CREATIVE NAKHON กลุ่มคนสร้างสรรค์ ทำงานสรรค์สร้าง ปลุกย่านท่าวัง – ท่ามอญ

CREATIVE NAKHON กลุ่มคนสร้างสรรค์ ทำงานสรรค์สร้าง ปลุกย่านท่าวัง – ท่ามอญ

ปลุกย่านเศรษฐกิจเก่าแก่ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิด “RE – SET คิดใหม่ในย่านเก่า

ชัชวาลย์ รัตนพันธ์ กลุ่ม CREATIVE NAKHON

“เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในมุมของผม ผมคิดว่าเราดึงเอาจุดเด่น ดึงเอาอัตลักษณ์ ของในพื้นที่มาสร้างนวัตกรรมที่ยังคงเป็นเอกลักษณ์ของเรา”

ชัชวาลย์ รัตนพันธ์ Designer และอาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม CREATIVE NAKHON รุ่นก่อตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เริ่มเล่าให้เราฟัง

“ตอนแรกศิลปินหรือนักออกแบบในกลุ่มเราอาจจะเริ่มต้นแค่ขายผลงาน มีคนมาชมงาน ซื้อผลงาน บางคนเขาก็ซื้อไปประดับตกแต่งบ้าน ตกแต่งอาคาร หรือบางคนซื้อไปสะสมสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ นั่นเป็นรายได้เข้าจากตัวชิ้นงาน ใน จ.นครศรีธรรมราช เรื่องศิลปวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ถือเป็นจุดแข็งเลย ตรงนี้ยังสามารถจับเอามาสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมได้อีก เช่น Innovative Graph แล้วนำไปแทรกซึมในท้องถิ่น เช่น ร้านอาหารในท้องถิ่น ร้านกาแฟในท้องถิ่น ไม่ใช่จบลงแค่แสดงใน Gallery ไม่ได้จบแค่คนเข้ามาดูงานศิลปะอย่างเดียว”

คนก็ต้องการกินข้าว กินกาแฟ เดินเที่ยว เดินเล่น ซื้อของ เขาจะได้ดูงานศิลปะไปด้วย ก็ขยับขยายขึ้นเป็นมีคนมาเดินเที่ยวในย่าน มีการจับจ่ายใช้สอย การซื้อขาย มันจึงไม่ใช่แค่การชมงานศิลปะอีกต่อไปแล้ว

Norm Space หรือ พิพิธภัณฑ์บ้านครูน้อม ก็เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการในย่านท่าวัง – ท่ามอญ ที่เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม CREATIVE NAKHON

เราพยายามชวนหลาย ๆ กลุ่ม ที่เราคิดว่าได้รับประโยชน์จากงานของเรา เช่น การท่องเที่ยวใน จ.นครศรีธรรมราช และผู้ประกอบการ ร้านค้า หรือนักธุรกิจ ทั้งในย่านท่าวัง – ท่ามอญ และใน จ.นครศรีธรรมราช เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานด้วย

กลายเป็นแหล่งพบปะแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในเรื่องของงานศิลปะมากขึ้น ชุมชนในย่านท่าวัง – ท่ามอญ ที่เราไปปลุก เดิมเป็นย่านค้าขายที่เคยคึกคัก ส่วนใหญ่จะมีความโดดเด่นเรื่องอาหาร เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้าไป จะเกิดการกิน ดื่ม เที่ยว ช้อปปิ้ง พักผ่อน ค้างแรมในย่านนั้น เขาก็มีรายได้เพิ่มขึ้น คนเข้าไปชมงานในวัดก็เห็นหลักคำสอนมากขึ้น

นิ่ม แก้วตระการ จุลบล ศิลปินรุ่นใหม่ เป็นลูกหลานชาว จ.นครศรีธรรมราช

เราสามารถดึง NDA วัฒนธรรมของจังหวัดนครศรีธรรมราช ขึ้นมาให้รู้สึกว่า จ.นครศรีธรรมราชเองก็มีวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่

นิ่ม แก้วตระการ จุลบล ศิลปินรุ่นใหม่ เป็นลูกหลานชาว จ.นครศรีธรรมราช

“เพิ่งกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดได้แค่ 4 ปี เริ่มด้วยการเปิด Studio อยู่ที่ เทือกเขาหลวง อ.พรหมคีรี See-Din Nature And Creative Space เป็นพื้นที่ทำงานศิลปะเกี่ยวกับธรรมชาติ เปิดพื้นที่ให้เด็ก ๆ มากิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะธรรมชาติ เช่น ดูแพะ และทำงานศิลปะเกี่ยวกับสีธรรมชาติ พอเปิดมาได้สักพัก ก็เห็นว่าใน อ.เมือง ยังมีเด็ก ๆ ที่สนใจอยากเรียนรู้งานศิลปะเพิ่มเติม อยากต่อยอดเป็นอาชีพสร้างรายได้ เลยแตกหน่อออกมาเป็น See-Din Old Town อยู่ในย่านท่าวัง ซึ่งเป็นอย่านเมืองเก่า ในอ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช” คุณนิ่ม ศิลปินรุ่นใหม่เริ่มเล่าด้วยการแนะนำตัว และที่มาที่กำลังจะไป

ความจริงแล้ว เมืองจะขับเคลื่อนได้ด้วยทุกคน ถ้าเราเริ่มจากตัวเราที่กลับมาบ้าน เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่าง คนรุ่นเก่า และคนรุ่นใหม่ เพื่อทำให้สิ่งที่เคยมีมา และวิถีชีวิตแบบใหม่ สามารถผสมผสานอยู่ร่วมกันได้ โดยที่ไม่ต้องแบ่งแยกออกจากกัน และสามารถผลักดันไปสู่สากลได้

ตอนนี้ก็มีแล้วศิลปินที่ทำงานจาก จ.นครศรีธรรมราช แล้วนำไปสู่สากล คนทั่วไปจะได้เห็นว่า คนทำอาชีพนี้ก็มีอยู่ในจังหวัด และสามารถเติมโตจากรากเหง้าของตัวเอง จากบ้านเกิดของตัวเองได้ นิ่มก็คิดว่าสิ่งนี้ควรจะมีอยู่ในทุกจังหวัด ไม่ว่าจะจังหวัดไหนก็ตาม

“นิ่มรู้สึกว่า ยางพารา มีความเป็น DNA ของ จ.นครศรีธรรมราชอยู่พอสมควร ความหรอย (ความเจ๋ง) และความ อ่อนน้อม รับฟังคนอื่นก็เป็น DNA ของคนนครศรีธรรมราชเหมือนกัน เขาอาจจะดูดุดัน แต่ก็มีความจริงใจ ใจดีอยู่ในตัว นุ่นคิดว่า DNA ของคน จ.นครศรีธรรมราช หรือคนใต้ มีความย้อนแย้งในตัวอยู่ด้วย นุ่นจึงตั้งชื่องานของนุ่นว่า The Rubber Paradoxi หมายถึง ยางพาราที่ย้อนแย้ง ความเป็นปักษ์ใต้ที่ย้อนแย้ง”

“ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน ยาพาราตอนนี้ราคาถูกเหมือนขี้ แต่ถ้ายางพาราไม่มีความสำคัญใด ๆ เขาคงตัดทิ้งไปหมดแล้ว แสดงว่ายางพาราจะต้องมีมูลค่าไม่ทางใด ๆ ก็ทางหนึ่ง”

ผลงานชุด The Rubber Paradoxi

“นิ่มจึงอยากคืนคุณค่าให้ยางพารา ยกระดับศักยภาพของยางพารา หาความเป็นไปได้ว่าควรจะต่อยอดไปทางไหนได้บ้าง ให้ยางพารากลับมามีมูลค่ามากขึ้น ตอนนี้นิ่มพบว่ายางพาราของนิ่ม สามารถที่จะเป็นอะไรก็ได้ สามารถเป็นชุดก็ได้ โต๊ะ เก้าอี้ สามารถเป็นอะไรที่จับต้องได้ และสื่อสารไปให้คนรู้ว่า จริง ๆ แล้วยางพาราไม่ใช่แค่รองรับ หรือถูกนำไปผสมกับอย่างอื่นเท่านั้น แต่ยางพาราสามารถมีตัวตน และมีคุณค่าได้ด้วยตัวมันเอง สามารถทำให้ยางพาราไปสู่สากลได้

ชุมชนจะเห็นว่าทางนี้สามารถต่อยอดเมือง ผลิตภัณฑ์ ต่อยอดวิถีชีวิตของเขาไปได้ เขาจะเห็นว่า สิ่งเขาเคยเห็นในจังหวัดอื่น ๆ ก็สามารถที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดเราได้ คนในจังหวัดเราก็มีศักยภาพ นิ่มรู้สึกว่า มันคือการปัดฝุ่นใหม่ การที่ไม่ได้แช่แข็งมันเอาไว้ เหล่านี้คือการพัฒนาเมืองในความคิดนิ่ม”

“เราก็อยากให้ CREATIVE NAKHON เป็นมากกว่างานแสดงศิลปะ ผมคิดว่าในเมื่อ จ.เชียงใหม่ มี Chiang Mai Design Week คนก็ไปเที่ยว แล้วไปเที่ยวเชียงใหม่ในหน้าหนาวด้วย เขาก็พยายามจัดในฤดูกาลท่องเที่ยวของเขา ผมว่าบ้านเราน่าจะเดินไปในทางนั้นด้วย บางคนซึ่งเป็นคน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งไปอาศัยอยู่ที่อื่น ไปทำงานที่อื่น แล้วได้เห็นกิจกรรมจากสื่อต่าง ๆ เขาก็อยากมาเที่ยว พาครอบครัวมาเที่ยว ชวนเพื่อน ๆ มาด้วย เพราะมันไม่เคยมีมาก่อนในบ้านเรา”

ชัชวาลย์ รัตนพันธ์ กล่าวปิดท้าย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ