อยู่ดีมีแฮง : สินไซโมเดล เศรษฐกิจสร้างสรรค์บ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น

อยู่ดีมีแฮง : สินไซโมเดล เศรษฐกิจสร้างสรรค์บ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น

“ที่นี่คือวัดไชยศรี มีจุดเด่นคือสิม และมีฮูปแต้ม เรื่องสินไซ ที่เป็นวรรณกรรมสองฝั่งแม่น้ำโขง ผมคิดว่าประโยชน์ที่ชุมชนจะได้คือ หลายคนจะรู้จักชุมชนของเรามากขึ้น มีรายได้เข้ามา มีผลิตภัณฑ์ไว้ขาย ผมคิดว่ามันดีต่อชุมชนครับ”

เศรษฐกิจสร้างสรรค์บ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น

“ผมเข้าร่วมโครงการสินไซโมเดลมาตั้งแต่ ป. 3 แล้วครับ”

ภาณุวิชญ์ มาพระลับ หรือน้องตุ๊ต๊ะ วัย 15 ปี นักเรียนโรงเรียนสาวะถีพิทยาสรรพ์ จังหวัดขอนแก่น หรือหลายคนจะรู้จักในนามมัคคุเทศก์น้อยของชุมชนสาวะถี ที่คอยให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมาของสถานที่ท่องเที่ยวในชุมชนสาวะถี อยู่ดีมีแฮงมีโอกาสได้พูดคุยกับน้องตุ๊ต๊ะ ถึงความสนใจของคนรุ่นใหม่ที่ก้าวเข้ามาทำงานร่วมกับชุมชน โดยเริ่มจากการเรียนรู้เรื่องราวของประวัติชุมชนของตัวเอง ไปจนถึงการเรียนรู้เรื่องการเป็นมัคคุเทศก์

“เริ่มจากการที่ผมสนใจเป็นหมอลำน้อยก่อน พอได้ศึกษาสักระยะก็มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชุมชน พอมีโอกาสที่ชุมชนทำการท่องเที่ยวก็อยากจะศึกษาการเป็นมัคคุเทศก์น้อยไปด้วย”

น้องตุ๊ต๊ะเล่าให้ฟังถึงการเตรียมตัวก่อนเป็นมัคคุเทศก์น้อย ทั้งฝึกการพูดกับนักท่องเที่ยว การเติมเต็มความรู้สึกของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในชุมชน นอกจากน้องตุ๊ต๊ะที่เป็นมัคคุเทศก์น้อยแล้ว ที่ชุมชนสาวะถี เยาวชนที่เป็นนักเรียนหลายคนก็เป็นมัคคุเทศก์น้อยเช่นเดียวกัน โดยกิจกรรมที่เยาวชนในบ้านสาวะถีร่วมกันทำคือ การแสดงหมอลำสินไซน้อยร้อยปี เป็นการแสดงเชิดหุ่น หรือที่รู้จักกันในชื่อหนังปะโมไทย ซึ่งน้องๆใช้เวลาว่างในคาบเรียนรวมตัวกันเพื่อฝึกซ้อม เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้เยาวชนที่นี่ มีพื้นที่ในการแสดงออก

“ฮูปแต้มสินไซ” เอกลักษณ์ศิลปะชุมชนสาวะถี

สิ่งที่ทำให้หลายคนรู้จักบ้านสาวะถี ก็คือฮูปแต้ม หรือจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งในอีสานจะมีกิจกรรมฝาผนังหรือฮูปแต้มหลายวัด แต่ความโดดเด่นของชุมชนสาวะถี ก็คือฮูปแต้มเรื่องราวของสินไซ หรือวรรณกรรมเรื่องสังข์สินไซ ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่ ลาว อีสาน รู้จักกันเป็นอย่างดี ที่มีความโดดเด่นและแปลกไม่เหมือนที่อื่น

“สีที่ใช้ในการวาดฝีมือเชิงช่าง หลายคนบอกว่ามันมีความเพียวมีความเป็นไทบ้าน พื้นบ้าน ถ้าบอกว่าฝีมือเชิงช่างในอีสานวัดไหนมีเสน่ห์ก็มองว่าวัดนี้แหละ มันไม่ได้สวยไม่ได้วิจิตรบรรจง แต่มีความเป็นไทบ้านจริง ๆ “

สุมาลี สุวรรณกร ประธานเครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน และกลุ่มท่องเที่ยวสาวะถีวิถีสุข เราถึงเอกลักษณ์ของศิลปะกิจกรรมฝาผนังที่มีความโดดเด่นของชุมชนสาวะถี ซึ่งนอกจากการมีต้นทุนทางศิลปะชุมชนที่ดีแล้ว ชุมชนสาวะถียังเป็นชุมชนที่ยังคงวัฒนธรรมและประเพณีแบบอีสานดั้งเดิมเอาไว้ ของในแต่ละช่วงของประเพณี หรือที่รู้จักกันดีว่า ฮีต 12 คอง 14

local economy กับการสร้างฐานเศรษฐกิจชุมชน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในหลายชุมชนที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ดี และต้นทุนทางทรัพยากรที่ดีนั้น เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการสร้างฐานเศรษฐกิจของชุมชน ในสายการทำท่องเที่ยวชุมชนในปัจจุบัน แต่ในทางกลับกันในหลายชุมชนที่มีต้นทุนทางทรัพยากรที่ดีก็ยังไม่สามารถสร้างระบบเศรษฐกิจของชุมชนขึ้นมาได้ ด้วยหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นภายในชุมชน ทั้งการจัดตั้งกลุ่ม และความคุ้นเคยกับสภาพความเป็นอยู่จนไม่สามารถมองเห็นโอกาสที่ดีรอบตัวได้ ชุมชนสาวะถีเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่เคยเป็นแบบนั้นมาก่อน

“คนอาจจะมองไม่ออกว่าตักบาตรมันจะสร้างเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างไร แต่อย่าลืมว่าคนทุกคนที่มาตักบาตรต้องมีของมาใส่บาตร ซื้อของมาใส่บาตรอยู่ที่ตลาดถ้าตีมูลค่าต่อ 1 คนก็ประมาณ 100 บาท 100 คนก็ 10,000 บาทแล้วที่มีการใช้จ่ายในชุมชน เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้น”

สุมาลี สุวรรณกร ชวนพูดคุยถึงแนวคิดการสร้างระบบเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ในชุมชนสาวะถี และภาพปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนหลายชุมชน และเล่าต่อว่าที่ชุมชนสาวะถีก็เป็นอีกหนึ่งชุมชน ที่มีเพราะพ่อแม่ๆชาวบ้านต่างก็รักษาประเพณีวัฒนธรรมเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่องหลายต่อหลายปี พวกเขาเหล่านั้นต่างลงแรงทำงานชุมชน ซึ่งต่างก็ไม่ได้มองว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นเพื่อหวังอะไร  หลังจากการรวมกลุ่มชาวบ้านเพื่อหารือกันจึงมองเห็นตรงกันว่าชาวบ้านและชุมชนควรจะได้อะไรจากโอกาสที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชนบ้าง จึงเกิดเป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนเกิดขึ้นผ่านการต่อยอดต้นทุนทางศิลปะของชุมชน อย่างฮูปแต้ม สู่ผลิตภัณฑ์ชุมชนหลากหลายอย่าง เช่น แก้วน้ำ แก้วกาแฟ ถุงผ้า ตุงใยแมงมุม และอีกหลากหลาย โดยความร่วมมือของคนในชุมชนและอาจารย์จากมหาวิทยาลัย นักวิจัยที่เข้ามาร่วมกันสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เกิดขึ้นผ่านกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า SE หรือ social enterprise บ้านสาวะถี 

บริษัท สินไซโมเดล จำกัด เกิดขึ้นได้อย่างไร

บริษัทโดยคนในชุมชนร่วมกันจัดตั้งขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งพวกเขาเรียกตัวเองว่า SE เป็นธุรกิจเพื่อสังคมโดยคนในชุมชน หลังจากที่ชุมชนร่วมกันสร้างเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ จากต้นทุนทางวัฒนธรรม และการร่วมกับโครงการที่เข้ามาหลากหลายโครงการ ทำให้เกิดบุคลากรที่สามารถขับเคลื่อนงานและทำงานในชุมชนได้อย่างเข้มแข็ง อีกทั้งมีเยาวชนที่เข้ามาร่วมกิจกรรม และภาคส่วนต่างเห็นพ้องต้องการว่าในพื้นที่มีศักยภาพในการจัดตั้งบริษัทเกิดขึ้นได้

“ทั้งหมดเราไม่ได้คิดเองทำเอง แต่ช่วยกันคิดชุมชนช่วยกันคิด มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมาช่วยออกแบบ และชุมชนยินดีหรือไม่ยินดี ตอบรับหรือไม่ทุกอย่างมาจากมติของชุมชนทั้งหมด”

สุมาลี สุวรรณกร เราถึงความเป็นมาของการเกิดบริษัทโดยชุมชน และการทำงานร่วมกันของหลายฝ่ายในชุมชน ซึ่งมีการบริหารจัดการร่วมกัน ที่จะใช้ศิลปะชุมชน เป็นสื่อดีในการสร้างเป้าหมายชุมชนไปสู่เศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ 

นอกจากศิลปะจิตรกรรมฝาผนังที่โดดเด่นของชุมชนสาวะถีแล้ว สินไซโมเดล ที่ชุมชนร่วมกันวางไว้ ก็มีอีกหลากหลาย เช่น การศึกษาที่จะนำไปสู่การเกิดหลักสูตรท้องถิ่น การสร้างสื่อศิลปวัฒนธรรมก็มีหมอลำหุ่น หนังประโมทัย  เรื่องของการท่องเที่ยว ก็จะมีซาเล้งพาท่องเที่ยว กิจกรรมท่องเที่ยว ร้านอาหารชุมชน  กิจกรรมเหล่านี้ที่ชุมชนสร้างขึ้นก็ทำให้ชุมชนเกิดรายได้ในแต่ละครั้งที่จัดกิจกรรมขึ้นมา ชาวบ้านต่างก็ได้รับโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มเติมนอกเหนือจากอาชีพหลักที่ทำกันอยู่แล้ว อีกทั้งเยาวชนยังได้มีโอกาสในการแสดงออก และอีกในหนึ่งทางเดียวกันก็เป็นการสืบสานความรักความหวงแหน ส่งต่อเจตนารมณ์ ของคนรุ่นใหม่ให้รู้จักบ้านของตัวเองมากขึ้น 

“สินไซโมเดล หรือ สาวะถีโมเดล มันสามารถนำไปใช้ได้กับทุกชุมชนเลย มันคือการหาจุดเด่นของชุมชนเพื่อขายให้คนข้างนอกได้เข้ามาชื่นชม เราต้องยกเอาของดีของชุมชนเราออกมา เพื่ออวดให้คนอื่นได้เห็นและเขาชื่นชอบ และเขาก็พร้อมที่จะซื้อทุกอย่างที่เป็นของชุมชน นั่นแหละมันก็จะเกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้เหมือนกัน”

สุมาลี สุวรรณกร ประธานเครือข่ายศิลปะวัฒนธรรมชุมชนอีสาน พูดคุยทิ้งท้ายสำหรับการสนทนาในครั้งนี้ ถึงความเป็นไปได้ในแต่ละชุมชนอีสาน ที่ต่างมีศักยภาพอยู่ในชุมชนอยู่แล้ว ว่าสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่การสร้างเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ได้เช่นเดียวกัน แต่นอกเหนือจากการสร้างเศรษฐกิจ ที่อาจจะเห็นเป็นเรื่องรายได้นั้น การสร้างเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์เกิดขึ้นในชุมชน มันเป็นการเปิดโอกาสให้กับชาวบ้านทุกคนทุกวัย ได้มีโอกาสทำงานร่วมกันและเข้าใจกันมากขึ้น เป็นการส่งต่อความรู้ วัฒนธรรมจากคนรุ่นก่อนมาสู่คนรุ่นใหม่ ความรู้จากคนรุ่นใหม่มาสู่คนรุ่นก่อน มันทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งขึ้นทั้งภายในและภายนอก จึงจะตอบโจทย์ความยั่งยืนของชุมชนได้ ไม่ใช่ยั่งยืนเพียงรายได้อย่างเดียว แต่มันคือความผูกพันของคนในชุมชนด้วย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ