ความหวัง ความฝัน ยะลาสตอรี่ : ย่าน ถนน ผู้คน กับเรื่องเล่าผ่านงานศิลปะ

ความหวัง ความฝัน ยะลาสตอรี่ : ย่าน ถนน ผู้คน กับเรื่องเล่าผ่านงานศิลปะ

“อยากให้คนต่างจังหวัด มองเห็นศักยภาพของเด็กยะลา”


“คงความยะลาที่สวยงามในรูปแบบที่ดีขึ้นกว่าเดิม”


“อยากเห็นยะลาเป็นดังเช่นวันวานในอดีต : สุข-สงบ เศรษฐกิจดี”

เสียงสะท้อนของคนยะลาที่อยากเห็นเมืองหรือบ้านตนเองในอีก 5 ปีข้างหน้า จากภาพจำที่คนภายนอกคุ้นชินกับการเป็นพื้นที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงบ่อยครั้ง สำหรับคนภายในพื้นที่แล้ว ยะลายังคงเป็นบ้านของพวกเขาอยู่เสมอ เป็นที่คนอยู่อาศัย ทำมาหากินและใช้ชีวิตกันได้ แต่อะไรคือจุดสำคัญที่จะทำให้เมืองโตไปข้างหน้า และเป็นเมืองที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้

เส้นทางรถไฟ ตัวเชื่อมผู้คนและสถานที่เข้าด้วยกัน

เมืองยะลาเป็นเมืองใหม่ เป็นชุมชนเมืองที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงเส้นทางคมนาคม การเกิดเมืองขึ้นตามทางรถไฟ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเมืองที่นำพาผู้คนต่างเชื้อชาติ และวัฒนธรรม เข้ามายังในพื้นที่ยะลา ย้อนไปในสมัยสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจและสร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งประโยชน์คือ การเดินทางไปยังมณฑลปัตตานีได้สะดวก (สมัยนั้นพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมกันเป็นมณฑลปัตตานี) และเพื่อให้ชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นที่อยู่อาศัยตามสองข้างทางรถไฟ ผู้คนจึงเริ่มหันมาใช้รถไฟ ย่านตลาดและเมืองจึงไปกระจุกตัวใกล้กับสถานีรถไฟเพื่อความสะดวกในการขนส่งสินค้า

ภาพจากเส้นทางรถไฟเว็บไซต์การรถไฟแฟ่งประเทศไทย

ผังเมืองที่ดี มีที่ยะลา

ยะลาขึ้นชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีผังเมืองดีที่สุด มีลักษณะเด่น คือการจัดวางและแบ่งพื้นที่อย่างเป็นระเบียบและสวยงาม โดยสมัยผู้ว่าราชการคนที่ 10 (พ.ศ. 2456-2458) ของยะลาได้เริ่มหาศูนย์กลางใจเมือง นำเอาก้อนหินมาวางเป็นเครื่องหมายเรียกว่า กิโลศูนย์ แล้วลากเส้นวงกลมเป็นชั้น ๆ ออกมาเป็นวงเวียนซ้อนกัน 3 วง ในสุดเรียกว่า วงเวียน 1 เป็นที่ตั้งสำคัญของข้าราชการ ส่วนวงเวียน 2 เป็นที่พักของข้าราชการ และวงเวียน 3 เป็นโรงเรียน โรงงาน อุตสาหกรรม และโรงพยาบาล และมีส่วนถนนรองรับเป็นตาข่ายลักษณะเป็นใยแมงมุมกว่า 400 สายตัดเชื่อมโยงกันเป็นหมากรุก ส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนปะปนกับที่อยู่อาศัย ส่วนอีกด้านเป็นพื้นที่อาศัยและส่วนสถานีรถไฟเป็นย่านธุรกิจการค้า

แผนที่เมืองยะลา

นอกจากนี้ ยังแบ่งพื้นที่เป็นทางเหนือสุดของเทศบาลเรียก “ตลาดเก่า” เป็นย่านชุมชนมุสลิมขนาดใหญ่ เป็นทั้งที่ตั้งของโรงงาน มัสยิดและโรงเรียน ส่วนฝั่งทางใต้เรียก “ตลาด” ประกอบไปด้วย ตลาดสด ย่านสายกลาง ถนนพิพิธภักดี ซึ่งเป็นย่านธุรกิจ เจ้าของส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนและบางส่วนเป็นมุสลิม

ถนนสายกลาง ย่านรวมความหลากหลายวัฒนธรรม

ย่านสายกลาง เป็นย่านตลาดแห่งแรกของยะลาที่ติดกับทางรถไฟ ขนานไปกับย่านสายกลาง คือถนนพังงา สองข้างถนนเป็นที่ตั้งของบ้านไม้ห้องแถวไปตลอดแนว เป็นร้านรับซื้อขายยางเป็นส่วนใหญ่ ปะปนด้วยร้านขายของชำ สุดสายกลางและถนนพังงาจะเป็นตลาดแห่งแรกและใหญ่ที่สุดในยะลาคือ ตลาดรัฐกิจ ตลาดขายอาหารสด รอบๆ ตลาดเป็นไม้ห้องเรือนแถวรับซื้อขายยางพารา ขายของชำ และเบ็ดเตล็ด ส่วนใหญ่เป็นคนมลายูมุสลิมและคนไทยเชื้อสายจีน ที่ประกอบธุรกิจหลากหลาย เป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ของผู้คนต่างชาติพันธุ์และวัฒนธรรม

ย่านสายกลาง ถนนปรีชา

ปัจจุบันจำนวนร้านค้าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม บางร้านได้รวมเป็นอาคารพาณิชย์สองหลังเข้าด้วยกันเพื่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และร้านสินค้าต่างๆ มากมายเช่น ร้านขายทองและเครื่องประดับ ร้านขายผ้าพื้นเมือง(ผ้าปาเต๊ะ และผ้าโสล่ง) ร้านขายเครื่องสำอาง ฯลฯ ทำให้สายกลางเป็นย่านความเจริญทางเศรษฐกิจและเต็มแน่นไปด้วยผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์

ความรุนแรง/โควิด 19 อันไหนคือจุดเปลี่ยนของเมือง

เมื่อเอ่ยถึงยะลา สิ่งแรกที่คนจะนึกถึง คือความรุนแรงที่มีมานาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 จากปัญหาเรื่องการแบ่งแยกพื้นที่ระหว่างไทยกับมาเลเซีย เกิดปัญหาทางอัตลักษณ์ชาติพันธุ์, การปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมของเจ้าหน้าที่รัฐระหว่างชาวไทยพุทธและชาวมุสลิม ซึ่งเห็นได้ชัดในกรณีเหตุการณ์ปะทะ ณ มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี และเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส, ปัญหาปากท้อง ฯลฯ นำไปสู่การวางระเบิด การก่อการร้ายและการลอบยิงที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้ยะลากลายเป็นหนึ่งในพื้นที่เกิดความไม่สงบอยู่บ่อยครั้ง

รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมามียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในบ้านและชุมชน ทำให้มีมาตรการล๊อคดาวน์ในพื้นที่ระบาดหรือมีความเสี่ยง และงดกิจกรรมรวมกลุ่ม เช่น งานเลี้ยง การปฏิบัติทางศาสนาและงานเทศกาลประจำปีต่าง ๆ ทำให้ผู้คนไม่ได้ออกมาใช้ชีวิตข้างนอกและจับจ่ายซื้อของกันมาก แม้จะมีมาตรการเยียวยาจากภาครัฐก็ตาม

จากพื้นที่ “ไม่สงบ” สู่พื้นที่แห่งการสร้างสรรค์

ภาพจำการเป็นพื้นที่ความรุนแรง ทำให้ผู้คนไม่กล้ามาท่องเที่ยวเมืองยะลา จึงทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ได้กลับมาบ้านของตัวเอง อยากจะเปลี่ยนเมืองให้เป็นพื้นที่ทุกคนออกใช้ชีวิตและทำกิจกรรมร่วมกันได้ เมื่อวันที่ 27-29 พ.ค. 2565 ณ ย่านสายกลางของจังหวัดยะลาได้จัดนิทรรศการ “Yala Stories” ณ โรงแรมเมโทร ขึ้นมา โดยมีความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนเมืองด้วยงานศิลปะต่าง ๆ จากการนำเอาต้นทุนทางวัฒนธรรมเดิมที่มีมาสร้างมูลค่า เช่น ผลไม้เศรษฐกิจ ผ้าบาติก เป็นต้น รวมถึงสร้างพื้นที่การเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่นำไปสู่การมีส่วนร่วมของผู้คนในพื้นที่

งาน “Yala Stories” ณ โรงแรมเมโทร ย่านสายกลาง

ภายในงานมีน้อง ๆ เยาวชนอาสามาเข้าร่วมกิจกรรม โดยก่อนจะเข้ามาได้มีการอบรม ลงพื้นที่และเลือกหัวข้อเล่าเมืองยะลาในแบบที่ตนเองสนใจ จนออกมาเป็นผลงานสร้างสรรค์ร่วมสมัย เช่น โคมไฟใบตาล ที่นำเอาใบตาลวัสดุธรรมชาติมาประยุกต์ตกแต่งบ้านได้ และยังสื่อถึงวิถีชีวิตที่กำลังเคลื่อนตัวเปลี่ยนแปลง และการสร้างตัวตนใหม่ของยะลาด้วยวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่ หรือนำเอา ผ้าเปอลางี หรือ ผ้าบาติก มาทำเป็นเสื้อผ้าให้มีความทันสมัยใหม่มากขึ้น เพื่อบอกเล่าถึงชนชาติและวิถีชีวิตผ่านเสื้อผ้า

นอกจากนี้ ยังมีพืชผลเศรษฐกิจในอนาคตที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เช่น กล้วยหินบันนังสลา ที่ได้ขึ้นทะเบียน GI และสามารถนำมาแปรรูปเป็นกล้วยฉาบได้, ส้มโชกุน, หรือ กาแฟ กำลังเป็นพืชทางเลือกที่สร้างอัตลักษณ์เฉพาะตัวและสร้างรายได้ให้กับชุมชน

เรื่องเล่า เล่าเรื่องกับอนาคตต่อไปของยะลา

สำหรับ พี่บอล เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์ จาก SoulSouthStudio หนึ่งในผู้จัดงานนี้ขึ้นมา ได้แสดงถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นของงานนี้ โดยอยากเห็นการขับเคลื่อนเมืองยะลา ด้วยงานศิลปะต่างๆ ที่นำเอาต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่มาสื่อสารผ่านงานศิลปะ อยากให้เด็กรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าได้อยู่ด้วยกัน ได้ใช้พื้นที่ร่วมกัน เห็นคุณค่าต้นทุนวัฒนธรรมที่มีอยู่งานนี้จึงเกิดขึ้นมา

พี่บอล จาก Soulsouth.studio

“ถ้าสังเกตดี ๆ น้อง ๆ ที่ผ่านกระบวนการการเล่าเรื่องที่อยู่ชั้น 2 เขาอยากเล่าเรื่องในความเป็นยะลาผ่านมุมมองของเยาวชนเด็กใหม่ ส่วนชั้น 3 เราเอาต้นทุนของวัฒนธรรมมาเล่าเรื่องผ่านงาน art ศิลปะ หนังสั้น งาน creative economy เราก็เลยอยากเห็นมุมมองของเมืองผ่านสิ่งเหล่านี้ต่อไป และทำให้เมืองสามารถโตได้ เด็กเยาวชนรุ่นใหม่สามารถที่จะอยู่เมืองนี้ ใช้ชีวิต lifestyle ที่ตัวเองอยากเรียนรู้ได้”

พี่บอล Soulsouth
ชาวบ้านที่อาศัยในย่านสายกลาง

ในขณะเดียวกัน สำหรับคนอีกกลุ่มที่อยู่อาศัยในเมืองยะลามานานหลายปี ก็ได้ให้ความคิดเห็นต่องานนิทรรศการที่จัดขึ้นว่า ดีใจที่มีงานแบบนี้เกิดขึ้นมา ทำให้ยะลาครึกครื้นขึ้นมาหน่อย อยากให้มีงานแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ ให้เด็กเยาวชนได้แสดงผลและความสามารถของตนเอง

“แต่อยากให้มีการขายของ ให้คนในพื้นที่เข้าไปร่วมขายของด้วยก็ได้ จัดซุ้มแต่ละซุ้มขึ้นมาให้มีงาน การแสดงออกของนักศึกษา…ยะลาเมื่อก่อนครึกครื้นนะ แต่มาตอนนี้ก็เงียบไปตามสถานการณ์ “

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตรงข้ามโรงแรมเมโทร

ยะลาจึงเป็นเมืองที่มีทุนเดิมมากมาย ทั้งวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ และพืชเศรษฐกิจที่สามารถต่อยอดได้อย่างหลากหลาย มีเส้นทางรถไฟที่นำพาผู้คนเข้ามา รวมถึงความสามารถของเยาวชนและคนในพื้นที่ที่สามารถพัฒนาเมืองให้เติบโตต่อไปได้ ดังนั้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นและสถานการณ์โควิด-19 จึงเป็นเพียงโจทย์หนึ่งของเมืองยะลาที่ต้องหาวิธีแก้ไข

แต่ถึงอย่างไร คนยะลายังคงมีความหวัง และความฝันที่อยากจะอยากเห็นบ้านตนเองเติบโต เศรษฐกิจดี เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถออกมาใช้ชีวิตด้วยกันได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย งานนิทรรศการนี้จึงเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงเมืองยะลา ที่ได้สร้างพื้นที่ให้คนทุกกลุ่มออกมาเดินด้วยกัน และมองเห็นถึงเมืองยะลาในอนาคตต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ