จากน้ำมันรั่วถึงวางหินถมทะเล ประชาชนขอร่วม “มองอนาคตระยอง”

จากน้ำมันรั่วถึงวางหินถมทะเล ประชาชนขอร่วม “มองอนาคตระยอง”

ผ่านมากว่า 1 เดือนแล้วสำหรับเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่ระยอง วันนี้ยังมีชาวประมงหลายคนไม่ได้ออกเรือ เพราะไม่มั่นใจว่าทะเลจะปลอดภัย จึงมีความพยายามเดินหน้าเจรจาเยียวยา และผลักดันให้เกิดการฟื้นฟู ยิ่งเมื่อโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เริ่มเดินหน้า คำถามที่มีตามมาคือ ประชาชนจะไว้ใจต่ออนาคตเมืองอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแห่งนี้ได้มากแค่ไหน 

00000

ทัพประมงพื้นบ้านระยอง ทวงถาม “มาตรการเยียวยา” ถมทะเล

“เราก็ไม่ได้คัดค้านมากนัก แต่ก็อยากให้เขาเยียวยาเรือเล็ก” ชาวประมงเรือเล็ก จ.ระยอง

ภาพชาวประมงพื้นบ้านระยองกว่า 48 กลุ่ม นำเรือนับร้อยลำ ปิดอ่าวมาบตาพุด เมื่อวันจันทร์ที่ 28 ก.พ. 2565 เป็นวันเดียวกันที่มีพิธีเปิดโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อใช้รองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตลอดจนรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร และอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี

นายกรัฐมนตรี เปิดงานผ่านทีวีคอนเฟอเรนซ์จากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า โครงการฯ มูลค่าการลงทุนราว 55,400 ล้านบาทนี้ จะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับชีวิตให้ดีขึ้นสำหรับคนไทยทุกคน แต่กลุ่มประมงพื้นบ้านไม่คิดแบบนั้น

เรื่องนี้คุณรุ่งโรจน์ เปรมจิราพงศ์ เครือข่ายสื่อพลเมือง พาลงเรือเพื่อไปฟังเสียงชาวประมงระยอง ซึ่งต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่มากว่า 30 ปี ที่โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมระยะ 1 ระยะ 2 เดินหน้าในพื้นที่มาบตาพุด ทั้งวิถีคนหาปลา ทรัพยากรที่เคยมี ไม่เคยกลับมาเหมือนเดิม

มาถึงวันนี้ กำลังจะมีการถมทะเลขยายพื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่มอีกถึง 550 ไร่ ทำให้กลุ่มชาวประมงออกมาแสดงตัวเรียกร้องเชิงสัญลักษณ์ ให้รัฐเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

แผนที่สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด (สทร.)

ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด อยู่ในอ่าวมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง มีการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นผู้พัฒนามาแล้ว 2 ระยะ ระยะที่ 1 ตั้งแต่ปี 2535 คือโซนที่ตั้งของสำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด (สทร.) มีการถมทะเล 1,400 ไร่ และระยะที่ 2 ดำเนินการในปี 2542 มีการขุดลอกร่องน้ำ และถมทะเลไป 1,470 ไร่

ส่วนระยะ 3 พื้นที่รวมกว่า 1,000 ไร่ คาดว่าโครงการฯ จะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2567 และสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2569

“ทางภาครัฐควรต้องเยียวยาและต้องพัฒนาทั้งอุตสาหกรรม และกลุ่มประมง พัฒนาคน วิถีพื้นบ้านให้ควบคู่ไปกับภาคอุตสาหกรรมด้วย” เสียงประชาชนใน จ.ระยอง

ภาพอนาคตที่รัฐมองไปข้างหน้า กลายมาเป็นผลกระทบกับพื้นที่ทำกินของชาวประมงระยองมายาวนาน ซ้อนทับกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วในปี 2556 และล่าสุด 2565 ยิ่งทำให้แผลเก่ากลัดหนองถูกกดซ้ำ ย้ำคำถามว่า ระบบอุตสาหกรรมน้ำมัน ปิโตรเคมีในบ้านเราปลอดภัยต่อสัตว์น้ำ คน ชุมชน ระบบนิเวศและทรัพยากรจริงหรือ

ในวันเดียวกับการเคลื่อนทัพในทะเล บนบกเองก็มีกลุ่มประมงพื้นบ้านไปรวมตัวกันบริเวณหน้าบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC เพื่อขอความชัดเจนในการเยียวยาผลกระทบ จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วในอ่าวระยองครั้งล่าสุด

00000

ทบทวนเหตุการณ์น้ำมันรั่ว 2565

ผ่านมา 9 ปี เหตุการณ์น้ำมันรั่วระยองเมื่อปี 2556 วันนี้ ยังคงมีคดีความของชาวบ้านคงค้างอยู่ในชั้นศาล 2 คดี คือคดีปกครองฟ้องให้จัดการฟื้นฟูทะเล อยู่ในชั้นศาลปกครองสูงสุด และคดีฟ้องชดเชยค่าเสียหายและให้บริษัทฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในทะเลระยอง ที่อยู่ในชั้นศาลฎีกา

ขณะที่น้ำมันรั่วปี 2565 มีรายงานตัวเลขครั้งแรกถึง 4 แสนลิตร แม้ต่อมามีการแถลงปรับลดตัวเลขเหลือ 4 หมื่นลิตร แต่ดูเหมือนปัญหาที่ต้องสะสางจะไม่ได้ลดลง

ย้อนไปวันที่ 25 ม.ค. 65 ท่อน้ำมันใต้ทะเลของ SPRC เกิดรั่วไหล ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุด จ.ระยอง ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร

29 ม.ค. 65 พบคราบน้ำมันสีน้ำตาลปนดำทะลักเข้าชายหาดแม่รำพึงและส่งกลิ่นเหม็น ทางจังหวัดระยองประกาศปิดชายหาดแม่รำพึง ห้ามผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าออก ปิดร้านค้าริมหาดแม่รำพึง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

31 ม.ค. 65 กองทัพเรือแถลงปฏิบัติการเก็บกู้คราบน้ำมันได้ผลดี ทั้งบนฝั่งและนอกชายฝั่งไม่พบคราบน้ำมันแล้ว

4 ก.พ. 65 สมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยองยื่นหนังสือให้ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เรียกร้องการแก้ปัญหาโดยเปิดเผยปริมาณน้ำมันรั่วไหล การใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันที่แท้จริง เรียกร้องบริษัทผู้ก่อมลพิษรับผิดชอบผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ โดยต้องเปิดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมด้วย

10 ก.พ. 65 มีการตรวจพบว่ามีน้ำมันรั่วไหลจากทุ่นที่รั่วตรงจุดเดิม ห่างฝั่งประมาณ 20 กิโลเมตร โดยเป็นน้ำมันที่ค้างท่อเดิมที่รั่วครั้งที่แล้ว ปริมาณ 5,000 ลิตร และต่อมายังมีรายงานการรั่วไหลอีกหลายรอบ

22 ก.พ. 65 SPRC ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติการอุดรอยรั่วของท่ออ่อนใต้ทะเล เพื่อป้องกันการรั่วไหลที่เพิ่ม แต่ถึงวันนี้ ยังปิดรอยรั่วไม่ได้ และยังคงมีน้ำมันค้างท่อโดยที่ไม่รู้ปริมาณที่ชัดเจน

26 ก.พ. 65 SPRC จ่ายเงินค่าเสียหายครั้งแรกให้ผู้ได้รับผลกระทบรายย่อยกลุ่มอาชีพอื่น ๆ อาทิ ผู้ประกอบการทั้งหาบเร่ แผงลอย เปลผ้าใบ ห่วงยาง ฯลฯ จำนวน 460 คน รวมเป็นเงินจำนวน 6.4 ล้านบาท

1 มี.ค. 65 SPRC จ่ายเงินค่าเสียหายครั้งแรกให้ประชาชนและกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านเรือเล็กเกาะเสม็ดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วกลางทะเลใน จ.ระยอง จำนวน 36 ราย รายละ 45,000 บาท รวมเป็นเงิน 1.62 ล้านบาท

แม้จะมีประมงพื้นบ้านบางกลุ่มตัดสินใจรับเงินเยียวยาจากสถานการณ์บีบคั้นเฉพาะหน้า ที่ไม่สามารถออกเรือหากินมานานกว่า 1 เดือน แต่ประมงพื้นบ้านบางกลุ่มก็กำลังอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐาน เพื่อฟ้องร้องบริษัทฯ ให้รับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

00000

จับตาน้ำมันรั่ว 65 จากหมุด C-Site

หันมามองการมีส่วนร่วมรายงานสถานการณ์ของภาคพลเมืองซูมลงไปในพื้นที่ระยอง “จับตาน้ำมันรั่ว 65” ผ่าน C-site ยังคงมีการปักหมุดร่วมกันติดตามและรายงานความเคลื่อนไหวมาเป็นระยะ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่หน้าหาดแม่รำพึงความยาวกว่า 13 กิโลเมตร ที่เคยถูกปกคลุมด้วยคราบน้ำมัน

ล่าสุด หมุดนี้คุณรณรงค์ ท้วมเจริญ ปักหมุด “ชายหาดทะเลระยองยังไม่เหมือนเดิม” รายงานสถานการณ์เมื่อช่วงเย็นวันที่ 2 มี.ค. 2565 ว่า พบคราบสีน้ำตาลเข้ม คล้ายกับสีน้ำมันดิบ เคลือบอยู่บนชายหาด เป็นจุด ๆ บริเวณหาดแม่รำพึง ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง ตั้งคำถามว่า ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวจะมั่นใจในทะเลระยองได้แล้วหรือยัง

คลิกอ่าน : https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000022680#news_slideshow

จับตาน้ำมันรั่ว 65 จากหมุด C-Site ของภาคพลเมือง นับจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่ว ภาคพลเมืองร่วมกันติดตามและรายงานความเคลื่อนไหวจนถึงวันที่ 1 มี.ค. 2565 สามารถจำแนกประเด็นของเนื้อหาได้ 5 หัวข้อ ดังนี้

1.รายงานคราบน้ำมันบริเวณผิวน้ำทะเล และคราบน้ำมันหรือก้อนทาร์บริเวณชายหาด รวมทั้งนิเวศทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญหลายแห่ง ได้แก่ หาดแม่รำพึง อุทยานเขาแหลมหญ้า หาดสวนสน หาดดวงตะวัน หาดบ้านเพ แหลมแม่พิมพ์ อุทยานเขาแหลมหญ้า เป็นต้น

2.เรียกร้องให้ผู้ก่อมลพิษมีการฟื้นฟูเยียวยา เป็นหมุดรายงานการประชุมหารือของกลุ่มชาวประมงและผู้ประกอบการท่องเที่ยว ตลอดจนการเคลื่อนไหวเพื่อรวมกลุ่มและผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐเร่งดำเนินการติดตามให้ผู้ก่อมลพิษและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

3.รายงานสิ่งมีชีวิตทางทะเลเกยหาด ภาพหลักฐานสิ่งมีชีวิตทางทะเล เช่น สาหร่ายทะเล ปลาไหลมามอเรย์ แห้งตายบริเวณชายหาดหลายแห่ง หลังจากการรั่วไหลในช่วงเวลาประมาณ 1 เดือน

4.ตรวจสอบข้อเท็จจริง เรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐ ผู้ก่อมลพิษเปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริงของปริมาณน้ำมัน ปริมาณสารเคมีที่ใช้ในการควบคุมระงับความเสียหาย และข้อมูลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการดำเนินชีวิตของประชาชน ชาวประมง ผู้ประกอบการในพื้นที่

5.เฝ้าระวังผลกระทบ หมุดรายงานการดำเนินงานของหน่วยงานในการเฝ้าระวังและเตรียมการต่าง ๆ ในการรับมือผลกระทบจากเหตุน้ำมันหลังจากปรากฏข่าวการรั่วไหล

00000

ประชาชนขอร่วม “มองอนาคตระยอง”

การมีส่วนร่วม คืออีกหนึ่งโจทย์ในการแก้ปัญหา ก่อนเดินหน้าไปสู่กระบวนการชดเชย เยียวยา หรือฟื้นฟู ทำอย่างไรให้การกำกับดูแลเพื่อป้องกันมีประสิทธิภาพ ในสถานการณ์ความเป็นจริงของระยอง

วีรศักดิ์ คงณรงค์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง ผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วหลายระรอก ที่ยังคงยืนยันไม่รับเงินเยียวยา ด้วยเหตุผลว่า “ค่าชดเชยเป็นเรื่องรอง การฟื้นฟูอ่าวระยองเป็นเรื่องหลัก” กล่าวว่า การที่ข้อมูลข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ไม่มีความชัดเจน ทำให้การเยี่ยวยาเกิดความไม่สมเหตุสมผล

สำหรับเงินเยียวยาก้อนแรกคือการเยียวยาเบื้องต้น แต่ก็ควรประเมินสถานการณ์ที่ชัดเจนก่อน ทั้งปริมาณน้ำมันที่ถูกจมลงไปในทะเลเท่าไหร่ ความเสียหายของทรัพยากรเป็นอย่างไร เพราะหากการชดเชยเป็นการจ่ายก้อนเดียวจบ แต่ความเสียหายมีมากกว่านั้น มันก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

“ในมุมมองของพวกเรา การอยู่ร่วมกันเราปฏิเสธไม่ได้เพราะมันเป็นเมืองอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ มันก็ต้องมีรูปแบบของการอยู่ร่วม คณะกรรมการ การจัดการ โดยชาวบ้านต้องเป็นผู้ร่วมกำหนด เพราะว่าที่ผ่านมาผู้กระทำเป็นผู้กำหนดคณะกรรมการและรูปแบบของเขาเอง เราไม่ได้มีส่วนร่วมกำหนดตรงนั้นเลย มันก็เลยกลายเป็นว่าเขาไม่ได้มองเห็นความสำคัญของเรื่องทรัพยากรเลย” นายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยองกล่าว

สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการจากกลุ่ม EEC Watch กล่าวถึงการเดินหน้าอุตสาหกรรมในพื้นที่ว่า ชาวบ้านไว้ใจสิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ และมีความชัดเจนว่าในปี 2565 นี้จะมีการยกเลิกเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด ตามแผนปฏิรูป (แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ซึ่งตรงนี้อาจทำให้เกิดความย่อนยานในการควบคุม อีกทั้งประกาศกรมเจ้าท่าเรื่องมาตรการความปลอดภัย การป้องกันและขจัดมลพิษ ซึ่งมีการประกาศไปเมื่อ 27 ต.ค. 2564 ตั้งคำถามว่าบริษัททุกบริษัทในอ่าวระยองได้ปฏิบัติตามหรือไม่

“คุณต้องมีบูมความยาวอย่างน้อย 3 เท่าตัวของเรือ มีสกิมเมอร์คือเครื่องดูดตัวน้ำมันขึ้นมา โดยไม่ต้องใช้สารเคมีพ่นลงไป อย่างน้อยต้องดูดได้ 20 ตันต่อชั่วโมง ตรงนี้มีไหม ต้องเอาขึ้นมาให้ดู และถามว่ากรมเจ้าท่าที่เป็นหน่วยงานหลักที่ควบคุมดูแลตรงนี้ สิ่งรุกล้ำลำน้ำทั้งท่าเรือและทุ่นด้วย ได้ทำไหม” สมนึกตั้งคำถาม

ส่วนการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 นักวิชาการจากกลุ่ม EEC Watch ตั้งคำถามว่าได้มีการเยียวยาประชาชนได้ครบถ้วนและเป็นธรรมหรือยัง “เคลียร์ แคร์ แฟร์ แชร์” เกิดขึ้นหรือยัง เพราะมีประชาชนหลายกลุ่มยังไม่ได้รับเงินชดเชยตรงนี้ ขณะที่การตั้งคณะกรรมการจังหวัดตามข้อเรียกร้องของประชาชน แม้จะตั้งขึ้นมาแล้วแต่ก็ยังไม่ปฏิบัติการอะไร กลับมีพิธีวางหินก้อนแรกเปิดโครงการ

ดังนั้นจึงมีคำถามว่าประชาชนจะเชื่อใจได้อย่างไรว่า มาบตาพุด อ่าวระยองจะพัฒนาไปโดยคำนึกถึงผู้คนและทรัพยากรในพื้นที่

สำหรับ มาบตาพุดถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษมาตั้งแต่ปี 2552 โดยครอบคลุมพื้นที่ ต.มาบตาพุด ต.ห้วยโป่ง ต.เนินพระ และต.ทับมา อ.เมืองระยอง จ.ระยอง ทั้งตำบล รวมทั้งพื้นที่ ต.มาบข่า อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง ทั้งตำบล และต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ทั้งตำบลรวม ทั้งพื้นที่ทะเลภายในแนวเขต เป็นเขตควบคุมมลพิษ

แต่ 13 ปีที่ผ่านมา ยังพบปัญหามลพิษในเขตควบคุมมลพิษ จ.ระยอง ขณะเดียวกันยังมีการอนุญาตให้สร้างโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นทั้งในและนอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการขยายตัวของอุตสาหกรรมตาม EEC

00000

อวดดี: “เหยื่อรัง” ภูมิปัญญาชุมชนประมงพื้นบ้านอ่าวป่าคลอก

ทรัพยากรสมบูรณ์คือต้นทุนของผู้คนในหลายพื้นที่ ปิดท้ายช่วงอวดดีชวนไปดูตัวอย่างอีกพื้นที่หนึ่ง กับเรื่องราวจากชุมชนประมงพื้นบ้านท่าสัก ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ที่มีวิถีประมงแบบอนุรักษ์ ใช้เครื่องมือดั้งเดิม และออกกติกาในการดูแลรักษาทะเลร่วมกัน จนกลายเป็นตู้กับข้าวสำหรับชุมชน ผลงานจาก นักศึกษานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

“การที่เราใช้มันข้างเดียวโดยที่เราไม่ได้ดูแลมันเลย กับการที่เราใช้ไปด้วย ดูแลไปด้วย ใช้ไปด้วยกักษาไปด้วย มันจะดีกว่าใช้มันอย่างเดียว” ชัยทวี พันธ์ทิพย์ หัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านพารา อ่าวป่าคลอก จ.ภูเก็ต

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ