คุณเล่าเราขยาย : จับตาปรากฏการณ์ “ไก” เกลื่อนโขง

คุณเล่าเราขยาย : จับตาปรากฏการณ์ “ไก” เกลื่อนโขง

รายการคุณเล่าเราขยาย ชวนจับสัญญาณหลังเกิดปรากฏการณ์ “ไก” เกลื่อนโขง ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งทำให้แม่น้ำโขงมีสีใส ขึ้น-ลง ผันผวน และมีไกจำนวนมาก ด้านหนึ่งเป็นโอกาสให้ชาวบ้านในพื้นที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย แต่ด้านหนึ่งก็เป็นอุปสรรคสำหรับชาวบ้านริมโขงในอีสาน ปรากฏการณ์นี้กำลังบอกอะไร ชวนคุยกับคุณอ้อมบุญ ทิพย์สุนา เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน และ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพในรายการคุณเล่าเราขยาย ออกอากาศเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา

มองปรากฏการณ์ “ไก”เกลื่อนโขงในพื้นที่อีสานครั้งนี้อย่างไรบ้าง

อ้อมบุญ ทิพย์สุนา เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มแม่น้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน

“ข้อเท็จที่ว่า ไก หรือ เทา ที่อีสานเรียกจะมาในช่วงมีนาคม ถึง เมษายน ในหลายปีที่ผ่านมา แต่ช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ “ไก” เริ่มมาในช่วงเดือนธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์ จะเริ่มเห็นจำนวนมาก เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เห็นว่าคุณภาพของน้ำโขงได้เปลี่ยนไป น้ำโขงที่ใสขึ้นทำให้เกิดไกจำนวนมาก ผลกระทบที่เกิดขึ้นมาจากวัฒนธรรมในการกินการอยู่ของคนอีสาน ไม่ได้เหมือนกับคนภาคเหนือที่มีวัฒนธรรมให้การรับประทานไก จึงทำให้เกิดผลกระทบของปัญหาค่อนข้างเยอะ ใช้ประโยชน์ไม่ได้ ใช้ประโยชน์ไม่เป็น พอน้ำท่วมอีกทีก็พัดไกให้ไปติดกับเครื่องมือหาปลาของชาวบ้าน ปกติหาปลาในน้ำโขงก็ยากอยู่แล้ว ยิ่งทำให้หนักมากขึ้นไปอีก”

“ไก” กระทบกับวิถีชีวิตของคนริมโขง และตอนนี้กำลังหาทางออกว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไร

ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

“ปีที่แล้ว ความผันผวนของน้ำที่เปลี่ยนไปทำให้ปลาน้ำโขงหายไป เช่นเดียวกัน “ไก” ที่เกิดขึ้นจำนวนมากก็กระทบกับบ้านปลา ในบางจุดที่เป็นแหล่งน้ำที่ค่อยข้างจะปิด ช่วงกลางวันไกจะปล่อยออกซิเจนออกมาเพื่อสังเคราะห์แสง พอถึงช่วงกลางคืนการเน่าเปื่อยก็จะทำให้ออกซิเจนลดลง เพราะฉะนั้นน้ำที่ไม่ได้มีการระบายเท่าที่ควร หรือแหล่งน้ำนิ่งที่มีลูกปลาอาศัยก็จะไม่รับออกซิเจนที่มากพอทำให้ปลาตาย อีกอย่างก็คือ ไกเข้าไปติดเครื่องมือประมง การที่เกิดไก หรือสาหร่ายปัจจัยที่เกิดอย่างแรกคือน้ำที่ใสผิดปกติ

โดยปกติแล้วน้ำโขงจะมีช่วงที่น้ำขุ่น หากหน้าแล้งหรือช่วงฝนน้อยน้ำก็จะเริ่มใส ทำให้เกิดไกขึ้นมา แต่ตอนนี้แม่น้ำโขงมีการสร้างเขื่อนขึ้นมาหลายแห่ง รวมทั้งแม่น้ำสายหลักเอง เป็นผลกระทบของเขื่อนที่ทำให้ตะกอนของแม่น้ำโขงถูกกั้นไว้ พอน้ำที่ถูกปล่อยลงมาเป็นน้ำใสก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด ไก หรือสาหร่ายน้ำจืด ผลกระทบต่อมาพื้นที่การเกษตรรอบ ๆ แม่น้ำโขงน้ำที่ไหลลงมาเป็นน้ำที่มีสารอาหารที่เยอะเกินกว่าปกติเสมออยู่แล้ว พอมีไกขยายตัวรวดเร็วมากขึ้น ทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น จากเดิมที่มีสาหร่ายเพียงบางบริเวณหรือตามที่ที่เหมาะสมเท่านั้น”

จับตาความเปลี่ยนแปลงของลุ่มน้ำโขงผลกระทบจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ

อ้อมบุญ ทิพย์สุนา เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มแม่น้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน

“โดยรวม 7 ข้อ ที่เราได้ยื่นข้อเสนอให้กับทางรัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ก็ยังเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุต้นเหตุยังไม่ได้ถูกจัดการ สิ่งที่อยากให้ช่วยคือการชะลอการรับซื้อไฟฟ้า การประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน เรื่องของการชดเชยเยียวยาฟื้นฟูระบบนิเวศแม่น้ำโขง การแก้ไขที่พอก้าวหน้าและพอที่จะพูดคุยได้ก็คือเรื่องของการทำแผนแก้ไขปัญหา และชดเชยเยียวยาในอนาคต ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรก็ได้จัดตั้งคณะทำงานทั้งได้การประมงและการเกษตร และจัดทำแผนปี 66-70 ร่วมกันกับทางเครือข่าย สิ่งที่เป็นปัจจัยต้นเหตุที่เป็นผลกระทบแบบวัวพันหลัก คือเรื่องที่รัฐบาลพูดไปและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไป ปัญหาของการรับซื้อไฟฟ้ายังมีการซื้อไฟฟ้าอยู่เรื่อย ๆ กระทรวงการต่างประเทศมีแนวโน้มที่จะเจรจาภาคีกับประเทศลาว ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ เรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้น ปัญหาต้นเหตุและปลายเหตุตอนนี้วิ่งไล่ตามกันไม่ทัน

เป็นที่แน่ชัดว่าการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงสายหลักยังมีเพิ่มเรื่อย ๆ รัฐบาล เอกชนของไทยเองก็มีส่วนในกิจกรรมการรับซื้อไฟฟ้าเพื่อที่จะส่งขายต่างประเทศ ร่วมถึงมีส่วนในการสร้างเขื่อนด้วย เช่น เขื่อนสานะคาม เขื่อนปากชม และเขื่อนบ้านกุ่ม มีรายชื่อของเอกชนไทยที่เป็นผู้พัฒนาโครงการ ซึ่งเครือข่ายมองว่าถ้าเราไม่แก้ไขที่ต้นเหตุ การที่ไปแก้ไขที่ปลายเหตุเรื่อย ๆ ก็เป็นวัวพันหลักไปเรื่อย ๆ จริง ๆ การแก้ปัญหาต้องแก้ตั้งแต่ระดับนโยบาย ต้องมองที่แม่น้ำโขงตรวจสุขภาพของแม่น้ำสายนี้ว่าอาการหนักสาหัสขนาดไหน ถ้าเทียบกับมะเร็งคือเข้าสู่ระยะที่ 3 ถ้าพูดถึงการรักษาต้องพูดถึงทุกระบบของปัญหา ดูเหมือนจะอยากแก้ไขปัญหาแต่ไม่มีการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุเลย”

ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพ “กรณีของคนเมืองสิ่งที่จะเห็นผลกระทบชัดเจนก็คือ ปริมาณของปลาพื้นเมือง พันธุ์ปลาที่มีคุณภาพดีของแม่น้ำโขงก็จะมีน้อยลง เป็นการสูญเสียแหล่งอาหารของคนเมือง หลายครั้งที่ปลาพื้นเมืองลดน้อยลงก็จะไปเลี้ยงปลาต่างถิ่น จากแหล่งฟาร์มมากขึ้น ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ผลกระทบของคนเมืองนั้นเห็นได้ไม่ชัดเพราะว่าเป็นพื้นที่ที่อยู่ค่อนข้างไกล แต่ผลกระทบต่อชุมชนแม่น้ำโขงที่ต้องให้ประโยชน์จากแม่น้ำโขง ทั้งภูมิภาครวมถึงประเทศไทยเกือบ 60 ล้านคนที่ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผลกระทบจากคนเหล่านี้จะเห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อน้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง ผลผลิตของปลาในทะเลสาบเขมร สามเหลี่ยมดินดอนปากแม่น้ำโขง ร่วมถึงปัญหาปริมาณน้ำเค็มเข้ามา หรือคุณภาพน้ำต่าง ๆ ย่อมมีผลกระทบต่อคนลุ่มแม่น้ำโขงอย่างชัดเจน ซึ่งคนเหล่านี้ก็มีส่วนในการป้อนอาหาร ผลผลิตจากตัวแม่น้ำโขงเข้าไปสู่ในสังคมเมืองทั่วประเทศ”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ