราด ซึ่งถ้าเป็นไปได้ ปีนี้ถ้าเราได้ส่งออก 5-10 ตู้คอนเทนเนอร์ ก็ยังเป็นช่องทางในการส่งออกได้ในอนาคต ซึ่งเราก็จะส่ง ทุเรียน มังคุด และมะพร้าว เข้าจีนกัน และคาดว่าปีนี้มังคุดน่าจะดกกว่าปีที่แล้ว โดยผลผลิตจะออกช่วงเดือนเมษายน ไปจนถึงพฤษภาคม” 

“ปกติเราจะส่งทางเรือและส่งไปทางเวียดนาม ซึ่งมันจะมีเส้นทาง ทางนครพนมและทางเชียงของด้วย แต่หลัก ๆ ก็จะส่งไปที่เวียดนาม พอถึงเวียดนามก็เปลี่ยนถ่ายลงเรือ ซึ่งก็ส่งทางรถกับทางเรือ แต่ทีนี้พอเป็นทางรถไฟ ถ้าเป็นเหมือนที่เขาบอกว่าวิ่งแป๊บเดียวถึงใคร ๆ ก็อยากจะไปทางรถไฟ ถ้ามันคล่องตัวจริง ๆ รถไฟนี่สะดวกสุดในการขนส่ง แต่ผมก็ไม่มั่นใจว่ามันจะเป็นไปได้จริง ๆ ขนาดไหน เพราะอุปสรรคเรื่องการขนส่งเรื่องตู่คอนเทนเนอร์ มีประมาณนี้ครับ เราส่งตู้ไป แต่ตู้กลับน้อย ซึ่งปีที่แล้ว เรื่องโควิด-19 ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ แต่จะมีปัญหาเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ไม่พอ อย่างเราส่งไป 700 ตู้แต่ถ้าเวียดนามไม่ส่งตู้มารับของเราก็ไม่สามารถส่งของไปได้ เพราะรถไทยเราไม่สามารถเข้าเวียดนามได้ รถที่ขนตู้ก็ไปได้แค่ชายแดน นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว”

RECAP สรุปประเด็นสำคัญ บทบาทของสภาเกษตรจะทำอะไรในสถานการณ์การค้าอันแหลมคม

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ

ที่ผ่านมาสภาเกษตรพยายามไปจีนกันหลายรอบแล้ว พยายามดิ้นรนด้วยตัวเอง ก็เห็นความพยายามของเกษตรกรที่พยายามค้าขาย แต่ก็พบปัญหาอุปสรรคมากมาย อย่างที่คุณสว่างพูดถึงคือช่องทางที่คุณสว่างส่งออกอยู่แล้ว ก็อยากให้มีการประสานงานกับประเทศเวียดนามซึ่งเป็นจุดที่เราจะต้องผ่านแดนเขา ให้เขาอำนวยความสะดวกกับคนไทยกับสินค้าไทยมากขึ้น เพราะบางปีที่ด่านชายแดนที่ถูกกักสินค้าไว้มีปัญหากันมากเลย ซึ่งตอนนี้มันมีระบบขนส่งทางรางแล้วก็น่าจะลองศึกษาดู 

ภาพ : https://www.facebook.com/Prapat.Panyachatiraksa/photos/1547572385337180

มันเป็นเรื่องใหม่ทั้งเราและจีน ซึ่งทางสภาเกษตรกรเองน่าจะลองเชื่อมส่วนราชการไทยมาคุยเพื่อประสานไปทางจีนด้วย เพื่อที่จะมากลับระบบการทำงานเพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้นทั้งเรื่องของใบรับรองและบริษัทชิปปิ้งรวมถึงระบบเอกสารทั้งหลาย เท่าที่ทราบขบวนรถไฟที่วิ่งมาถึงเวียงจันทน์นั้นหนึ่งขบวนจะลากตู้คอนเทนเนอร์ ประมาณ 270 ตู้ ซึ่งถ้าโหลดของไม่ครบขบวนเขาก็จะพยายามโหลดให้ครบขบวนเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการขนส่ง

“ในอดีตไม่มีสภาเกษตรกร การหาผลผลิตเพื่อส่งออก พ่อค้าคนกลางก็จะซื้อผ่านล้ง ทำได้บ้างไม่ได้บ้างแต่คราวนี้ถ้าหากสภาเกษตรกรจะเป็นเจ้าภาพในการรวบรวมผลผลิต ซึ่งผมคิดว่าถ้าจะควบรวมทุเรียนส่งออกครั้งละ 270 ตู้ไม่ใช่เรื่องเกินกำลัง แต่ผมคิดว่าทั้งสองฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายไทยที่ไม่มีประสบการณ์เลยในการส่งออกทางราง และน่าจะลองผลักดันดู ซึ่งถ้าทำแล้วติดปัญหาตรงไหนเราก็ลองมาหาทางออกกัน เพราะส่วนใหญ่น่าจะติดปัญหาตรงส่วนราชการ ถ้าสำเร็จก็จะเป็นโอกาสใหญ่และทำให้การส่งออกคล่องตัวมากขึ้น และเป็นประโยชน์กับเกษตรกรจำนวนมากในประเทศนี้” ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้าย

สว่าง ชื่นอารมณ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดตราด

ตอนนี้ล้งทั้งหลายก็กำลังเตรียมการและนั่งประชุมกันถึงเรื่องการเดินทางการขนส่ง ว่าจะไปทางรถไฟ หรือไปเรือ หรือทางรถที่จะเข้าผ่านเวียดนาม ก็มีความวิตกกันว่าปีนี้อาจจะเจอวิกฤตในการที่จะต้องตรวจโควิด-19 แต่การเตรียมการของผู้ประกอบการในเขตจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราดก็คือ การต่อมาตรฐาน GAP ใบรับรอง GMP ก็เดินหน้ากันไปได้พอสมควรแล้ว รวมถึงกรณีที่มีพ่อค้าจีนมาหาวัตถุดิบ มาคุยกับทางเจ้าของสวนเรื่องการเหมา ซื้อขายอะไรพวกนี้ก็เตรียมไว้พร้อมแล้ว คิดว่าช่วงวันที่ 25 มีนาคม อาจจะมีผลไม้บางส่วนที่ระดมส่งออกก่อน 

ส่วนทางผมถ้าถามว่ามีนาคมนี้พร้อมไหม ที่จะหาผลผลิตส่งขึ้นทางตู้รถไฟ ทางผมก็พร้อม เพราะว่าขายกันหมดกับพ่อค้าที่อยู่ในจังหวัด และช่วงหลังวันที่ 20-25 เมษายนจะเริ่มมีผลผลิตเยอะ แต่ยังไม่มั่นใจว่าสิ้นเดือนมีนาคมนี้รถไฟจะสามารถขยับได้ไหมในการส่งผลไม้ 

ศรีสะเกษ สมาน รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ

ตลอดที่ผ่านมามันไม่มีแผนการใดจะรองรับเรื่องการส่งออก ไม่ได้มีความพยายามเพื่อเตรียมพร้อมมาก่อนเลย แม้จะรู้ทั้งรู้ว่ารถไฟจากจีนจะมาถึงลาว แต่การประเมินสถานการณ์ก่อนหน้านั้นต่ำมาก กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกผักกลายเป็นกลุ่มแรกแรกที่จะต้องยอมรับกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันแทบจะไม่มีทางเลือก 

คำถามก็คือว่าต่อไปนี้คนกลุ่มนี้เค้าจะต้องทำมาหากินอะไรเพื่อที่จะให้มีรายได้ทุกวัน ซึ่งเท่าที่ผมดูเกษตรกรกลุ่มนี้ก็อาจจะไม่มีทางเลือกอะไรเลยและอาจจะต้องเสียที่ดิน และรัฐเองก็จะต้องมีภาระเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเรื่องการสูญเสียที่ดินนั้น มันอาจจะระบาดไปเรื่อย ๆ เพราะว่าขาดแรงงานแรงงานในภาคเกษตร ทำเกษตรก็สู้เขาไม่ได้ ในที่สุดก็จะมีโอกาสสูญเสียที่ดิน แต่ตอนนี้สภาเกษตรกรแห่งชาติเองก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่เรื่องผลไม้ ตอนนี้กำลังช่วยกันดูว่าทั้งหมดเรามีผลผลิตอะไรอยู่ในมือ และเราจะต่อรองกับทางจีนได้ขนาดไหน เช่น ประมง มันสำปะหลัง ข้าวโพด อุตสาหกรรมแปรรูปไม้ ยางพารา และพวกปศุสัตว์ทั้งหลาย คือเราจะต้องคิดให้ใหญ่มาก ๆ ในการที่จะค้าขายกับจีน เพราะไม่เช่นนั้นเราจะถูกส่งมาให้บริโภค พอถูกส่งมาให้บริโภคจนเราชินเราก็จะสูญเสียภาคการผลิตไป 

เหมือนเราเปลี่ยนบทบาทจากนักส่งเสริมการเกษตรมาเป็นการพยายามยามทำให้พี่น้องเกษตรกรสามารถส่งผลิตไปขายได้ ซึ่งผมมองว่าตอนนี้เราจะไปฝากความหวังไว้กับที่อื่นไม่ได้อยากกระทรวงพาณิชย์เองเขาก็มีสิ่งที่เขาต้องทำต้องขายหลายหลายอย่าง อยากกระทรวงเกษตรเขาก็บอกว่าเขาเป็นคนผลิตเขาไม่ใช่คนขาย แต่สภาเกษตรกรแห่งชาติมันคือคนเที่ยวต้องทำงานกับเกษตรกร อะไรที่จะเกิดปัญหากับเกษตรกรก็ต้องช่วยแก้ไขหมด ซึ่งเราก็จะรวบรวมสินค้าจากเกษตรกรไปขายให้ได้ อย่างตอนนี้เราก็มีคณะทำงานที่ตามเรื่องการขาย ชุดหนึ่งตามเรื่องผลไม้ อีกชุดก็ตามเรื่องปศุสัตว์ ตามเรื่องยางพารา แล้วตอนนี้ล้งไทย ที่มีสินค้าอยู่ตอนนี้เราต้องถือว่าเขาเป็นมิตรไม่ใช่ผู้แข่งขัน แต่เราพยามจะเข้าไปเชื่อมกับพ่อค้าไทยนักธุรกิจไทย ตอนนี้ถ้าเราเจรจาใครได้เราก็จะพยามรวบรวมมาช่วยกัน

บัญญัติ บูชากุล หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดหนองคาย

จริง ๆ แล้วเป็นโอกาสดีด้วยซ้ำที่มีรถไฟไทยจีน ซึ่งเราไม่ได้มองแค่เรื่องสินค้าเกษตรที่จะส่งออกอย่างเดียว ขณะเดียวกันเราก็ต้องมองไปว่าจะทำอย่างไรให้คนจีนเข้ามาใช้สินค้าเกษตรถึงในบ้านเรา ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการท่องเที่ยวเชิงเกษตร นี่อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนชาวจีนเขามีจำนวนประชากรเยอะ เค้าอาจจะไม่เคยเห็นต้นมะพร้าวด้วยซ้ำ หรืออาจจะไม่เคยเห็นกันกินมะพร้าวอย่างถูกวิธี อาจจะไม่เคยเห็นวิธีการเก็บยกมะพร้าวโดยใช้ลิงหรือคน เวลาเข้ามาเค้าอาจจะมีความตื่นเต้นบางครั้งที่เข้ามาเยี่ยมสวนเรา

ผมมองว่าเป็นโอกาสดีด้วยซ้ำถ้าจะส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องเกษตรกรที่มีพื้นที่ทำสวน เราอาจจะเก็บเป็นรายหัวเข้ามาเช่น หนึ่งคนถ้าทัวร์สัก 5,500 หยวน ซึ่งผมว่าดีเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ประโยชน์จากรถไฟความเร็วสูง 

ในขณะเดียวกันตัวสินค้าเกษตรเขาก็มีพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษในสิบสองปันนา ที่จะเป็นจุดกระจายสินค้าภาคการเกษตรของเราอีกทีนึง ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งขณะเดียวกันสินค้าตัวไหนที่เราไม่สามารถส่งไปได้เราก็เอาคนจีนเข้ามาใช้บริการในบ้านเราได้ ซึ่งพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ก็อาจจะปรับปรุงทำโฮมสเตย์เพื่อที่จะเอานักท่องเที่ยวเข้าไปใช้จ่าย ส่วนอุตสาหกรรมที่มีการทำเยอะ ๆ เราก็จะขยายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในการขนส่งสินค้า ที่แล้วหนองคายเป็นเหมือนเมืองหน้าด่านที่จะขนส่งสินค้า 

น่าสังเกตว่ารถไฟที่ขึ้นมารอบนี้ก็ฮือฮากันมา ในขณะที่สะพานมิตรภาพแห่งที่ 5 ก็เริ่มขึ้นแล้วที่จังหวัดบึงกาฬ ฉะนั้นเราก็ไม่ได้มองแล้วว่าสินค้าจะออกทางไหนเพราะมันมีหลายทางให้เลือกแล้ว ซึ่งในยุคนี้การค้าขายก็เป็นไปได้ง่ายทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอตัวตนกันได้ คิดว่าพี่น้องเกษตรกรในอนาคตข้างหน้านี้จะได้มีโอกาสให้บริการมีโอกาสที่จะผลิตสินค้าที่มี ถ้าหากว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเอาจริงเอาจังที่จะให้ความสนใจและทุ่มเทกับการทำงานให้กับเกษตรกรโดยตรง

“ฉะนั้นแล้วการส่งเสริมการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐจะต้องมีวิสัยทัศน์ ไม่แช่แค่เอาเงินไปเยียวยาเกษตรกรและก็หมดไป ผมมองว่าถ้าหากรัฐบาลไทยเอาจริงเอาจัง เพราะว่าตอนนี้รัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนเขาสนิทกันมาก ซื้อขายกระทั่งเรือดำน้ำ นับประสาอะไรกับการจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้าขนาดแค่นี้ ผมมองว่าถ้าทำได้ให้รีบทำให้เถอะเพราะสินค้าเกษตรของพี่น้องเราจะได้ส่งออกไป”   

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สภาเกษตรกรฯเปิดทางเชื่อมตลาดสินค้าเกษตรไทย-จีน ปล่อยขบวนมีนาคมนี้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ